“ธีรยุทธ” วิพากษ์ “คสช.” เรือแป๊ะพายวน-เสื่อมมนต์ “วิเคราะห์-ตีความ” กระหึ่ม

หายไปพักใหญ่ ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลาคม 2516 ที่ต่อมามีบทบาทในการสวมเสื้อกั๊กออกมาแถลงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในรัฐบาลต่างๆ หลายยุคหลายสมัยด้วยเนื้อหาและถ้อยคำสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม นายธีรยุทธ ในอีกมาดหนึ่ง สวมสูทมาแถลงข่าว วิพากษ์รัฐบาล คสช. ในภาพรวมระบุว่า ล้มเหลวในเรื่องการปฏิรูป การบริหารงานอยู่ในลักษณะ “เรือแป๊ะพายวน” ขอให้รัฐบาลรักษาคำพูดที่จะเลือกตั้งตามโรดแม็ป

คำแถลงบางตอนของนายธีรยุทธชี้ว่า ประเทศไทยจะวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจมีน้อย เพราะผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดเป็นข้าราชการ ซึ่งจะสูญเสียอำนาจเมื่อมีการปฏิรูป

รัฐบาลมีผลงานที่ดีบ้าง แต่ยังไม่มีที่ให้ความหวังเรื่องการปฏิรูป แต่แสดงออกชัดเจนที่จะผลักให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจต่อด้วย

จากนี้ไป เรือแป๊ะกับแม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็น “ยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง” ลากจูงกันไป ทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจจะเกยหาดหรือติดเกาะแก่งได้ ถ้าฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแม็ป

อีกตอนนายธีรยุทธกล่าวว่า เกือบ 3 ปี ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความสนุกสนาน ได้ความสบายใจ มีการจัดระเบียบ กำหนดนโยบายใหม่ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะไม่เกิดเพราะไม่อยากทำ รวมถึงการวางระบบและการบูรณาการต่างๆ ก็ไม่เห็นผล

มนต์ขลังจากการบริหารที่ประชาชนเห็นว่าทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเริ่มเสื่อม ส่งผลให้ความมั่นใจในรัฐบาลเริ่มคลอนแคลน

การบริหารของ คสช. ในขณะนี้ เริ่มอยู่ในสภาพเรือแป๊ะพายวน โดยเฉพาะมาตรการปรองดอง และการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ มีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด กรรมการปฏิรูป 2 ชุด กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี รวม 3 แผนใหญ่ แต่ไม่มีผลงานที่ให้ความมั่นใจได้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงแม้แต่ชุดเดียว

เห็นว่า คสช. ตั้งธงความคิดกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด เพราะไปมองว่า พรรคการเมือง นักการเมืองคือที่มาของวิกฤต เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

ทั้งที่ความจริงแล้ว ความล้มเหลวที่ผ่านมาจะทำให้พรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว จึงควรจัดวางยุทธศาสตร์ให้ภาคสังคม ประชาชน เข้ามามีสิทธิอำนาจควบคู่กับความรับผิดชอบมากขึ้น โดยสร้างความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลกับภาคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าว นายธีรยุทธได้ออกตัวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นศัตรู หรือผู้สนับสนุน คสช. แต่เป็นการทำงานทางวิชาการที่เคยทำมาตลอดทุก 1 ปี จะวิเคราะห์สถานการณ์ เพียงแต่ไม่ได้ทำมา 3 ปีแล้ว

และเห็นว่าในขณะนี้มีความจำเป็นต้องแสดงความเห็นเพื่อเสนอแนะซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม

การออกมาแถลงของนายธีรยุทธ ทำให้หลายฝ่ายสรุปว่า เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาล คสช. มาถึง “ขาลง” แล้ว

เพราะนายธีรยุทธเป็นผู้สนับสนุน คสช. มาก่อน เมื่อออกโรงมาวิพากษ์ ก็เท่ากับตอกย้ำว่า แม้แต่กองเชียร์ก็ยังมีความเห็นต่อการบริหารงานของ คสช.

AFP / Manjunath Kiran

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ระหว่างที่ กปปส. เคลื่อนไหวชัตดาวน์ และกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกฯ

วันที่ 15 มกราคม 2557 นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์และนักวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวหัวข้อ “สุดท้ายของระบบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?” สนับสนุนการปฏิวัติประชาชน เสนอแนะแนวทางการต่อสู้ให้ กปปส.

