กรองกระแส / ข่าวลือ รัฐประหาร กับ ความเป็นจริง ที่บังเกิด อาวุธ ทางการเมือง

กรองกระแส

 

ข่าวลือ รัฐประหาร

กับ ความเป็นจริง ที่บังเกิด

อาวุธ ทางการเมือง

 

ไม่ว่าข่าวการปรับ ครม. ไม่ว่าข่าวการลาออก ไม่ว่าข่าวการรัฐประหาร ล้วนเป็นเรื่องไม่ดี ล้วนเป็นเรื่องกระทบต่อรัฐบาล และโดยเฉพาะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ข่าวลือ”

เป็นข่าวลือในขณะที่กองเชียร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้สึกเหนื่อย รู้สึกอึดอัดที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นข่าวลือในขณะที่คนซึ่งเป็นกลางๆ เรียกร้องต้องการให้ “ลาออก”

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องให้ความสนใจเสียงตะโกน “ออกไป ออกไป๊” อันดังกระหึ่มจากแฟลชม็อบ ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2526 มาแล้ว

เช่นนี้เองจึงได้เกิดข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร”

 

ท่วงท่ารัฐประหาร

2 แนวคิด แนวทาง

 

รัฐประหารในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมือเดือนเมษายน 2476 กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ดำเนินไป 2 แนวทางที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

1 เป็นรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจ

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนเมษายน 2476 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2494 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ล้วนมีเป้าหมายนี้

นั่นคือ มีอำนาจอยู่แล้วแต่ต้องอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน 1 เป็นรัฐประหารเพื่อแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2476 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2500 ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ไม่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549

ล้วนต้องการโค่นล้มรัฐบาลหนึ่งเพื่อสถาปนาตนเองเข้าสู่อำนาจทั้งสิ้น

 

ข่าวลือ รัฐประหาร

เสถียรภาพสั่นคลอน

 

ข่าวลือรัฐประหารอันปลิวว่อนอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากรากฐานสำคัญอย่างยิ่งคือ ความไม่มีเสถียรภาพ ความไม่มั่นคงของรัฐบาล

เห็นได้จากปฏิกิริยาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา

เห็นได้จากการเปิดโปงกันเองจากภายในของรัฐบาล ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์

ทุกอย่างมาจากความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความล้มเหลวนี้ 1 ทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเดียวกัน 1 ก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

และที่สุดก็เป็นไปตามความเคยชินคือ เรียกหา “รัฐประหาร”

ขณะเดียวกัน จากสภาพการณ์ที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นการกระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จโดย คสช. นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าอาจเป็นรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจยิ่งขึ้น

มิได้เป็นรัฐประหารเพื่อโค่นล้มและแย่งชิงอำนาจ

 

ข่าวลือ รัฐประหาร

ข่าวลือ ที่มักจะจริง

 

ไม่ว่าในยุคก่อนรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 ไม่ว่ายุคก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 ไม่ว่ายุคก่อนรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 ไม่ว่าก่อนยุครัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าก่อนยุครัฐประหารเดือนกันยายน 2549

มักเริ่มด้วยสถานการณ์แปลกๆ บนพื้นฐานแห่งความปั่นป่วนรวนเรของรัฐบาล และก็ตามมาด้วยข่าวลือในเรื่องรัฐประหาร

และบรรดาคนที่คาดหมายว่าจะทำรัฐประหารก็มักจะออกมาปฏิเสธ ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในวงจรแห่งการเมืองก็มักจะไม่เชื่อว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นด้วยเหตุผลมากมายเป็นชุดๆ แต่ในที่สุด รัฐประหารก็จะเกิดขึ้นในทางเป็นจริง

เนื่องจากรัฐประหารเป็น “อาวุธ” อย่างหนึ่งที่มักจะปรากฏในภาวะอับจนในทางการเมือง

เช่นเดียวกับข่าวลือรัฐประหารที่ปลิวว่อนอยู่ในแวดวงการเมืองตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องมายังเดือนมีนาคม ด้านหนึ่ง จึงสะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพและความไม่แน่นอนที่ดำรงอยู่ภายในของรัฐบาลว่าดำเนินไปเช่นไร

            อีกด้านหนึ่งจึงชี้ให้เห็นเด่นชัดเป็นลำดับว่าทางเลือกภายในสังคมจะอยู่ตรงไหน