จักรกฤษณ์ สิริริน : Non-Cognitive Computing แก้ปัญหา AI ไร้อารมณ์

นี่คือ “กฎ 3 ข้อ” ของ “หุ่นยนต์” หรือ Laws of Robotics กำหนดขึ้นโดย Isaac Asimov

1. A robot may not injure a human being or, through inaction, allow a human being to come to harm.

หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้

2. A robot must obey the orders given it by human beings except where such orders would conflict with the First Law.

หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3. A robot must protect its own existence as long as such protection does not conflict with the First or Second Laws.

หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง

Isaac Asimov นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เจ้าของ “วรรณกรรมหุ่นยนต์” อันประกอบไปด้วย 38 เรื่องสั้น และนิยาย 5 เรื่อง ได้แก่ I, Robot (1950) The Caves of Steel (1953) The Naked Sun (1955) The Robots of Dawn (1983) และ Robots and Empire (1985)

I, Robot ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ออกฉายในปี ค.ศ.2004 ผลงานการกำกับฯ ของ Alex Proyas นำแสดงโดย Will Smith

 

สิ่งที่น่าสนใจใน I, Robot คือการตอกย้ำ “กฎ 3 ข้อ” ของ “หุ่นยนต์” และการสร้างปมขัดแย้งด้วยการละเมิด “กฎ 3 ข้อ” ของ “หุ่นยนต์” ในเวลาเดียวกัน

นั่นก็คือ การที่หุ่นยนต์พยายามปลดแอกตัวเองจากมนุษย์

นอกจากความพยายามปลดแอกตนเองของหุ่นยนต์แล้ว อีกภาพจำหนึ่งของ I, Robot ก็คือ การสร้าง “ความฝัน” ให้กับ “หุ่นยนต์”

และนอกจาก “ความฝัน” แล้ว “หุ่นยนต์” ใน I, Robot ยังมี “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” อีกด้วย

เรากำลังพูดถึง “หุ่นยนต์” ที่มีชื่อว่า Sunny

 

Sunny เป็น “หุ่นยนต์” ที่ถูกสร้างให้มี “อารมณ์”, “ความรู้สึก” และ “ความฝัน” แตกต่างจาก “หุ่นยนต์” ทั้งหมดในท้องเรื่อง I, Robot

หากกล่าวถึงเรื่องราวของ “ความฝัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” แล้ว มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงก็คือ ประเด็น Non-Cognitive

เพราะหาก “ความรู้” และ “ทักษะ” ถูกจัดอยู่ในหมวด Hard Skill หรือ Cognitive แล้ว

Non-Cognitive ก็คือ Soft Skill

เพราะ Soft Skill จะเน้นไปที่ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” นั่นเอง

Non-Cognitive ในโลกของเรื่องแต่ง ทั้ง I, Robot ภาควรรณกรรมและภาคภาพยนตร์ ก็คือ “อารมณ์”, “ความรู้สึก” และ “ความฝัน” ของ Sunny

 

ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะมีการพูดถึงเรื่องราวของ Cognitive Computing กันเป็นอย่างมาก

Cognitive นั้นแปลว่า “สติปัญญา” หรือ “ความรู้”

ดังนั้น คำว่า Cognitive Computing ก็ต้องหมายถึง “สมองกล” ที่มี “สติปัญญา” และ “ความรู้”

และนี่ก็คือคำจำกัดความของ AI (Artificial Intelligence) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” นั่นเอง

Cognitive Computing แปลว่า การเพิ่มสมรรถนะให้ “คอมพิวเตอร์” มี “สติปัญญา” และ “ความรู้” เหมือนมนุษย์ โดยนำ AI เข้าไปใส่

ตอบโจทย์การนำ “คอมพิวเตอร์” หรือ “หุ่นยนต์” ให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้นั่นเอง

 

Cognitive Computing มีคุณสมบัติ 4 ข้อ ดังนี้

1. Adapting to the Unknown หมายถึง “รู้” ในสิ่งที่ “ไม่รู้”

โดยปกติ AI จะถูกสอน “ความรู้” ให้ เช่น ความหมายของคำศัพท์ โดยหากเราแกล้งเอาอักษรบางตัวออกจากประโยค แต่ Cognitive Computing ก็ยังสามารถอ่านและเข้าใจภาพรวมได้ เหมือนที่มนุษย์ใช้วิธี “ดูบริบทแวดล้อม” นั่นเอง

2. Interacting with Other Humans หมายถึง ความสามารถในการ “สื่อนัย”

นอกจากการโต้ตอบกับมนุษย์ผ่านทางตัวอักษรและเสียงแล้ว Cognitive Computing ยังต้องสามารถ “สรุปนัย” และสื่อสารใจความสำคัญให้มนุษย์เข้าใจได้โดยง่าย พูดอีกแบบก็คือ AI ยุคใหม่ จะมีการโต้ตอบที่เป็นธรรมชาตินั่นเอง

3. Understanding the Context หมายถึง การเข้าใจ “ภาพรวม”

โดยทั่วไป AI จะถูกสอนให้รับ Input ทุกรูปแบบจากมนุษย์ และเมื่อได้ข้อมูลนั้นแล้ว Cognitive Computing จะต้องสามารถเข้าใจบริบทของเนื้อหาเหล่านั้น คล้ายกับคุณสมบัติข้อ 1. และ 2. แต่ข้อ 3. ว่าด้วย “ภาพรวม”

