วิเคราะห์ : การเมือง-เศรษฐกิจภาคใต้ เดินไปทางไหน ในห้วงดิสรัปต์ครั้งใหญ่

ภาคใต้ ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งเป็นอันดับต้นของประเทศ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่ง มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และในแง่ภูมิทัศน์ทางการเมือง ก็ถือเป็นบ้านใหญ่ของพรรคการเมืองอย่าง “ประชาธิปัตย์” ที่ยึดกุมมานาน

แต่ในช่วงวิกฤตทางการเมือง จนถึง 5 ปีของการบริหารยุครัฐบาลทหาร หลังการรัฐประหาร 2557 และการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เผชิญกับภาวะถดถอยครั้งใหญ่ หลังต้องสูญเสียที่นั่งสำคัญในภาคใต้ (รวมถึงหลายเขตในกรุงเทพฯ) ให้กับพรรคใหม่ที่ปีกการเมืองเข้มกว่าและการสนับสนุนเหนือกว่าอย่าง “พลังประชารัฐ”

ขณะที่เศรษฐกิจภาคใต้บางพื้นที่ก็เผชิญความซบเซา การค้าขายไม่คึกคัก ความรุ่งเรืองเจริญเติบโตกำลังกลายเป็นอดีต

ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในภาคใต้จึงเป็นที่จับตา ไม่ว่ามองด้วยความหวังหรือความเป็นห่วงว่า จะก้าวไปข้างหน้ายังไงต่อ?

 

การเมืองภาคใต้หลังเลือกตั้ง 2562
: ประชาธิปัตย์ถอย พลังประชารัฐผงาด
แต่อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้

รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ นักวิชาการรัฐศาสตร์และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงการเมืองของภาคใต้ว่า เปลี่ยนอย่างนึกไม่ถึง เพราะสำหรับภาคใต้คิดว่าใครสวมเสื้อประชาธิปัตย์ก็จะชนะ จนมีวลีติดตลกว่า “เอาเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ”

แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ช็อกใครหลายคน ว่าพรรคพลังประชารัฐเข้ามากุมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ เฉพาะสงขลาชนะประชาธิปัตย์ โดยได้ถึง 4 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง กับภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไม

ตอนทำเอ็กซิตโพล ทุกคนยังตะลึงเลยว่า ประชาธิปัตย์สูญเสียคะแนน ตรงกันข้ามกับพลังประชารัฐและอนาคตใหม่ ที่คะแนนขึ้นพรวดพราด คำอธิบายต่อเรื่องนี้คือ พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์ ที่เป็นปีกอนุรักษนิยม โดยเฉพาะกลุ่ม กปปส. แต่ก็ไม่ได้เลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทย กลับเลือกพลังประชารัฐ ด้วยฐานคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคู่กรณีกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแนวร่วม เลยทิ้งมาเลือกพลังประชารัฐแทน

ถือเป็นกระแสที่เกิดขึ้นระดับหนึ่ง

“คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) อดีตหัวหน้าพรรค เชื่อมั่นว่า พล.ประยุทธ์เป็นปัญหาประเทศ เลยเลือกจะไม่ร่วมมือ ทำให้ประชาชนตั้งหลักไม่ทัน แต่สมการที่ยังไงไม่เอาพรรคของทักษิณ (เพื่อไทย) ก็เลือกพรรคที่เข้มแข็งกว่าไปสู้ เลยมองพลังประชารัฐเป็นโจทย์ที่ไม่ได้ซับซ้อนvtไรมาก” รศ.ดร.วิชัยกล่าว และว่า แต่ในอนาคต ต้องจับตาคนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นกระแสทั่วประเทศ รวมถึงภาคใต้อย่างอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนนดีทุกเขต รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ แง่หนึ่งสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในการเลือกพรรคการเมือง

