คงกฤช ไตรยวงค์ : Parasite โควิด-19 และประชาธิปไตย

ฟรังโก้ “บิโฟ” เบราร์ดี้ นักปรัชญาร่วมสมัย ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ AND : Phenomenology of the End ถึงเรื่องราวเมื่อปี 1983 ซึ่งนักเรียนมัธยมญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้ก่อคดีฆาตกรรมคนชราไร้บ้านที่สวนในเมืองโยโกฮามา

เมื่อถูกถามถึงแรงจูงใจ เด็กเหล่านั้นก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไรนอกจากบอกว่าคนแก่เหล่านั้นเป็น obutsu ซึ่งแปลว่าสกปรก มีมลทิน

นอกจากนี้ เมื่อมังงะได้รับความนิยมในวงกว้างในครึ่งหลังของทศวรรษ 70 ศัตรูก็ไม่ใช่ความชั่วร้ายแต่อย่างใด หากแต่เป็นความสกปรก

“บิโฟ” อ้างว่า ความสะอาดสะอ้านและการขจัดผลผลิตที่เป็นขยะ สิ่งที่สับสน รุงรัง เป็นการแผ้วทางไปสู่โลกดิจิตอลที่เรียบลื่น

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี Parasite ของผู้กำกับฯ บงจุนโฮ ได้รับรางวัลออสการ์ 4 รางวัลใหญ่ ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม อันที่จริงก็ได้รับกระแสตอบรับดีตั้งแต่เข้าฉาย มีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

และใครกันแน่ที่เป็นปรสิต

 

หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ สิ่งที่นำไปสู่ตอนจบที่เปื้อนเลือด คือกลิ่นสาบของคนจน “อากาศ” กลายเป็นตัวสื่อสิ่งสกปรก ทำให้เจ้าของบ้านแสดงอาการรังเกียจคนยากไร้ที่เหม็นสาบ จนนำไปสู่ตอนจบที่รุนแรงและสะเทือนใจ

แน่นอนว่า Parasite ไม่ได้วิพากษ์ทุนนิยมเท่านั้น แต่เป็นทุนนิยมดิจิตอล โลกของสมาร์ตโฟนที่มีผิวเรียบลื่น สะอาด โลกเช่นนี้เองที่กลิ่นสาบคนจนจะถูกขับเน้นยิ่งขึ้น

ไม่นานมานี้ หลังจากทั่วโลกเผชิญการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข่าวแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้เดินทางกลับประเทศไทยเพราะกลัวติดโรค แต่เมื่อกลับมาแล้วรัฐบาลไม่มีมาตรการชัดเจนในการกักตัวไว้ 14 วัน ทั้งที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา

นี่เป็นอีกครั้งที่ “อากาศ” ตกเป็นผู้ต้องหาในการนำพาเชื้อไวรัส ดังที่มีข่าวว่าโรคนี้ติดต่อได้ผ่านทางละอองไอในอากาศ

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้คนไทยถามถึงสามัญสำนึกของแรงงานเหล่านี้ เบื้องแรกย่อมไม่ใช่เรื่องจริยธรรมหรือศีลธรรม หากแต่เป็นความสกปรก

 

กลับไปที่ “บิโฟ” เขาวิเคราะห์ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างร่างกายกับความคิดอันสูงส่งที่มีมาตั้งแต่สมัยเซนต์ออกัสติน นั่นคือ การแบ่งระหว่าง eros ซึ่งเป็นความรักที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาทางเพศ กับ agape ซึ่งเป็นความรักในเพื่อนมนุษย์ “บิโฟ”

ยังอ้างต่อไปว่า ตอนที่ปฏิวัติรัสเซียไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ เลนินเองก็ไม่อาจจะหาความสมดุลระหว่างแรงผลักสองด้านนี้ได้ ดังจะเป็นได้จากเขาเห็นความสำคัญของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในฐานะ logos ซึ่งหมายถึงคำอธิบายอันกอปรด้วยเหตุผล (ในคัมภีร์ไบเบิลคำว่า logos แปลว่า พระวจนะ) มากกว่าจะเข้าใจชนชั้นกรรมาชีพอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะกรรมกรเองยังรู้จักต่อรองกับนายทุนเพื่อสานผลประโยชน์กันเป็นครั้งคราว

เลนินเห็นความบริสุทธิ์ของอุดมการณ์สำคัญกว่าความปรารถนาอันเป็นสิ่งที่สกปรก

 

หันกลับมามองสังคมไทย พรรคอนาคตใหม่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคแห่งความหวัง หัวหน้าพรรคและผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น ยึดถือหลักการอันบริสุทธิ์เหนือสิ่งอื่นใด

พรรคอนาคตใหม่เริ่มต้นจากอนาคต เปิดตัวผ่านโซเชียลมีเดีย ในโลกดิจิตอล อย่างน้อยในระยะแรกคนต่างจังหวัดแทบจะไม่รู้จักพรรคนี้

