นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ประวัติศาสตร์ความเสมอภาคในสังคมไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2558

หากความไม่เสมอภาคในสังคมไทยเป็นคน เขาเดินทางมาไกลมาก คงเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่บรรลุจุดหมายปลายทาง ซึ่งไม่เคยหยุดอยู่กับที่ แต่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา (ประจักษ์ ก้องกีรติ, “การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย” ใน ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน)

ตรงกันข้ามกับความเสมอภาคในสังคมไทย แม้ไม่บรรลุจุดหมายปลายทางเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทันจะออกเดินทางไปเท่าไร ก็นั่งพักผ่อนนอนเล่นไปเรื่อยๆ จนแทบจะเล่าเรื่องการเดินทางของตนให้ใครฟังไม่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์ความไม่เสมอภาคในสังคมไทยนั้น มีรายละเอียดและเนื้อหายืดยาว ในขณะที่ประวัติศาสตร์ความเสมอภาคนั้น แทบจะหาเนื้อหาไม่ได้ ตั้งเป็นหัวข้อเสร็จก็ขีดเส้นใต้ แล้วก็แทบจะจบแค่นั้น ในบทความสั้นๆ ของหนังสือพิมพ์

ผมจึงเลือกจะเขียนประวัติศาสตร์ของความเสมอภาคในสังคมไทยครับ

ความคิดว่าคนเราเท่าเทียมกันนั้น มีในสังคมไทยมาก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แน่ โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการ ทั้งพลเรือน, ทหาร และอาจจะตุลาการด้วย เพราะคนเหล่านี้มองเห็นว่า ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนนั้นถูกขัดขวางจากความไม่เสมอภาคอย่างเลวร้ายที่สุด เพราะชาติกำเนิดที่ต่ำของตนก็ตาม หรือเพราะไม่มี “เส้น” กับผู้มีอำนาจวาสนาก็ตาม

สำนึกถึงความเสมอภาคคงหลีกเลี่ยงได้ยากในระบบการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งเด็กประสบความสำเร็จในชั้นเรียนได้โดยไม่เกี่ยวกับชาติกำเนิด และคงหลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อสำนึกถึง “ชาติ” แพร่หลายในหมู่ข้าราษฎรที่มีการศึกษา แม้ว่า ร.6 ทรงพยายามให้ความหมายใหม่เกี่ยวกับชาติที่ไม่วางอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค แต่แนวพระราชดำริเช่นนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในรัชสมัยทั้งของพระองค์และรัชทายาท

แท้จริงแล้ว การสนับสนุนที่คณะราษฎรได้รับหลังการยึดอำนาจ ก็มาจากหลักการความเสมอภาคนี้เอง เพราะข้าราชการชั้นกลาง, และพ่อค้าวาณิช ต่างต้องการระบบที่ทำให้ตนอาจใช้ความสามารถของตนในการไต่เต้าทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งนั้น

และหลักความเสมอภาคนี้เองที่สร้างความตระหนกให้แก่คนหัวเก่าในระบอบเก่าเป็นอย่างมาก การที่เด็กนักเรียนฟ้องร้องครู หรือผู้นำแรงงานฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลียุค ช่วงชั้นทางสังคมในระบอบเก่ากลายเป็นขื่อแปของบ้านเมืองที่ถูกความเสมอภาคทำลายล้างลง

ตั้งแต่นั้น “การเดินทางของความเสมอภาค” ก็คล้ายกับจะยุติลง เพราะใช้เวลานั่งพักผ่อนอยู่ข้างทางมากกว่าออกเดินต่อ

แม้แต่พื้นที่ในประวัติศาสตร์ของตน ก็ปล่อยให้ถูกแย่งยื้อไป จนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ของ 24 มิถุนายน ก็จะเล่ากันแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น แทบไม่มีใครพูดถึงความเสื่อมโทรมและไร้ประสิทธิภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ด้วยเหตุที่ยืนยันปฏิเสธหลักความเสมอภาคตลอดมา แม้แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำไปด้วยหลักความไม่เสมอภาค เช่นรัฐบาลแก้ปัญหางบขาดดุลด้วยการเก็บภาษีเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการชั้นกลางและผู้น้อย แต่ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้เก็บภาษีรายได้แทน ซึ่งจะทำให้ผู้มีรายได้สูงต้องแบกรับภาระภาษีมากกว่าผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลปฏิเสธคำแนะนำที่จะออกจากมาตรฐานทองคำอยู่นาน เพื่อผดุงค่าเงินบาทเอาไว้ให้สูงตามเดิม แม้ทำให้ไทยขายข้าวไม่ได้ จนในปีสุดท้ายของระบอบจึงยอมออกจากมาตรฐานทองคำ ฯลฯ

