คุยกับ “จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์” ประธาน สนท. นิสิต/นักศึกษาทำอะไรได้มากกว่า ตั้งใจเรียนหนังสือ

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ในฐานะองค์กรนักศึกษากลางตกเป็นข่าวไม่นานมานี้

เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแต่งตั้งจาก คสช.และโฆษกวิปรัฐบาลได้แสดงความคิดเห็นต่อการออกมาเคลื่อนไหว #MobFromHome ของ สนท. ว่าไม่ควรทำอะไรวุ่นวายในช่วงนี้ บางคนถึงกับออกมาสั่งสอนนักศึกษาและขอให้กลับไปทำหน้าที่เรียนหนังสือ

ทำให้ “จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์” หรืออั๋ว นักศึกษาสาวรั้วสิงห์แดง ในฐานะประธาน สนท.ก็ได้แถลงตอบโต้อย่างดุเดือด พร้อมกับกล่าวว่า

“รัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอและการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและนำไปปรับแก้ไขในการทำงานนั้นคือหน้าที่ของท่านๆ ไม่ใช่การบอกว่าเราควรทำอะไร ประชาชนรู้หน้าที่และสิทธิของตนเองดีแล้ว”

ถือเป็นการประกาศต่อสังคมไทยว่า นักศึกษารู้ว่าตัวเองทำอะไรและรัฐบาลก็ควรรู้หน้าที่ตัวเองด้วยเช่นกัน

อั๋วเล่าถึงพื้นเพตัวเองว่า เป็นคนจังหวัดอำนาจเจริญ ก่อนหน้าที่จะเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้น เคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วซิ่วมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ โดยส่วนตัวสนใจการเมืองตั้งแต่ประถม เพราะตัวเองเห็นทางครอบครัวเล่นการเมืองด้วย

แต่จุดที่เริ่มสนใจอีกครั้งคือช่วงมัธยม เพราะแม่ได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง แล้วพบชื่อคนที่มีนามสกุลเหมือนกันคือ ปู่เตียง (เตียง ศิริขันธ์ ผู้นำเสรีไทยภาคอีสาน) ทางครอบครัวไม่ได้เล่าถึงปู่เตียงอะไรมากมาย

หลังจากนั้นก็ติดตามข่าวสารบ้านเมืองแล้วเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างอั๋วอยู่ต่างจังหวัด พอมีโอกาสไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วได้เห็นอะไรต่างๆ ก็ทำให้สนใจการเมืองมากขึ้น

เตียง ศิริขันธ์ (2452-2495) ถือเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกขนานนามว่า “ขุนพลภูพาน” หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ที่ประกอบด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ที่ร่วมเคลื่อนไหวในนามเสรีไทยภาคอีสานเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ซึ่งนายเตียงเคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง”

แต่แล้วนายเตียงพร้อมสหายร่วมรบแห่งสี่เสืออีสานต้องเสียชีวิตอย่างโหดร้ายจากการกวาดล้างทางการเมืองโดยคณะรัฐประหารในเวลานั้น

และสำหรับอั๋วนั้น รู้เรื่องราวชีวิตของปู่เตียงน้อยมากจนต้องสอบถามจากครอบครัวและญาติ

เมื่อถามว่า มีคนพูดถึงทำนองเป็นหลานสาวครูเตียง แล้วเส้นทางที่เลือกเดินนั้นจะคล้ายกันหรือต่างออกไป อั๋วกล่าวว่า จริงๆ ส่วนหนึ่งก็สมาทานวิธีคิดแบบเขา และยกย่องเขาเป็นบุคคลที่น่าเคารพในแวดวงการเมืองไทย

เส้นทางการเมืองก็ได้เรียนรู้จากปู่เตียงด้วย แต่ส่วนตัวก็ปรับตามยุคสมัย

อั๋วเล่าถึงการก่อตัวของกลุ่มนักศึกษาว่า เริ่มจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สนท.ได้มีการประชุมว่า จะมีท่าทียังไงหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็มีมติจะขึ้นป้ายคัดค้าน เป็นสิ่งที่เตรียมการแบบนี้มาตลอด

พอถึงวันตัดสิน พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เราก็ขึ้นป้ายที่คณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากนั้นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็ทวีคูณ เราปรึกษากันว่าจะทำอะไรดีเพื่อแสดงออกถึงความอัดอั้นตันใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเอาผิดฝ่ายตรงข้าม

