ปิดฉากค้นธรรมกาย กับ ม.44 ที่ยังค้างคา สุดท้ายถอดสมณศักดิ์ “ธัมมชโย-ทัตตชีโว”

Buddhist monks from the Wat Phra Dhammakaya temple welcome the Department of Special Investigation (DSI) members before the inspection of the temple, in Pathum Thani province, Thailand March 10, 2017. REUTERS/Jorge Silva

ยุติลงแล้วการตรวจค้นวัดพระธรรมกายรอบ 3 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจับกุมพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่เจ้าหน้าที่คลายข้อสงสัยว่าพระธัมมชโยไม่ได้อยู่ในวัด แต่สามารถเคลื่อนย้ายหลบหนีไปได้ ไม่ได้ป่วยอาพาธจริงตามที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้

ความสงสัยเมื่อการค้นหา 23 วันของดีเอสไอ นำโดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กุมบังเหียน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้นำการปฏิบัติการ รับดาบจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกาย ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7-13 ใน อ.คลองหลวง และพื้นที่หมู่ 7-11 ใน ต.คลองสาม อ.คลองหลวง เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ ในการเป็นผู้นำล่าตัวพระธัมมชโย

แต่ดูเหมือนดาบเล่มนี้จะฟันได้ไม่ถนัดถนี่นัก

 

วันแรกหลังประกาศใช้มาตรา 44 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร้องขอตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง สนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติ แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 3 โซน คือ

โซนเอ เป็นพื้นที่วัดบางส่วนที่คาดว่าพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับจะอยู่ในพื้นที่กว่า 196 ไร่

โซนบี เป็นพื้นที่ของมูลนิธิต่างๆ ของวัดพระธรรมกาย เช่น อาคาร 100 ปี อาคารอุบาสก และอาคารสงฆ์ เป็นต้น รวมถึงมูลนิธิวัดพระธรรมกาย รวมกว่า 130 ไร่

และโซนซี ได้แก่ อาคารมหาธรรมกายเจดีย์ และอาคารรัตนวิหารคด รวมกว่า 2,000 ไร่ โดยวันแรกได้ค้น 19 จุด ในพื้นที่โซนเอทั้งหมดและโซนซีบางส่วน

แต่ยังไม่พบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับแต่อย่างใด

 

จากนั้นวันที่สอง เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นต่อในพื้นที่โซนบีและโซนซีที่เหลือ โดยทางวัดพระธรรมกายพาสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ แบ่งเป็น 16 ทีม เข้าตรวจค้นจุดสำคัญ เช่น มหาธรรมกายเจดีย์ สภาธรรมกายสากล รวมถึงหอฉันคุณยายจันทร์ขนนกยูง แต่ยังไม่พบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ

ขณะที่ดีเอสไอเชื่อมั่นว่า แม้จะไม่พบผู้ต้องหาตามหมายจับแต่สามารถกลับมาขอตรวจค้นได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ยังไม่ยกเลิกการบังคับใช้

ความพยายามที่ดีเอสไอสร้างกระแสแบบขึงขังที่จะปฏิบัติการจับกุมพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับที่หลบซ่อนอยู่ในวัดให้ได้ แต่ก็ต้องล้มเหลวเมื่อการเจรจาที่จะเข้าค้นวัดในรอบที่ 3 กลับถูกลูกศิษย์วัดพระธรรมกายรวมตัวต่อต้านอยู่ในวัด ให้เหตุผลว่าค้นทุกจุดแล้วไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเข้าค้นซ้ำอีก ทางพระภิกษุ สามเณร และกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนวัดพระธรรมกายแบ่งพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการตรวจค้นที่ใช้มาตรา 44 กับทางวัด โดยปักหลักอยู่ที่ตลาดกลางคลองหลวง

เวลาผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์เศษ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 64 ปี อาชีพพ่อค้าผลไม้ ปีนขึ้นเสาสัญญาณโทรศัพท์ บริเวณใกล้ตลาดกลางคลองหลวง เป็นจุดที่มวลชนสนับสนุนวัดพระธรรมกายรวมตัวกันอยู่

โดยนายอนวัชถือป้ายประท้วงมีข้อความว่า “ขอความเมตตา กรุณายกเลิกมาตรา 44 หากทำไม่ได้ก่อน 21.00 น. วันนี้ เก็บศพได้เลย” จนกระทั่งถึงเวลา นายอนวัชปีนลงมาเกือบถึงครึ่งเสาและได้ใช้เชือกแขวนคอเสียชีวิต

