New normal school? โรงเรียนของไทย จะไปทางไหนในยุคโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนโฉมหลายอย่าง รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาซึ่งเคยทำกันในโรงเรียนต้องออกมาทำในบ้านผ่านระบบออนไลน์ และเหลืออีกไม่นาน ที่จะเข้าสู่ภาคการเรียนในเดือนกรกฎาคม หลายสถาบันการศึกษาในช่วงปิดเทอมจึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการศึกษาวิธีปกติใหม่ ในยุคโรคระบาด

แม้จะมีคำถามและความท้าทายถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ อันเนื่องจากช่องว่างในระบบการศึกษา ไม่ว่าความแตกต่างระหว่างนักเรียน-โรงเรียนในตัวเมืองกับพื้นที่ชนบท การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้

โรงเรียนในนิยามใหม่ เครื่องมือใหม่ บริบทใหม่ โดยเฉพาะเวลานี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในขณะที่เกิดโควิด-19 ประชาคมการศึกษาระหว่างประเทศจัดการยังไง ซึ่งจะมีกราฟที่ชื่อว่า เราจะทำอย่างไรได้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งมี 3 ระยะ ตั้งแต่ ระยะความกลัว ระยะเรียนรู้ และระยะเติบโต เราอยู่ตรงไหนกัน?

คาดว่าอีก 2 เดือนเราจะอยู่ในช่วงเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ทำยังไงจากที่เคยอยู่ห้องเรียนเจอหน้ากันกลับต้องห่างหายไป

โจทย์ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ ทุกอย่างไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมแล้ว เราอยู่ในภาวะไม่แน่นอนไปด้วยกัน ครูจะอยู่ในแนวปฏิบัติเดิมไม่ได้แล้ว

คุณครู Kaz Wilson ซึ่งทำงานอยู่ในจีนกล่าวว่า “การเปิดใจและยืดหยุ่นเป็นกุญแจสำคัญ” โควิด-19 ได้ดิสรัปต์หลายอย่างแม้แต่การศึกษา หลายประเทศอยู่ในระหว่างเปิดเทอม และเจอสถานการณ์ปิดโรงเรียน แต่เรายังต้องทำหน้าที่ต่อ สนับสนุนการเรียนการสอน ครูในอเมริกาหลังจากปิดเทอม 2 อาทิตย์ก็เจอโควิด-19 นักเรียนคิดถึงเพื่อน ครูก็มีคาราวานพบนักเรียนในชุมชน หรือมีระบบตอบคำถามนักเรียน-ผู้ปกครอง หรือขับรถมาหาเด็กถึงที่บ้าน

ทั้งหมดทำให้เห็นว่า บทบาทการศึกษาไม่เคยหยุด หรือในอินเดีย ครูมีส่วนสำคัญ สัปดาห์หนึ่งต้องทำอะไรบ้าง เรียนคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนกัน หรือในสิงคโปร์ จัดห้องเรียนให้เว้นระยะห่างกันยังไง

สิงคโปร์เดิมมีแผนทำ Home-based Learning ในสัดส่วน 1 วัน อยู่โรงเรียน 4 วัน แต่พอเกิดระบาดรอบ 2 ก็เปลี่ยนเป็นเรียนในบ้านทั้งหมด

ผศ.ดร.อรรถพลกล่าวอีกว่า สำหรับเรา แม้จะกลับมาสู่การเรียนปกติ แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย กรณีต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า จะทำยังไงที่ทำให้แสดงศักยภาพการเรียนรู้ได้แม้อยู่บ้าน มีหลักเกณฑ์ยืดหยุ่นเหมาะสมต่อนักเรียนอย่างไร

คิดว่าทำยังไง ให้การศึกษาตอบโจทย์นักเรียน การเรียนรู้มีคุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

มีศัพท์ใหม่ที่เข้ามา เกี่ยวกับการจัดการเรียนสอนทางไกลมากขึ้น ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ หรือส่งเสริมนักเรียนเป็นผู้นำการเรียนรู้ ออกแบบเองได้ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การวัดผลใหม่แทนแบบเดิม ถ้าเข้าถึงไอทีไม่ได้เลยจะทำอย่างไร ทั่วโลกทำเรื่องนี้พร้อมกัน