แน่ล่ะว่าพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ทันได้สร้างผลงานในฐานะรัฐบาลก็ถูกยุบ ย่อมไม่มีมวลชนเป็นคนรากหญ้าจำนวนมากเหมือนพรรคเพื่อไทย การพยายามรักษาความสะอาดของอุดมการณ์ และฟังความปรารถนาของคนไม่มากพออาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมามีนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศชุมนุมทำแฟลชม็อบประท้วงรัฐบาลที่มีภูมิหลังจากเผด็จการ มีข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่านักศึกษาเหล่านี้มีเบื้องหลัง ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์

เป็นอีกครั้งที่คำว่าบริสุทธิ์ต้องแปดเปื้อน และความปรารถนาของพวกเขาถูกมองข้ามไป

แทนที่จะไปพิจารณาข้อเสนอหรือคำวิจารณ์ของพวกเขา หรือมองว่าพวกเขาย่อมตระหนักถึงประโยชน์อันพึงมีพึงได้

กลับมองข้ามบ่าไปหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง

 

ที่จริงแล้วมายาคติเรื่องพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษามีมาตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ดังจะเห็นได้จากบทกวี “ดอกไม้” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่มองพลังนักศึกษาบริสุทธิ์กล้าหาญ

และบทกวีที่ชื่อ “วันฆ่านกพิราบ” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่พรรณนาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ให้เห็นภาพนักศึกษาถูกสังหารหมู่กลางเมือง โดยกวีอาศัยวิธีแบบธรรมชาตินิยมสุดขั้ว จนภาพออกมาไม่ต่างจากภาพจากกล้องถ่ายรูป

คำว่าบริสุทธิ์ในที่นี้อาจมีความหมายสองด้าน

ในด้านหนึ่งคือ เป็นความสะอาดปราศจากผลประโยชน์หนุนหลัง

สองคือเป็นความใสซื่อ ซึ่งอาจรวมความถึงความไม่ประสีประสา

แต่การนำอุปลักษณ์ความบริสุทธิ์ผุดผ่องที่มีนัยของนักบวชหรือนัยทางศาสนามาใช้กับการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน อาจจะทำให้ละเลยความปรารถนาของพวกเขาในฐานะพลเมืองกลุ่มหนึ่ง

เมื่อความปรารถนากลายเป็นของสกปรก เราก็ได้เอาศีลธรรมความครอบปริมณฑลทางการเมือง เราก็จะได้เห็นการเมืองของ “คนดี” อีกทั้งยังทำให้เราได้รัฐบาลที่มีภูมิหลังจากกองทัพ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วปล่อยเป็นหน้าที่ของร็อกสตาร์ที่จะวิ่งเพื่อการกุศลหาเงินไปบริจาคให้โรงพยาบาล

ล่าสุดกรณีของแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่กลับมาเมืองไทย แล้วยังออกไปใช้ชีวิตปกติ ไปทานหมูกระทะนอกบ้านตามที่เป็นข่าว จนเจ้าของร้านต้องชำระล้างและฆ่าเชื้อทั้งร้าน คำวิจารณ์ที่เห็นกันมากในสื่อสังคมออนไลน์ก็คือการถามหาจิตสำนึกของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหล่านั้น

แต่นั่นก็เป็นตรรกะแบบเดียวกับที่รัฐบาลเรียกร้องจิตสาธารณกุศลของ รับบริจาคเงินจากประชาชนเพื่อบริจาคช่วยเหลือประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อจากไวรัสโควิด-19 ถึงแม้จิตสำนึกจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าและต้องมาก่อนก็คือการจัดการที่ดี ซึ่งจะต้องอาศัยโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่ดีด้วย

แต่ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดๆ อย่างทันท่วงที

 

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ยิ่งต้องการทำให้การเมืองสะอาดบริสุทธิ์

ความสกปรกก็ยิ่งปรากฏมากขึ้นทุกที

ทั้งการเล่นสกปรกทางการเมือง

ความสกปรกของสิ่งแวดล้อมที่มาในรูปของฝุ่น PM 2.5

เศรษฐกิจที่ถดถอยจนประชาชนต้องสังเวยชีวิตเพราะพิษเศรษฐกิจ

ความรุนแรงที่มาในรูปของการกราดยิง

เมื่อเผชิญโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการสาธารณกุศลเหมือนเช่นทุกครั้ง ตรงข้ามกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่รับเงินบริจาค ด้วยเหตุผลว่าประชาชนก็เดือดร้อนมากพอแล้ว

ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะออกมาชุมนุมประท้วง เพราะพวกเขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน ความปรารถนาที่จะอยู่ในสังคมที่เอื้อให้พวกเขาบรรลุศักยภาพของตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง

ถึงเวลาที่จะต้องยุติการเมืองของ “คนดี” เราเห็นมามากเกินพอแล้วว่าการให้ “คนดี” ปกครองบ้านเมืองเป็นอย่างไร พยาธิสภาพในสังคมไทยต้องได้รับการเยียวยาด้วยความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต

“อากาศ” ไม่ได้นำพาแต่กลิ่นสกปรกและเชื้อโรค โปรดฟังเสียงของประชาชน