ดาวหาง สงคราม โรคระบาด ทุพภิกขภัย ทุพโภชนาการ และบริการสาธารณสุข

ที่มาภาพ : nasa.gov

เมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 2019 มีดาวหางเล็ก ๆ จากจักรวาลอันไกลพ้นเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ของเรา ดาวหางนี้ได้รับการขนานนามว่า Borisov ตามชื่อของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวไครเมีย (ทั้งรัสเซียและยูเครนอ้างว่าไครเมียเป็นของตน) ชื่อ Gennady Borisov ที่ค้นพบเป็นคนแรก เรื่องที่น่าสนใจของดาวหางนี้ คือ มีการคาดเดากันว่าดาวหางอาจจะสลายตัวจากความเค้นที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แต่ดาวหางนี้ไม่ “ดัง” เท่าที่ควร เพราะโดนข่าวโควิดกลบจนมิด ถ้าดาวหางยังไม่สลายตัว ปลายปีนี้นักดาราศาสตร์ทางซีกโลกภาคใต้จะเห็นมันอีกครั้งหนึ่ง และตอนนั้นถ้าคนเบื่อข่าวโควิดแล้ว ดาวหางอาจจะดังก็ได้ อย่างไรก็ตาม ดาวหางนี้เล็กเกินกว่าที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

คนโบราณ มักจะถือว่าดาวหางเป็นลางร้ายของสังคม หลังดาวหางปรากฏ อาจจะมีโรคระบาด ทุพภิกขภัย และ สงคราม ในปี 1456 โป๊ปสมัยนั้นบอกชาวคริสต์ว่าดาวหางฮัลเลย์ว่าดาวหางดวงนี้เป็นเครื่องมือของซาตาน อีก 75 ปีต่อมา นักโหราศาสตร์ชาวอินคาและแอสเต็กในอเมริการใต้ก็พบว่าหลังดาวหางปรากฏตัว อาณาจักรอันรุ่งเรืองของตนก็ตกอยู่ใต้อาณานิคมของสเปน อีกสองรอบต่อมา ปี 1835-36 เหตุการณ์ก็กลับกัน ในอัฟริกาใต้ชาวซูลูพื้นเมืองฆ่าหมู่คนขาวและในสหรัฐทหารเม็กซิโกฆ่าหมู่ชาวเท็กซัสที่เมืองอาลาโม่ พอถึงรอบ 1910 เมื่อดาวหางฮัลเล่ย์มาเยือน ในอเมริกามีนักฉวยโอกาสโฆษณาขายยาป้องกันความซวยและประกันภัยจากดาวหาง ส่วนในประเทศไทยเป็นปีที่คนไทยโศกเศร้าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

แต่คนที่อ้างว่าดาวหางนำโชคก็มีเหมือนกัน ชาวโรมันถือว่าดาวหางฮัลเลย์ทำให้จูเลียส ซีซาร์ดวงตก ซึ่งเป็นเรื่องดีของอาณาจักรโรมัน และนโปเลียนถือว่าดาวหางฮัลเลย์นำมาซึ่งกองทัพอันเข้มแข็งของเขา

ผมเองดูดาวหางฮัลเลย์จากหน้าต่างทิศตะวันออกหน้าบ้านพักในมหาวิทยาลัยปี 1986 ในตอนเช้ามืดเป็นภาพที่สวยงามมาก สั่งความลูกคนโตว่าอีก 75 ปีให้ชวนน้องดูดาวหางดวงนี้แล้วนึกถึงพ่อด้วยนะ ปีนั้นไม่ปรากฏข่าวร้ายแรงในโลกแต่อย่างไร รอบต่อไปเป็นปี 2061 ประชากรโลกคงมีเป็นหมื่นล้านคน เขาจะอยู่กันอย่างไรยังไม่รู้

 

ดาวหาง Borisov ที่เป็นต้นเหตุของบทความนี้เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เลยไม่อยู่ในความสนใจของพวกเรา ส่วนดาวหางจะเกี่ยวข้องกับโรคโควิดหรือไม่ และจะนำมาซึ่งสงครามโลกหรือไม่ ผมว่าไม่เกี่ยวข้องกัน สงครามไม่ว่าจะเป็นการล่าอาณานิคม หรือ การแก้แค้นล้างเผ่าพันธุ์ เป็นเรื่องความหลงชาติพันธุ์และอิทธิพลของนักการเมืองที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งขั้นรุนแรงของมนุษย์ ก่อนโควิดมาโลกก็เผชิญปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างเมกากับจีน โควิดยังไม่ไปหน้ามาหลังก็มีการกระพือจะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้าอีก

