วิรัตน์ แสงทองคำ : Work @home

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ ไวรัสแพร่ระบาดทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ในบางจังหวะเพียงชั่วข้ามคืน

กรุงเทพฯ เมืองหลวงประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นนั้น

กรุงเทพฯ ยุคใหม่กับวิถีชีวิตผู้คนในสถานการณ์วิกฤตสำคัญๆ ได้ผ่านมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 และน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554-2555

ดูไปแล้วไม่หนักหนาเท่าครั้งนี้

จุดโฟกัสหนึ่ง ปัญหาและทางแก้ มีความเฉพาะเจาะจงลงมาที่ “บ้าน” อย่าง “ทำงานที่บ้าน” (ที่พูดๆ กันแปลมาจาก Work from home) และให้ “กักตัวอยู่กับบ้าน” ตามแผนการ คำแนะนำอย่างเข้มงวดกันทั้งโลก เพื่อ “ทิ้งระยะทางสังคม” จากคำศัพท์ Social distancing

ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) แก้ให้ใช้คำว่า Physical distancing

เพราะเรายังสามารถสื่อสารสัมพันธ์ทางสังคมกันได้ผ่าน social media

 

“ในฐานะปัจเจก การดำเนินชีวิตในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นๆ ความหมายและความสำคัญ ควรเริ่มต้นที่ “บ้าน” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความหมาย “บ้าน” ในกรุงเทพฯ คือส่วนที่แยกออกอย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ ก็คือการทำงาน การแยกตัวออกจากกันระหว่างการทำงานกับการอยู่บ้าน เริ่มต้นกลายเป็นความแปลกแยกในการดำเนินชีวิต แต่นานๆ ไปเป็นความเคยชิน” ผมเคยเสนอแนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับ “บ้าน” ไว้ตั้งแต่ช่วงวิกฤตกาณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ขณะขยายความไว้ในบางมิติ บางประเด็น

ความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) เกิดขึ้นมาอย่างเป็นภาพจริงจังไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้า เกิดขึ้นจากระบบราชการ และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่เติบโตขึ้น ในยุคการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และภาคการบริการ ขยายตัวอย่างขาดความสมดุล อันเกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี

การแบ่งแยกกับช่องว่างที่มากขึ้นๆ ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน กลายเป็นปัญหา เป็นที่มาการแก้ไขอย่างเฉพาะส่วน กลายเป็นภาพใหญ่ ดูสับสน จนกลายเป็นบุคลิกเฉพาะกรุงเทพฯ

 

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง อันเนื่องมาจากระยะทางหรือเวลาที่ต้องเดินทางไป-มาระหว่างบ้านกับที่ทำงาน โดยก่อรูปบุคลิกสังคมอย่างหนึ่ง พึ่งพิงกับการขับรถยนต์ส่วนตัวอย่างมากๆ

รถยนต์ พาหนะที่ผู้คนในเมืองใหญ่ใช้อำนวยความสะดวกในการเดินทางไป-กลับ บ้าน-ทำงาน ในที่สุดก็พบว่าผู้คนใช้เวลาอยู่ในรถ บางทีพอๆ กันหรือมากกว่าอยู่บ้าน ขณะที่ทำงานซึ่งกำหนดระยะเวลาทำงานค่อนข้างแน่นอน ดังนั้น เวลาที่ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษของผู้คนในสังคมเมืองใหญ่ โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพฯ คือเวลาอยู่บ้าน

ยิ่งสภาพการจราจรติดขัด ยิ่งเป็นเหตุขยายเวลาให้อยู่ในรถมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนกระตุ้นผู้คนให้ออกนอกบ้านมากขึ้น ตามกระแสพัฒนาการกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา มีสถานบริการเปิด 24 ชั่วโมงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ห้างสรรพสินค้าปิดบริการดึกมาก รวมทั้งเครือข่ายค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ และโดยเฉพาะร้านอาหารซึ่งมีอยู่มากมาย

มีบางปรากฏการณ์ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว แต่ไม่เป็นจริง เชื่อว่ากำลังจะมีการรีวิวอีกครั้งหนึ่ง

“ระบบราชการและธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งครอบงำความเป็นไปของสังคมเมืองนั้นกำลังถูกแรงบีบคั้นให้ลดขนาดลง และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้น จากนี้ไม่นาน ข้าราชการและลูกจ้างในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งซึ่งจะเพิ่มขึ้นๆ ในอนาคต จะย้ายสถานที่ทำงานจากเดิมไปอยู่บ้านมากขึ้น

