วงค์ ตาวัน : สากกะเบือยันเรือรบของจริง

วงค์ ตาวัน

ประเด็นที่น่าสนใจต่อเนื่องจากที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร “จับตาย” นักกิจกรรมวัย 17 ปี ชาวลาหู่ ว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ผู้ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแน่นอนหรือ ซึ่งนั่นก็ต้องรอการไขข้อเท็จจริงอันมีพยานหลักฐานยืนยันกันต่อไป

“แต่ที่ต้องพูดถึงกันต่อไปก็คือ การให้เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านตรวจยาเสพติดนั้น ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือ!?”

หลายองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหว จากเหตุจับตาย นายชัยภูมิ ป่าแส แกนนำเยาวชนลาหู่ ได้ตั้งคำถามว่า การตรวจสอบเรื่องยาเสพติดนั้น ควรจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีความเป็นมืออาชีพด้านนี้โดยตรง มีการสืบสวนหาข่าวที่แน่นอนหรือไม่

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือการตรวจสอบโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.

จะดูเหมาะสมกับภารกิจ เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันด้านความเชี่ยวชำนาญได้มากกว่า

“ขณะที่ทหารนั้น เป็นหน่วยงานที่มีเกียรติภูมิสูงส่ง ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ มีขีดการสู้รบที่เข้มข้น พร้อมจะบดขยี้กองกำลังข้าศึกที่บังอาจรุกรานดินแดนของเรา!”

ถ้าเป็นเรื่องสู้รบประจัญบานกับกองทหารข้าศึก ต้องยกภารกิจนี้ให้กองทัพและทหารหาญเป็นหลัก

ไม่มีใครเชี่ยวชำนาญในสมรภูมิสงครามเท่าทหารอย่างแน่นอน

“แต่ภารกิจในเมือง ภารกิจตรวจค้นยาเสพติด ภารกิจจับบ่อน จับสถานบริการ อะไรเหล่านี้ ควรจะใช่หรือไม่!?”

ด่านของทหารในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เกิดเรื่องครั้งนี้ ควรจะเป็นด่านความมั่นคงตามแนวชายแดน

แต่เมื่อเป็นด่านตรวจยาเสพติด ก็ดูยังไงๆ อยู่

ดังนั้น เรื่องการตรวจสอบเหตุการณ์จับตาย ก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่เรื่องภารกิจของหน่วยงานที่ควรมาตั้งด่านตรวจยาเสพติด ก็เป็นอีกประเด็น ที่ควรจะต้องทบทวนหรือหาคำตอบที่ถูกต้อง เพื่อการปฏิบัติอย่างพอดิบพอดีในภายภาคหน้า

ที่ควรจะต้องพูดประเด็นนี้ เพราะในยุคที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจคณะปฏิวัติ มีการนำทหารออกมาใช้ในภารกิจต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักของทหารแต่อย่างใด

จนน่าสงสัยว่า ถูกต้องแล้วหรือ!

 

เป็นเรื่องปกติ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เข้าสู่ยุครัฐบาลทหาร ผู้มีอำนาจจะนำเอาทหารออกจากกรมกอง เข้ามาปฏิบัติภารกิจมากมาย เพื่อรองรับอำนาจของรัฐบาลทหาร ซึ่งเหตุผลคงเพราะเป็นกองกำลังที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งก็คือนายทหารใหญ่ อย่างเต็มกำลังความสามารถ

อีกประการ ในช่วงรัฐบาลทหาร ก็มักเป็นช่วงของการโหมบรรยากาศ ให้เห็นว่ารัฐบาลยุคพลเรือนโกงกินเลวร้าย ทำบ้านเมืองเสียหายคณานับ เป็นช่วงที่ทหารจะมาเป็นฮีโร่ฟื้นฟูบ้านเมือง สร้างกฎกติกาที่ถูกต้องดีงาม

“ขณะเดียวกัน การนำทหารออกมาปฏิบัติภารกิจในเมือง ย่อมเพื่อเสริมสร้างภาพความเป็นขวัญใจชาวบ้าน เพื่อให้ทหารเป็นที่รักของประชาชนไปในตัว”

ดังนั้น เราจึงได้เห็นทหารมีบทบาทในแทบทุกภารกิจ ที่ควรจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ของฝ่ายปกครอง ของหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ

ตั้งด่านตรวจอาชญากรรม ตรวจเมาแล้วขับ ก็จะมีทหารร่วมด้วย

บุกจับบ่อนการพนัน จับสถานบริการ จับคาราโอเกะก็ทหาร ตรวจค้นสถานที่ที่เป็นแหล่งอาชญากรรม ก็จะมีทหารเข้าร่วมเป็นสำคัญ

หลายครั้งการแถลงข่าวจับกุมคดีอาชญากรรม นอกจากจะเห็นตำรวจที่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รักษากฎหมาย ยืนแถลงข่าวพร้อมผู้ต้องหา ยังจะมีทหารชุดพรางยืนเคียงคู่พร้อมกันไปด้วย

“แม้แต่ตามจับพระ บุกค้นวัดดัง ก็ยังต้องทหารเลย”

อันที่จริง บรรยากาศที่เห็นทหารปฏิบัติการในเมืองช่วงรัฐบาลทหารนั้น เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่หนนี้ ในการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาปกครองบ้านเมืองแบบมีเป้าหมายมากมายหลายประการ เลยอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดกว่าทุกคณะปฏิวัติ

ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่หลักของทหาร จึงเป็นไปอย่างยาวนานกว่าทุกหน

แต่เมื่อนานเข้า ก็อาจจะเริ่มมีผลกระทบต่อสังคมในบางด้าน ซึ่งเริ่มไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ของทหาร

เช่น กรณีรถยีเอ็มซีของทหารมีเหตุกระทบกระทั่งกับผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น แต่ทหารก็ไม่เคยชินว่าจะปฏิบัติอย่างไร ต้องจอดมาเจรจากับคู่กรณีอย่างไร เพราะรถทหารปกติก็วิ่งอยู่ตามป่าเขา ในภารกิจของกองทัพ

“จึงเกิดคลิปเผยแพร่ไปทั่ว อันเป็นภาพทางลบ”

รวมไปถึงกรณีจับตายนักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งเมื่อเป็นด่านของทหาร

จึงเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า แล้วภารกิจตรวจค้นยาเสพติด ควรเป็นภารกิจของหน่วยรบที่พร้อมจะปะทะกับข้าศึกศัตรูตลอดเวลาเช่นนี้หรือ

 

การนำเอานักรบผู้มีเกียรติในภารกิจปกป้องขอบเขตประเทศชาติ มาใช้ในเมืองแล้วเกิดปัญหามากที่สุด ก็คือ การนำมาควบคุมสถานการณ์ประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ 99 ศพหรือ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553

“เพราะทุกครั้งจะนำไปสู่การปราบปรามนองเลือด โดยกระสุนจริง ลงเอยมีประชาชนตายหมู่กลางเมือง”

โดยเฉพาะเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นำมาสู่การสอบสวนหาความจริงอย่างเป็นทางการ และพบว่า หน่วยทหารที่ได้รับคำสั่งให้เข้ามาควบคุมสถานกาณ์ในกรุงเทพฯ หลายหน่วยได้รับคำสั่งว่า ต้องเข้าปราบปรามพวกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวในที่ชุมนุม

ใช้หน่วยรบพร้อมกับคำสั่งทำนองนี้ จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการสอบสวนยอมรับว่า มีส่วนในการนำไปสู่การนองเลือด

เข้าตรวจค้นจับกุมผู้ชุมนุมในโรงแรมรอยัล ก็ให้นอนกับพื้น แล้วทหารก็เดินย่ำไปตามร่างกายของประชาชน อะไรแบบนี้

“นั่นเป็นเหตุให้รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาแก้ปัญหาหลังเหตุการณ์นองเลือด ต้องออกกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้ทหารเข้าควบคุมการประท้วงในเมืองอีกต่อไป พร้อมให้จัดตั้งหน่วยปราบจลาจลของตำรวจขึ้นมา ตามมาตรฐานสากล”

หน่วยนี้จะต้องใช้เฉพาะกระบอง โล่ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ตามหลักที่ใชักันทั่วโลกเท่านั้น ต้องไม่มีการใช้กระสุนจริงอีกต่อไป

แต่แล้วในเหตุการณ์ 2553 ด้วยการโหมประโคมประเด็นมีชายชุดดำแฝงตัวในที่ชุมนุมเสื้อแดง รัฐบาลขณะนั้นซึ่งตั้ง ศอฉ. ขึ้นมาบังคับบัญชาสั่งการ จึงใช้หน่วยทหารเข้ากระชับพื้นที่ พร้อมกับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง เพื่อป้องกันตัวจากผู้ก่อการร้ายได้

“คำสั่งของรัฐบาลอานันท์ ที่ห้ามใช้ทหารเข้ามาปราบจลาจลอีกต่อไปเมื่อปี 2535 หมดความหมายทันที”

เพียงเพราะมีประเด็น “ชายชุดดำ” ในหมู่คนเสื้อแดง ซึ่งป่านนี้ก็ยังพิสูจน์อะไรไม่ได้ชัดเจนเลย

ลงเอยมีคนตาย 99 คน ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีชายชุดดำ แม้แต่ศพเดียว ทุกคนที่ตายไม่มีใครมีอาวุธแม้แต่รายเดียว

“ทั้งหมดนี้ไม่ควรโทษทหาร แต่ต้องถามตรงถึงคนที่สั่งเรียกใช้ทหารมากกว่า!!”

ถัดจากนั้นแกนนำบางคนในรัฐบาลชุดปี 2553 ยังเป็นผู้นำม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สถานการณ์ไปถึงทางตัน เพื่อให้ทหารต้องออกมาปกครองบ้านเมือง ชูภารกิจปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

คราวนี้ให้ทหารทำเรื่องใหญ่กว่าอีก ใช้กองทัพมาในภารกิจปฏิรูปทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งไม่น่าจะใช่ภารกิจหรือจิตวิญญาณของนักรบผู้ห้าวหาญเลย

“นั่นคือ ให้ทหารมาสร้างกติกาการเมืองที่ดีงาม มีคุณธรรม สร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย ขจัดนักการเมืองโกงกินชั่วร้าย”

นับได้ว่า ทหารประเทศไทย ทำอะไรต่อมิอะไรที่มากมายยิ่งกว่ากองทัพของชาติที่ยิ่งใหญ่ทั่วโลก

ที่ว่าสากกะเบือยันเรือรบนั้น นี่แหละของจริงเลย!