แนวโน้มที่ต้องมองต่อคือ การปรับตัวของประชาธิปัตย์ การเลือกคุณจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฏ์) เป็นหัวหน้าพรรค ถ้าคุณจุรินทร์สามารถสร้างพรรคให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจเหมือนสมัยชวน หลีกภัย ก็มีโอกาส แต่ดูแล้วยังไม่ขึ้น ถ้ามองแง่บุคคล คุณชวนยังมีสิ่งที่เรียกว่าเสน่ห์ต่อสาธารณชน แม้อายุจะมากแต่ยังดูมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ กลับกัน คุณจุรินทร์แม้เป็นคนพูดดีแต่ต้องสร้างบารมีสักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ทั้งการลาออกของกรณ์ จาติกวณิช หรือพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แม้แต่คนรุ่นใหม่ของพริษฐ์ วัชรสินธุ บั่นทอนความเป็นเอกภาพของพรรค ยิ่งการทำการเมืองในอนาคต ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีพลังค่อนข้างมาก ซึ่งอดีตพรรคอนาคตใหม่ นักการเมืองดาวเด่นหลายคนแสดงบทบาทโดนใจคนกลุ่มนี้

ส่วนพลังประชารัฐ ก็อาจไม่มีความต่อเนื่อง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลิกเล่นการเมือง ก็คิดว่าจะจบ

ดังนั้น ประชาธิปัตย์ ถ้ามีคุณชวนอยู่ และปรับตัว ส่งไม้ต่อได้ดี ก็อาจกลับมาพลิกครองพื้นที่ได้อีก

 

คนรุ่นใหม่
: “ความตื่นตัว+การประสานเข้มแข็ง+อุดมการณ์แน่วแน่”
= การเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังและเปี่ยมสีสัน

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาชนกลุ่มคนรุ่นใหม่กว่า 6 ล้านคน กลายเป็นฐานเสียงสำคัญให้กับพรรคอนาคตใหม่ และยังสร้างพลังทางการเมืองอย่างแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจนสร้างความวิตกให้กับรัฐบาลปัจจุบันนั้น รศ.ดร.วิชัยมองแนวโน้มว่า คนรุ่นใหม่อยู่ในโลกที่ต่างจากคนหัวเก่า ต้องการความเปลี่ยนแปลงชนิดรวดเร็ว เป็นคนที่เข้าถึงข้อมูลง่ายผ่านการปฏิสัมพันธ์หลายทางได้สูง การเกิดแฟลชม็อบจึงเกิดขึ้นได้รวดเร็ว และมาในแบบที่นึกไม่ถึง

ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนคนรุ่นใหม่ออกมาโลดแล่นทางการเมืองในสภา ต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่าที่อภิปรายแบบขาดความจริงจัง แต่พอมาเจออดีตพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่แนวที่หนึ่ง อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือพรรณิการ์ วานิช จนแนวที่สองอย่างวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือศิริกัญญา ตันสกุล

ยิ่งคำพูดของคนรุ่นใหม่ว่า “อนาคตเรากำหนดเอง” ก็เป็นเรื่องที่ดี ยิ่งการยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไงก็สามารถตั้งพรรคได้อีก

ถ้ารักษาอุดมคติตรงนี้ไว้ได้ พร้อมถักทอด้วยสารสนเทศและขับเคลื่อนผ่านพรรคการเมือง ถ้ายึดการเมืองท้องถิ่น ทำให้มีสีสันอาจดีกว่าไปเล่นแนวรบการเมืองมหภาคซึ่งโดนแช่แข็งจากกลไกรัฐต่างๆ ไปแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีสิทธิร่วมแสดงออกในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การตื่นของคนรุ่นใหม่ก็สร้างความวิตกกังวลกับนักการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงเครือข่ายชนชั้นนำจารีตนิยม จากท่าทีเชิงป้องปรามของรัฐบาลและกองทัพผ่านสื่อ

รศ.ดร.วิชัยมองปฏิกิริยานี้ว่า เป็นเรื่องธรรมดา โดยวิธีการที่พวกเขาใช้คือดึงเป็นพวก เช่นอย่าง ส.ว.เสนอเชิญไปคุยในสภา

แต่คนรุ่นใหม่เองก็มีจุดอ่อนในแง่ความซับซ้อนของการเมือง เช่น กรณี ส.ส.งูเห่าของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องถามว่าทำไมมากับพรรคแล้ว แต่พอพรรคอยู่จุดวิกฤตก็พร้อมสละเรือได้

