พินิจสร้างชาติแบบไทยๆ จากอดีต สู่จุดเปลี่ยน ในบรรยากาศ “รักชาติ-ชังชาติ”

วังวนวิกฤตการเมืองไทยที่กินเวลามานานกว่าสิบปี นอกจากทำให้ภาพคู่ขัดแย้งที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว อุดมการณ์แนวคิดรากฐานของประเทศนี้ที่ถูกใช้ในฐานะเครื่องหล่อหลอม ก็ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาติ”

ตลอดยุคสมัย คำคำนี้ถูกใช้ตั้งแต่นักการเมือง จนถึงบรรดานายพลที่ก่อการรัฐประหาร และผูกยึดกับทุกเรื่องตั้งแต่รัฐธรรมนูญ จนถึงวัฒนธรรมในสังคม เพื่อแสดงความเชิดชู เทิดทูน ในนาม “ความรักชาติ”

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำพูด เช่น “ลดความรักชาติให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น” ก็ทำให้คำที่ครั้งหนึ่งยกประหนึ่งสิ่งสูงส่ง ถูกลดทอนไม่ต่างข้ออ้างเพื่อปกปิดการกระทำอันเลวร้ายเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

เมื่อ “ชาติ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือไปถึงขั้นล้อเลียน เสียดสีและพยายามนิยามความหมายใหม่ วาทกรรม “พวกชังชาติ” ก็ได้เกิดขึ้น เพื่อตอบโต้กระแสทางการเลือก หรือถูกใช้เพื่อปิดปากคำวิจารณ์รัฐบาลที่มีแนวคิดเหมือนตัวเอง

มาถึงตรงนี้ “ชาติ” จะอยู่ในสถานะไหน และความหมายแบบไหนกัน ท่ามกลางวังวนที่อาจไม่เห็นจุดสิ้นสุด ณ ตอนนี้

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผ่านงานในชื่อ “จะทำเพื่อชาติอย่างไร ในเมื่อชาติไม่เป็นธรรม” กล่าวว่า ถ้าจะทำความเข้าใจคำว่า “ชาติ” นี้ อาจต้องย้อนงานศึกษารุ่นบุกเบิกเกี่ยวกับ “รัฐ” และ “ชาติ” อย่าง อ.เบเนดิก แอนเดอร์สัน ในหนังสือ “ชุมชนจินตกรรม” ที่เสนอว่า “ชาติ” คือชุมชนในจินตนาการ เพราะว่าสภาพความเป็นจริงนั้นมีการขูดรีดไม่เป็นธรรม จึงเกิดจินตนาการชุดหนึ่งให้มีความรู้สึกว่าที่ที่คุณอยู่นั้น มีความเสมอภาค ความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ที่สำคัญยังพร้อมตายถวายชีวิตเพื่อบางสิ่ง

ข้อเสนอของ อ.แอนเดอร์สันถูกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและนำมาเปรียบเทียบกับหลายกรณีที่เกิดขึ้น ย้อนดูสังคมไทย ใครกันที่พูดถึงมากที่สุด คงไม่พ้น “กองทัพ” หาดูได้จากตอนนี้ หรือแม้แต่สโลแกนประจำกองทัพอย่าง “พลีชีพเพื่อชาติ” นำเสนอตัวตน และอยู่ในครรลองจนเกิดคำอย่างเช่น “ชายชาติทหาร” ขึ้นมา

แม้แต่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากความโศกเศร้าต่อการสูญเสีย ก็มักจะมีคำพูดของญาติ เช่น พ่อ-แม่ภูมิใจที่ลูกพลีชีพเพื่อชาติ ซึ่งไม่มีใครอยากให้ใครตาย โวหารนี้ก็ไปรองรับอยู่ ทำให้ความตายมีคุณค่า ไม่ใช่แค่ในหน่วยงานรัฐ แม้แต่ภาคเอกชนก็เอาคำว่า “ชาติ” ไปใช้โฆษณา

แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ชาติถูกตั้งคำถามมากขึ้น มีการแสดงออกที่ถูกมองว่าไม่รักชาติมากขึ้น ทำให้คำว่า “ชังชาติ” ถือกำเนิดขึ้นมา

