จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Cabin Fever ถึง Temporary Home School ทางออก “กระทรวงศึกษาฯ” ยุค COVID ปิดโรงเรียน

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2563 เปิดรายงาน Cabin Fever ผลกระทบทางจิต ที่แฝงมากับการใช้สื่อออนไลน์มากเกินไป

“มติชนรายวัน” บอกว่า “เด็กๆ ที่ติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน อาจเผชิญภาวะที่เรียกว่า Cabin Fever หรือสภาวะกดดันทางจิตใจที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน”

“Cabin Fever เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านลบ และความทุกข์ที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ”

Cabin Fever หรือโรค “กระท่อมเดียวดาย” เป็นศัพท์คำหนึ่ง ซึ่งใช้อธิบายสภาวะของคนผู้ที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกล

โดยเฉพาะ “กระท่อมป่า” หรือ Cabin ในทวีปอเมริกาเหนือ ที่ช่วงฤดูหนาวผู้คนจำเป็นต้องอยู่แต่ใน Cabin เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

สรุปก็คือ Cabin Fever เป็น “สภาพกดดันทางจิตใจ” เมื่อต้อง “ถูกกักตัว” อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานนั่นเอง

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. Paul Rosenblatt นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Minnesota ผู้เชี่ยวชาญโรค “กระท่อมเดียวดาย” กล่าวว่า อาการ Cabin Fever จะทำให้ผู้ที่ถูกกักตัวเป็นเวลานาน เกิดอาการวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

“จากการที่ผมลงมือศึกษาเกี่ยวกับ Cabin Fever มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ผมพบว่า ผู้ที่เป็นโรคกระท่อมเดียวดาย ต่างกังวลถึงอนาคตของตนที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน”

“คนกลุ่มนี้จึงมีสภาวะตึงเครียดเป็นอย่างมาก” ดร. Paul Rosenblatt กล่าว และว่า

อย่างไรก็ดี อาการ Cabin Fever อาจเกิดขึ้นได้ไม่เท่ากันในแต่ละคน โดยหลายคนสามารถเกิดสภาวะดังกล่าวได้ในทันที

“ขณะที่บางคนก็อาจยังไม่แสดงอาการ Cabin Fever หรือเกิดอาการช้ากว่าคนอื่นๆ” ดร. Paul Rosenblatt กระชุ่น

 

สอดคล้องกับ ดร. Vaile Wright นักจิตวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัย American Psychological Association ที่กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว Cabin Fever หาใช่อาการทางจิตไม่

“อาการของโรคกระท่อมเดียวดายไม่ได้มีอยู่จริง เพราะมันเป็นเพียงความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางด้านลบ และความทุกข์ใจที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่” ดร. Vaile Wright กล่าว และว่า

อย่างไรก็ดี Cabin Fever กลายเป็นที่จดจำ และมักถูกรื้อฟื้นขึ้นเสมอ เมื่อเราพบกับผู้ที่มีความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง จากการถูกกักตัว

“คนที่ประสบกับ Cabin Fever จะมีพฤติกรรมที่ผิดแปลก กระสับกระส่าย และไม่มีสมาธิ จากการถูกกักตัวเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 กำลังแพร่ระบาดยามนี้” เขาสำทับ

โดยเฉพาะหากผู้ที่ไม่ใช่ “คนชอบเก็บตัว” ก็อาจจะมีแนวโน้มที่โรค “กระท่อมเดียวดาย” จะทวีความรุนแรงมากกว่าคนที่ชอบปลีกวิเวกได้ไม่ยาก ดร. Vaile Wright กล่าว

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. Paul Rosenblatt กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อดีของการถูกกักตัวในช่วง COVID-19 ของชาว Cabin Fever นั้นยังพอมีอยู่

“นี่คือโอกาสอันดีที่จะลุกขึ้นมาจัดข้าวของ และทำความสะอาดบ้าน จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า หนังสือหนังหา ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับช่วงพักแบบนี้ หรือหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ ไปจนถึงการจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ” เขาบอก

ดร. Vaile Wright กล่าวเพิ่มเติมว่า การชะลอไม่ให้อาการ Cabin Fever กำเริบนั้น บุคลิกภาพส่วนตัวและการจัดการอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญของโรค

“ทาง 2 แพร่งของผู้ป่วยกระท่อมเดียวดายก็คือ จะพัฒนาบุคลิกภาพและสภาวะอารมณ์เหล่านี้ให้อยู่ในแดนบวกหรือแดนลบ” เขากล่าว

