วัคซีนป้องกันโควิดในมุมมองทางระบาดวิทยา

ข่าวดังระเบิดช่วงนี้ คือ บริษัท Moderna ประกาศว่าวัคซีน mRNA-1273 ของตนซึ่งทดลองโดยสถาบัน National Institutes of Health ของอเมริกา สามารถกระตุ้นร่างกายของอาสาสมัคร 45 คนให้สร้าง neutralizing antibody (Nab) ในระดับที่เท่ากันหรือสูงกว่า NAb ที่สร้างขึ้นโดยคนที่ติดเชื้อจากโรคโควิดตามธรรมชาติ ส่วนในประเทศอังกฤษมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดรายงานว่าได้ทดลองวัคซีนของตนในลิงแสม(อ่านว่าลิงสะแหฺม)แล้ว พบว่าลิงที่ได้วัคซีนเมื่อติดเชื้อโควิดจะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง

เทียบสองข่าวนี้แล้ว ข้อมูลทางอเมริกาน่าเชื่อถือกว่าในแง่ที่ฉีดวัคซีนให้มนุษย์เป็นการตอบสนองของมนุษย์ซึ่งเป็น species หลักที่โควิดระบาด ของอังกฤษเป็นการตอบสนองในลิง ซึ่ง่อาจจะไม่เหมือนในมนุษย์ แต่การวัดของอังกฤษดีกว่าในแง่ที่ให้ลิงรับเชื้อโควิดโดยตรงแล้วดูว่าอาการเป็นอย่างไร ของอเมริกาคนที่รับวัคซีนยังไม่ได้ทดสอบว่าถ้ารับเชื้อจริง ๆ จะสู้กับเชื้อได้มากเพียงไร

Neutralizating antibody (NAb) คืออะไร ต่างกับ แอนตี้บอดี้ทั่วไปอย่างไร

คำว่า neutralize แปลว่า ทำให้เป็นกลาง ไม่ได้แปลว่าทำลายหรือฆ่าทิ้ง ในวิชาแพทย์แผนไทยน่าจะตรงกับคำว่า “ยาแก้” เหมือน สังกรณีตรีชวา แก้พิษเป็น antitoxin ต้านพิษหอกโมกขศักดิ์ที่ท้าวกุมภกรรณเสียบพระลักษมณ์ แต่ NAb ที่ได้จากวัคซีนแน่กว่า เพราะวัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายฮึดสู้ เปิดโรงงานภายในร่างกาย

เมื่อสมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์ฝรั่งที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ส่งมา สอนวิชา Immunology หรือภูมิคุ้มกันวิทยา โดยให้นักศึกษาแพทย์ (นศพ.) ใช้กับหนูทดลอง อาจารย์แบ่ง นศพ.เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกฉีดท็อกซอยด์ป้องกันบาดทะยักเข้าต้นแขน กระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่สองรอบห่างกันหนึ่งเดือน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้ทำอะไร หลังจากกระตุ้นด้วยท๊อกซอยด์เข็มสุดท้าย อาจารย์ก็เจาะเลือดของ นศพ. ทั้งสองกลุ่มปั่นเอาซีรั่มมาฉีดหนูทดลองสองตัวต่อ นศพ.1 คน จากนั้นจึงฉีดพิษบาดทะยักเช้าไปในตัวหนู ปรากฎว่าหนูที่ได้ซีรั่มของ นศพ. ที่ถูกกระตุ้นด้วยท็อกซอยด์มาก่อนไม่เป็นอะไรเลย ส่วนหนูที่ได้ซีรั่มจาก นศพ.กลุ่มควบคุม ถูกพิษบาดทะยัก ชักดิ้นชักงอตายหมด จำติดหูติดตา ปรกติในชั้นเรียนผมจะหลับในชั่วโมงเล็คเช่อร์เป็นที่เลื่องลือ (เพราะเอาแต่ทำกิจกรรม สอบพอผ่านจากการเดา และมาหาความรู้เอาทีหลัง) แต่เรื่องการทดลองนี้จำติดตาติดใจจนถึงทุกวันนี้