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า คำว่า “ชังชาติ” ได้ผุดขึ้นโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ในช่วงที่จัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา ถ้าเกิดดูเว็บไซต์ของพรรคนี้ จะเห็นชัดในอุดมการณ์พรรค ตั้งแต่ (1) ความเป็นอนุรักษนิยม (2) ชาตินิยม (3) ต่อต้านลัทธิชังชาติ และคำดังกล่าว นักการเมืองสอบตกได้นำไปใช้ และนิยามความหมายของ “ลัทธิชังชาติ” ว่ามีอะไรบ้าง

เห็นได้ว่า นอกจากมีการตั้งพรรคการเมือง มีการนิยามแล้ว คำว่า “ชังชาติ” ก็ถูกใช้โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ยกเทียบกับสุนัขฝึกที่จูงอยู่ หลังจากถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงล้อเลียนคำพูดในการแถลงข่าวทั้งน้ำตา

อะไรที่ทำให้โลกใบหนึ่งมีพวกที่พร้อมพลีชีพเพื่อชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสนี้ขึ้น อะไรทำให้ปัจจุบันความรู้สึกผูกพันกับชาติน้อยลง จึงนำไปสู่การอธิบายใน 2 ลักษณะ อย่างแรก คือ “ชาติ” ที่มีแต่ “คนไทย” อันที่สอง “ชาติ” ที่ไม่มี “ประชาชน” คิดว่ามี 2 ลักษณะนี้ที่ทำให้ “ชาติ” ไม่เป็นที่รักของคนมากขึ้น

ทีนี้ “ชาติ” ที่มีแต่ “คนไทย” ต้องย้อนไปในกระบวนการสร้างชาติตั้งแต่รัชกาลที่ 4 การขีดเส้นเขตแดนได้เกิดขึ้น แล้วจะจัดการผู้คนภายใต้เส้นที่ขีดขึ้นยังไง แต่ก็ไม่ได้เป็นโจทย์ใหญ่มากนัก

จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 การแผ่ขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสในพื้นที่ที่เรียกว่า “อินโดจีน” และพยายามเข้าไทย ด้วยอ้างว่ามีคนลาวและเขมรอยู่ เมื่อเผชิญหน้ากับเงื่อนไขความเป็นเชื้อชาติขึ้นมา

ชนชั้นนำสยามก็เลยนำเสนอแนวคิดที่ว่า ใครก็ตามที่อยู่ใต้เส้นขีดของสยามนี้มา ทั้งหมดสังกัดชาติไทย ไม่สำคัญพูดภาษาถิ่นอะไร มีวัฒนธรรมแบบไหน แต่ตราบที่อยู่เส้นขีดและมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ก็สามารถอยู่ในชาติไทยได้

ในแง่หนึ่ง การสร้างชาติไทยช่วงแรก มีลักษณะผนวกรวม

แต่พอในรัชกาลที่ 6 รูปแบบการสร้างชาติก็เปลี่ยน จากผนวกรวม ก็ผูก “ชาติ” ไว้กับชนชาติเดียว ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางการ ผ่านการศึกษาภาคบังคับ การเขียนประวัติศาสตร์ ลัทธิทหารนิยม และกลุ่มชนที่ถูกเบียดออกมากที่สุดก็คือชาวจีน ถึงขั้นเรียกชาวจีนว่า “ยิวแห่งบูรพาทิศ”

แต่การที่นโยบายชาตินิยมกลับเข้มข้นขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ แรงกระเพื่อมใหญ่อยู่ที่ฉบับที่ 3 เลิกเรียกคนไทยที่ผูกกับเชื้อชาติหรือศาสนา เหลือเพียงคนไทย ส่วนฉบับที่ 10 ว่าด้วยการแต่งกาย ก็ตามสมัยนิยมแบบตะวันตก

จนมาถึงยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สร้างชาติในนามการพัฒนา นิยามให้เป็นส่วนหนึ่งอันหนึ่งเดียวกัน ก้าวข้ามลักษณะจำเพาะทางภูมิภาค นอกจากสาธารณูปโภค สาธารณสุข ก็ยังนำเสนอพุทธศาสนาเข้ามา เห็นชัดในกลุ่มชาวเขา

แต่คำถามก็คือ สัมฤทธิผลแค่ไหน?