เราจึงตกลงในเที่ยงคืนว่าจะจัดแฟลชม็อบขึ้น โดยเริ่มแรกจากลานโพธิ์ แต่ก็ไม่นึกว่าจะมีคนร่วมมากมายขนาดนี้ นั้นทำให้ตัดสินใจขยับสถานที่มาลานปรีดี

วันต่อมาก็มีแฟลชม็อบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะหลายที่ส่งข้อความมาปรึกษาเราว่า มีการจัดระบบยังไง ดูแลความปลอดภัยยังไง ถือเป็นมิติใหม่มากๆ ที่มีการจัด เท่าที่สัมผัสมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน การชุมนุมแทบเป็นไปไม่ได้ จะต้องแจ้งการชุมนุมกับตำรวจ หรือชุมนุมก็ดำเนินคดี จนกระทั่งมารู้ทีหลังว่า เราสามารถจัดชุมนุมในสถานศึกษาได้ พอจัดแล้วก็มาเปิดอ่านกฎหมายย้อนหลัง ก็รู้ว่าเป็นข้อยกเว้น

วันนั้นก็มีข่าวลือต่างๆ ว่าจะปิดประตูสถานศึกษา แต่เรายืนยันจะจัด และมีนักศึกษามาปรึกษาในการจัดชุมนุม และสิ่งที่แปลกใหม่คือ ในการจัดการชุมนุม ไม่มีไอคอนทางการเมืองในนั้น แต่กลับมีพลังของคนธรรมดาที่ออกมาแสดงตัวครั้งแรก

เราเชื่อว่าการชุมนุมควรเป็นเรื่องปกติ เพราะเราเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แม้ทำภายใต้ข้อจำกัด ในอนาคตก็ต้องการให้เรื่องปกติในสังคมไทยไม่ควรมีกฎหมายมาจำกัดการแสดงออก

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของนักศึกษาหลังจาก MobFromHome ได้มีกลุ่มนักศึกษาผลักดันประเด็นที่คืบหน้าต่อไป ทั้งยกเลิก ส.ว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เห็นว่าไม่ช่วยทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น

ส่วน สนท.นั้น อั๋วกล่าวว่า ทางกลุ่มก็กำลังผลักดันในเรื่องการจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า อันเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดก่อนนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กลุ่มต้องการรณรงค์ให้สวัสดิการถ้วนหน้า เพราะในตอนนี้ โควิด-19 นอกจากทำลายสุขภาพแล้วยังทำลายเศรษฐกิจ คนฆ่าตัวตายรายวัน ไม่มีข้าวกิน ประชาชนควรมีความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้รัฐที่ปลอดภัย

เราชอบพูดถึงความจน-ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 พอโควิด-19 มากลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เราจึงผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ ถ้าประเด็นนี้มีพลังมากขึ้นในสังคมและกับรัฐบาล ก็ตั้งใจจะขยับไปเรื่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ

แต่ที่เราเลือกสวัสดิการถ้วนหน้าก่อน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และเรามั่นใจว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่มากๆ

 

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงโควิด-19 กลับถูกมองจาก ส.ว. ว่ากำลังสร้างความวุ่นวาย มีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังคอยหนุน

แต่อั๋วกล่าวว่า ส.ว.ควรพึงระลึกว่า พวกเขาเองได้มาโดยไม่ชอบ รวมถึงกินเงินภาษีประชาชน หน้าที่คือช่วยเหลือประชาชน แต่พวกเขากลับผลักไสประชาชนให้ไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง คิดว่าเป็นอะไรที่ไม่ปกติมาก ที่คนใช้ภาษีประชาชนออกมาขับไล่ประชาชน

แน่นอนว่า เราเองมีหน้าที่เรียน แต่อีกสิ่งที่ลืมไม่ได้คือเรามีหน้าที่ของการเป็นพลเมืองในประเทศนี้ สร้างประเทศให้น่าอยู่ มีความเท่าเทียม

แต่ก็ยังมีคนที่อยู่บนโครงสร้างที่กดขี่กลับชอบที่จะกดขี่ต่อไป

แบบนั้น เราไม่ยอมให้เป็นอย่างแน่นอน