ปีพ.ศ. 2529 อีก 15 ปีต่อมา เมื่อผมทำงานเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยส่งขลานครินทร์ มีโรคบาดทะยักในเด็กแรกคลอดระบาดอยู่ในจังหวัดสตูลและจังหวัดกระบี่หนักหนาสาหัสที่สุดในประเทศไทย โรคนี้เกิดจากการคลอดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ บาดแผลตรงสะดือเด็กแรกคลอดมีเชื้อบาดทะยักตกลงไป เชื้อสร้างท็อกซิน (พิษ) เข้าไปในกระแสเลือดของเด็ก ทำให้เด็กชักตายเหมือนหนูทดลองที่ว่า ผมได้รับคำเชิญจากจังหวัดทั้งสองให้ไปช่วยวางแผนควบคุมโรคนี้ ก็เลยใช้ประสบการณ์ที่เห็นมา กอปร์กับเป็นที่รู้กันว่าการฉีดท็อกซอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ NAb ที่แม่สร้างจะส่งผ่านรกไปให้ลูกในท้องได้ และงานวิจัยที่ผ่านมาแสดงว่าภูมิค้านทานที่ได้อยู่ได้นานเป็นสิบ ๆ ปี ผมจึงแนะนำพี่หมอล้วน บูชากรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ให้ฉีดท๊อกซอยด์ปัองกันบาดทะยักให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนในจังหวัดกระบี่ให้ครบ 3 เข็ม ครอบคลุมได้ราว 90% หลังจากนั้นอีกสองปีต่อมาอุบัติการณ์ของบาดทะยักในเด็กแรกคลอดก็ลดลงถึง 8 เท่า แต่ฮะแอ้ม ผมเอาจังหวัดสตูลเป็นกลุ่มควบคุม แนะนำให้คุณหมอวิเชียร แก่นพลอย นายแพทย์สาธารณสุขรุ่นน้องให้เข้มงวดกับหมอตำแย (โต๊ะบีแด) และพยายามให้หญิงตั้งครรภ์มาคลอดที่สถานีอนามัยให้มากหน่อย ก็ปรากฏว่าอุบัติการณ์บาดทะยักเด็กแรกคลอดในจังหวัดสตูลก็ลดลงพอ ๆ กันกับที่จังหวัดกระบี่ สรุปว่า การเกิดบาดทะยักในเด็กแรกคลอดเป็นปัญหาทางบริการสาธารณสุข มีวิธีแก้ที่หลากหลาย ท๊อกซอยด์ช่วยได้ การบริการที่ดีขึ้นก็แก้ปัญหาได้ ทำวิจัยในโรคที่กำลังจะหมดไปก็ดีอย่างครับ ทำแล้วเกิดปิติเห็นความสำเร็จในการควบคุมโรค ต้องอาศัยปัญญาคอยเตือนสติว่าระบาดวิทยาของโรคทั้งหลายมันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ

เวลาผ่านไปเร็วเหมือนมีปีกบิน ปัจจุบันจังหวัดทั้งสองของอันดามันเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ผู้คนมีการศึกษา หญิงมีครรภ์ทุกคนคลอดที่โรงพยาบาลทั้งหมด หมอตำแยเป็นเรื่องเพียงตำนานที่เล่าลือกัน ประสบการณ์ในการทำงานในภาคใต้เกือบสี่สิบปีของผมบอกว่า เขตอันดามันเป็นเขตของประชากรที่มีสุขภาพดีที่สุดในประเทศ (ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นที่อยู่ของคนต่างชาติที่มาทำมาหากินเป็นส่วนใหญ่) ปํญหาของจังหวัดทั้งสองในตอนนี้ก็คือปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด ถ้าวัดซีนป้องกันโรคโควิดได้ผลดี ต่อไปนักท่องเที่ยวจะไม่ต้องกลัวการระบาด อันดามันก็จะเฟื่องฟู (แต่สิ่งแวดล้อมก็คงเลวลง) อีกครั้งหนึ่ง

เล่านอกเรื่องมาซะยาว ยังไม่ได้บอกเลยว่า NAb ต่างจากแอนตี้บอดีทั่วไปอย่างไร

เมื้อกี้เล่าเรื่องการฉีดท็อกซอยด์ บางคนอาจจะถามว่าทำไมไม่เรียกว่าวัคซีน ท็อกซอยด์คือ สารพิษ (toxin) ที่เอามาทำให้อ่อนลงจนไม่เป็นอันตราย ฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้ที่เรียกว่าแอนตี้ทอกซินมายับยั้งพิษ ส่วนวัคซีนคือส่วนของเชื้อโรคที่เอามาสกัดฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (ซึ่งส่วนหนึ่งคือแอนตี้บอดี้) มาทำลายเชื้อโดยตรง