ส่วนบ้านเรามีโอกาสมากกว่า เพราะมีเวลาอีก 2 เดือนในการรวบรวมข้อมูล วางแผน 2-3 แผนเพื่อรับมือ

 

ด้าน ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษา สพฐ. กล่าวว่า พอเกิดเหตุการณ์โควิด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดอยากช่วยโรงเรียน ก็พยายามระดมทรัพยากรที่โรงเรียนใช้อยู่ ให้เกิดประโยชน์ ถ้าสังเกตนโยบายส่วนกลาง ต้องปรับวิธีการทำงาน

อย่าง DLTV ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ พอเกิดโรคระบาดต้องปรับใหม่ แต่ละหน่วยงานมาร่วมทำก็พยายามทำเพื่อสนับสนุนโรงเรียนเป็นหลัก บางครั้งไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ก็รับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง

ดังนั้น ลักษณะนโยบายของตัวกระทรวง มีการรับฟัง คุยกับหลายฝ่าย เพื่อปรับให้เหมาะสม ส่วนนโยบายการเรียนการสอน ศธ.ก็มีแนวคิดมานานเรื่องกระจายอำนาจการศึกษา แต่อยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักการเอาอำนาจส่วนกลางและกระจายอำนาจให้พื้นที่จะมีแค่ไหนอย่างไร ถ้าหลายคนเข้าใจหลักการกระจายอำนาจ ศธ.จะมีหน้าที่ระดมทรัพยากรให้ครูจัดการเรียนการสอนได้

มีคำถามให้ สพฐ.จัดการสอนออนไลน์ แม้มี DLTV แต่จะทำยังไงให้เข้าถึงมากขึ้น ทำยังไงให้มากกว่ามีอยู่ รัฐมนตรีก็ให้แนวทาง จนเกิดการเจรจาจากการสอนผ่านดาวเทียม ก็เข้ามาผ่านโทรทัศน์ด้วย อย่างที่ได้ยินว่า ทั้งออนไลน์-ออนแอร์ แต่ ศธ.ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องออนไลน์ทั้งหมด

ถ้าติดตามจาก สพฐ.ซึ่งมีหลายช่องทาง ครูก็มีช่องทางเพื่อสื่อสารและอบรมพัฒนาครู ก็จะเห็นว่ากว้างมาก ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนศึกษาข้อมูลว่า ในพื้นที่ตัวเอง มีลักษณะอย่างไร รวมถึงพื้นที่ชุมชนรอบโรงเรียน เพื่อเป็นช่องทางตัดสินใจว่าจะจัดการเรียนการสอนยังไง โรงเรียนที่เรียกว่าไม่มีปัญหาโควิด-19 ก็สามารถจัดการเรียนการสอน ก็เป็นสิ่งที่ ศธ.พยายยามจัดให้

อีกอย่างคือ ที่ผ่านมา เรามี DLTV อยู่ แต่ว่ามีจัดสอนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมต้น ทรัพยากรก็มี หลักสูตรยืดหยุ่น เราแทบไม่มีต้นทุนตรงนี้ สิ่งที่เราทำคือเราถ่ายทำหลักสูตรมัธยมปลายหลายร้อยตอน เพื่อแขวนบนออนไลน์

จากนี้เราต้องดูงบประมาณ เพื่อทบทวนว่าสถานการณ์นี้จะต้องปรับเปลี่ยนยังไง นอกจากแพลตฟอร์มการเรียนการสอน ก็ต้องคิดระบบใหม่ อย่าง Digital Learning ดูว่ามีแพลตฟอร์มสำหรับฝึกครู ให้ครูใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนยังไง

 

