เชิงบันไดทำเนียบ : สุวรรณภูมิอลเวง ! ‘ทัพไทย’ ยึดอำนาจ ‘ศูนย์อีโอซี’ ผ่าตัดใหญ่ ‘ทีม ผบ.กบ’ เคลียร์เอง

เหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อคืน 3เม.ย.ที่ผ่านมา นำมาสู่การ ‘ผ่าตัดใหญ่ศูนย์อีโอซี’ หรือ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center, EOC) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังมีรายงานพบว่าปัญหามาจากเรื่อง ‘การสื่อสาร’ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่รัดกุม เพราะมีหลายหน่วยงานในพื้นที่ อีกทั้งเป็น ‘ช่วงรอยต่อ’ ของการปฏิบัติงาน ทำให้ ‘เกิดช่องว่าง’ ระหว่างหน่วยงานขึ้น จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ชุลมุนในคืนดังกล่าวขึ้น เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องขั้นตอนการนำผู้โดยสารไปกักตัวตามมาตรการ สธ. จึงทำให้ผู้โดยสารต้องรอนานหลายชั่วโมง
.
รุ่งเช้า ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้มอบหมาย ‘บิ๊กอั๋น’พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) นำประชุมที่ ทำเนียบฯ จนได้ข้อสรุปให้ 158 คนไทย มารายงานตัวที่ศูนย์อีโอซี สนามบินสุวรรณภูมิ และศูนย์ดำรงธรรมในต่างจังหวัด เพื่อเข้าสู่ระบบการ State Quarantine ระยะ 14 วัน โดยขีดเส้นไว้เวลา 6 โมงเย็น ให้มารายงบานตัว ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะอยู่ในช่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แต่เหตุการณ์ไม่จบเท่านี้ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือนายทหาร 2 นายในเหตุการณ์ ได้แก่ พล.ต.โกศล ชูใจ และ นาวาอากาศเอก ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้เรียกให้นายทหารทั้ง 2 นาย และให้ทีมงานกลับการปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ในกรณีของ ‘นาวาอากาศเอก’ แม้จะสังกัด บก.กองทัพไทย แต่ได้มา ‘ช่วยราชการ’ ที่กระทรวงกลาโหม และเป็นหนึ่งในทีมงานของ พล.ต.โกศล จึงถูกทาง ก.กลาโหม สอบสวนด้วยเช่นกัน
.
ซึ่งการปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทีมงานของ ก.กลาโหม ได้รับมอบหมายหน้าที่ในกาประสานงาน โดยทำหน้าที่นำผู้โดยสายขึ้นรถไปกักตัว 14 วัน ยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า หน้าที่การคัดกรองบุคคลเป็นหน้าที่ของศูนย์อีโอซี อีกทั้ง พล.ต.โกศล ได้รับการร้องขอให้ไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้โดยสารดังกล่าว
.
ทั้งนี้ที่ประชุม ศบค.โควิด-19 ที่ ทำเนียบฯ ได้มอบให้ ‘เสธ.เบิร์ด’พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธ์ รองเสนาธิการทหาร เข้ากำกับดูแลการบังคับใช้ศูนย์อีโอซี ที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกันนี้ ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้มอบให้ ‘เสธ.ไก่’พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม รองเสนาธิการทหาร รับผิดชอบการนำ 158 คนไทย มารายงานตัว เพื่อเข้าสู่ระบบศูนย์อีโอซี เพื่อทำการกักตัว 14 วัน ตามสถานที่ต่างๆ

โดยช่วงเวลาราว 4 ทุ่ม พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยืนยันว่ารายงานตัวครบแล้ว 158 คนโดยมีการรายงานตัวที่สุวรรณภูมิ-โรงแรมที่พักรวม 110 คน และศูนย์ดำรงธรรมต่างจังหวัด 48 คน
.
ซึ่งทั้ง ‘เสธ.เบิร์ด-เสธ.ไก่’ เป็นทีมงานของ ‘บิ๊กกบ’ ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ ผบ.ทหารสูงสุด นั่งเป็น หัวหน้า ศปม. ด้วย โดยทั้ง ‘2 รองเสธ.ทหาร’ ได้ร่วมประชุม ศบค.โควิด-19 ที่ทำเนียบฯ ตั้งแต่เริ่มตั้ง ศบค. นอกจากนี้ยังมี ‘บิ๊กแก้ว’พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสธ.ทหาร ที่ถูกจับตาว่าจะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คนต่อไปมาร่วมทีมและประชุมด้วย เพราะผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 จะยังคงมีผลกระทบอีกยาว เพื่อสานต่องานจาก พล.อ.พรพิพัฒน์ ที่จะเกษียณฯก.ย.63 ด้วย

หลังเกิดปัญหาเพียง 1 วัน ทีมของ ‘บิ๊กกบ’ ได้เข้าผ่าตัดศูนย์อีโอซี ถอดบทเรียนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดย ‘เสธ.เบิร์ด’ ได้ปรับการทำงานใหม่โดยยึดหลัก ‘ชัดเจน รวดเร็ว ลดขั้นตอน’ เริ่มจากผู้โดยสารลงเครื่องบิน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การผ่านเทอร์โมสแกน , การลง App.AOT , การตรวจ Health Control และนำขึ้นบัส เพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด ( State Quarantine ) โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที ต่อเที่ยวบิน
.
ในส่วนของกองทัพที่ ‘บิ๊กตู่’ เป็น รมว.กลาโหม สวมหมวกหลายใบเป็น ผอ.ศบค.โควิด-19 ด้วย จึงมอบให้ ‘บิ๊กช้าง’พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ทำหน้าที่ดูแล ก.กลาโหม เป็นหลัก โดยเฉพาะการนำประชุมเหล่าทัพ ในการรับมือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้มีการประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ที่อัตราอยู่ที่วันละ 100 ราย ซึ่ง ก.กลาโหม เตรียม รพ.สนามและเตรียมสถานที่ State Quarantine หลังประเมิน หากอัตราผู้ติดเชื้อไม่ลด จนถึงกลาง เม.ย.63 อาจเกินขีดความสามารถ สธ. อีกทั้งรองรับคนไทยที่กลับจาก ต่างประเทศ โดยขณะนี้ได้เตรียม รพ.สนาม และ รพ.ค่ายทหาร ทั่วไทย ให้เป็น รพ.เฉพาะโรค รองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก 2,662 เตียง

ครบ 1 สัปดาห์ที่ ‘บิ๊กตู่’ รวบอำนาจจาก ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ หลัง ครม. ไฟเขียวใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการเข้ามาจัดการทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จ โดยมี ‘กองทัพ’ เป็นกองหนุนสำคัญในงานนี้ อีกทั้งใช้ยาแรง ‘ประกาศเคอร์ฟิว’ 6 ชั่วโมง ช่วง 4 ทุ่มถึงตี 4 แม้จะถูกวิจารณ์ทำไมไม่ใช้ยาแรงกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงว่าไม่อยากให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากจนเกินไป จึงต้อง ‘วางสมดุล’ ระหว่างมาตรการที่ออกมากับผลกระทบต่างๆ แม้จะมีปัญหาขรุขระอยู่บ้าง หลายปัญหาที่รัฐบาลก้าวช้ากว่าสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หลังจาก ‘บิ๊กตู่’ รวบอำนาจผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘เอกภาพ-ความรวดเร็ว’ ในการทำงานที่มีมากขึ้น
.
จับตาจุดตัดสถานการณ์ ‘โควิด-19’ กลางเม.ย.นี้ ไทยจะไปทิศทางใด ?