ในประวัติศาสตร์ โรคระบาดและสงครามเป็นของคู่กัน กองทัพมองโกลเป็นชาติแรกที่ใช้ศพจากกาฬโรคเป็นอาวุธชีวภาพ ทำให้เมืองในเขตยุโรปตะวันออกที่ตนล้อมไว้ต้องเจ็บป่วยล้มตาย ผลตามมาก็คือกาฬโรคระบาดไปทั่วยุโรป

กาฬโรคเป็นโรคระบาดระดับโลก (pandemic) ด้วยความสามารถพิเศษของเชื้อกาฬโรคซึ่งเป็นแบคทีเรีย เชื้อนี้ปรกติอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในป่าเป็นเจ้าภาพ (host) มีหมัดเป็นพาหะ เชื้อเข้าไปในตัวหมัดจะทำไปสร้างคราบไบโอฟิล์มอุดบริเวณหลอดอาหาร ทำให้หมัดหิวเลือดตลอดเวลา เมื่อไปกัดสัตว์เจ้าภาพตัวใหม่เชื้อบริเวณหลอดอาหารก็เข้าไปในกระแสเลือด เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วสัตว์ตายเนื่องจากพิษพิเศษที่เชื้อสร้าง สัตว์เจ้าภาพตายแล้วเร็วแต่หมัดยังไม่ตาย ยังหิวอยู่จึงกระโดดหาเจ้าภาพใหม่

หนูซึ่งเป็นสัตว์เจ้าภาพหลักส่วนใหญ่อยู่ในป่า กาฬโรคจึงมีวงจรธรรมชาติอยู่ในป่า แต่ก็มีหนูจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้คน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมหรือเป็นตัวเมือง หมัดหนูที่มีโรคมากัดคน ในระยะแรกเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลือง(ไข่ดัน)โตเจ็บ ต่อมาเข้าไปในปอด ไอออกมาเป็นเชื้อกาฬโรคติดต่อจากคนสู่คนได้เหมือนไข้หวัดใหญ่เหมือนโควิดโดยไม่ต้องอาศัยหมัด การแยกผู้ป่วยออกมารักษาตัวไม่ให้โรคแพร่กระจายพอทำได้ แต่การแยกหนูออกจากคนเกือบจะทำไม่ได้ เพราะหนูแพร่พันธุ์และหลบซ่อนได้เก่ง โควิดติดต่อผ่านคนอย่างเดียว ไม่ผ่านสินค้า

แต่กาฬโรคระบาดผ่านสินค้าได้โดยหนูที่มากับสินค้าเมื่อหนูเข้าไปในเรือได้ก็ทำรังแพร่ลูกแพร่หลาน เรือจอดเมื่อไรก็วิ่งขึ้นฝั่งพร้อมคนบ้าง ว่ายน้ำเข้าฝั่งบ้าง แพร่จากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง

 

คำว่า quarantine ที่เราใช้หมายถึงการกักตัวของผู้มาถึงพื้นที่ของเราใหม่ ๆ มาจากภาษาเวนิช quarantena ในศตวรรษที่ 15 ซึ่งกาฬโรคระบาดในยุโรป แปลว่า 14 วัน เป็นระยะที่เรือถูกกักไว้นอกฝั่งเมืองท่า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกาฬโรคอยู่บนเรือ เพราะถ้ามีโรคนี้อยู่ก็จะเห็นหนูตายเกลื่อนและมีคนป่วยบนเรือ

กาฬโรคในสมัยโบราณจึงระบาดได้นานรอบละถึงร้อยปี รอบแรกระบาดในยุโรปยุคโรมัน รอบที่ระบาดหนักที่สุดเริ่มต้นจากเอเซียผ่านเส้นทางสายไหมและกองทัพมองโกลเอาไปแพร่เข้ายุโรปมีคนเสียชีวิตเกือบครึ่งนึงของประชากร รอบที่สามเกิดในต้นศตวรรษที่ 20 ออกไปจากเอเซีย กระจายไปทั่วโลกแล้วกลับเข้าฮ่องกง ในที่สุดก็มาถึงไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดการระบาดในพระนครหลายเขต โดยเฉพาะย่านที่พักคนงานต่างชาติชาวจีนและอินเดีย รอบนี้เองที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น มีการค้นพบเชื้อตัวนี้ในการระบาดที่ฮ่องกง นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคในเวลาต่อมา

