บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่ม แหล่งท่องเที่ยว ประเภท Man made พัทยา

การขายท่องเที่ยว…ไม่ใช่แค่หยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวมาเป็นสินค้า แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ป้องกันความล้มเหลวที่อาจตามมาภายหลัง

โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวประเภท Man made หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ ที่นักลงทุนเลือกวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนลงทุนว่าสดใส ไม่เปลี่ยนเป็นไฟไหม้ฟางในที่สุด

เพราะการทำธุรกิจใดๆ ย่อมหวังความสำเร็จคือผลกำไรตอบแทน จะเอาแบบแม่ค้าแคะขนมครก นั่งขายปากซอยคอยคนมาซื้อนั้น…คงไม่ได้!

โจทย์การลงทุนภาคท่องเที่ยว รู้กันดีว่ายังไงๆ ก็ย่อมตกอยู่ภายใต้การแข่งขัน ปลุกสำนึกให้นักลงทุนหมั่นพัฒนาสินค้าและขยันทำตลาด เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคและคู่ธุรกิจพึงพอใจ

 

ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยว Man made ระดับโลก หลายแห่งยืนหยัดอยู่ได้กระทั่งวันนี้ จนอยากกด Like ให้คือ ดิสนีย์แลนด์อเมริกา โตเกียว ฮ่องกง หรือยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ

เพราะสามารถพัฒนากลยุทธ์จุดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูดเงินบาทไทยบานเบอะไม่รู้เท่าไร?

พูดไป…แหล่งท่องเที่ยวแนวนี้ บ้านเรามีไม่น้อยเปิดตัวหวือหวาพักหนึ่ง สุดท้ายล้มหายตายจากไป ด้วยขาดระบบบริหารให้ก้าวทันการเติบโตทางกลไกตลาด ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

กระนั้น…ก็ยังโชคดีที่ไทยมี Man made บางแห่งขับเคลื่อนธุรกิจก้าวหน้าไปได้ อยากให้ดูสวนนงนุชพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ห่างเมืองพัทยาเพียง 16 ก.ม. คือหนึ่งในจำนวนที่ว่านี้

หากเปิดปูมหลังธุรกิจเจ้านี้ ถือกำเนิดมากว่า 60 ปี เคยเป็นแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรท้องถิ่น กับสวนผสมมะพร้าว – มะม่วงน้ำดอกไม้ ตรงเชิงเขาปลายแปลงมาก่อน

จนเมื่อบรรยากาศเมืองพัทยาคึกคัก ธุรกิจนี้ถึงได้ปรับหนองน้ำเป็นทะเลสาบจำลอง แล้วปลูกต้นพุทธรักษาเสริม กับยกเรือนอาหารขึ้นฝั่ง โดยนำครอบครัวเกษตรกรเก่ามาผสมโรง เป็นคนสวนผนวกสาธิตการทำน้ำตาลมะพร้าวให้นักท่องเที่ยวชม

นอกจากนี้…ปลูกโรงแสดงวัฒนธรรมไทย รื้อเรือนไทยจากอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี มาประกอบใหม่ให้คนมาเที่ยวพัก…เหล่านี้คือจุดขายท่องเที่ยวยุคนั้น

ขณะพัทยากำลังดีวันดีคืน ทว่าไม่ได้ทำให้สวนนี้คึกคักเท่าไร รู้กันในหมู่เอเย่นต์ทัวร์ ด้วยว่ากรณีพาทัวร์ไปชมหมู่บ้านไทย อ.สามพราน ที่นั่น…ยืนราคาขายหัวละ 300 บาทขาดตัว!

ทัวร์เจ๊กจีนที่เพิ่งเปิดประตูมาไทยจึงเลือกผูกขายเส้นทางฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ เมืองโบราณ เที่ยวพัทยาก่อนดูโชว์สวนนงนุช เพราะจ่ายค่าบริการขณะนั้นเพียงหัวละ 50 บาท!

ทัวร์สมัยนั้นเลยแบ่งชนชั้นกันเสร็จสรรพ ถ้ายุโรป-อเมริกา ผู้มีกำลังซื้อสูงต้องไปสามพราน ทัวร์จีนต้นทุนติดดิน-ต้องนี่เลย!…สวนนงนุช อ.สัตหีบ เท่านั้น!

 

แล้ววันหนึ่ง…กัมพล ตันสัจจา หรือ “โต้ง” วิศวกรจากสหรัฐอเมริกา เลือกมาเป็นชาวสวนพัฒนาที่ดิน 1,700 ไร่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ 40 สวน เสริมศักยภาพรับคนมาเยือนเพิ่มขึ้น

เขาศึกษาวิชาออกแบบสวนจากผู้มีประสบการณ์แบบ “ครูพักลักจำ” กับอ่านจากตำราจนขึ้นชั้นเทพด้านการออกแบบตกแต่งสวนแถวหน้าเมืองไทย เคยไปคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบสวนที่สหราชอาณาจักรถึง 6 ปี 6 ครั้ง

ปัจจุบันสินค้าท่องเที่ยว Man made พัทยามีเกือบ 100 แห่ง ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกันเมามัน แบบใครดีใครอยู่ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีล่าสุด 18 ล้านคน

สวนนงนุชจึงดูจะมีศักยภาพกว่าใครอื่น จากการลงทุนเพิ่มสินค้านั่นนี่ เพิ่มเติมที่เคยมีมาสม่ำเสมอ อาทิ เปิดแปลงกล้วยไม้ ชูแหล่งพันธุ์ปาล์มมากพันธุ์ติดอันดับโลก