ปัจจุบัน คนไทยและสื่อต่างๆ สามารถเล่าการปฏิวัติ 2475 ได้โดยไม่ต้องแอะถึงความเสมอภาคเลยสักคำ ความเสมอภาคของปัญญาชนไทยจำนวนมากกลายเป็นการเสด็จประพาสต้นของ ร.5 ซึ่งแท้จริงแล้ว หาได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับหลักความเสมอภาคไม่

บทบาทความสำคัญของความเสมอภาคในพระพุทธศาสนาไทยก็หายไปด้วยนะครับ ผมต้องเตือนไว้ก่อนว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้คิดถึงความเสมอภาคหรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่คำสอนของพระองค์ที่ปรากฏในสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะหลังสมัยใหม่มาแล้ว ต่างเน้นมิติความเสมอภาคอย่างมาก เช่นมนุษย์ทุกคนย่อมมีศักยภาพจะบรรลุสิ่งสูงสุดทางศาสนาได้เท่ากัน โดยไม่เกี่ยวกับฐานันดรศักด์, กำเนิด, เพศ หรือชาติพันธุ์

มิตินี้ถูกเน้นย้ำในพระพุทธศาสนาไทยน้อย เพราะเราไปย้ำเรื่อง “บารมี” ซึ่งสั่งสมมาแต่อดีตชาติ ทำให้คนไม่เท่ากัน เหมือนดอกบัวสี่ดอก ก็จะมีเฉพาะบางดอกเท่านั้นที่จะโผล่พ้นน้ำได้

(ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อไม่มีกระบวนการอัน “ถูกต้อง” จึงทำให้มีพระภิกษุณีไม่ได้… กระบวนการกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าหลักการ)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ความเสมอภาคถูกมองในสังคมไทยว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ เพื่อนที่เป็นข้าราชการมหาดไทยเก่าของผมคนหนึ่ง ย้ำเสมอว่า แม้แต่นิ้วมือคนยังไม่เท่ากัน หากบังคับให้มันเท่ากัน เราก็คงหยิบจับอะไรได้ยาก ถอดรหัสออกมาก็คือ ความไม่เสมอภาคต่างหากที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และความไม่เสมอภาคต่างหากที่ทำให้สังคมทำงานอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนรัฐประหาร 2490 แม้ความเสมอภาคยังคงนั่งพักผ่อน แต่ก็ไม่ถึงงีบหลับไป ผู้นำคณะราษฎรกุมอำนาจตั้งแต่ 2476-2490 ถึงตัวคณะราษฎรเองอาจไม่มีบทบาทอะไรเหลืออยู่ในฝ่ายบริหารแล้วนับตั้งแต่ 2481 เป็นต้นมา แต่อุดมคติเกี่ยวกับความเสมอภาคก็มิได้อันตรธานไปสิ้นเชิงในหมู่ผู้นำซึ่งได้ครองอำนาจด้วยตัวของตัวเอง

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 2481 ได้ออกพระราชกฤษฎีกาและรัฐนิยมหลายฉบับ ซึ่งมุ่งจะยกเลิกความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในวัฒนธรรมเก่าของไทย เช่น ยกเลิกบรรดาศักดิ์, สร้างชุดแต่งกายประจำชาติที่ไม่ติดอยู่กับฐานันดรศักดิ์ แต่ราษฎรทุกคนเข้าถึงได้, ลดสรรพนามในภาษาไทยที่แสดงความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้พูดและผู้ฟังออกไป ให้เหลือแต่สรรพนามที่เสมอกัน, เปลี่ยนอักขรวิธีไทยให้ตรงกับเสียงพูด เพื่อให้ง่ายแก่ทุกคนไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับใด ฯลฯ

แม้แต่ชาตินิยมของ จอมพล ป. ก็ไม่ได้มีเนื้อหาตรงกับชาตินิยมของ ร.6 ไม่ เพราะจอมพล ป. เน้นบทบาทของประชาชนในการสร้างชาติควบคู่กันไปกับกองทัพ จะกล่าวว่าเป็นชาตินิยมของเผด็จการเหมือนกันก็ได้ แต่ผู้นำของเผด็จการคือสามัญชน ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ซึ่งได้สิทธิธรรมจากชาติกำเนิดที่สูง