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีนำยาปฏิชีวนะและยาฆ่าแมลงมาใช้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันบ้านเมืองในประเทศต่าง ๆ มีสุขอนามัยดีขึ้นกาฬโรคระบาดในเมืองน้อยลง คงเหลือแต่ที่ระบาดในป่า ก่อนโควิดระบาด ในประเทศมองโกเลียและจีนมีรายงานการระบาดขนาดเล็กของกาฬโรคซึ่งทางการสามารถควบคุมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในเมกามีคนป่วยจากกาฬโรคเกือบทุกปี แต่จำนวนน้อยมาก และไม่มีการระบาดแต่อย่างไร

 

สุดท้าย คือ เรื่องทุพภิกขภัย หรือ ภัยจากความอดอยาก

องค์การอาหารโลกรายงานต่อสหประชาชาติว่าปี 2020 นี้ จะเป็นปีที่มีประชากรโลกประสบทุพภิกขภัยมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศที่ประสบภัยนี้จากสงคราม คือ ซีเรีย และ เยเมน ส่วนประเทศที่ได้รับภัยจากพิษทางเศรษฐกิจของโควิดได้แก่ เลบานอน คองโก ซูดาน และ เอธิโอเปีย ตอนนี้มีคนเข้านอนด้วยความหิวอยู่กว่า 800 ล้านคน ปลายปีนี้อาจจะมีคนอดอาหารตาย ถึง 130 ล้านคน ซึ่งผู้รายงานกล่าวว่าเป็น ‘biblical proportion’ – แปลว่าหนักหนาสาหัสจนเสมือนหนึ่งบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ล

เวลาทำสงครามกัน คู่สงครามจะไม่มีความปราณี จะปิดล้อมจนฝ่ายตรงข้ามต้องอดตายหรือเกิดโรคระบาด จำนวนคนที่อดตายและตายจากโรคระบาดมากกว่าจำนวนคนที่ถูกฆ่าตายในสงคราม ในสงครามกับโควิด ประชากรโลกจะตายจากความอดอยากมากกว่าตายจากการติดเชื้อโควิดอย่างแน่นอน พื้นที่ที่เปราะบางที่สุดในขณะนี้ คือ อัฟริกา เพราะมีแหล่งรายได้น้อย ผืนดินผลิตอาหารได้ไม่พอสำหรับเลี้ยงประชากรทั้งทวีป และยังติดด้วยศึกสงครามภายใน

ฟังดูแล้วคิดถึงประเทศไทย เราอยู่ในโซนแผ่นดินใหญ่ของอาเซียนอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก มีฐานรายได้ที่หลากหลาย เราและเพื่อนบ้านไม่เคยประสบทุพภิกขภัยในประวัติศาสตร์เลย

ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว การเกษตรหรือการผลิตอาหาร ไม่ได้เอาไว้ให้ครัวเรือนของผู้ผลิตได้บริโภคอย่างเดียว รัฐ ตลาด หรือ ทุน มีบทบาทเร่งการผลิต เพื่อผู้ผลิตจะได้นำไปขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ดังนั้น ระบบตลาดทำให้ผลผลิตมีการพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณ ป้องกันทุพภิกขภัยของสังคมโดยรวม แต่ทุพภิกขภัยในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการที่ประเทศหรือโลกผลิตอาหารได้ไม่พอ มันเกิดจากการกระจายตัวของอาหารซึ่งเป็นไปตามกำลังซื้อของแต่ละพื้นที่ แต่ละครัวเรือน ปัญหาความมั่นคงทางอาหารจึงตกกับพื้นที่และครัวเรือนที่ยากจน

