“ผมเบื่อกับความกลัวแล้ว!” “รังสิมันต์ โรม” พรรคก้าวไกล หน้าที่ผู้แทนฯ คือ ต้องพูดทุกปัญหาของประชาชน

หลังจากการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำให้อดีตพรรคอนาคตใหม่สร้างปรากฏการณ์พรรคการเมืองน้องใหม่ของไทยได้ ส.ส.เข้าสภามากเป็นอันดับ 3 แต่ในระยะเวลาเพียงปีเศษของการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่ต้องอันตรธานไป ส.ส.บางส่วนย้ายข้างไปอยู่พรรคอื่น ในขณะ ส.ส.ที่เหลือของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ไปรวมอยู่กับพรรคก้าวไกล โดยยังคงหลักการและอุดมการณ์ของพรรคเก่าไว้อย่างมั่นคง

ในบรรดาพรรคก้าวไกลหรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ มี รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หนุ่มลูกครึ่งจากรั้วนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งสังคมต่างรู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่ากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จนถูกดำเนินคดีหลายข้อหาในยุครัฐบาลทหาร คสช.

ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนมาสู่การทำงานการเมืองแบบพรรคในรัฐสภา

แม้เป็น ส.ส.หน้าใหม่ แต่ประสบการณ์ในการพูดปัญหาสังคมและการเมืองบนเวทีชุมนุมก็เป็นประเด็นออกสื่ออย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะ ส.ส.ในสภาและโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเรื่องประเด็นผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนมาเป็นที่ฮือฮาในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา กรณี “ป่ารอยต่อ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

และล่าสุดกับกรณีช่วยเหลือ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม ที่เปิดโปงการทุจริตในกองทัพและยื่นญัตติกรณีอุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองยุค คสช.

อะไรที่ทำให้ ส.ส.หนุ่มวัย 28 คนนี้ต้องออกมาพูดที่บางเรื่องต้องระมัดระวัง แต่ก็เลือกที่จะ “กล้า” พูดออกมา

 

รังสิมันต์ หรือที่เพื่อนๆ ชอบเรียกสั้นๆ ว่า “โรม” ย้อนกลับไปว่า ตัวเองเกี่ยวข้องกับรัฐสภามาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ในฐานะผู้สังเกตการณ์กรณีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือก่อนหน้านี้คือ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรมการอภิวัฒน์ซ้ำ เนื่องด้วยการอภิวัฒน์สยาม 2475 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงเชิญชวนนักการเมืองร่วมอภิวัฒน์อีกครั้ง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ

อีกทั้งยังเคยได้ฝึกงานอยู่ที่สำนักกฎหมายวุฒิสภา เรียกว่าไปรัฐสภาเดือนละ 2-3 ครั้ง เคยพบนักการเมืองเก่าๆ ที่ยังมีบทบาทในวันนี้

โรมกล่าวอีกว่า หลังจากที่ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนแล้วมาเป็น ส.ส.ในสภา มีความรู้สึกที่ต่างกัน

อย่างแรก เมื่อเป็น ส.ส. คำเรียกแทนก็ต่างกันแล้ว คนต่างเรียกว่า “ท่านโรม” หรือ “หัวหน้า” ผิดกับตอนทำกิจกรรมที่ไม่มีการใช้สรรพนามเช่นนั้น

อย่างที่สอง หน้าที่สูงสุดของ ส.ส. ตอนทำกิจกรรมการเมือง หน้าที่เราคือการเป็นพลเมืองที่ดี จะทำยังไงให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เป็นภาพกว้างและใหญ่

แต่การเป็นนักการเมือง กลับถูกคาดหวังมากกว่า เพราะเราต้องไปผลักดันให้ออกกฎหมายที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ถูกคาดหวังว่าเมื่อประชาชนร้องเรียน เรื่องของพวกเขาจะต้องถูกพิจารณา

“เมื่อเรามายื่นอยู่ ณ จุดจุดนี้ ความคาดหวังในหน้าที่ของเราต้องมีมากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดี แต่ยังเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนเพื่อสร้างสังคมที่ดีและต้องเกิดขึ้นจริงให้ได้”

 

โรมกล่าวถึงเส้นทางตั้งแต่เป็น ส.ส.มาจนได้ปีกว่าว่า ได้เรียนรู้มากขึ้น พบเจอคนมากขึ้น มีโอกาสพบทั้งนักกิจกรรม เพื่อนที่ยังเคลื่อนไหว เจอคนที่เคยจับกุมผมและเพื่อนๆ ซักถามสิ่งที่เขาทำละเมิดสิทธิ เจอคนที่เรามองเขาผ่านโทรทัศน์ แต่ที่จริงก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีโลภ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอาจนึกออกเวลาที่เรานึกถึงคนคนหนึ่ง แต่ในการเรียนรู้ เรื่องที่สำคัญมากที่สุดคือ การต้องพบกับคนทุกรูปแบบ เราจะจัดการยังไง?

