อุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยการเมืองคนล่าสุด อาชญากรรมต่อผู้เห็นต่าง ไม่ใช่คนแรก และ (อาจ) ไม่ใช่คนสุดท้าย

ในห้วงการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมและขจัดความเกลียดชังในสีผิวต่อการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” วัย 46 ปี หลังถูกตำรวจใช้กำลังจับกุมเกินกว่าเหตุ ที่กลายเป็นทั้งการเดินขบวนประท้วงและจลาจล และสถานการณ์ยังคงยืดเยื้ออยู่นั้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมานาน 6 ปี ถูกลักพาตัวอย่างอุกอาจขึ้นรถก่อนหายไป

“โอ๊ย หายใจไม่ออก” คือเสียงสุดท้ายจากปลายสายที่ครอบครัวซึ่งอยู่ในไทยได้ยิน

“วันเฉลิม” ได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยคนล่าสุดที่ถูกอุ้มหายเหมือนกับหลายคนก่อนหน้านี้แล้ว

 

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า วันเฉลิมถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธ เข้ามาลักพาตัวขณะที่วันเฉลิมกำลังซื้อลูกชิ้นอยู่หน้าคอนโดฯ ที่อาศัยอยู่กลางกรุงพนมเปญของกัมพูชา หลังต้องลี้ภัยทางการเมืองมาถึง 6 ปี เพียงเพราะปฏิเสธที่จะรายงานตัวกับ คสช. คณะทหารที่เข้าก่อรัฐประหารรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เมื่อปี 2557 และตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารเข้ามาบริหารประเทศพร้อมกับดำเนินการกวาดล้างผู้ต่อต้านรัฐบาลทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

จากรายงานของประชาไท เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.34 น.ของวันนั้น โดยวันเฉลิมยืนซื้อลูกชิ้นพร้อมคุยกับพี่สาวที่อยู่ฝั่งไทยผ่านทางไลน์ กลุ่มชายฉกรรจ์ได้เข้าลักพาตัวขึ้นรถ

ภาพจากกล้องวงจรปิดหน้าคอนโดฯ เผยให้เห็นภาพมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคอนโดฯ พยายามเข้าไปช่วย แต่กลับต้องชะงักและมีท่าทีถอย พร้อมกับคำพูดว่า “กำเพลิง” หรือปืนในภาษาเขมร กลุ่มชายฉกรรจ์หยิบอาวุธเข้ามาขู่คนที่จะพยายามช่วย

กล้องวงจรปิดจับภาพรถโตโยต้า ไฮแลนเดอร์ สีน้ำเงินเข้ม วิ่งออกจากคอนโดฯ อย่างรวดเร็ว วันเฉลิมถูกอุ้มขึ้นรถและหายตัวไป

 

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย (5 มิถุนายน) ถึงช่วงเวลาที่น้องชายถูกลักพาตัวว่า

“สักพักได้ยินเสียงเหมือนปัง เราคิดว่าน้องเหมือนโดนรถชน เขาบอกว่าหายใจไม่ออกๆ แล้วก็มีเสียงคนเขมร 3-4 คน เราคิดว่าน้องเกิดอุบัติเหตุ เราบอกเขาว่าให้ทุบหน้าอกจะได้ดีขึ้น แต่เขาตะโกนบอกว่าหายใจไม่ออกๆ อยู่ประมาณ 30 นาที แล้วสายก็ตัดไป เราโทรกลับไปที่ไลน์ทั้งสองเบอร์ ขอให้เขาแจ้งกลับมาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะพี่เป็นห่วง” สิตานันกล่าวถึงช่วงที่โทรศัพท์คุยกับวันเฉลิมผ่านไลน์

จากนั้นพี่สาวของนายวันเฉลิมได้ติดต่อกับคนไทยที่รู้จักในกัมพูชาให้ติดตามหาน้องชายที่เชื่อว่าได้รับอุบัติเหตุ แต่เพียง 20 นาที คนไทยในกัมพูชาตอบกลับมาว่า

“พี่เจนทำใจดีๆ นะ ต้าร์โดนอุ้มไป”

 

สิตานันยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีตำรวจจำนวนหนึ่งมาเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. มีตำรวจ 6 นายเดินทางไปที่บ้านพักของมารดา สอบถามเรื่องของวันเฉลิม

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สิตานันได้ออกแถลงการณ์ในนามครอบครัวสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เรียกร้องให้ผู้กระทำปล่อยตัววันเฉลิม พร้อมขอให้รัฐบาลไทยและองค์กรนานาชาติสืบหาความจริง ทำความจริงให้ปรากฏ

“ดิฉันจึงขอวิงวอนมา ณ ที่นี้ ให้ผู้ที่ก่อเหตุได้โปรดปล่อยตัวนายวันเฉลิมกลับคืนมาเถิด พวกเราจะตั้งตารอคอยอย่างไม่คิดที่จะสิ้นหวัง ขอเพียงเขากลับมาได้อย่างปลอดภัย พวกเราหวังว่าการอุ้มหายหรือการถูกบังคับให้สูญหายในครั้งนี้ จะเป็นกรณีสุดท้ายที่เกิดขึ้น”

 

การลักพาตัววันเฉลิม ยังคงเป็นความคลุมเครือทั้งข้อมูลการถูกลักพาตัวจากหลายแหล่ง และข้อสรุปที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าวันเฉลิมยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ อีกทั้งมูลเหตุนำไปสู่การลงมืออุ้มหายก็มีลักษณะต่างจากกรณีอื่นก่อนหน้านี้

โดยอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวความมั่นคงให้ข้อสังเกตว่า วันเฉลิมไม่น่าถึงขั้นถูกอุ้มหายได้ เพราะตัววันเฉลิมโพสต์ข้อความและอัดคลิปวิดีโอวิจารณ์เฉพาะรัฐบาล คสช.เท่านั้น ไม่เคยแตะต้องไปถึงประเด็นต้องห้าม ซึ่งต่างจากผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ อย่างสุรชัย แซ่ด่าน ที่วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวจนตกเป็นเป้าสังหาร

“ในกรณีวันเฉลิม ให้เน้นการสืบหาความจริงก่อนจะรีบสรุปว่าเป็นการอุ้มหายหรือไม่”

 

แล้วทางการทั้งไทยและกัมพูชามีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้หลังเกิดการอุ้มหายไปไม่นาน

สำนักข่าวเอพีซึ่งรายงานการลักพาตัววันเฉลิมได้ระบุว่า ทั้งสำนักงานตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของกัมพูชาต่างออกมากล่าวในลักษณะปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับเรื่องดังกล่าว

“ไม่มีการลักพาตัวเกิดขึ้น และไม่มีความจำเป็นที่ตำรวจต้องสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้” นายพลตำรวจ ฉาย กิม เขื่อน โฆษกสำนักงานตำรวจกัมพูชา กล่าว

ส่วนสื่อไทยรายงานความเห็นของโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อเรื่องนี้ ซึ่งให้คำตอบว่า ไม่ทราบ เพราะอยู่นอกราชอาณาจักร

และยังไม่มีการประสานกับหน่วยงานในกัมพูชา

 

ก่อนหน้านี้ ชื่อของวันเฉลิมเคยถูกหยิบยกจากตำรวจไทยโดยกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” หลังทางการกล่าวหาว่านำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และมีการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความจากเพจดังกล่าว ก่อนที่คดีดังกล่าวศาลยกฟ้องเมื่อมกราคมที่ผ่านมา โดยเห็นว่า ข้อความดังกล่าว กระทบภาพลักษณ์ คสช.เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

วันเฉลิมกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนล่าสุดที่หายตัวไป ท่ามกลางบรรดาผู้ลี้ภัยหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่ต้องอยู่กระจัดกระจายตามประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกตั้งข้อหาทั้งเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือข้อหา ม.112 แต่ที่หลบภัยหลายคนกลับไม่ได้ที่ปลอดภัยในระยะยาว

เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2561 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้หายตัวไปพร้อมกับผู้ติดตามอีก 2 คน จน 10 วันให้หลัง มีการพบศพที่ใบหน้าถูกทำลาย ถูกคว้านท้องและยัดแท่งปูนลงไปเพื่อถ่วงศพมาลอยเกยตื้นริมฝั่งแม่น้ำโขง 2 จุดในจังหวัดนครพนม ก่อนที่ดีเอ็นเอจะยืนยันได้ว่า ทั้ง 2 ศพคือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ “สหายภูชนะ” และไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง” ผู้ติดตามของสุรชัย

ส่วนสุรชัยนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบแม้แต่ศพว่าอยู่ที่ไหน

หรืออีกกรณี เป็นผู้ลี้ภัย 3 คนในเวียดนามคือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”, สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ถูกทางการเวียดนามจับกุมและถูกส่งมายังไทย แต่ทว่าทั้ง 3 กลับหายตัวไป

และอีกหลายกรณีก่อนหน้านี้ ทำให้มีผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557 ถูกทำให้สูญหายแล้ว 9 คน

 

สําหรับวันเฉลิม หนุ่มชาวอุบลราชธานีคนนี้ เข้าสู่โลกของเอ็นจีโอและเติบโตในด้านเยาวชน LGBT และรณรงค์โรคเอดส์ ซึ่งนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงต้าร์ว่า เป็นเอ็นจีโอรุ่นน้องที่มาจากสายงานเยาวชน เป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี จิตอาสา เปี่ยมไปด้วยความฝันและเขากล้าหาญ

“ความเป็น NGOs เราถูกสอนให้ทำงานกับคนที่เดือดร้อน และต้องวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้ว่า ปัญหาชาวบ้านนั้นอยู่บนโครงสร้างอะไร และเมื่อทำงาน NGOs ไปสักระยะหนึ่งก็จะค่อยๆ มองเห็นโครงสร้างสังคม ขุดลงไปให้ลึกก็จะเห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลงลึกไปกว่านั้นก็จะเห็นโครงสร้างทางการเมือง”

นายสมบัติกล่าวผ่านโพสต์หลังวันเฉลิมถูกอุ้มหาย

ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุ ประเทศไทยตั้งแต่ปี 1980 มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายแล้ว 82 ราย (รวมกรณีวันเฉลิมเป็น 83 ราย) ในแง่ข้อตกลงระหว่างประเทศ ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหาย เมื่อปี 2555 แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีเพราะยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามทรมานและอุ้มหาย ก็ยังคงล่าช้า ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกังวลว่าสาระสำคัญจะถูกลดทอนจนไม่สามารถคุ้มครองประชาชนและเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่