ต่อจากนั้นเปิดโรงแสดงใหม่จุคน 2,030 ที่นั่ง ลบภาพแหล่งขายทัวร์ราคาต่ำ ส่งเสริมการเลี้ยงช้าง 91 เชือกไว้บริการนักท่องเที่ยว อีกทั้งช่วยลดปัญหาสังคมเรื่องช้างเร่ร่อนได้อีกด้วย

บริการสังคมด้วยการจัดพื้นที่นันทนาการ ให้เยาวชนศึกษาสภาวะโลกร้อน ยกร่องทำสวนผักออร์แกนิกส์ เป็นวัตถุดิบปรุงให้คนมาเที่ยวกิน เปิดครัวไทยให้คนต่างชาติเรียนทำอาหารไทย

ปรับพื้นที่เนินเขาขึ้นเป็น “หุบเขาไดโนเสาร์” วินเทจสู่โลกยุค 245 ล้านปีก่อน ด้วยงานประติมากรรมไดโนเสาร์ลอยตัว เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์ดึกดำบรรพ์กลางแจ้งแห่งแรกของไทย

ไม่นานต่อมา…ขยายจุดขายใหม่เป็น “นงนุชเทรดดิชั่น เซ็นเตอร์” จำลองงานประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง ให้คนต่างชาติที่รู้จักงานนี้เป็นทุนเดิมได้รื่นเริงเสมือนเทศกาลจริง

อีกทั้งเปิดศูนย์จำหน่ายผลไม้ไทยสนับสนุนชาวสวน แล้วยังชวนพวกเขามาเรียนรู้วิธีทำตลาดแนวใหม่ผ่านระบบออนไลน์และเทคโนโลยีให้ทันกับโลกปัจจุบัน

 

การแต่งสีสันจุดขายแบบสร้างมูลค่าเพิ่มผู้บริโภค มิได้หยุดนิ่งเพียงสิ่งที่กล่าวถึงเท่านั้น

หลังรัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) สวนนงนุชรับไม้มาลงทุนครั้งใหญ่ให้มี “ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา (Nong Nooch Pattaya, Convention & Exibition Center – NICE)” จุคน 7,000 คนทันที พร้อมจัดอุปกรณ์บริการทันยุคสมัย

ปลุกโมเมนต์รับตลาดท่องเที่ยว 4.0 กลุ่ม MICE ที่กำลังมาแรงขณะนี้

ล่าสุด…ใครจะนึกเล่าว่า Man made นี้จะใช้จิตวิทยาพื้นฐานนำเอาพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของความสงบร่มเย็น ภายในแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ บริเวณ “สวนลอยฟ้า”

ตั้งซุ้มบุษบกแล้วอัญเชิญพระมงคลจำลอง 9 องค์ มาประดิษฐานเหนือแท่นบุษบก ประกอบด้วยพระแก้วมรกต กรุงเทพฯ, พระพุทธชินราช พิษณุโลก, หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม, หลวงพ่อวัดไร่ขิง นครปฐม, หลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา

หลวงพ่อพระใส หนองคาย, พลวงพ่อโต อยุธยา และพระมหาสุวรรณศากยมุนี นครพนม

ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธปฏิมากรทั้ง 9 องค์ ตามหลักศาสนาพุทธ โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 9 รูป จากภาคกลาง เหนือและอีสาน ตลอดจนศาสนาพราหมณ์ตามตำนานโบราณ มาทำพิธีเมื่อบ่ายวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

พระพุทธปฏิมากรทั้ง 9 คือวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถกราบไหว้ขอพรได้ครบทุกองค์ในสถานที่ตั้งเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางไปยังแหล่งประดิษฐานให้ครบ 9 แห่ง

นี่คือ…ช่องทางดึงคนมาเที่ยวซ้ำครั้ง กับเรียกกลุ่มนิยมแสวงหาประสบการณ์ใหม่มาด้วย

 

นอกจากการสรรหาสิ่งแปลกใหม่แบบไม่หยุดยั้ง งานด้านตลาดก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เจ้าของกิจการต้องคำนึงถึง เพื่อก้าวสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ

มีเรื่องน่าฉงนชวนให้ช่วยกันคิด…นักธุรกิจประเภทนี้หลายแห่ง ทุ่มเงินลงทุนเท่าไรไม่ว่า แต่ไม่ปรารถนาจะควักกระเป๋าเงินเดินหน้าหาตลาดมาซื้อบริการ…นี่คือเรื่องจริง!

ส่วนสวนนงนุช ซึ่งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทย 40% ต่างชาติ 60% ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย เพื่อนอาเซียนเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว

ถือว่าการทำตลาดคือปัจจัยหลักที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการตลาดในประเทศมีการใช้สื่อออนไลน์-ออฟไลน์ เผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์

ส่วนตลาดต่างประ เทศ เสริมทีมไปร่วมงานส่งเสริมการขายกับหน่วยงานรัฐและเอกชนไทยในตลาดเป้าหมาย

ขาดเสียมิได้…คือไปทดสอบตลาดโลกจากงาน ITB เบอร์ลิน และ WTM ลอนดอน

การทำเซลล์คอลล์ และไดเร็กต์เซลส์ กับเน็ตเวิร์กกิ้งคู่ธุรกิจ ก็เป็นยุทธศาสตร์สำหรับการรักษาตลาดไม่ให้สูญหาย แล้วก็เจาะตลาดใหม่มาเติมเต็มอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้เป็นโมเดลที่ธุรกิจ Man made รายอื่นๆ น่านำไปใช้ภายใต้แนวคิดตนเอง เพื่อผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวไทยแลนด์ 4.0 ผงาดขึ้นบนเวทีโลกและเวทีไทย…ให้ได้ตบมือรัวๆ กัน!