 

แต่แนวคิด “ชาติ” ที่มีแต่ “คนไทย” ได้เปลี่ยนไป หลังจากคนจีนรุ่นใหม่ในช่วงม็อบมือถือในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คนจีนกลุ่มนี้ผลักดันผ่านระบบศึกษา การทำงาน ทำให้เกิดการขยายมีส่วนร่วมทางการเมือง จนถึงรัฐธรรมนูญ 2540

ในช่วงม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ครั้งแรก 2548-2549 และครั้งที่ 2 ปี 2551) สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำในตอนนั้น มักพูดว่าตัวเองเป็นคนจีน หรือเรียกผู้ร่วมชุมนุมว่า อาซิ้ม อาม่า

และจุดติดในช่วงรัฐบาลสมัคร เกิดคำว่า “ลูกจีนรักชาติ” ขึ้นมา

ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการหัวอนุรักษนิยม ได้เขียนชมสนธิ ที่สามารถลบภาพเชิงจิตวิทยาคนจีนในประเทศนี้มีที่ทาง ความเป็นไทยและความเป็นจีนไม่ได้ขัดกันแล้ว ทำให้รักษาความเป็นจีน พร้อมกับสามารถทำหน้าที่พลเมืองไทยได้

แต่คำถามก็คือ นี่คือ “ชาติ” แบบที่พึงประสงค์หรือไม่?

 

ในขณะที่ “ชาติ” ที่ไม่มี “ประชาชน” นั้น รศ.ดร.อนุสรณ์มองว่า ยิ่งน่าเศร้า คุณเป็นคนไทย แต่ถ้าเป็นประชาชนคนธรรมดา คุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชาติ เพราะเป็นชาติที่เน้นความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ประชาชน และความมั่นคงของรัฐนั้นแลกกับความผาสุก ความปลอดภัย ความอยู่ดีกินดีของประชาชนเสมอ

แล้วประชาชนถูกแยกออกจากรัฐ ถ้าดูในรัฐธรรมนูญหมวด 10 ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ตราบที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ จัดวางประชาชนอยู่ตรงข้ามกับรัฐได้ยังไง ในเมื่อควรเป็นรัฐประชาชาติ และประเทศนี้ รัฐไม่ได้ประกอบด้วยประชาชน

ฉะนั้น จึงสามารถถีบประชาชนหรือสังเวยประชาชนเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ

หรือบรรดากฎหมายพิเศษ อาทิ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎอัยการศึก คำสั่ง/ประกาศของคณะรัฐประหาร เอามาลิดรอนสิทธิในนามความมั่นคงของรัฐ หรือใกล้สุดคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกในการแสดงออกของประชาชน

แม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นของรัฐ อำนาจในการจัดสรรอยู่ที่รัฐ สิทธิชุมชนเจอกฎหมายลูกของหน่วยงานรัฐ รัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย แม้แต่การจัดสรรงบประมาณประจำปี เรามีงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สูงขึ้น 2.3 แสนล้านบาท ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้งบฯ 1 แสนล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลสุขภาพทั้งประเทศได้ 1.4 แสนล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 7.5 พันล้านบาท แม้แต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม วุฒิสภาแต่งตั้ง

ถามว่า นี่เป็นประเทศที่เห็น “ประชาชน” เป็นตัวตั้งหรือไม่?

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ได้นำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา “ชาติ” ที่ไม่ได้น่ารักนี้ว่า จำเป็นต้องสร้างความหมายของชาติใหม่ขึ้น ที่เปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเรามีชาติในฐานที่แคบ และจะแคบมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับความมั่นคงของรัฐ

ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐ แต่เป็นความมั่นคงของชนชั้นนำส่วนน้อย ที่ใช้รัฐเพื่อรักษาประโยชน์ตัวเอง

อีกอย่างคือ รัฐธรรมนูญที่ต้องสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม เป็นชาติของประชาชน

หรืออีกแนวทางคือ การก้าวข้ามความเป็นชาติ เป็นพลเมืองโลก (Cosmopolitan) เอาเข้าจริงเป็นแนวคิดแต่เดิมก่อนที่ชาตินิยมจะถือกำเนิด แต่แนวคิดนี้ก็ถูกตั้งคำถาม

ดังนั้น ถ้าชาติที่ไม่เห็นหัวประชาชน เราจะอยู่กันยังไง ก็อาจต้องจินตนาการให้พ้นไปจาก “ชาติ”