เชิงบันไดทำเนียบ : พรรคร่วม หักเหลี่ยมโหด ! ‘พี่ป๊อก’ มือช่วย ‘น้องตู่’ – หักดิบ ‘อู๊ดด้า-เสี่ยหนู’

สายสัมพันธ์ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ยาวนานกว่า 40 ปี นายทหารที่เติบโตมาด้วยกัน โดยมี ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นพี่ใหญ่ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นพี่รอง และ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นน้องเล็ก โดยจุดเริ่มต้นสัมพันธ์มาตั้งแต่เป็น ‘ร้อยเอก-ร้อยโท-ร้อยตรี’ ที่ ร.21 รอ. บ้านทหารเสือ โดยเฉพาะ ‘บิ๊กป๊อก-บิ๊กตู่’ ที่รุ่นใกล้เคียงกันระหว่าง ตท.10-12 จปร.21-23 เรียกได้ว่า ‘โตมาด้วยกัน’ เส้นทางการเติบโตของทั้งคู่นั้นเหมือนกัน จนได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ทั้งคู่
.
จุดตัดสำคัญอยู่ที่ เหตุการณ์รัฐประหาร 22พ.ค.57 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ตัดสินใจยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และขึ้นเป็น นายกฯ ด้วยตนเอง ถือเป็นผู้นำรัฐประหารที่ขึ้นนั่งนายกฯได้สำเร็จและยาวนาน ซึ่งคนล่าสุดก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดึง ‘2ป.ป้อม-ป๊อก’ สู่สนามการเมืองร่วมรัฐบาลในการคุม ‘กลาโหม-มหาดไทย’ ซึ่งเป็น 2 กระทรวงใหญ่ ที่เป็นกลไกสำคัญในการปกครองประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไว้วางใจที่มีให้กัน แม้ช่วง 5 ปียุค คสช. นั้น พล.อ.ประวิตร จะตกเป็นเป้าสะเทือนเรตติ้งรัฐบาลในหลายเรื่อง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เคยตัดสินใจปรับ ‘พี่ป้อม’ ออกจาก ครม.
แต่สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็หั่นเก้าอี้ พล.อ.ประวิตร เหลือเพียง รองนายกฯ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพของ พล.อ.ประวิตร ที่มาพร้อมการสลายขั้วสลายขั้วในกองทัพไปในตัว เพราะภาพของ พล.อ.ประวิตร มีความเป็น ‘พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์’ อีกเหตุผลคือดุลอำนาจในกองทัพที่เปลี่ยนแปลงไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ขั้ว ‘บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ’ ถูกสลายลงไปมาก
.
ทั้งนี้เรื่องเล่าจากที่ประชุม ครม. ในยุค คสช. แอคชั่นของ พล.อ.อนุพงษ์ มีไม่น้อยในการให้ความเห็นและรับงานมาทำ จนมีการเรียก พล.อ.อนุพงษ์ ว่าเป็น ‘คอมเมนเตเตอร์’ เลยทีเดียว มาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับ ‘โควิด-19’ ที่รุนแรงมากขึ้น จนทำให้ ครม. ต้องไฟเขียว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการรับมือ แม้รัฐมนตรีจะถูกหั่นอำนาจในมือไปยังมือนายกฯก็ต้องจำยอม โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะยิ่งบานปลายและกระทบภาพรัฐบาลโดยรวม
.
ผ่านมา 2 สัปดาห์ในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สถานการณ์ในไทยเริ่มดีขึ้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลงและคุมการแพร่ระบาดได้มากขึ้น แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญอีกคือมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องเจอต่อไป หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่อนคลายลงไป หากมองถึงการใช้อำนาจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบอำนาจให้ ก็จะเห็นว่า พล.อ.อนุพงษ์ ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ ที่ถูกมองว่าเป็นการ ‘งัดข้อ’ พรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน
.
โดยที่ประชุม ครม. เมื่อ 31 มี.ค.2563 จึงมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2497 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และ แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่

โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ปธ.คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ
.
ซึ่งมตินี้ทำให้มีการมองว่าเป็น ‘ยึดอำนาจ’ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายฯและรมว.พาณิชย์หรือไม่ ที่ตามหน้าที่แล้ว ต้อง
ยังไม่จบเท่านี้ หลังเกิดเหตุชุลมุนที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ ศบค.โควิด-19 เข้าทำการผ่าตัดใหญ่ศูนย์อีโอซีที่สนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง โดยตั้ง พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธ์ รองเสนาธิการทหาร เข้ากำกับดูแลการบังคับใช้ศูนย์อีโอซี ซึ่งหากไปดูโครงสร้างของศูนย์อีโอซีก็จะพบว่าอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 10/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ ณ ท่าอากาศยานทั่วราชอาณาจักร
.
โดยให้กองบัญชาการกองทัพไทยแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ ที่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง อีกทั้งแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติและท่าอากาศยานในจังหวัดของตน เพื่อบังคับบัญชาและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ณ ท่าอากาศยาน รวมทั้งดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
.
ทั้งนี้มีการมองกันว่าเพื่อรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศล็อตใหม่ที่ไทยจะกลับมาเปิดน่านฟ้าอีกครั้งในวันที่ 19เม.ย.นี้ หลัง กพท. จึงมีคำสั่งห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 7-18 เม.ย.63 นั่นเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุชุลมุนเช่นวันที่ 3 เม.ย. ขึ้นอีก ซึ่งอำนาจของผู้ว่าฯก็อยู่ใต้เงาของกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง ส่วนตำแหน่ง ผอ.รมน.จังหวัด ก็เป็นตำแหน่งควบของผู้ว่าฯตามปกติอยู่แล้ว แต่โครงสร้าง กอ.รมน. นั้น มี นายกฯ เป็น ผอ.รมน. ที่อยู่เหนือสุดนั่นเอง
.
แต่ที่สร้างความฮือฮาอีกคือ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 9/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) จำนวน 33 คน ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีอำนาจกลั่นกรอง ควบคุม การบริการจัดการพัสดุ และเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย พิจารณากลั่นกรองการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 และเวชภัณฑ์ป้องกัน ตลอดจนสินค้าหน้ากากอนามัยของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสม
.
แต่กลับไม่มีไม่มีตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นคณะกรรมการ ซึ่งหากดูอำนาจของคณะกรรมการก็จะพบว่าเป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีการวิจารณ์กันว่า ศบค. ได้ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อ 9เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า นายกฯไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรี แต่ต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอควบคุมภาพรวมการทำงานอย่างใกล้ชิดโดยการแก้ปัญหาประเด็นนี้ประกอบด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมาก ขอให้กระชับ ผ่านการบริหารจัดการข้อมูล บูรณาการข้อมูล ที่ ศบค. เพื่อการวิเคราะห์ตัดสินใจนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ทันที
.
หลังจบ ‘โควิด’ ศึกในรัฐบาล รออยู่ !!