4. Reasoning the Best Answer หมายถึง ความสามารถ “ชั่งน้ำหนัก”

เส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “ถูกต้อง” และ “ถูกใจ” ที่ Cognitive Computing สามารถแยกแยะ และเลือกคำตอบที่ดีที่สุด แม้ว่าบางครั้งอาจไม่ใช่คำตอบที่ “ถูกต้อง” แต่ AI ยุคใหม่จะมีเหตุผลรองรับ ว่าเหตุใดจึงเลือกตอบให้ “ถูกใจ”

 

ผมคิดว่าหากเขียนเกี่ยวกับ Cognitive Computing เมื่อ 10 ปีก่อนคงจะน่าตื่นเต้นมากกว่านี้ เพราะในยุคปัจจุบัน คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับ AI ขึ้นมาก

และหลายท่านก็ทราบสมรรถนะของ AI กันดีอยู่แล้ว

ผมจึงขออนุญาตเปิดมุมมอง ด้วยการวิเคราะห์เกี่ยวกับ Cognitive Computing ไปในอีกทิศทางหนึ่ง

นั่นก็คือ การนำเสนอประเด็น Non-Cognitive Computing

โดยหากย้อนไปดูความหมายของ Cognitive Computing อีกครั้ง ซึ่ง Cognitive Computing นั้นแปลว่า การใส่ “สติปัญญา” และ “ความรู้” ให้กับ “คอมพิวเตอร์”

ดังนั้น Non-Cognitive Computing ก็ควรจะหมายถึง การใส่ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ให้กับ “คอมพิวเตอร์” นั่นเอง

โดยทั่วไป Non-Cognitive นั้นแปลว่า “ทักษะทางพฤติกรรม” หรือ “ลักษณะนิสัย” โดยในที่นี้ หมายถึง “อารมณ์”, “ความรู้สึก”

และอาจรวมถึง “ความฝัน”

ดังนั้น Non-Cognitive Computing จึงเป็น “ขั้วตรงข้าม” ของ Cognitive Computing

เพราะถ้า Cognitive Computing แปลว่า การสร้างให้ “คอมพิวเตอร์” สามารถ “รู้คิด” ได้

Non-Cognitive Computing ก็ย่อมหมายความได้ว่า การปลูกฝังให้ “คอมพิวเตอร์” มีสมรรถนะ “การเรียนรู้ด้านจิตใจ”

ซึ่งหมายถึง “คอมพิวเตอร์” มี “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” นั่นเอง

 

แม้ว่ามีหลายความคิดที่ต้องการเห็น AI มี “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ขึ้นมาบ้าง นอกจากการทำงาน “แบบกลไก” ทั่วๆ ไป

ทว่าในปัจจุบันยังไม่ปรากฏแนวคิดการสร้าง Non-Cognitive Computing อย่างชัดเจนนัก

ยกเว้น Dr. Hooman Samani

เพราะเขาเป็นต้นคิด การใส่ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ให้กับ “คอมพิวเตอร์” โดยเฉพาะ “หุ่นยนต์”

และไม่เพียง “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ธรรมดาเท่านั้น เนื่องจาก Dr. Hooman Samani ได้เน้นไปที่ “ความรัก”

อันนำมาสู่ “ศัพท์ใหม่” ที่เขาได้สร้างขึ้น นั่นคือ Lovotics

 

Lovotics เป็นคำผสมระหว่าง Love + Robotics แปลว่า หุ่นยนต์ + ความรัก

ใช่แล้วครับ Dr. Hooman Samani คือผู้สร้างสรรค์ “หุ่นยนต์” ให้มี “ความรัก” ได้

Dr. Hooman Samani กล่าวว่า Lovotics หมายถึง หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความสามารถในการรัก”

“Love + Robotics คือความสัมพันธ์ใหม่ ในการสำรวจแนวคิดและความเป็นไปได้ของความรักที่หุ่นยนต์มีต่อมนุษย์ โดยใส่ Parameter เกี่ยวกับความรัก อารมณ์ และความรู้สึก เข้าไปในหุ่นยนต์” เขากล่าว และว่า

“Lovotics เกิดขึ้นเพราะ โลกยุคปัจจุบันได้เน้นแต่การสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ผมคิดถึงภาคบริการ” Dr. Hooman Samani กระชุ่น

“เมื่อหุ่นยนต์มีความสามารถในการรัก โดยเฉพาะการรักมนุษย์ มันก็จะถูกมนุษย์รักตอบ และหุ่นยนต์ก็จะรักมนุษย์ กลับกันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” Dr. Hooman Samani สรุป

 

จะเห็นได้ว่า แนวคิด Lovotics ของ Dr. Hooman Samani คล้ายกับตัวละคร Sunny ในเรื่อง I, Robot

ที่ Sunny ได้ปลดแอกตัวเองจาก “กฎ 3 ข้อ” ของ “หุ่นยนต์” สู่การเป็น “หุ่นยนต์” ที่มี “อารมณ์”, “ความรู้สึก” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความฝัน”

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของ AI ที่น่าจับตามอง

และนำไปสู่การแก้ปัญหา AI ไร้อารมณ์ ด้วยแนวคิด Non-Cognitive Computing นั่นเอง