เชตวัน เตือประโคน : ‘ปัญหาที่ดิน’ วาระแห่งชาติ ‘อนาคตใหม่’ ‘ธนาธร-ทิม พิธา’ ชูวิสัยทัศน์ป้อง ‘สิทธิชุมชน’

ก่อนฉีกปฏิทินเปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ไม่กี่วัน

ท่ามกลางอากาศร้อนและแดดเปรี้ยงอย่างประหลาดของเดือนธันวาคม ประชาชนชาวอีสานผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินกว่า 3,000 ชีวิต เดินทางมารวมตัวกันที่วัดป่าสระแก้ว ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เพื่อสะท้อนปัญหาที่ตนเองประสบให้กับกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ทิม พิธา” หรือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธาน กมธ., อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธาน กมธ. พร้อม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานร่วมกิจกรรมคับคั่ง

กับเวทีที่ให้ชื่อว่า “ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

คนทุกข์คนยากที่มาร่วมส่งเสียง อาทิ ผู้ได้รับผลกระทบถูกขับไล่จากนโยบายทวงคืนผืนป่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในพื้นที่ภาคอีสาน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมาร่วมกิจกรรม พร้อมกับเสียงปรบมือ เสียงโห่ร้องต้อนรับ ผ้าขาวม้าพันรอบเอว และเซลฟี่

อีกไม่กี่วันต่อมา ภาพตัดไปที่ อ.พบพระ จ.ตาก

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เดินเคียงข้างกับณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมงานกิจกรรมปีใหม่ม้ง พร้อมทั้งรับฟังปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน

และต่อมาก็อย่างที่รับรู้จากการเป็นข่าวใหญ่โต กิจกรรมนี้ถูกผู้ใช้นามว่า “นายพลทัพฟ้า” เขียนวิพากษ์วิจารณ์ โยงไปกระทบเรื่องความมั่นคง มีน้ำเสียงดูถูกกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง รวมถึงชาติพันธุ์อื่นๆ จนถูกออกมาตอบโต้ชุดใหญ่

แต่อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญที่ “พรรคอนาคตใหม่” พยายามจะนำเสนอยังคงอยู่ครบ

นั่นคือปี 2563 พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันปัญหาเรื่องที่ดินเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้ประชาชนคนทุกข์ยากต้องได้สิทธิครอบครองทำกิน ไม่ใช่จัดสรรให้นายทุนหรือผู้มีอิทธิพล

 

ยุติ “รัฐราชการรวมศูนย์”
ให้อำนาจ “ท้องถิ่น” จัดการ

ตามเจตนารมณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ปี 2563 ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนจะถูกผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ”

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่จู่ๆ ก็ปิ๊งวาบแล้วประกาศทำเท่ เพราะหากย้อนกลับไปดูนโยบายพรรค เช็กกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค คณะทำงานในหลายๆ จังหวัด จะพบว่า เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ต่อสู้กับปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างยาวนาน ไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ทุกคนเห็นปัญหาตรงกันว่า การจัดการปัญหาที่ดินของรัฐผิดพลาดมานาน และก็มาหนักขึ้น ทำผู้คนมากมายเดือดร้อนโดยเฉพาะคนยากคนจนก็จาก “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ของ คสช.ที่ใช้มาตรการรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการขับไล่ รื้อถอน ตัดโค่นพืชผลการเกษตรของประชาชน รวมถึงดำเนินคดีความ

ยิ่งในยุครัฐบาลที่ชัดเจนว่า “สืบทอดอำนาจ คสช.” การจัดการแบบเดียวกันก็ยังคงสืบเนื่อง

ธนาธรประกาศชัดที่เวที จ.ยโสธร ครั้งนั้นว่า ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่พ่อ-แม่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่ จะไม่สามารถแก้ไขได้เลยถ้าเรายังอยู่ในรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

“เพราะฐานค้ำยันของเขาคือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแจกกล้วย มาจากซื้องูเห่า เขาต้องเอาใจสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่เห็นหัวประชาชน

“ทางแก้ปัญหาคือ ระยะสั้นต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนระยะกลางและระยะยาว จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้ประชาชน ได้มีสิทธิออกแบบ กำหนดอนาคตตัวเอง ให้ท้องถิ่นจัดการ” ธนาธรกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน

ดังที่เห็น “บ้านนโยบาย” 12 นโยบาย ที่พรรคได้ประกาศเมื่อครั้งหาเสียงนั้น ร้อยรัด เชื่อมโยงกัน ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ปัญหาที่หมักหมมในประเทศนี้มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น 3 เรื่องสำคัญเบื้องต้นที่ธนาธรเสนอว่าต้องทำให้ได้ นั่นคือ

1. พาประเทศไทยกลับเป็นประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากประชาชน

2. ปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำงานรับใช้ประชาชน

และ 3. ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้กับท้องถิ่นจัดการตนเอง