เป็นก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมและบริการยุคใหม่ ขณะเดียวกันธุรกิจขนาดกลางและเล็ก กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นและเติบโตมากขึ้น มีการจัดการที่ดีขึ้น กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ มีความสามารถจะย้ายออกจากธุรกิจขนาดใหญ่ จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสำคัญๆ มาประกอบการอาชีพเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการถ่ายเทพลังของสังคมที่สำคัญ ธุรกิจขนาดย่อยจะมีพลัง เป็นฐานของสังคมเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นการปรับตัวทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยอิงกับธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป สังคมมีความเสี่ยงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา มาปรับน้ำหนักให้ธุรกิจขนาดย่อยมีมากขึ้น ในจำนวนนี้ซึ่งมากพอควร จะใช้บ้านเป็นฐานสำคัญของธุรกิจขนาดย่อย”

(ตัดบางตอนมาจากเรื่อง กรุงเทพฯ : วิถีชีวิตกับความผันแปร มติชนสุดสัปดาห์ ปลายปี 2552)

 

ในช่วงเวลานั้นมีการกล่าวถึงปัญหาโลกร้อน กระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เหมือนจะเป็นแรงกระตุ้น แต่ไม่มากพอ จนมาถึงปรากฏการณ์ใหม่ๆ ตั้งเค้าการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรเป็น ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) การเกิดขึ้นของบริการออนไลน์เพื่อแชร์บริการซึ่งเป็นของส่วนตัว หรือกิจการรายเล็กๆ อย่าง Airbnb Uber และ Grab

ในภาพเชิงพื้นที่ มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่ๆ เป็นทางเลือก วิถีชีวิตการทำงานในออฟฟิศและสนับสนุนกิจการเล็กๆ พวก Start up เรียกว่าธุรกิจ Coworking space ธุรกิจซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นมาเพียงประมาณ 5 ปีเท่านั้น จากข้อมูลที่พอจะเชื่อถือได้ (จาก https://www.coworker.com) ธุรกิจขยายตัวทั่วโลก มีแล้วมากกว่า 14,000 แห่งใน 172 ประเทศ เฉพาะในภูมิภาคเอเชียถือว่าเติบโตอย่างมาก ขณะเมืองไทยมีไม่น้อยเช่นกัน มีมากกว่า 150 แห่ง เฉพาะในย่านกรุงเทพฯ มีเกือบ 100 แห่ง ในหัวเมืองนั้นก็เติบโตเช่นกัน เชียงใหม่มีถึง 25 แห่ง ในขณะที่เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตมี 9 แห่ง เป็นต้น

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่มากับมาตรการ “กำจัดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ผู้คนหนาแน่น” ย่อมจะเป็นแรงบีบคั้นสำคัญ กระตุ้นให้เกิดพลิกโฉมบางสิ่งอย่างฉับพลัน ไม่ใช่ค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อกันว่าบางอย่างจะเปลี่ยนไปตลอดกาลหลังวิกฤตการณ์

ที่ว่ามาตอนต้นๆ ทั้งหมดเป็นแค่มุมมองเฉพาะส่วน เพียงเฉพาะว่าด้วยผู้คนกรุงเทพฯ ในเชิงพื้นเพ ผู้ลงหลักปักฐานใหม่ บางที่อาจกล่าวอย่างเฉพาะส่วนมากกว่านั้นอีก ว่าด้วยเฉพาะผู้คนระดับกลางหรือที่เรียกกันว่าชนชั้นกลาง ผู้คนซึ่งมี “บ้าน” อย่างแท้จริง

ดังนั้น ความหมายคำว่า “ทำงานที่บ้าน” และ “กักตัวกับบ้าน” จึงใช้ได้เพียงกับคนบางกลุ่มในกรุงเทพฯ เท่านั้น

มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย มิใช่คนกรุงเทพฯ ผู้คนซึ่งไม่มี “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ แต่ว่าเป็นผู้คนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญให้ชีวิตกรุงเทพฯ ดำเนินไปอย่างเมืองใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น

ผู้คนซึ่งมาทำงานชั่วครั้งคราวจากต่างจังหวัด จากประเทศเพื่อนบ้าน เวลาส่วนน้อยของผู้คนเหล่านั้น อาศัยอยู่กับที่พักอันคับแคบ แออัด ไม่พอ ไม่สามารถจะอ้างอิงหรือสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า “ทำงานที่บ้าน” และ “กักตัวกับบ้าน”

