จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (จบ) : เมื่อพล.อ.เปรมประกาศ “ผมพอแล้ว”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี ทำให้ ส.ส.กลุ่มหนึ่งแยกตัวออกมาตั้งเป็นกลุ่ม 10 มกรา

ส่งผลให้การพิจารณากฎหมายของรัฐบาลมีปัญหา โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หัวหน้ากลุ่ม 10 มกรา ยืนยันว่ากลุ่มคัดค้านร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พรรคจะมาใช้มติบีบบังคับไม่ได้

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ถึงจะผ่านสภาด้วยเสียงสนับสนุน 183 ต่อ 134 เสียง แต่ในจำนวนเสียงที่คัดค้านนั้นเป็นคนของกลุ่ม 10 มกรา ถึง 32 คน

เพื่อเป็นการไถ่บาปตัวเอง พรรคประชาธิปัตย์จึงมีมติให้รัฐมนตรีของพรรคทั้ง 16 คนลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ พล.อ.เปรมได้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี

ทว่าแทนที่จะทำตามความประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.เปรมได้ตัดสินใจหนีมรสุมทางการเมืองด้วยการยุบสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 และให้เลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

ใครจะคิดบ้างว่าการยุบสภาครั้งนั้นจะเป็นการปิดฉากอย่างถาวรการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรมในเวลาต่อมา

 

ผลเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ปรากฏว่าพรรคร่วมรัฐบาลสมัยเปรม 5 ได้รับเลือกตั้งเข้ามามาก เช่น พรรคชาติไทย 87 เสียง กิจสังคม 54 ประชาธิปัตย์ 48 พรรคราษฎร 21 เสียง

ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งสถานการณ์การเมืองสับสนวุ่นวายมากทีเดียว เกิดกระแส “ไม่เอาเปรม” ค่อนข้างสูง เพราะ 8 ปีเต็มบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้น ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการพวกหัวปฏิรูปเห็นว่าน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ พล.อ.เปรมซึ่งไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองและกองทัพอยู่ในวังวนของอำนาจยาวนานกว่านักการเมืองเสียอีก

ต่อไปนี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยที่อำนาจนอกระบบไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ถึงแม้การเมืองจะมีปัญหาแต่ทหารก็ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ซึ่งมันก็หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์อีก

แต่ถึงกระนั้น พล.อ.เปรมยังคงรักษาอาการได้อย่างสงบ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงอนาคตทางการเมืองของท่านหลังเลือกตั้ง ไม่มีใครรู้เลยว่าท่านคิดอย่างไร มีแผนอะไร เอาหรือไม่เอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือว่าจะยุติบทบาทไปตอนนั้นเลย

 

หลังเลือกตั้ง 3 วัน เพื่อความกระจ่างชัด ในค่ำคืนของวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 แกนนำทั้ง 5 พรรคซึ่งมีพรรคสหประชาธิปไตยสมทบด้วยได้เข้าไปในบ้านสี่เสาฯ โดยมี พล.อ.ชวลิตซึ่งตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้ร่วมหารือด้วย

ทั้งนี้ บรรดาแกนนำพรรคการเมืองเหล่านี้ต้องการทราบท่าที พล.อ.เปรมว่ายังต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ อย่างที่กล่าวไปแล้ว สถานการณ์การเมืองในเวลานั้นกดดัน พล.อ.เปรมมาก กลุ่มพลังนอกสภาไม่ต้องการให้ท่านเป็นอีก

พรรคที่เคยสนับสนุนก็ไม่แน่ใจว่า พล.อ.เปรมจะยังต้องการเป็นอีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมืองและความกดดันทำให้หลายๆ อย่างเกิดความสับสนไปหมด

ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน นักวิชาการและปัญญาชน 99 คน เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ.เปรมลงสมัครรับเลือกตั้งถ้าต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก โดยชูประเด็นปลุกกระแสนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

หลังเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มเดียวกันนี้เคลื่อนไหวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 คัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้กำลังทหารของชาติมาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล

นายกร ทัพพะรังสี ได้เล่าถึงบรรยากาศค่ำคืนวันที่เข้าไปพบ พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาฯ ว่า เขานั่งติดกับ พล.อ.ชวลิตซึ่งคืนนั้นใส่เสื้อแจ๊กเก็ตหนังมันสีดำเหมือนเสื้อรถแข่ง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นั่งอยู่ข้างนอกบ้าน