แอนตี้บอดี้ทั่วไปไม่ได้มีผลในการแก้พิษหรือป้องกันการติดเชื้อเสมอไป แอนตี้บอดี้เหมือนทหาร มีทั้งที่รบเก่ง เป็น neutralizing antibody และพวกที่เดินไปเดินมา แสดงว่ากำลังมีสงคราม เชื้อแต่ละชนิดจะสร้างแอนตี้บอดี้ที่มีโครงสร้างไม่เหมือนกัน มีบางส่วนของมันที่ทำตัวเหมือนฟันกุญแจที่จะทำให้กุญแจไขเข้าไปในแม่กุญแจคลายล็อคได้ เป็นตัวบ่งบอกว่าร่างกายกำลังมีการสู้รบอยู่ภายใน เอาไว้ช่วยวินิจฉัยโรค แต่แอนตี้บอดี้พวกนี้ส่วนใหญไม่ใช่ทหารชั้นดีซึ่งเป็น neutralizing antibody เพราะอาจจะร่างกายเราไม่ได้เลย ในประเมินผลวัคซีนจะมีวิธีวัด neutralizing antibody คือวัดว่าซีรั่มของคนนั้น ๆ พอที่จะระงับการฆ่าเซลของเชื้อโควิดเป็น ๆ หรือไม่ ซึ่งต้องทำภายใต้ห้องที่ปลอดเชื้อที่มีความปลอดภัยทางชีววิทยาสูงมาก เพราะเชื้ออาจจะเล็ดลอดออกมาทางอากาศและเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ แล็บที่มีความปลอดภัยสูง ๆ ขนาดนี้ยังไม่มีในประเทศไทยครับ

บัดนี้ โลกได้วัคซีนซึ่งช่วยกระตุ้นให้สร้างแอนตี้บอดี้ชั้นดีเหมือนฝีกทหารเสือแล้ว แต่วัคซีนหรือทหารเสือที่ฝึกในรุ่นที่ผ่านมานี้ยังอยู่แต่ในศูนย์ฝึก ไม่ได้ผ่านศึกสงครามจริง คือ คนที่ได้รับวัคซีนยังไม่ได้ถูกทดลองให้รับเชื้อในสภาพที่แท้จริงทางระบาดวิทยา วัคซีนจึงยังเชื่อไม่ได้ว่าจะได้ผลจริง บริษัทผู้วิจัยบอกว่าจะเริ่มทดลองออกศึกจริง คือ ฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากตั้งแต่เดือนกรกฏา คือ เดือนหน้าเป็นต้นไป

ผมเอาใจช่วยและเห็นว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ดีที่สุดประเทศนึงในการทดลองวัคซีนโควิด เพราะมีกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดในโลกในขณะนี้ คนอเมริกันน่าจะยังเสี่ยงไปอีกนาน เนื่องจากรัฐบาลเร่งให้คลายล็อคทั้ง ๆ ที่โรคยังแพร่กระจายอยู่ ถ้าผมเป็นชาวอเมริกาผมคงโกรธนายทรัมป์มากที่ออกนโยบายปล่อยให้คนตายโดยหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ล้วน ๆ นโยบายของนายทรัมพ์จะทำให้การทดลองวัดซีนได้ข้อสรุปเร็วขึ้น ถ้าวัคซีนได้ผล คนที่ได้วัคซีนจะป่วยน้อยตายน้อย สถิติต่างกันอย่างชัดเจนกับกลุ่มคนที่ได้ยาหลอกอื่น ๆ ซึ่งจะยังคงตายมากอยู่ เราก็จะเห็นประสิทธิผลในการป้องกัน (protective efficacy) ได้ชัดเจน

ถ้าสถานการณ์โควิดในไทยทรงตัวอย่างนี้ สมมติว่ามาทดลองวัคซีนในเมืองไทยคงเกือบจะหมดหวังที่จะได้คำตอบ เพราะกลุ่มควบคุมของเราจะไม่ค่อยติดเชื้อ ไม่ค่อยตาย มีวัคซีนที่ได้ผลก็มองไม่ค่อยเห็นผลแตกต่าง เพราะทั้งกลุ่มที่ได้และไม่ได้รับวิคซีนล้วนแต่ป่วยน้อยตายน้อย

สมมติว่าพอคลายล็อกได้ไม่กีวัน เราติดเชื้อกันเปรอะควบคุมไม่ไหว ณ เวลานั้นแหละครับที่จะเป็นเวลาทองของการทดลองว่าวัคซีนจะป้องกันโควิดในเมืองไทยได้หรือเปล่า ศบค. ฟังแล้วคงบอกว่า ขออย่าให้โควิดระบาดเลย เรารอผลจากอเมริกาแล้วค่อยมาว่ากันดีกว่า เดาเอาว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนเขา ถ้าวัคซีนปัองกันคนอเมริกันได้ก็ต้องป้องกันเราได้สิน่า