ในความเป็นจริง ชีวิตผู้คนเหล่านั้นใช้เวลาส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ ในพื้นที่ซึ่งกำลังปิดตายอย่างน้อยชั่วเวลาหนึ่งในเวลานี้ เท่ากับปิดโอกาส เวลาของผู้คนเหล่านั้นในกรุงเทพฯ ย่อมหมดลง

“พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ผู้คนหนาแน่น” ที่ว่านั้น อยู่ในภาคบริการ ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ อย่างในห้างสรรพสินค้า และอีกไม่น้อยอยู่ภาคบริการ มีรายย่อยเป็นจำนวนมาก นั่นคือร้านอาหาร

แผนการเร่งด่วนแบบเฉพาะส่วน “จำกัดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ผู้คนหนาแน่น” ย่อมผลักดันให้ผู้คนเหล่านั้นออกนอกกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นขบวนอย่างที่เห็น และเป็นมาตรการตามรูปการณ์แม้จะมีแผนการในภาพใหญ่ตามมาทีหลังตามวิสัยปกติวิ่งตามปัญหา หรือแม้กระทั่งแผนการ “เคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คน” ตามแบบแผนธุรกิจในยามจำเป็น คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

 

อันที่จริงกรณี 7-Eleven ในประเทศไทยนั้นน่าสนใจ เป็นการปรับตัวตามกระแสอย่างทันท่วงที อ้างอิงอาศัยบทเรียนที่อื่นๆ ในโลก ไม่ว่าในสหราชอาณาจักร ดังกรณี Tesco UK หรือ Amazon ผู้ค้าออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ซึ่งได้ดำเนินแผนการดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้า

“ซีพี ออลล์ ประกาศรับสมัครทีมงาน 20,000 อัตราเตรียมให้บริการส่งถึงบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการบริการส่งสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันผ่านแอพพลิเคชั่น 7-Eleven Delivery โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งพนักงานและผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีงานทำ และผู้ประสบปัญหาการว่างงานจากภาวะวิกฤตครั้งนี้” ถ้อยแถลงซึ่งมีขึ้นไม่นาน หลังจากประกาศ “จำกัดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ผู้คนหนาแน่น” ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

แผนการข้างต้น ควรเป็นทั้งระบบ ทั้งขบวน อย่างทันท่วงที ตามโมเดลเครือข่ายค้าปลีกซึ่งยังต้องเปิดบริการ ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมบริการจัดส่งซึ่งจำเป็นต้องมีอย่างเป็นขบวน ดูไปแล้วแทบไม่มีความพร้อม

หากแผน “เคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คน” ตามแบบฉบับการบริหารท่ามกลางวิกฤตการณ์เป็นไปจริง ผู้ตกงานในอีกภาคส่วน เคลื่อนย้ายไปยังอีกส่วนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น จะสร้างสมดุลทางสังคมได้บางระดับ

แผนการจัดส่งถึงบ้าน (Delivery) มีห่วงโซ่ซับซ้อนและมีช่วงยาวพอสมควร ตามระบบ Supply chain สมัยใหม่ หลายๆ ธุรกิจจำต้องปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนไม่น้อยตลอดห่วงโซ่นั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่เพียงเป็นบริการแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

 

ในอีกมิติหนึ่ง คาดว่าผู้คนซึ่งเคลื่อนย้ายออกจากกรุงเทพฯ ควรมีโอกาสทำงานที่บ้าน ในความหมายที่กว้างกว่า Work from Home อย่างที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

สังคมชนบทดั้งเดิม หรือสังคมการเกษตร ยังคงหลงเหลือบุคลิกนั้นไม่มากก็น้อยในปัจจุบัน “บ้าน” มีความหมายกว้าง มีพื้นที่เชื่อมโยงอย่างกว้างขวาง ความกลมกลืนระหว่างบ้านกับที่ทำงานเป็นไปอย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าสังคมบริโภคจะคืบคลานเข้าไปถึงมากขึ้นๆ บ้านในความหมายกว้างซึ่งเชื่อมโยงกับเรือกสวนไร่นา กิจกรรมหรือวิถีในบ้านดำเนินไป บ้านถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นทั้งแหล่งผลิตและบริโภคที่กลมกลืนกันมากกว่าในเมืองใหญ่

Work @home ในพื้นที่ ในสังคมอ้างอิงเกษตรกรรม เคยพยุงกรุงเทพฯ ไว้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายครั้งแล้ว ครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งหรือไม่ ไม่ค่อยจะแน่ใจนัก