และหลังการเสียชีวิตของนายอนวัช ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา น.ส.พัฒนา หรือหล้า เชียงแรง อายุ 48 ปี ผู้ช่วยเภสัชกร เสียชีวิตภายในวัดพระธรรมกาย เป็นรายที่สอง ด้วยอาการปอดอักเสบและติดเชื้อ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ส่งผลให้เกิดกระแสดราม่า ว่าการใช้มาตรา 44 เป็นอุปสรรคต่อการเข้าช่วยเหลือ เพราะ น.ส.พัฒนา ผู้เสียชีวิต อยู่ในวัดพระธรรมกายมานานกว่า 20 ปี

หากไม่มีแรงศรัทธาจริง คงอยู่ในวัดไม่นานขนาดนี้

 

กระทั่งวันที่ 10 มีนาคม พ.ต.อ.ไพสิฐ พร้อมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เปิดและปิดฉากค้นรอบ 3 ตั้งแต่ช่วงสาย รวม 7 จุด ภายหลังใช้เวลาตรวจค้นนานกว่า 7 ชั่วโมง แต่ไร้เงาพระธัมมชโย เป้าหมายสำคัญ

พ.ต.อ.ไพสิฐเผยภายหลังปฏิบัติการเสร็จสิ้นว่า กองอำนวยการร่วมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้รวมแล้ว 23 วัน มีคดีอาญารวม 43 คดี ออกหมายเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด 316 ราย และออกหมายจับตามคำสั่งตามมาตรา 44 จำนวน 80 ราย หลังจากดีเอสไอขอหัวหน้า คสช. ออกกฎหมายพิเศษ ใช้มาตรา 44 ในการควบคุมพื้นที่เพื่อค้นหาและติดตามจับกุมตัวพระธัมมชโย และได้รับการร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และคณะสงฆ์ จนวันนี้วัดพระธรรมกายยินยอมให้ค้นในจุดที่เจ้าหน้าที่สงสัย เนื่องจากการเข้าค้นในวันแรก บางจุดมีการล็อกกุญแจ และบางพื้นที่มีการข่าวว่าพระธัมมชโยหลบซ่อนตัวอยู่

“วันนี้ได้ตรวจค้นจุดต้องสงสัยทุกจุดแล้ว แต่ไม่พบพระธัมมชโย ตอนนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ เมื่อท่านไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ที่ผ่านมาดีเอสไอใช้วิธีละมุนละม่อมมาโดยตลอด หลังจากนี้จะติดตามสืบสวนหาข่าวเพื่อจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนพระธัมมชโยหลบหนีไปไหนหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากตำรวจ แต่ได้ประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ตรวจเข้มด่านทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการหลบหนีออกทางช่องทางปกติ ยกเว้นจะหลบหนีออกช่องทางพิเศษ ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยจะยังคงสืบสวนหาข่าวพระธัมมชโยต่อไป คดีมีอายุความ 15 ปี” อธิบดีดีเอสไอกล่าว และว่า

หลังยุติการตรวจค้น กำลังเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่บางส่วน เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยและป้องกันมือที่สามและแกนนำมวลชนที่อาจเข้ามาปลุกระดม ส่วนตนจะทำหนังสือรายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอให้ยกเลิกพื้นที่ควบคุมพิเศษตามมาตรา 44 เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. ให้ยกเลิกประกาศคำสั่ง มาตรา 44 ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ เพื่อนำตัวมาดำเนินตามกฎหมายถึง 3 ครั้ง ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2559 ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2559 และการปฏิบัติระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2560 แต่กลับไม่พบตัวพระธัมมชโย แม้ครั้งสุดท้ายมีความพยายามใช้เครื่องมือทางกฎหมายหลายอย่าง ทั้งการออกหมายจับ หมายค้น ไปจนถึงใช้มาตรา 44

ทว่า ยังเป็นข้อกังขา กับการยุติการตรวจค้นครั้งนี้ที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหว

เพราะสุดท้ายแล้วที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทำได้เพียงการถอดถอนสมณศักดิ์พระธัมมชโย และพระทัตตชีโว เท่านั้น!!