ประสิทธิผลในการป้องกันโรคสำหรับคนแต่ละคนต่างกันสำหรับชุมชนต่างกันนะครับ ติ๊งต่างว่า mRNA-1273 วัคซีนป้องกันโควิดมีประสิทธิผล 90% ซึ่งถือว่าดีมาก การฉีดวัคซีนไม่ครบทุกคนจะป้องกันโรคไม่ได้

สมมติว่ามีประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 100 คน ฉีดได้ครี่งนึงของประชากรเป้าหมาย คือ 50 คน ติ๊งต่างอีกทีว่าพวกที่ไม่ได้ฉีดทั้งหมดนี้อาจจะติดเชื้อโควิดซะ 10 คน คนทั้งสิบนี้จะช่วยกันแพร่โรคในอยู่ในชุมชนตลอด ส่วนกลุ่มที่ฉีดแล้ว 50 คนมีภูมิต้านทาน 90% คือ 45 คน อาจจะรับเชื้อไปเต็ม ๆ ไม่มีภูมิต้านทาน คนติดเชื้อก็จะยังมากโข ค่า R ก็จะยังสูงอยู่ โรคก็ยังคงระบาด

ถ้าสาธารณสุขเก่ง ฉีดวัคซีนได้ 99 ใน 100 คน มีประชากรที่ไม่มีภูมิต้านทานเลยเพียง 10 คน อยู่กระจายกัน ถ้ามีบางคนป่วยบ้าง แต่โอกาสที่แพร่ไปสู่คนทีไม่มีภูมิต้านทานก็ยังน้อยเพราะเกือบทุกคนมีภูมิต้านทานแล้ว ค่า R จะต่ำกว่า 1 มาก เป็นแบบนี้อยู่ซักพัก โรคก็จะค่อย ๆ หมดหายไปจากชุมขนครับ คนที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พลอยปลอดภัยไปได้วย อันนี้เขาเรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อวัคซีนมาประสิทธิผลดี ฉีดได้ครบถ้วนทุกคน เชื้อโรคโควิดเกิดขี้นได้กับมนุษย์เท่านั้น ถ้าทั่วโลกร่วมมือรวมใจกันฉีดวัคซีนให้ครบ มนุษย์ทั่วโลกก็จะมี herd immunity เป็นเวลายาวนาน เชื้อที่หลงเหลือก็จะไม่รู้จะไปติดใคร ในที่สุดก็สูญพันธุ์เหมือนไข้ทรพิษ

คุยมาเสียยาว เรายังไม่รู้ว่าวัคซีน mRNA-1273 จะมีประสิทธิผลป้องกันโรคโควิดได้กี่เปอร์เซนต์ สรุปว่า ถ้าได้ประสิทธิผลในการป้องกันสูงถึง 90% แบบวัคซีนป้องกันโรคหัดก็เป็นอาวุธที่ดี แต่ถ้าป้องกันได้แค่ 50% วัคซีนนี้อย่างเดียวคงช่วยให้คนพ้นภัยโควิดได้ยาก ตัวช่วยอื่น คือ พฤติกรรมซึ่งรวมทั้ง social distancing สวมหน้ากากอนามัย และ ล้างมือ ก็ยังคงมีความสนใจไม่น้อย

ในเมืองไทยถ้ามีพฤติกรรมเหมือนสองเดือนที่ผ่านมา และทุกคนได้วรับวัคซีนหมด แม้ประสิทธิผลของวัคซีนจะมีเพียง 50% เราก็น่าจะป้องกันได้ในระดับที่น่าพอใจมาก เพราะความเสี่ยงพื้นฐานของบ้านเราต่ำ herd immunity ถึงแม้จะไม่มาก แต่ เมื่อรวมกับพฤติกรรมป้องกันที่ดีแล้วเราจะจับโควิดให้อยู่หมัด ทำให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่เหลือน้อย ๆ ตลอดเวลา เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้โดยไม่ยาก

แต่ถ้าเราหละหลวมกัน มีผู้ป่วยรายใหม่วันละมากกว่า 100 ราย วัคซีนที่มีประสิทธิผลเพียง 50% ก็คงไม่สามารถควบคุมโควิดให้อยู่หมัดได้ ตัวใครตัวมันนะครับ ไม่รู้ใครจะอยู่ 50% ไหน ถ้ายังมีผู้ป่วยใหม่วันละ 50 รายโดยเฉลี่ย บางวันมาก บางวันน้อย การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ ก็คงจะจ๋อยเหมือนเดิมนั่นแหละครับ