จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Dark Side of the Moon ถึง Mission to Mars ส่ง “จีน” ก้าวสู่บัลลังก์ “ผู้นำเทคโนโลยีอวกาศโลก”

ความสำเร็จของอัลบั้มประวัติศาสตร์ The Dark Side of the Moon ของวง Pink Floyd ไม่เพียงทำยอดขาย 50 ล้านแผ่นทั่วโลก เป็นรองเพียงผลงานชุด Thriller ของ Michael Jackson ที่ขายได้ 100 ล้าน Copies

แต่ยังสร้างสถิติ “ปกอัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาล” จากการจัดอันดับของนิตยสาร Rolling Stone โดย The Dark Side of the Moon อยู่อันดับ 2 รองจาก Sgt. Pepper”s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles

ความคลาสสิคของปริซึ่มที่แสงส่องทะลุเป็นสายรุ้งสเปกตรัมระบายสู่พื้นสีดำ นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ศิลปะปกแผ่นเสียงแล้ว

องค์ประกอบของบทเพลงในอัลบั้มก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมากในหลายด้าน

 

ปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ออกแบบโดยกลุ่ม Hipgnosis กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุคทศวรรษ 1960-1970 โดยนอกจาก Pink Floyd แล้ว Hipgnosis ยังสร้างสรรค์ผลงานให้ศิลปินระดับตำนานอีกหลายชุดด้วยกัน

Dark Side of the Moon เป็นวลีเปรียบเปรย “สิ่งที่เราไม่มีวันได้เห็น” ซึ่ง Pink Floyd นำมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม ภายใต้แนวคิด Conflict (ความขัดแย้ง) Greed (ความโลภ) Time (เวลา) และ Mental illness (ความป่วยไข้ทางใจ)

ที่แม้ Concept Album ชุดนี้จะไม่มีชื่อเพลง The Dark Side of the Moon ปรากฏอยู่ ทว่า โดยองค์รวมของเพลงทั้ง 10 ได้ส่องสะท้อนถึงความหมายและนัยระหว่างบรรทัดแห่งเนื้อหาที่ว่าด้วย “ด้านมืดของดวงจันทร์” ได้เป็นอย่างดี

“ด้านมืดของดวงจันทร์” นั้นเป็น “สิ่งที่เราไม่มีวันได้เห็น” เพราะโลกและดวงจันทร์จะหันด้านเดิมเข้าหากันตลอดกาล จากจังหวะการหมุนที่สอดคล้องกัน Dark Side of the Moon หรือ Far Side of the Moon จึงท้าทายการค้นหามาตลอด

 

พูดถึง The Dark Side of the Moon แล้ว ห้วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีกลาย ถ้ายังจำกันได้ มีข่าวใหญ่ในแวดวงอวกาศสากล คือ “จีน” ได้เดินหน้าโครงการ Chinese Lunar Exploration Program ภายใต้รหัส Chang”e 4 หรือ “ฉางเอ๋อ 4”

สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของโลกที่สามารถพิชิตภารกิจลงจอด ณ Far Side of the Moon หรือ “พื้นผิวด้านไกล” ของดวงจันทร์ ซึ่งมนุษยชาติเรียกติดปากกันว่า Dark Side of the Moon กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ซึ่งนอกจากจะยังไม่มีชาวโลกคนใดเคยเห็น Dark Side of the Moon มาก่อนแล้ว ในวงการอวกาศนานาชาติก็ยังไม่เคยมีประเทศใดที่สามารถส่งยานอวกาศหรือนักบินอวกาศขึ้นไปลงจอดหรือสำรวจมาก่อนเลยอีกด้วย

เพราะในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ หลายประเทศ โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” และ “สหภาพโซเวียต” หรือ “รัสเซีย” ต่างก็เคยส่งยานอวกาศขึ้นไป “โลกพระจันทร์” กันมาหลายรอบ แต่ล้วนเป็นด้านที่ดวงจันทร์หันเข้าหาโลก

ที่ใกล้เคียงที่สุดมีเพียงยานอวกาศ Ranger 4 ของ NASA ที่ถูกส่งขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพและศึกษาพื้นผิวด้านหลัง แต่โชคร้ายที่ Ranger 4 เกิดขัดข้อง ทำให้ข้อมูลที่ส่งกลับมาได้มีเพียงภาพถ่าย “ด้านมืดของดวงจันทร์” ที่ไม่ชัด

 

“จีน” ได้ประกาศความสำเร็จ จากการนำยานอวกาศ “ฉางเอ๋อ 4” ลงจอดบน South Pole-Aitken Basin หรือ “แอตเคนใต้” ซึ่งถือเป็นแอ่งใหญ่ที่ลึกและเก่าแก่ที่สุดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ร่วมกับปฏิบัติการดาวเทียม Queqiao

โดยดาวเทียม Queqiao จะโคจรเหนือบริเวณด้านหลังของดวงจันทร์ หรือ L2 (Lagrange Point 2) เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานรับ-ส่งข้อมูลระหว่างยานภาคพื้นดิน Chang”e 4 ณ จุด Far Side of the Moon กับห้องควบคุมภาคพื้นโลก

การเขียนประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติของ “จีน” ครั้งนี้ จึงนับเป็นการ “ปักธงชัย” ของ “จีน” ในภารกิจสำรวจห้วงอวกาศ ตอกย้ำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ดวงจันทร์”

ดังที่กล่าวไป ว่าดวงจันทร์นั้นใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเท่ากับเวลาที่ใช้ในการโคจรรอบโลก ทำให้ทั้งโลกและดวงจันทร์หันหน้าเข้าหากันเสมอ “ฉางเอ๋อ 4” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกได้เห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกลนั่นเองครับ

ภารกิจของ “ฉางเอ๋อ 4” คือสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อตรวจหาแร่ธาตุต่างๆ บนดวงจันทร์ และจัดทำแผนภูมิประเทศ รวมถึงการทดลองทางชีวภาพ และศึกษาการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต

จึงมีการนำเมล็ดมันฝรั่งและพืชในตระกูลผักกาด รวมถึงดักแด้ตัวไหม ไปทำการทดลองในชุดอุปกรณ์ควบคุมพลังงานแสงอาทิตย์บนดวงจันทร์ ซึ่งจะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาไปถึงเอกภพยุคแรกเริ่มอีกด้วย

จังหวะนี้จึงถือเป็นการ “ครบรอบ 1 ปี” ที่ “ฉางเอ๋อ 4” ลงจอด ณ จุด Far Side of the Moon โดยมีเจ้า “กระต่ายหยก” หรือ The Yutu 2 “รถสำรวจดวงดาว” ทำหน้าที่ตระเวนเก็บภาพและหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย

โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวน 20 Gigabytes ซึ่งบรรจุไฟล์รูปมากถึง 18,000 ภาพ ที่รวบรวมมาได้จากเจ้า “กระต่ายหยก” และ “ฉางเอ๋อ 4” นำโพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์ Chinese Academy of Sciences

การประสานงานร่วมกันระหว่างดาวเทียม Queqiao ยานภาคพื้นดิน “ฉางเอ๋อ 4” และเจ้า “กระต่ายหยก” หรือ The Yutu 2 “รถสำรวจดวงดาว” ได้ใช้สัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความถี่ต่ำในการสื่อสารและบันทึกข้อมูลต่างๆ ของภารกิจนี้

ก็เป็นอันว่า ในวาระ “ครบรอบ 1 ปี” ปฏิบัติการ “ฉางเอ๋อ 4” ได้ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ โดยภารกิจต่อไปของโครงการ Chinese Lunar Exploration Program จะเปลี่ยนรหัสเป็น Chang”e 5 หรือ “ฉางเอ๋อ 5” ในปี ค.ศ.2020 นี้

 

“จีน” ได้ประกาศแผน “ภารกิจหุ่นยนต์” สำหรับ “ฉางเอ๋อ 5” ผ่านความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง “จีน” “เยอรมนี” “สวีเดน” และ “ฝรั่งเศส” ที่ประสานความช่วยเหลือด้านเครื่องมือในปฏิบัติการของ “ฉางเอ๋อ 5”

และตามด้วยปฏิบัติการ Chang”e 6 หรือ “ฉางเอ๋อ 6” ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่ง “จีน” ประกาศว่า จะเป็น “ภารกิจ A.I.” ในการศึกษาเอกภพ และวัฏจักรทั้งหมดของ “ดวงจันทร์” โดยจะใช้ “A.I. ดำเนินการทั้งหมด” 100%

หลังประกาศความสำเร็จของ Chinese Lunar Exploration Program หรือการจบภารกิจโครงการสำรวจดวงจันทร์ “จีน” ก็เดินหน้าภารกิจสำรวจ “ดาวอังคาร” ต่อ!

โดยจะยิงจรวดขนส่งรุ่น Changzheng 5B, Changzheng 7, Changzheng 8 และดาวเทียมเชิงพาณิชย์อีกหลายดวง อาทิ Asia-Pacific 6D

ตามมาด้วย การวางเป้าหมายก้าวขึ้นสู่สถานะผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศโลกภายในปี ค.ศ.2045 ครอบคลุมทุกภารกิจของ NASA

Chinese Lunar Exploration Program หาใช่เพียงการแสดงศักยภาพด้านวิทยาการอวกาศของ “จีน” เท่านั้น ทว่ายังเป็นการโชว์แสนยานุภาพด้าน “ดารารัฐศาสตร์” เผยให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนของสถานะชาติมหาอำนาจใหม่

แต่สำหรับ “กะลาแลนด์” บางประเทศ ไม่ต้องเอ่ยถึง “ยานอวกาศ” เอาแค่ “รถยนต์ประจำชาติ” ยังไม่มีปัญญาจะสร้าง “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” หรือก็ไร้ความจริงใจจะเดินหน้า และ “พลังงานแสงอาทิตย์” ก็ไกลเกินเอื้อมสำหรับประชาชนตาดำๆ