“ศุภชัย พานิชภักดิ์” ชั่งน้ำหนักคบค้ามหาอำนาจ จีน-สหรัฐ ติง 5 ข้อไทยตั้งสติก่อนขึ้นขบวน CPTPP

นับถอยหลังอีก 1 เดือน จะถึงเดดไลน์ที่ไทยต้องยื่นขอเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ระหว่างนี้ทั้งฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ ธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอต่างงัดข้อบทและประเด็นได้-เสียของประเทศขึ้นมาถกแถลง ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ไทย” ควรร่วมขบวนไปกับ CPTPP หรือไม่

“ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” คนไทยหนึ่งเดียวที่เคยนั่งหัวโต๊ะองค์กรระดับโลก ทั้งในฐานะเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) คือหนึ่งในบุคคลที่เกาะติดวาระแห่งโลกในครั้งนี้

“ดร.ศุภชัย” ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ไทยคิดดีแล้วหรือ ที่จะเข้าร่วม CPTPP” ก่อนแจงเหตุผล 5 ข้อ ที่ฟังแล้วยากจะหาข้อโต้แย้ง

 

อดีต ผอ.ใหญ่ WTO เท้าความที่มาของ CPTPP ว่า เกิดจาก “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องการล้อมกรอบจีน ไม่ให้จีนพัฒนาเศรษฐกิจไปเร็วนัก หลังจากจีนเข้าร่วม WTO แล้วใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกในด้านการค้า

สะท้อนจากการแถลงนโยบายประจำปีครั้งสุดท้ายของ “โอบามา” ก่อนที่จะหมดวาระ ซึ่งเจ้าตัวพูดเลยว่า ถ้าสหรัฐไม่เข้าไปวางกฎในเอเชียเอง จีนจะเป็นคนวางกฎกติกา

สหรัฐซึ่งจับตาดูความเคลื่อนไหวของเอเชียชนิดตาไม่กะพริบ ต้องการเป็นนักเลงโตต่อไป และไม่ต้องการให้มีนักเลงโตหลายคน จึงใช้วิธีตั้งองค์กรที่เป็น RTA (Regional Trade Agreements หรือความตกลงการค้าระดับภูมิภาค) ขึ้น โดยรวมประเทศรอบจีนทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลี จนมาถึงอาเซียน แต่ไม่ให้จีนอยู่ในกลุ่ม

“ประการแรกเลย ตรงนี้ผมขัดใจมากๆ เวลาไทยจะไปร่วมกับองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อจะไปกระทบต่อประเทศอย่างจีน แล้วเราพยายามไปร่วมอย่างกระตือรือร้น คุณว่ามันดีหรือ? แล้วองค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อจะล้อมกรอบจีนอย่างชัดเจน จีนจะได้หดตัวไปในเรื่องการค้า สหรัฐก็จะมาควบคุมในกฎระเบียบใหม่ และพยายามบอนไซจีนไปเรื่อยๆ

คุณคิดดีแล้วหรือที่จะเข้าร่วมกับองค์กร ที่จะมาบล็อกการเจริญเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านเรา ซึ่งใหญ่มาก และมีบทบาทต่อซัพพลายเชน รวมถึงเรื่องการทหาร ซึ่งเราจะต้องระมัดระวังตัวเราเหมือนกัน

จะดีหรือ? ถ้าเราทำอะไรที่ดูเหมือนกับไม่เกรงอกเกรงใจเพื่อนบ้านเลย”

 

ประการที่สอง “ดร.ศุภชัย” ชี้ว่า วาระใน 30 ข้อบทของ TPP (Trans-Pacific Partnership : ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เขียนขึ้นโดยสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวาระเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน กระบวนการระงับข้อพิพาท ข้อตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

“ดร.ศุภชัย” ย้ำคำถามเดิมว่า ไทยคิดดีแล้วหรือที่จะเดินตามวาระของสหรัฐ ทั้งที่เราก็มีวาระของเราอยู่แล้วใน RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership : ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ)

ประการที่สาม ไทยคิดดีแล้วหรือที่จะไปร่วมในองค์กร ซึ่งจะงอกกฎระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมจาก WTO อีก