ความท้าทายก็คือ หากธรรมชาติของคุณเป็นคนที่ชอบออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แน่นอนว่า อาการ Cabin Fever ของคุณอาจทรุดหนักอย่างรวดเร็ว

“ขณะที่ถ้าคุณเป็นคนรักบ้านอยู่เป็นทุนเดิม Cabin Fever จะไม่มีผลต่อคุณเลย หรือหากจะมี อาการก็มักเกิดขึ้นช้ากว่าคนอื่นหลายเท่าตัว” ดร. Vaile Wright ปิดท้าย

 

แน่นอนว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 ในเวลานี้ได้ส่งผลกระทบถึงคนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลำพังผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่อาจรับมือสถานการณ์กักตัวอยู่กับบ้าน ซึ่งเชื่อว่าจำนวนมากกำลังเผชิญหน้ากับ Cabin Fever เป็นครั้งแรกในชีวิต!

ขณะที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เติบโตมากับยุค Social Media อาจไม่รู้สึกรู้สามากนักกับนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

เพราะโดยปกติ ชีวิตประจำวันของพวกเขาก็หมกมุ่นตัวเองอยู่กับหน้าจอ Digital กันอยู่แล้วนั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี มีปมปัญหาหนึ่งซึ่งกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาในสถานการณ์ COVID-19 ปูพรมถล่มโลก นั่นก็คือปัญหาในแวดวงการศึกษา

ที่แม้จะมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ทว่าผมคิดว่า เมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียนต่างๆ ก็คงยังจะเปิดเทอมไม่ได้!

ดังนั้น ช่วงเวลาอย่างนี้ คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการประยุกต์แนวคิด Home School มาปรับใช้กับการบริหารการศึกษา

เพราะในขณะนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คงยัง Stay Home และ Work from Home กันอยู่ พร้อมหน้าพร้อมตาบุตร-หลานที่ก็อยู่ในช่วงปิดเทอมใหญ่ (ยาว) เช่นเดียวกัน

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว โอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งผู้ปกครองและบุตร-หลานแบบนี้ หากเรานำกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Home School มาปรับใช้ ก็เป็นเรื่องที่น่าทดลองอยู่ไม่น้อย

 

Home School หมายถึง การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ที่ผู้ปกครองได้จัดขึ้นสำหรับลูกๆ โดยมีสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย

นั่นคือ “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542” ตามมาตรา 12 ที่เปิดช่องให้เกิดการศึกษาทางเลือกสำหรับครอบครัวที่ไม่ประสงค์จะส่งลูกเข้าเรียนในระบบโรงเรียน แต่มีความประสงค์จะจัดการศึกษาให้กับบุตรเอง

เรียกตาม พ.ร.บ.นี้ว่า “การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสกูล (Home School)”

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้สนับสนุนการรื้อโครงสร้างระบบการศึกษา แล้วเปลี่ยนมาเป็น Home School ทั้งหมดนะ

เพราะข้อเสนอของผมมีว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดให้เป็น Temporary Home School ซึ่งในขณะนี้มีตัวแบบมากมายจากหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นชาติชั้นนำทางด้านการศึกษา

ดังเห็นได้จากหลายรัฐในอเมริกา ได้ริเริ่มโครงการ Temporary Home School ที่ผสมผสานแนวคิด Home School แบบดั้งเดิมเข้ากับการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการจัดการศึกษา

นั่นคือ แต่ละครอบครัวก็จัด Home School ตามรูปแบบ “บ้านใครบ้านมัน” ไปตามปกติ

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาที่เราต้อง Social Distancing หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม เราก็ใช้ Social Media เป็นสื่อกลางให้ลูก-หลานได้พบปะกับเพื่อนๆ ของเขาผ่านทางออนไลน์

อีกทั้งคุณครูที่ก็มีส่วนร่วมกับการจัดการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์กับเด็กๆ อยู่แล้ว ได้เข้ามาแจมกับกลุ่มลูกศิษย์ แถมยังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครองมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แนวคิด Home School แบบนี้ คือ Temporary Home School หรือเป็นแบบ “ชั่วคราว” เท่านั้นนะครับ เพื่อบรรเทาเบาบางปัญหาที่ COVID ได้ปิดโรงเรียนไปในช่วงนี้

ต่อเมื่อ COVID หายไป เด็กๆ ก็จะได้กลับไปเรียนกันตามระบบเหมือนเดิมนั่นเอง