สมชัย ศรีสุทธิยากร | เกมแห่งการแก้รัฐธรรมนูญ…ภาพหลอนและกงเกวียนกำเกวียน (2)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ใช้เวลาถึง 9 เดือนหลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560

จะด้วยเจตนาที่แท้ หรือภายใต้แรงกดดัน หรือภาวะจำยอมจากที่เคยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงหรือเป็นเหตุผลในการร่วมรัฐบาลไม่ทราบได้ แต่สภาลงมติด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 445 เสียงจากผู้ที่มาร่วมประชุมทั้งหมดในวันนั้น

การตั้ง กมธ.วิสามัญ 49 คน ที่มีตัวแทนจาก ครม. 12 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 18 คน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 19 คน ซึ่งสังคมบอกว่าทุกฝ่ายล้วนส่ง “บิ๊กเนม” หรือตัวกลั่นของฝ่ายตนเองมาร่วมทั้งสิ้น

แสดงให้เห็นว่า 120 วันของการทำงานของ กมธ.ชุดนี้ไม่ธรรมดา

ถึงแม้ว่าบรรยากาศของการประชุมกรรมาธิการในครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2562 จะเป็นไปอย่างชื่นมื่นและแสดงให้เห็นท่าทีของการรอมชอมในการเลือกประธาน รองประธานและตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ

ถึงแม้ว่าคำแถลงของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้ได้รับการโหวตให้เป็นประธาน กมธ. จะแถลงหลังจากได้รับเลือกว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ และเชื่อมั่นว่า กมธ.ชุดนี้จะทำงานออกมาได้เป็นอย่างดี”

แต่ที่มาของ กมธ.ที่มาจาก 3 ฝ่ายนั้นมีจุดยืนและจุดหมายในการทำงานที่ต่างกัน

การกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างไม่กะพริบว่า เกมแห่งการร่างกติกาหลักของบ้านเมืองจะเล่นกันไปในแนวทางใด และสุดท้ายจะมีบทสรุปเช่นไร

เกมของฝ่ายรัฐบาล

ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบจากกลไกที่ออกแบบ ไม่ว่าในเกมของรัฐสภาที่มีวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และโดยตำแหน่งมาเป็นกลไกค้ำยันความมั่นคงทางการเมือง

หรือเกมของการมีองค์กรอิสระ ที่มาจากการกำหนดคุณสมบัติ ที่มา และผ่านกระบวนการคัดเลือกในยุคที่ คสช.มีอำนาจ

ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลจึงมีท่าทีในการไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย

แต่ในขณะเดียวกัน กลไกที่ถูกออกแบบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคใหญ่เสียเปรียบ ต้องการให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค

กลับกลายเป็นภาพหลอนที่เกิดขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลว่า วันหนึ่งข้างหน้าถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วพรรครัฐบาลกลายเป็นพรรคใหญ่ สภาพกงเกวียนกำเกวียนจะกลับมาหาตนหรือไม่

วันนั้น พลังประชารัฐอาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว เป็นภาพที่หลอนนัก

ภาวะที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ต้องพึ่งพาคะแนนพรรคหนึ่งเสียง รัฐมนตรีไม่กล้าลาออกจาก ส.ส. แถมยังไม่กล้าไปทำงานที่กระทรวงในวันประชุมสภา

ประชุมสภาแต่ละครั้งแทบจะต้องหอบหิ้วเอา ส.ส.ที่ป่วยไปร่วมประชุมเพื่อไม่ให้แพ้โหวต

หรือพอจะลงมติสำคัญก็ต้องแจกกล้วยกันเพื่อไม่ให้เสียงแตก หรืออีกหนึ่งภาพที่ต้องประคองกันไป

เป็นการเริ่มรู้ฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายตนสร้างขึ้นแล้ว

ฝ่ายรัฐบาลจึงมีจุดมุ่งที่ต้องการแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง ส.ส. เพื่อใช้ในการเลือกตั้งคราวหน้า เพื่อคงความได้เปรียบในฐานะพรรคใหญ่ ไม่ให้เกิดปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เกมของฝ่ายรัฐบาลจึงออกห่างจากแนวทางในการแก้ไขมาตรา 256 หรือมาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ

แต่มุ่งไปหมวดรัฐสภา โดยเฉพาะประเด็นบัตรเลือกตั้ง การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอาจไปถึง กม.ลูก เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ที่เกี่ยวข้องในแง่วิธีการรับสมัคร ให้เป็นพรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ เหมือนเดิม

และห้ามแตะต้องเด็ดขาดในส่วนเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาและองค์กรอิสระ

การส่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน มาเป็นรองประธานกรรมาธิการ และทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมาธิการที่ดูแลประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเกมที่ถูกวางไว้เพื่อให้ทำหน้าที่ดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จ

เกมของฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้านที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 7 พรรค เป็นฝ่ายที่ทั้งเสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญมากที่สุดจากกรณีแม้จะชนะเลือกตั้งในเขตมากที่สุดแต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว เนื่องจากระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสมนั้นออกแบบมา “เพื่อพวกเรา” ไม่ใช่ “เพื่อไทย”

พรรคอนาคตใหม่ที่แจ้งเกิดอย่างรวดเร็วแบบกลายเป็นพรรคอันดับสามด้วยจำนวน ส.ส.ถึง 80 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 50 คน ก็สืบเนื่องจากผลพวงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น เพราะการออกแบบที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้สร้างพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ขึ้นมาผงาดในการเมืองไทย

เช่นเดียวกับพรรคเสรีรวมไทย ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ฝ่ายค้านอิสระ) ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 คน ก็สืบเนื่องจากการออกแบบของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

การแก้ไขกติกาในส่วนการเลือกตั้ง จึงอาจยังไม่เป็นตกลงแบบเอกฉันท์ในพรรคฝ่ายค้าน และยังประเมินว่าหากแก้ในจุดดังกล่าวยิ่งจะเป็นการแก้ที่เข้าทางพรรครัฐบาลมากกว่าด้วย

ดังนั้น จุดยืนของฝ่ายค้านจึงมุ่งแก้ที่ “หลักเกณฑ์และกระบวนการ” แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความหย่อนตัวมากขึ้นมากกว่าที่จะสนใจในแก้เนื้อหา

มาตรา 256 ที่เป็นกุญแจล็อกที่แน่นหนาของการแก้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นด่านแรกที่ต้องตีให้แตกของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อเอาสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เช่น เรื่องของสัดส่วน ส.ว. 1 ใน 3 ที่ต้องให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 และ 3 เช่น เรื่องการต้องมีการออกเสียงประชามติทุกครั้งหากต้องแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไข หรือแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติ การได้มาและหน้าที่การทำงานขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมออกไป ให้มีการทำประชามติเฉพาะเรื่องที่จำเป็นมากๆ เช่น เรื่องหมวดที่เกี่ยวกับรัฐหรือหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ส่วนเนื้อหารัฐธรรมนูญว่าจะแก้อะไร ขอให้เป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศที่เรียกว่า ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ทฤษฎีเกม

ภายใต้ทฤษฎีเกม (Game Theory) แต่ละคนที่มีจุดหมายในใจที่แตกต่างกันย่อมรู้ว่า การเสนอสิ่งที่ตนเองต้องการสูงสุด สามารถสำเร็จได้แต่เสี่ยงสูง หากแต่ละฝ่ายยืนยันแต่ความต้องการตนเอง (Non-Cooperative Game Theory) ก็จะเหมือนเล่นเกมขับรถเข้าหากัน เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่หลบ

คำตอบคือพังพินาศทั้งคู่

ดังนั้น เกมแห่งความร่วมมือ (Cooperative Game Theory) ต้องเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญได้ถูกออกแบบว่า ต้องร่วมมือจึงแก้ได้

หากรัฐบาลและ ส.ว.ไม่ร่วมยกมือในวาระ 1 และ 3 การแก้ย่อมไม่เกิด

และหากฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลไม่ยกมือให้ในวาระ 3 การแก้ก็ย่อมไม่เกิดเช่นกัน

ภายใต้ทฤษฎีเกมแห่งความร่วมมือ เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากล่ากวาง (งานใหญ่ทำยาก) อีกฝ่ายหนึ่งอยากล่ากระต่าย (งานเล็กทำง่าย) หากยังเถียงกันไม่จบ จะไม่ได้ทั้งกวางและกระต่าย

ต้องคุยกันให้ชัดครับ จะเอากวาง หรือจะเอากระต่าย แล้วร่วมมือกันล่า