จอมพล ป. อาจใช้อำนาจไปในทางที่นักประชาธิปไตยไม่ชอบ โดยเฉพาะ “นักประชาธิปไตย” ตามบทบาทใหม่ของระบอบเก่า ซึ่งเปลี่ยนบทบาทมาแสดงเป็นนักประชาธิปไตยหลังความล้มเหลวที่จะยึดอำนาจคืนในกบฏบวรเดช 2476

จอมพล ป. พิบูลสงคราม แวะทักทายเด็กนักเรียนหลังทำพิธีเปิดโรงเรียนวัดเขมภิรตาราม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2497

และในความเป็นจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จอมพล ป. ได้ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยจริง แต่ผมสงสัยว่า การที่ จอมพล ป. เป็นที่เกลียดชังของกลุ่มกษัตริย์นิยมอย่างมากนั้น มาจากการที่ท่านยืนยันหลักการความเสมอภาคอย่างชัดเจน เพราะความเห็นของนักคิดนักเขียนในกลุ่มกษัตริย์นิยมนั้น ต่างอยากเป็นประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทั้งสิ้น

ประชาธิปไตยที่ไม่เสมอภาคนี่แหละ คือลักษณะเด่นของประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2490 สืบมาจนถึงเผด็จการทหารของสฤษดิ์และเผด็จการทหารอื่นๆ ที่ตามมา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประชาธิปไตยไทยแม้ในหมู่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ใจ ก็ดูจะให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพมากกว่าความเสมอภาค ระบอบเผด็จการที่ทหารร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม สนับสนุนและกำกับอยู่เบื้องหลัง อยากสร้างภาพสังคมไทยที่มีสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์มากกว่าสังคมที่ยอมรับความเสมอภาคอย่างบริบูรณ์

“ความไม่เสมอภาค” ซึ่งแสดงออกด้วยการ “ยอมรับช่วงชั้นทางสังคมและการเมือง” คือแก่นกลางของความเป็นไทย จะเป็นประชาธิปไตยสักแค่ไหนก็ได้ แต่ต้องยึดมั่นในความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์

มีบางคนที่เหมาะจะมีอำนาจมาก บางคนมีอำนาจน้อย และอีกหลายคนไม่เหมาะจะมีอำนาจเลย (เพราะยังไม่พร้อม หรือเพราะไม่มีวันที่จะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้ก็ตาม) สิทธิเสรีภาพก็เหมือนกัน บางคนเหมาะจะมีสิทธิเสรีภาพได้มาก แต่คนอื่นจะมีอย่างนั้นบ้างไม่ได้ เพราะบ้านเมืองจะปั่นป่วนวุ่นวายจนชาติบ้านเมืองจะดำรงอยู่ต่อไปได้ยาก

มองจากสายตาปัญญาชนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สื่อไทยมีเสรีภาพเต็มเปี่ยม อยากพูดอยากเขียนอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่หากมองจากสายตาของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ จะพูดจะเขียนอะไรก็ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ แม้กระนั้นก็ยังถูกจับกุมคุมขังจนได้…

นี่ไงครับ สิทธิเสรีภาพที่ไม่เสมอภาค บางคนมีสิทธิเสรีภาพมาก บางคนมีสิทธิเสรีภาพน้อยหรือไม่มีเลย ไม่แต่เพียงบุคคลเท่านั้นที่ไม่เสมอภาค ประเภทของข่าวสารข้อมูลที่อยากจะสื่อสารกัน ก็ไม่เสมอภาคด้วย บางเรื่องพูดยังไงก็ได้ บางเรื่องแอะไม่ได้เลย

บนเวทีเปิดทางการเมืองของไทย ความเสมอภาคพักผ่อนนอนหลับอย่างไม่เคลื่อนไหวจาก 2490 ถึง 2516 เป็นเวลา 26 ปี มีแต่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยหรือแห่งประเทศไทยซึ่งมีแต่เวทีการเมืองใต้ดินเท่านั้น ที่ยังชูหลักการความเสมอภาคเป็นส่วนสำคัญของแผนงานทางการเมืองของตน และส่วนที่เป็นหลักความเสมอภาคนี่แหละ ที่รัฐบาลทหารใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกให้ประชาชนไทยรังเกียจลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคล การไม่ยอมรับช่วงชั้นทางสังคมตามประเพณี นับตั้งแต่ในครอบครัวไปถึงในโรงเรียน ในวงการสงฆ์ ในวงการทหาร และในบ้านเมือง

