หน้า 8 : T-rex 4.0

“ซูเปอร์ฮีโร่” แทบทุกคนมักจะมี “ท่าไม้ตาย” หรือ “อาวุธพิเศษ”

งัดออกมาครั้งใดก็จะพิฆาตคู่ต่อสู้ให้พ่ายแพ้ทุกครั้งไป

ที่น่าสังเกตก็คือ เขาจะไม่นำออกมาใช้บ่อย

นานๆ ใช้ที เพื่อทำให้ “อาวุธพิเศษ” นี้ขลังและน่ากลัว

เพราะถ้าใช้บ่อยๆ คนดูจะเบื่อ

“มาตรา 44” ก็เหมือน “ท่าไม้ตาย” หรือ “อาวุธพิเศษ” ของ “ซูเปอร์ฮีโร่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อ คสช. มาจาก “เงื่อนไขพิเศษ” คือ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ที่มา” ของอำนาจชัดเจนว่าสนใจ “เป้าหมาย” มากกว่า “วิธีการ”

มาตรา 44 จึงตอบสนอง “ที่มา” ของ “คสช.”

ไม่ต้องสนใจ “กระบวนการ” อะไรทั้งสิ้น

ถ้าเห็นว่าอะไร “ถูกต้อง” ก็ใช้เลย

มาตรา 44 มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

ตอนแรกก็นานๆ ใช้สักครั้ง

ใช้ทีก็ฮือฮาที

แต่ช่วงหลังเริ่มใช้บ่อยมาก ใช้กับทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่

ถ้าภาษาตลกต้องบอกว่า “เก็บหมดทุกมุข”

มุข 5 บาท 10 บาทก็ไม่เว้น

“ความศักดิ์สิทธิ์” จึงเริ่มลดลงเรื่อยๆ

ล่าสุด นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็เสนอว่าจะให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ปิดแอพพลิเคชั่น “อูเบอร์”

เพราะทำลายระบบขนส่งสาธารณะของไทย

บร๊ะเจ้า…

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ “อาวุธ” ที่รุนแรงที่สุดอย่างมาตรา 44

กับเรื่องเล็กๆ แค่ “อูเบอร์”

แต่ยังสะท้อนวิสัยทัศน์ของข้าราชการไทยกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ในขณะที่รัฐบาลพยายามขายวิชั่น “ไทยแลนด์ 4.0”

สนับสนุน “สตาร์ตอัพ”

แต่ข้าราชการไทยกลับเสนอปิด “แอพพ์” ระดับโลกอย่าง “อูเบอร์”

เพียงเพราะมาแย่งลูกค้า “แท็กซี่” และรัฐควบคุมไม่ได้

ไม่มีการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้า “แท็กซี่” บริการดี

“อูเบอร์” และ “แกร็บคาร์” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในขณะที่เมืองไทยจะจัดการ “อูเบอร์” เพราะผิดกฎหมาย

แต่ที่สิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กลับสนับสนุน “อูเบอร์”

เขามองปรากฏการณ์ disrupt หรือการที่ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นและทำลายธุรกิจเก่าอย่างแท็กซี่ ในมุมของการสร้างสรรค์

“สิงคโปร์ต้องสนับสนุนให้มีการ disrupt อุตสาหกรรมเดิมๆ ต่อไปพร้อมกับช่วยเหลือผู้ที่ปรับตัวไม่ทันให้ปรับตัวตามได้”

“แอพพ์เรียกรถโดยสารเหล่านี้ให้บริการดีกว่า และตอบสนองได้รวดเร็วกว่า เพราะแอพพ์เหล่านี้สามารถวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง และปรับค่าโดยสารได้ตรงกับความต้องการของรถและปริมาณรถโดยสาร”

สิงคโปร์ไม่ต้องโฆษณาว่าเขาจะก้าวสู่ยุค 4.0

เพราะวิธีคิดของเขาชัดเจนว่าเขาอยู่ยุคไหน

แตกต่างจากเมืองไทย

“หัว” ไปข้างหน้า

แต่ “ขา” เดินถอยหลัง