สมาชิกภายในครัวเรือนเดียวกันเองก็อาจจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน หญิงมีครรภ์และเด็กเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการขาดอาหารในทางชีววิทยามากที่สุด การขาดอาหารในหญิงมีครรภ์และเด็กอ่อนไม่เพียงแต่ทำให้มารดาสุขภาพทรุดโทรมผ่ายผอมและทารกในครรภ์และที่คลอดออกมาแล้วเติบโตช้าตัวเล็ก เด็กอ่อนในครรภ์และเด็กเล็กอยู่ในช่วงที่สมองกำลังเติบโต การขาดอาหารทำให้สมองเติบโตได้ไม่ดี เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในอนาคต นอกจากนี้นักระบาดวิทยายังพบว่าเด็กที่ขาดอาหารในครรภ์เมื่อโตขึ้นในช่วงเศรษฐกิจดีในภายหลังจะมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากกว่าปรกติ ทั้งนี้เพราะร่างกายถูกปรับให้คุ้นเคยกับภาวะการขาดสารอาหารในครรภ์มารดา เซลที่ใช้ในการเผาผลาญอาหารส่วนเกินมีน้อย เมื่อเติบใหญ่พบอาหารส่วนเกินมากก็จะไวต่อผลเสียของอาหารส่วนเกินมากกว่าคนทั่วไป การป้องกันโรคเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตจึงต้องป้องกันตั้งแต่ในครรภ์มารดา

เป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากผมเขียนบทความไป รัฐบาลได้แนะนำให้จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อโควิดต่ำให้เปิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กได้โดยไม่ต้องรอเดือนกรกฏาคมตามที่เคยประกาศเดิม การเปิดศูนย์เด็กเล็กในเขตยากจนทำให้เด็กได้มีโอกาสได้รับอาหารและการดูแลความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ ฟื้นฟูภาวะทุพโภชนาการจากการที่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กต้องปิดไปเกือบครึ่งปี แต่การเปิดโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ ยังมีอีกหลายอย่างที่จะต้องเร่งทำเพื่อฟื้นฟูคุณภาพประชากร

 

ในทางระบาดวิทยา เราแบ่งกลุ่มโรคใหญ่ ๆ เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก คือ โรคและภาวะจากความยากจน ได้แก่ ปัญหาความสะอาด สุขาภิบาล อนามัยแม่และเด็กและโรคติดต่อ กลุ่มที่สอง คือ โรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพรึก มะเร็ง ถุงลมโป่งพอง และปัญหาทางจิตใจ กลุ่มที่สามคือภัยที่เกิดจากความรุนแรงและการบาดเจ็บ เช่น การบาดเจ็บบนท้องถนน การทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุอื่น ๆ

ผลการวิจัยทั่วโลกก่อนโควิดระบาดพบว่า ภาระโรคส่วนใหญ่มาจากโรคและความเสี่ยงต่อโรคในกลุ่มที่สองหรือโรคเรื้อรัง ไม่ติดต่อ (non-communicable diseases — NCD) จนกระทั่งปีนี้โควิดมาเยือนทำให้เราเห็นความสำคัญของโรคติดต่อแซงหน้าโรคอีกสองกลุ่มไปเลย แต่โควิดเป็นมากกว่าโรคติดต่อนะครับ ความเครียดจากการตกงานรายได้หายไปทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น รายได้ตกต่ำทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการในกลุ่มคนจนโดยเฉพาะในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ โควิดยังทำให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นขาดหายไปอีก สำหรับคนจน และ สำหรับเด็ก ๆ บริการที่คาดว่าหายไปและจะทำให้โรคอื่นระบาดตามมา คือ การให้ภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน เพราะในช่วงปิดเมือง พ่อแม่ผู้ปกครองนำเด็กมารับวัคซีนน้อยลงและเจ้าหน้าที่ก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อย

โควิดทำให้การจัดความสำคัญของงานสาธารณสุขในช่วงคลายล็อกนี้ต้องว่ากันใหม่ กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกลับไปเร่งมืองานแม่และเด็ก การให้ภูมิคุ้มกัน และ ด้านโภชนการ อย่าให้โรคอื่น ๆ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนระบาดซ้ำเติมโควิด ความสามารถในการผลิตอาหารของประเทศไทยยังไม่ตก

เราไม่มีทุพภิกขภัยก็จริง แต่เราคงมีทุพโภชนาการจากความยากจนเฉียบพลัน ระบบสาธารณสุขต้องสืบค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางเหล่านี้มารับบริการพิเศษที่อาจจะต้องจัดร่วมกันหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่