ย้ำว่า จะเกิด 3 ข้อนี้ได้ อย่างแรกสุดที่ต้องทำ คือ ไล่รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

 

วิสัยทัศน์ “ทิม พิธา”
แก้ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน

บอง ศรีบุตรตา อายุ 73 ปี เกษตรกรชาวบ้านน้ำพุ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เข้ามาสวมกอดและร่ำไห้กับ “ทิม พิธา” พร้อมเล่าให้ฟังว่า มีที่ดิน 20 ไร่ ทำกินมายาวนาน ลงทุนปลูกยางพารา กระทั่งต้นยางอายุ 7-8 ปี เริ่มกรีดน้ำยางได้ แต่จู่ๆ เพราะนโยบายทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาตัดทิ้งเหี้ยน ชีวิตแทบล้มทั้งยืน ปัจจุบันไม่มีที่ดินทำกินเหลืออยู่ ต้องประกอบอาชีพรับจ้าง

นี่เพียงตัวอย่างเดียวของผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลยุค คสช. และแน่นอนว่าส่งต่อสืบทอดมาสู่รัฐบาลชุดปัจจุบัน

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พิธาร่วมเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรทับซ้อนในเขตที่ดินของรัฐ และการแก้ปัญหาที่ดินทั่วประเทศ

ในการอภิปราย เขาได้ฉายให้เห็นการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ของไทย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และเสนอแนวทางสำหรับอนาคต

เริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ดินในประเทศ 320 ล้านไร่ จำแนกได้เป็นของรัฐ 57 เปอร์เซ็นต์ เอกชน 43 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีโฉนดเพียงไม่กี่เจ้า และถ้านำภาคเอกชนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ มาเปรียบเทียบกับคนยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ อัตราการครองกรรมสิทธิ์ต่างกัน 853 เท่า

คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองที่ดินรวมกัน 95 ล้านไร่ คนจนที่สุดในประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่รวมกัน 68,000 ไร่

นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ

พิธาไม่ลืมชี้ให้เห็นว่า ปัญหาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ทำให้ประชาชนมีคดีความกับรัฐกว่า 80,000 คดี ล้วนเป็นเรื่องที่ประชาชนต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งในขณะที่ประชาชนถูกทวงคืนผืนป่า แต่เอกชนหรือนายทุนกลับได้รับการอำนวยความสะดวก

ไม่ว่าจะเป็นประทานบัตรเหมือง, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, เขตเศรษฐกิจชายแดน, เขต EEC ฯลฯ

ประธาน กมธ.ที่ดิน แสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นว่า ในอนาคต ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิมนุษยชนต้องเป็นของคู่กัน หมดยุคแล้วกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของคำว่า “อนุรักษ์”

แนวคิดจะต้องเปลี่ยนจากคำว่า “ป่าปลอดคน (จน)” เป็น “ปลูกคนเพื่อให้ปลูกป่า”

และขณะรัฐไทยกำลังทวงคืนผืนป่าจากประชาชน แต่ไม่เคยมองดูว่าที่ดินของรัฐนั้นมีมากมายขนาดไหน ที่ดินของนายทุน หรือที่ดินทหารมีมากเท่าใด

พิธาให้ข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 31 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการถือครองป่าของรัฐไทยเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว การถือครองที่ดินในเขตป่าอยู่ในมือของบุคคลทั่วไปและเอกชน เช่น สวีเดน มากกว่า 97% หรืออเมริกา มากกว่า 97%

“เราต้องเพิ่มความเป็นเอกชนและความเป็นชุมชนขึ้นมา ถ้ารัฐบาลไทยตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินมากมาย ที่ดินเหล่านี้ดึงกลับคืนมากว่า 27 ล้านไร่ ซึ่งครบตามที่รัฐบาลต้องการ แล้วเปลี่ยนเป็นป่าสหกรณ์หรือป่าชุมชนให้หมด ซึ่งจะเป็นการปลูกคนเพื่อให้คนไปปลูกป่า” พิธากล่าว

ทรัพยากรธรรมชาติกับสิทธิมนุษยชนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติตั้ง กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว

กมธ.สัดส่วนพรรคอนาคตใหม่ล้วนแต่ผู้มากประสบการณ์ ทำงานเรื่องที่ดิน กฎหมาย วิชาการ และคลุกคลีอยู่กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ได้แก่ พิธา ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติ, มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง, สมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทนายความจากภาคใต้, ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรคภาคอีสาน ทำงานกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ, อลงกรณ์ อรรคแสง นักวิชาการ

รวมถึง ประยงค์ ดอกลำไย เอ็นจีโอผู้มีประสบการณ์การต่อสู้เรื่องที่ดิน เรื่องสิทธิทำกินมาอย่างยาวนาน

นี่คือจังหวะก้าวของอนาคตใหม่ หลังจากที่พวกเขาประกาศจะผลักดันให้ปี 2563 เป็น “วาระที่ดินแห่งชาติ”