ก่อนสรุปเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการต่อสู้ว่าเป็น “ทฤษฎีมะม่วงหล่น” ใช้ความอดทนยาวนาน รอให้ “ผลไม้หล่นมาเอง”

ไม่นานหลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2557 ทหารก็ทำรัฐประหาร

หลังจากนั้น นายธีรยุทธไม่ได้มีบทบาทอะไรอีก แต่มาขึ้นเวทีในงานวัน “สัญญา ธรรมศักดิ์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 5 เมษายน 2559

นายธีรยุทธได้กล่าวถึงการเมืองในอดีตว่า กลไกต่างๆ ที่จะบังคับใช้กฎหมายไม่ทำงาน เอื้อต่อนักการเมืองผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ สภาพการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ

การที่มีคนออกมาชุมนุมก่อนรัฐประหาร คสช. เป็นบทสะท้อนใหญ่ ดรรชนีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะเป็นตัวบ่งชี้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปฏิรูป

และกล่าวเรียกร้องให้ คสช. ดำเนินการ “ปฏิรูป” อย่างจริงจัง

การแถลงข่าวครั้งนั้น ทำให้นักวิชาการรุ่นน้อง คือ นายยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการ ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ใช้วิชาชีพมานุษยวิทยาในการผลักให้สังคมไทย ไม่เพียงหันเหออกไปจากเส้นทางของประชาธิปไตย แต่ยังต้องตกไปสู่หุบเหวของอำนาจเผด็จการทหาร

นี่เป็นอีกครั้งที่อาจารย์ไม่ได้ใช้โอกาสที่อาจารย์มีมากกว่าหลายๆ คน ช่วยเตือนสติผู้มีอำนาจให้เคารพอำนาจของประชาชน เคารพบุญคุณที่ประชาชนเลี้ยงดูเขามา

แม้ว่าอาจารย์จะเสนอปัญหาข้อสำคัญของสังคมไทยว่าเป็นปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่อาจารย์ก็โยนความผิดให้นักการเมืองฝ่ายเดียว ส่วนกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร แม้แต่จะกล่าวถึงความฉ้อฉลของทหารในอดีต มาบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่กล้า

ยุกติถามว่า ธีรยุทธเชื่อจริงๆ หรือว่าระบบอุปถัมภ์ของชาวบ้านและนักการเมืองเป็นปัญหาสำคัญ จนถูกมองว่าเป็นต้นตอของการซื้อเสียง แต่ปัญหาตำตาขณะนี้ ทำไมอาจารย์ไม่กล่าวถึงการอุปถัมภ์ในวงราชการ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมานั้นระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นลดทอนพลังลงไปมากแล้ว การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชน ชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว

พร้อมกับถามว่า ธีรยุทธไม่สนใจความอยุติธรรมที่คณะรัฐประหารเองสร้างขึ้นมา ยกตัวอย่าง อาทิ การดำเนินคดีประชาชนด้วยศาลทหาร การเรียกตัวบุคคลต่างๆ ไปปรับทัศนคติ

การจับกุมตัวนักศึกษาโดยไม่แสดงหมายจับ การคุกคามการจัดประชุม เสวนา การแสดงความเห็นสาธารณะ แต่ละเว้นการจับกุมกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนทหาร มีความยุติธรรมอย่างไร ฯลฯ

ธิดา ถาวรเศรษฐ

นอกเหนือการตีความว่า การออกโรงของนายธีรยุทธสะท้อนขาลงของ คสช. แล้ว

ยังมีการวิเคราะห์ของ ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ทางสถานีโทรทัศน์พีซทีวี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ตอนหนึ่งระบุว่า นายธีรยุทธใช้วาทกรรมนำการวิพากษ์การเมือง เพื่อให้สื่อสนใจ นำเอาวาทกรรมไปพาดหัวข่าว

ส่วนการออกโรงของนายธีรยุทธ ซึ่งมีเครือข่ายเป็นอดีตนักกิจกรรม ที่ระยะหลังเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษนิยม ที่ไม่ได้ถึงกับสุดโต่ง อาจเพื่อเตือนผู้มีอำนาจ เพราะห่วงว่าขบวนการอนุรักษนิยมอาจจะพังได้ ถ้า คสช. จะอยู่ยาว และจะได้ไม่สร้างปัญหาต้องออกมาขับไล่ทหารเหมือนในอดีตอีก

และนั่นคือผลจากการเคลื่อนไหวของนายธีรยุทธ ที่เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ติดตามข่าวสารได้พอประมาณ