ความเสมอภาคกลายเป็นหลักการของพวก “หัวรุนแรง” มิได้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย คนที่เรียกร้องความเสมอภาคปริ่มๆ จะเป็นกบฏคดโท่ มุ่งหมายที่จะแย่งอำนาจทางการเมือง เพื่อทำให้สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย ล้มล้างสิ่งดีๆ ในสังคมไทยไปจนหมด

AFP PHOTO

หลัง 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาตระหนกกับความไม่เสมอภาคในสังคมไทย โดยเฉพาะในเขตชนบทและในภาคแรงงานเมือง การเคลื่อนไหวของนักศึกษา เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่กลุ่มที่ตกเป็นเบี้ยล่างเหล่านี้ กลับทำความตระหนกให้แก่คนชั้นกลางในเมือง, กลุ่มทุน, และกลุ่มอนุรักษนิยม เพราะนักศึกษากำลังเรียกร้องความเสมอภาคซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพวก “หัวรุนแรง” นักศึกษาจึงกลายเป็นพวกหนักแผ่นดิน ที่จะต้องสังหารหมู่กลางเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หลังจากนั้น ความเสมอภาคก็หลับใหลบนเวทีเปิดทางการเมืองของไทยสืบมาอีกนาน แม้ว่ารัฐบาลต่อมาให้ความสนใจการพัฒนาชนบทอย่างจริงจังมากขึ้น อย่างน้อยก็พยายามผันเงินกำไรที่ได้จากการค้าพืชไร่กลับไปสู่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ไม่ว่าในรูปของการประกันราคาข้าว, การขยายบริการไฟฟ้าและประปา, การขยายโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ทำในนามของ “ทาน” ที่ผู้มีบารมีพึงกระทำต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ใช่ทำตามหลักความเสมอภาค รวมทั้งรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ด้วย ซึ่งทำอย่างมากขึ้นเพื่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากกว่าความเสมอภาค

ยิ่งเมื่อ พคท. สลายตัวลงในครึ่งแรกของทศวรรษ 2520 ความเสมอภาคก็ไม่เป็นหลักการทางการเมืองของฝ่ายใดอีกเลย

จนกระทั่งถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงหลัง 2549 เป็นต้นมา ความเสมอภาคกลับมามีบทบาทอย่างคึกคักอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นประเด็นหลักของการต่อสู้ทางการเมือง ฝ่ายตรงข้ามของเสื้อแดงพยายามทำให้หลักความเสมอภาคใช้ไม่ได้กับเสื้อแดง เช่นเป็นเพียงม็อบรับจ้างทางการเมืองของทักษิณ หรือที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมากว่านั้นก็คือไร้การศึกษา และไม่ควรมีสิทธิ์ทางการเมืองเท่าเทียมกับคนชั้นกลางในเมือง

โดยสรุปก็คือ มีอยู่ 4 กลุ่มเท่านั้น ที่เชิดชูความเสมอภาคเป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมือง คือคณะราษฎร, พรรคคอมมิวนิสต์, ขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลา และคนเสื้อแดง

แม้ว่าการโจมตีคนเสื้อแดงบนเวทีของ กปปส. จะฟังดูน่าเกลียดและไร้ยางอายอย่างไรก็ตาม แต่นั่นคือทัศนคติของคนมีการศึกษาไทยที่มีต่อหลักความเสมอภาค การเปล่งมันออกมาเป็นคำพูดให้ชัดกลับทำให้ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางมากขึ้น เพราะตรงกับทัศนคติลึกๆ ที่คนเหล่านี้ได้รับการอบรมมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม นั่นคือความเสมอภาคเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ และนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายของสังคม

การยึดอำนาจและบริหารบ้านเมืองของ คสช. ปฏิเสธหลักความเสมอภาคอย่างตรงไปตรงมา ในแง่นี้ทำให้ คสช. ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมืองจำนวนหนึ่ง ในขณะที่โครงสร้างของฝ่ายเสื้อแดงถูกทำลายลง (หรือถูกควบคุม) จนไม่อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แต่จิตใจที่เรียกร้องความเสมอภาคยังอยู่

ผมเดาไม่ถูกหรอกว่าใครจะชนะระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนความไม่เสมอภาค และกลุ่มที่สนับสนุนความเสมอภาค มันอาจลงเอยที่การประนีประนอมโดยไม่มีฝ่ายใดชนะเลยก็ได้ แต่หากลงเอยที่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เราอาจได้เผชิญกับเผด็จการเบ็ดเสร็จจริงๆ เป็นครั้งแรก หรือกับประชาธิปไตยจริงๆ เป็นครั้งแรก