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคใหญ่ ได้กล่าวเชิญให้ พล.อ.เปรมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะขณะนั้นถ้าเป็นคนนอกที่ไม่ใช่นักการเมืองก็ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับท่านอีกแล้ว

บรรยากาศบนโต๊ะกลมเงียบ ทุกคนตั้งใจรอฟังคำตอบจาก พล.อ.เปรมว่าท่านจะว่าอย่างไร

“ผมเห็นว่าเป็นมาพอสมควรแล้ว” เป็นคำพูดประโยคแรกที่ออกมาจากปากของ พล.อ.เปรม

แล้วท่านได้พูดต่ออีกว่า อยากให้ประเทศไทยได้ประชาธิปไตยเต็มใบ อยากเห็น ส.ส.ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พวกเราร่วมงานกันมาด้วยดีจึงอยากให้ดำเนินงานกันต่อไป ให้พวกเราช่วยกันสนับสนุนพรรคของ “ผู้การ” ก็แล้วกัน

ผู้การที่ พล.อ.เปรมเอ่ยถึงก็คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งได้ ส.ส. 87 เสียง

 

“พอป๋าพูดเสร็จ พี่จิ๋วลุกขึ้นยืนบอกว่า ทุกคนเอาที่ป๋าพูดนะครับ ผมยังจำได้ขึ้นใจ แล้วผมก็มีคำถามอยู่ในใจว่า ไอ้ห่…แล้วใครจะค้านล่ะ” นายกรกล่าว

ขณะที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทยเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า หลังยุบสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 วันหนึ่งได้พบกับนายทหารซึ่งใกล้ชิดกับป๋าจึงถามทหารคนนั้นว่าพวกเราทหารทั้งหมดที่มีอยู่ยังให้ความรักใคร่นับถือป๋าอยู่หรือเปล่า ป๋าเอาไหม เขาบอกว่าเอา

นายบรรหารบอกว่า โดยส่วนตัวยังต้องการให้ป๋าเป็นนายกฯ ต่อไป เมื่อรู้ว่า พล.อ.เปรมเอาก็เลยเดินหน้าหาเสียงเลือกตั้ง พรรคชาติไทยได้เข้ามามากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดประมาณ 87 เสียง

ถึงกระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่า พล.อ.เปรมจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกหรือไม่ แม้ทหารใกล้ชิด พล.อ.เปรมบอกว่าท่านจะเป็นต่อ แต่ก็ไม่มีการยืนยันจากปากของท่าน ด้วยเหตุนี้จึงหารือกันในหลายพรรคการเมือง

แล้วก็ตกลงกันไปพบ พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาฯ มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คุณพิชัย รัตตกุล พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา คุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณบรรหารและแกนนำอีก 2-3 พรรค

“นั่งประชุมกันเป็นวงกลม ผมจำได้ ป๋านั่งกลางและมี พล.อ.ชวลิตอยู่ด้วย ป๋าบอกกับหัวหน้าพรรคทุกคนว่าท่านไม่รับตำแหน่ง ให้พวกเราไปตกลงกันเอง”

ความจริง เมื่อ พล.อ.เปรมไม่รับตำแหน่ง ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีรับไม้ต่อจาก พล.อ.เปรม คือ พล.อ.ชาติชาย เพราะพรรคชาติไทยได้เสียงข้างมาก แต่คุณบรรหารอยากรู้ว่า พล.อ.เปรมคิดอย่างไร

จึงพูดขึ้นว่า แม้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากต้องได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ต้องยอมรับพรรคอื่นด้วย จึงขอให้ พล.อ.เปรมแนะเป็นแนวทางได้ไหม เพราะ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ก็เป็นเพื่อนท่าน

“ป๋าเลยบอกว่า งั้นเอาชาติชายก็แล้วกัน แล้วสิทธิว่าไง ทุกคนก็เงียบ ก็คงจะยอมรับ ซึ่งตอนนั้นบิ๊กจิ๋วนั่งอยู่ในห้องด้วยก็ยอมรับ”

ด้วยคำพูด “ผมพอแล้ว” ของ พล.อ.เปรมส่งผลให้ท่านไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหลังจากเป็นมา 8 ปีกับอีก 5 เดือน ขณะเดียวกัน การถ่ายโอนอำนาจจาก พล.อ.เปรมมาเป็น พล.อ.ชาติชายก็ถือว่าเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

คือพรรคใหญ่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและได้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งตามกระแสปฏิรูปในขณะนั้น

แต่การเมืองไทยไม่เคยหนีพ้นวงจรอุบาทว์