“ผมเรียกว่าเป็น WTO +++ แค่ WTO + อันเดียวผมก็เหนื่อยแล้ว จากประสบการณ์สอนผมว่า ทุกอย่างที่ทำใน WTO นั้น เป็นธรรมและยุติธรรมที่สุด ส่วนที่ UNCTAD สอนผมว่า จริงๆ แล้วประเทศยักษ์ใหญ่ พอมาทำข้อตกลงกับเรา เขาจะใส่กฎระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มมาให้เราอีก เพราะเขาไม่สามารถไปทำใน WTO ได้ แล้วที่ WTO เรามีพรรคพวก 160 ประเทศ ประเทศยักษ์ใหญ่ 2-3 ประเทศ จะมาบังคับเราไม่ได้”

“ดร.ศุภชัย” ยังยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” และ “มาเลเซีย” ซึ่งใช้วิธีซื้อเวลาจาก CPTPP ออกไปนานถึง 15-20 ปี พร้อมโยนคำถามว่า หากให้ไทยเลือกระหว่างการซื้อเวลาเหมือน 2 ประเทศ กับการไปแอ๊กชั่นใน WTO แบบไหนจะดีกว่ากัน

“อีก 4-5 ปี ข้างหน้า อาจจะเป็นพวกเราที่เป็นคนทำกฎพวกนี้ แล้วเราจะไม่ทำกฎให้มันดีกว่านี้หรือ” ดร.ศุภชัยถาม

ประการที่สี่ ทุกเขตการค้าในเวลานี้กลัว “อาเซียน” มาก ไม่เว้นแม้แต่ “จีน”

นำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วเหตุใดเราจึงยอมให้มีการใช้ CPTPP เพื่อ Divide and rule (แบ่งแยกและปกครอง) โดยแบ่งอาเซียน 10 ประเทศ เป็นฝ่ายที่เอา CPTPP และฝ่ายที่ถูกทิ้งอยู่นอกวง CPTPP

“ดร.ศุภชัย” ถ่วงดุลอำนาจ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไมเราไม่คิดว่า ถ้าจะเข้าไป เราควรจะเข้าไปทั้ง 10 ประเทศ”

“หากเราเข้าไปพร้อมกัน 10 ประเทศ มันจะเป็นการเจรจาที่มีเราเป็นศูนย์กลาง ได้ประโยชน์คล้ายๆ กัน จะไม่ใช่วาระของสหรัฐหรือญี่ปุ่นอีกต่อไป อีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเป็นวาระของเอเชียเสียส่วนใหญ่ แล้วขณะนี้ทำไมคุณมาขายตัวเองถูกขนาดนี้ ไปเอาวาระคนอื่นมาใช้ แล้วในอนาคตถ้าอยากจะเปลี่ยน คุณจะเปลี่ยนได้ไหม ไม่ได้แล้ว เพราะเรายอมเขาไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เราคิดยาวๆ”

ประการสุดท้าย การรวมกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องรวมกันเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว ควรจะผนวกเรื่องการพัฒนาคน ทรัพยากร คมนาคม การลงทุน ฯลฯ เข้าไปด้วย เพราะ CPTPP เป็นลักษณะของ Partnership Agreement (ความตกลงหุ้นส่วน)

การเป็น Partnership มันยิ่งกว่าการค้า แต่เวลานี้เราคุยกันแต่เรื่องถ้าเข้าไปแล้วการส่งออกและจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งมันเชื่อถือไม่ได้หรอก คุณต้องคิดว่าเมื่อไปรวมกลุ่มแล้ว คุณได้เปรียบอะไร เสียเปรียบอะไรบ้าง จ้างงานได้เท่าไหร่ การลงทุนเพิ่มหรือไม่ เป้าหมายของประเทศคืออะไร

 

“ดร.ศุภชัย” ให้คำแนะนำว่า ทีมเจรจาจะต้องเข้าใจปัญหาและรอบรู้เรื่องสัญญา สิ่งที่จะเข้าไปอยู่ใน CPTPP ต้องรู้ให้หมด

อีกทั้งยังต้องระวังเรื่องระบบยุติข้อพิพาทใน CPTPP ซึ่งไม่เหมือนกับระบบของ WTO แต่เป็นเหมือน “ศาลเตี้ย”

ดร.ศุภชัยท้าทายเศรษฐกิจโลกและจุดสมดุลอำนาจในอนาคตว่า

“การค้าในเวลานี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของโลกว่าจะโตหรือไม่โต ต่อให้คุณไปทำอีก 10 CPTPP แล้วเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างนี้ไปอีก 3-5 ปี ขอโทษนะ จีดีพีก็ติดลบ ไม่ได้ช่วยอะไรหรอก”