ในฐานะ ส.ส. สิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด ผมให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกค่อนข้างมาก บทบาทหลักจึงเป็นการปกป้องพื้นที่นี้ ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้

ผมเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ท้ายที่สุดไม่ว่ารูปแบบไหน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคม เรื่องแบบนี้จึงเป็นบทบาทที่ตัวเองต้องรักษาเอาไว้ให้ได้

ดังนั้น เมื่อเราต้องรักษาพื้นที่นี้ สิ่งที่จะตามมาคือการไปตกลงกับคนจำนวนมาก คนที่เกลียดเราหรือเห็นด้วยกับเรา คนที่รักเราและคนที่ชังเรา ผมคิดว่าด้วยลักษณะแบบนี้ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผมสามารถคุยกับคนเหล่านี้ได้ หลายครั้งรู้เรื่องกว่าที่เคยจินตนาการไว้ตอนอยู่นอกสภา

โรมกล่าว

 

แม้เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญกับความคาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะกับความรู้สึกนึกคิดของนักการเมืองที่มักถูกมองว่าสนในแต่ผลประโยชน์ แต่โรมกล่าวว่า กลับสนุกกับงานแบบนี้ ยิ่งคาดเดาไม่ได้ยิ่งสนุก เพราะยิ่งทำให้ต้องคิดแก้ปัญหา แล้วอยู่พรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกคาดหวังในประเด็นสิทธิมนุษยชน หลายครั้งเจอสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ไม่รู้ว่าเพื่อนคนไหนถูกจับอีก

จึงคิดว่า ลักษณะแบบนี้ก็มีความท้าทายอยู่ แต่ก็มีจุดที่สามารถผลักดันในสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเชื่อมั่น เช่น จินตนาการว่าภาคประชาชนพูดถึงเรื่องของการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงคุณจะบ่นก็ต้องถูกจับขังได้ เมื่อเราอยู่ตรงนั้น ก็มาทบทวน เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้อยู่ดี

แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราสามารถออกกฎหมายที่ตอบโต้การกระทำของฝ่ายบริหาร เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้เพื่อปกป้องพื้นที่เสรีภาพของเราไว้ได้

 

ไม่นานมานี้โรมได้ยื่นญัตติต่อสภากรณีอุ้มหาย “วันเฉลิม” พร้อมกับขอให้รัฐบาลไทยเร่งติดตาม ทั้งที่จริงผู้มีอำนาจพยายามไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่กลับถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดียและนำไปสู่การเปิดญัตติในสภา ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่คนที่กล้าพูดเรื่องนี้

โรมกล่าวว่า นี่เป็นปัญหา คือพอเราพูด เอาเข้าจริง นักการเมืองไม่ได้มีกลไกในการป้องกันการพูด ยกตัวอย่างตอนพูดป่ารอยต่อ ผมกลับโดนฟ้องคดี เพราะผมผ่านจุดนั้นมาหลายครั้งแล้ว เลยกล้าพูด ดำเนินคดีเลย ผมไม่กลัว

แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจไม่ได้มีภูมิต้านทานแบบผม พอเจอฟ้องคดี ชนะ-แพ้ไม่รู้ จริงเท็จหรือเปล่าไม่รู้ แต่สุดท้ายกลับเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่อยากเจ็บตัว

ตอนที่พูดเรื่องอุ้มหาย ผมเองไม่สามารถตั้งคำถามได้ชัดๆ ถึงบุคคลได้ 100% ก็เพราะ ถ้าตั้งไป ผมก็โดนคดีอีก ซึ่งผมมี 7-8 คดี แล้วต้องใช้เวลาค่อยๆ จัดการ และแน่นอนก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่

เพราะกลไกและโครงสร้างทางการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่ปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้ ภาพของนักการเมืองที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลต่อการทำงานในฐานะตัวแทนประชาชน ไม่เห็นการตั้งคำถามเสียดแทงของสังคมไทย เพราะพวกเขากลัว

 

เมื่อถามว่า การเป็นผู้แทนฯ ของประชาชน ต้องกล้าถาม “ทุก” เรื่องต่อผู้มีอำนาจหรือไม่ โรมกล่าวว่า ทุกเรื่องที่จินตนาการได้ ผมคิดว่าควรมีสิทธิถาม ผู้แทนฯ ประชาชนมีสิทธิถามทุกเรื่องที่เป็นปัญหากับประเทศไทย หรือแม้แต่เรื่องที่ไม่ได้เป็นปัญหาก็ควรถามได้

ดังนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำ คือการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทที่มีโทษทางอาญา ถ้าเกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ให้เป็นทางแพ่งไป ถ้าเราสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ตามมาคือ ทุกคนกล้าพูดมากขึ้น

ฝ่ายประชาชนเวลาวิจารณ์ ไม่ว่ากับรัฐหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็สามารถวิจารณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่า วิจารณ์แล้วต้องติดคุก

นอกจากนี้ โรมยังกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับหลังการยื่นญัตติอุ้มหาย “วันเฉลิม” ว่า ทุกคนให้กำลังใจแต่ก็บอกว่าระวังตัวด้วย คือ เราต้องกลัวขนาดไหน ผมเลิกที่จะกลัว ผมรู้สึกว่าชีวิตยังมีเรื่องให้ต้องกลัวเต็มไปหมด เป็น ส.ส.แล้วยังต้องกลัวอีกเหรอ

พูดตรงๆ ผมเบื่อที่จะกลัวแล้ว

อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ ผมคิดแค่อยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่รู้ว่าสุดท้ายต้องเจออะไรบ้าง แต่อยากให้การทำงานนี้เป็นความภาคภูมิใจ

—————————————————————–
(หมายเหตุ : หลังการสัมภาษณ์ เกิดกระแสข่าวว่า รังสิมันต์ตกเป็น 1 ใน 4 บุคคลที่ถูกหมายหัวโดยผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดกระแส #Saveโรม ในเวลาต่อมา)

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่