เสียงสะท้อนครู-ผู้บริหารโรงเรียน
ปรับตัวทั้งที่ยังกังวล

คุณศิริภา ไชยนุ้ย ผอ.โรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 11 จังหวัดยะลา กล่าวว่า สพฐ.พยายามสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เอาเทคโนโลยีมาใช้แก้วิกฤต แต่ก็เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น หากมองเป็นวิธีจัดการมาตรฐานเดียวกัน ก็จะเกิดช่องว่างตรงนี้

เนื่องจากโรงเรียนซึ่งอยู่ใน อ.บันนังสตา มีนักเรียนทั้งชาวพุทธและมุสลิม พื้นที่โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ราบสูงและเขตบริการไม่มีสัญญาณเน็ต ครอบครัวนักเรียนส่วนใหญ่รับจ้างทั่วไปและทำกรีดยาง

ส่วน คุณกิติยาพร พงศ์แพทย์ ครูโรงเรียนอนุบาลบ้านบึง กล่าวว่า ทางผู้ปกครองมีความกังวลต่อลูกที่เรียนในอนุบาลแล้วมาเรียนผ่านจอทีวี หลายคนให้คำตอบว่า ขอเป็นชิ้นงานดีกว่าไหม หรือสอนหลังเลิกงานก็ได้ ไม่อยากให้ลูกนั่งติดจอนานๆ หรือบางช่วงที่ผู้ปกครองไม่อยู่ในช่วงเช้า บางคนต้องออกไปทำงาน ทิ้งลูกไว้กับญาติ กังวลว่าลูกเรียนไม่ทัน อยู่จอนานๆ ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวไหม

ผศ.ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การจัดการในส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ใน สพฐ. โรงเรียนสาธิตก็มีบริบทคล้ายกัน พอเจอโควิด-19 ก็กระทบเหมือนโรงเรียนใน สพฐ. อย่างเช่น การรายงานตัวนักเรียนใหม่ ม.1 จะทำยังไง

อีกปัจจัยที่กระทบจังๆ คือเลื่อนภาคการเรียนไปเดือนกรกฎาคม ในช่วงปิดภาค เราเตรียมความพร้อม บริบาลอนุบาล แต่โควิด-19 ทำหายไปเลย เด็กกลุ่มนี้เราจะช่วยยังไงในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอนุบาล 3 ไป ป.1 ป.6 ไป ม.1 เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับครู 22 คนอย่างมาก

ย้อนกลับไปช่วงเมษายนว่าต้องเลื่อน ยอมรับว่ามีนโยบายบอกเราได้ชัดเจนว่า โรงเรียนควรทำอะไรบ้าง เราเกิดคำถามว่าจะทำอะไรได้บ้างในสภาวะนี้ เรายังนับตัวเองเป็นโรงเรียนได้ไหม เราในฐานะบริหาร จะทำยังไง

หลังจากนั้น สิ่งที่เราทำคือ รวบรวมสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดที่คิดว่าระหว่างปิดเทอมยาวๆ จนหลายคนไม่ไหว เรามีอันนี้ให้ก่อนระหว่างที่เราหาทาง จนมีเสียงตอบรับจากผู้ปกครอง ว่าจะหาอะไรที่สามารถแปะไว้ได้ไหม

คำถามคือ ถ้าจะจัดออนไลน์อย่างเดียวจะทำยังไง เราคิดคนเดียวไม่ได้ ต้องถามนักเรียนด้วย ซึ่งคำตอบที่ส่งกลับมา ก็สะท้อนให้เห็นไม่ว่า ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือช่วง WFH จะจัดออนไลน์แล้วให้ผู้ปกครองช่วยดู ก็พบคำถามน่าทึ่งว่า เราจะจัดการออนไลน์แบบทั้งวันให้ผู้ปกครองอยู่ไม่ได้ ต้องหาทางว่าทำยังไงให้นักเรียนอยู่จอแล้วเรียนรู้ได้มากที่สุด

จากการทดลองตลอด 2 วัน พบว่า นักเรียนไม่ได้ตื่นเต้นการสอนออนไลน์ แต่ตื่นเต้นที่ได้เจอครู นักเรียนอยากเจอเรา