บทบาทจีนในการค้าโลก หลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร?

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 จีนได้ผลักดันตัวเองจนก้าวออกมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางการค้าในระบบเศรษฐกิจโลกตีคู่กับสหรัฐและสหภาพยุโรป และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรสำคัญด้านการค้าและเศรษฐกิจจนมีอิทธิพลมากขึ้น พร้อมกับที่จีนประกาศยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่ให้จีนเชื่อมต่อกับแหล่งทรัพยากรและพื้นที่ทางเศรษฐกิจในต่างแดน และวิสัยทัศน์ Made in China 2025 ที่ทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก”

อย่างไรก็ดี อิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลต่อท่าทีการสร้างความร่วมมือทางการค้าหรือธุรกิจที่เปลี่ยนไป อย่างกรณีในประเทศแถบแอฟริกาและเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย และทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรจนเกิดสงครามการค้าขึ้น

แต่แล้วการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเจ็บป่วยและล้มตาย จีนได้รับผลกระทบมากทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและความเชื่อมั่นที่น้อยลงเพราะความโปร่งใสในการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสถูกนานาชาติตั้งคำถาม และสหรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการลดอิทธิพลของจีน

แม้จีนจะพยายามกอบกู้ฐานะและชื่อเสียงของประเทศจากการระบาดใหญ่ แต่สายตาหลายคนกลับเปลี่ยนไป เช่นนี้แล้ว จีนหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

 

เป็นที่รู้กันว่า จีนก้าวมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาตั้งโรงงานหลายแห่งในจีน และการส่งเสริมของรัฐบาลจีนในการให้ธุรกิจของจีนเติบโตทั้งในประเทศและต่างแดน และส่งออกสินค้าไปยังหลายประเทศ รวมถึงอียูและสหรัฐ ซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

แต่แล้วรูปแบบการค้าของจีนกำลังทำให้หลายประเทศเสียเปรียบ บางประเทศถูกสินค้าจากจีนยึดกุมจนกระทบต่อสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้าจากหลายประเทศก็ไม่สามารถตีตลาดในจีนได้ เพราะนโยบายทางการค้าของรัฐบาลจีนนั้นทำให้เสียโอกาสและประกอบกับความไม่ไว้วางใจธุรกิจที่รัฐบาลจีนสนับสนุนโดยเฉพาะด้านไอที ก็ถูกดึงเข้าประเด็นความมั่นคงของชาติไปด้วย

กระแสต่อต้านจีนก็ได้เกิดขึ้น และถูกทำให้ชัดขึ้นโดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

แต่แล้วการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กินเวลาหลายเดือนและลุกลามหนัก และจีนก็มีท่าทีปกปิดข้อมูลการระบาดในช่วงแรก และกว่าจะรู้ข้อมูล ผู้ติดเชื้อได้ขยายตัวทั่วโลกเป็นหลักล้านคนแล้ว ยิ่งทำให้จีนถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีก

การเกิดวลี “ไวรัสจีน” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงเป็นเสมือนคำที่บ่งบอกให้จีนคุกเข่ายอมรับความผิดพลาด

นับเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษที่จีนเสียศูนย์ หลังจากกรณีสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989

ทำให้จีนที่จะก้าวเป็นผู้นำโลกกลับต้องเจอการวิพากษ์วิจารณ์ จากเหตุการปกปิดเรื่องโรคระบาด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์และการชะลอการค้าโลก แม้จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้หลายประเทศหันมาทบทวนว่าจะสร้างความร่วมมือทางการค้ากับจีนต่ออีกหรือไม่?

จะยังนำเข้าสินค้าหรือพึ่งพาตลาดจีนอยู่แค่ไหน?

หรือปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแบบลดการพึ่งพา ส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในประเทศ หรือแสวงหาตลาดใหม่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน โดยเฉพาะเวียดนามที่หลายชาติจับตามอง

แต่ปัจจัยร่วมที่หลายชาติต้องหันมาทบทวนคือ จีนทำธุรกิจแบบข่มเหงรังแก ไม่มียกเว้นแม้แต่ประเทศเดียว การทูตแบบเอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้งของจีนเป็นที่รับรู้กัน กรณีพิพาททะเลจีนใต้กับหลายชาติในอาเซียนถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

หรือกับภาคพื้นทวีป จีนมีเส้นพรมแดนยาวกว่า 2 หมื่นกิโลเมตรที่ติดกับหลายประเทศในเอเชียกลางและใต้ ก็เกิดกรณีพิพาทกัน อย่างทาจิกิสถานหรือคีร์กีซสถาน ที่ให้เลือกระหว่างการอ้างสิทธิในพื้นที่หรือจ่ายค่าชดเชยในรูปดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจีนปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ตัวเองลงทุนในโครงการต่างๆ ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “การทูตกับดักหนี้” (Debt-Trap Diplomacy)

แม้แต่กับสหภาพยุโรป (อียู) จีนได้แสดงท่าทีเชิงลบต่อชาติยุโรป ทั้งกรณีอียูทบทวนรายงานสอบสวนกรณีการระบาดของโควิด-19 หรือข่มขู่บริษัทสัญชาติเช็ก หากมีนักการเมืองคนใดเดินทางไปไต้หวัน

หรือไม่ให้รถยนต์จากเยอรมนีตีตลาดจีนหากเยอรมนียังกีดกันหัวเว่ยร่วมโครงการพัฒนาเครือข่าย 5 จี

 

ด้านนักวิเคราะห์ของอียูมองว่า ขณะที่จีนยังคงคู่ค้ารายใหญ่แม้จีนกำลังเผชิญภาวะชะลอตัวและตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสียหายจากโควิด-19 ยุโรปควรตระหนักได้แล้วว่าไม่ควรพึ่งพาจีนในทางการค้ามากเกินไป

ตามข้อมูลของ “ยูโรสแตต” ในปี 2019 อียูขาดดุลทางการค้ากับจีนจำนวน 1.64 แสนล้านยูโร โดยสัดส่วนอียูส่งออกไปจีนอยู่ที่ 1.98 แสนล้านยูโร แต่อียูนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 3.62 แสนล้านยูโร

นักวิเคราะห์ยังตั้งประเด็นว่า แม้การค้าภายในอียูจะมากถึง 3 หมื่นล้านยูโรต่อวัน เมื่อเทียบกับการค้าระหว่างอียูและจีนวันละ 1.5 พันล้านยูโร ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่เป็นการควบคุมห่วงโซอุปทานและการพึ่งพาสินค้าระดับกลางจากจีน

นั่นทำให้อียูควรส่งเสียงลดการพึ่งพาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่มีฐานการผลิตในจีน เพื่อทำให้เกิดโลกพหุภาคีที่ดีขึ้น

โควิด-19 แม้จะนำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกและชีวิตผู้คนหลายล้าน แต่อาจทำให้หลายประเทศหันมาปรับทิศทางใหม่ ไม่ว่าการเพิ่มกำลังผลิตจากภายในประเทศแทนที่หาแรงงานราคาถูก

จีนก็ยังคงมีบทบาทในการค้าโลกอยู่หลังโควิด-19 แต่ถูกลดระดับลงไปมาก เพราะรูปแบบและนโยบายการค้าที่ไม่เป็นมิตรกับหลายประเทศ

โควิด-19 จึงเป็นโอกาสให้กับหลายชาติ แต่สำหรับจีนคือฝันร้าย