คิดว่าต้องทำให้พรรคมีอุดมการณ์ที่สูงกว่านี้

 

เศรษฐกิจภาคใต้
มีทั้งทรุดตัวและเติบโต

รศ.ดร.วิชัยกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจในภาคใต้ โดยยกตัวอย่างหาดใหญ่ ในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้า มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ปัจจุบันกลับต้องซบเซาว่า หาดใหญ่เรียกว่าเศรษฐกิจทรุดตัว ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่แนวโน้มเริ่มชัดว่าหาดใหญ่สูญเสียศักยภาพในการเจริญเติบโต แต่ 5 ปีหลังสุดเห็นชัดเจนว่าขาลงเต็มตัว

หนึ่งในปัจจัยที่ว่าคือ เศรษฐกิจมาเลเซียไม่ดี ในตอนแรกมีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด่านนอก ทำให้ชาวมาเลเซียไม่เข้ามาเที่ยวหาดใหญ่ แต่พอเมืองด่านนอกทรุดตัว ก็ทำให้หาดใหญ่ทรุดตัวไปด้วย

อีกปัจจัยคือ ราคาพืชผลทางเกษตรอย่างปาล์มน้ำมัน ยางพารา สินค้าพื้นฐานของภาคใต้ และหาดใหญ่เมืองหลัก เมื่อราคาตกต่ำ กำลังซื้อในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็น้อยลง จากราคากิโลละร้อยกว่าบาท เหลือกิโลละ 30 บาท ทำให้กำลังใช้จ่ายถดถอยลงทันตา ไม่ว่ารัฐบาลพยายามแก้ก็แก้ไม่ตก

การประมงก็เป็นอีกเกษตรกรรมที่สำคัญ ซึ่งเมืองสงขลา,uรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ แต่พอมาเจอมาตรการของอียู ที่บังคับไทยต้องเข้าเกณฑ์ ก็ส่งผลกระทบต่อแรงงานประมงที่มีกำลังซื้อด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมที่ประคับประคองหาดใหญ่ก็ปิดตัว อย่างโรงงานผลิตถุงมือยางก็ปิดกิจการ แม้โรงงานผลิตปลากระป๋องก็พออยู่ได้ แต่ก็กระทบต่อกำลังซื้ออย่างมาก

ทั้ง 3 ปัจจัย ทำให้หาดใหญ่สูญเสียการเติบโต การฟื้นตัวในยุคดิสรัปต์นี้ ถ้าโรคระบาดคลี่คลาย การท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วย หาดใหญ่อาจต้องทำ S-curve ใหม่ จะพึ่งพานักท่องเที่ยวมาเลเซียไม่ได้แล้ว อาจเปลี่ยนแนวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แทน เหมือนอย่างที่กระบี่ สตูลหรือภูเก็ต พัทลุงก็กลายเป็นเมืองเติบโตแซงหาดใหญ่ไปแล้ว เพราะส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวนี้

ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะทำยังไงในการสร้าง S-curve ใหม่เพื่อการเจริญเติบโต เรียกว่า ต้องกล้าหาญในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายเมืองที่ผงาดขึ้นมาแทนจนน่าจับตามอง อย่างภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางไปแล้ว ดูจากเที่ยวบินเข้า-ออกก็ได้ จีดีพีที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 2 ของประเทศคือภูเก็ต ไม่ใช่พัทยา เพราะดึงดูดนักท่องเที่ยวฐานะดีมาได้ และยังดึงเมืองบริวาร อย่างกระบี่ พังงา เติบโตไปด้วย ประกอบกับการส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์พะยูนในตรัง หรือการปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟู รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชน ทำให้ท้องถิ่นได้ประโยชน์ไปด้วย

อีกเมืองคือสุราษฎร์ธานี เพราะอยู่กึ่งกลางของภูมิภาคและมีเส้นทางเชื่อมโยงไปหลายที่ กระจายสินค้าได้มากกว่า แม้จะไม่ติดกับต่างประเทศเหมือนหาดใหญ่ แต่ก็มีพื้นที่เหมาะสมระดับหนึ่ง

ซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ของภาคใต้ในอนาคตได้