ธีรพล บัวกระโทก / ฝรั่งเศส : วายร้ายตัวเบิ้ม ใน “มหานิยาย” ของอนุรักษนิยมไทย

“พวกเราจะแสดงพลังของเรา ให้พวกมันรู้ว่าพวกเราพร้อมที่จะรักษาให้ประเทศชาติของเรามีแต่ความสงบร่มเย็นใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร พวกคุณทำมาหากิน อยู่กันได้ทุกตระกูล จนเป็นอภิมหาเศรษฐี ได้เรียนต่างประเทศ เรียนตำราฝรั่งเศส แต่กลับมาจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยใช้หลักการของฝรั่งเศส จะมาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ประเทศไทยไม่ใช่สังคมนิยมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น อย่าเอาหลักการของฝรั่งเศสมาบิดเบือน มาล้างสมองเด็ก ไม่อย่างนั้นจะเจอกับประชาชนคนไทยอย่างพวกเราเป็นล้านๆ”

ข้อความข้างต้นคือคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของคุณ “อุ๊” หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้องชื่อดังระหว่างการเป็นแกนนำกิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” ที่จัดขึ้น ณ สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากที่ต่างส่งเสียงแสดงความเห็นด้วยต่อคำพูดของคุณอุ๊

บางรายถึงขั้นตะโกนแทรกขึ้นมาว่า “ฝรั่งเศสมันทำให้ประเทศไทยต้องเสียเมือง”

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเกลียดชัง “ฝรั่งเศส” ที่ปรากฏอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น ในฐานะเครื่องมือในการ “ล้างสมองเด็ก” และภัยต่อ “ความสงบร่มเย็น” ของสังคมไทย

จึงอยากชักชวนผู้อ่านให้ร่วมพินิจรากเหง้าของความเกลียดชังฝรั่งเศสนี้ว่ามาจากไหน และกลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของไทยได้อย่างไร

 

“ฝรั่งเศส” ในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก

หากจะเริ่มต้นทำความเข้าใจความเกลียดชังฝรั่งเศสของคนไทยบางกลุ่ม อาจจะต้องย้อนไปดูบทบาทของฝรั่งเศสในฐานะตัวแสดงใน “ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก”

พึงทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักหมายถึง ประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเรื่องราวอดีตที่ถูกเขียนขึ้นจากมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจไม่เที่ยงตรงครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตทั้งหมดจากข้อจำกัดต่างๆ

ดังนั้น ในที่นี้จึงจะเลือกพิจารณาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่รัฐไทยใช้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตแก่ประชาชนทั่วไป

ชาวฝรั่งเศสเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่เข้ามาปะทะสังสรรค์กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน แต่การปรากฏตัวของ “ฝรั่งเศส” ที่ถูกขับเน้นโดยประวัติศาสตร์ของรัฐไทยครั้งแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

บทบาทของฝรั่งเศสในครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอยุธยาในการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจตะวันตก มีการส่งราชทูตไปถึงกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ส่งผลให้สยามกลายเป็นที่รู้จักในเวทีโลก

แต่ในอีกด้านหนึ่งฝรั่งเศสก็ถูกพูดถึงในฐานะ “วายร้าย” ที่วางแผนจะยึดสยามเป็นเมืองขึ้นด้วยการสมคบขุนนางต่างชาติในราชสำนักอยุธยา แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังอนุรักษนิยมของสมเด็จพระเพทราชาที่สามารถขับไล่ฝรั่งเศสและรักษาเอกราชของอยุธยาไว้ได้

หลังจากนั้นมาฝรั่งเศสได้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักชั่วคราว เนื่องจากกำลังสาละวนอยู่กับเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 การกอบกู้เอกราชและการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่

ก่อนที่ฝรั่งเศสจะปรากฏตัวในฐานะ “วายร้าย” อีกครั้งในเหตุการณ์เสียดินแดน ร.ศ.112

ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักอธิบายว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย จากการที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาและยังหันปลายกระบอกปืนใหญ่มาทางพระบรมมหาราชวัง เพื่อข่มขู่บังคับให้สยามจำยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ตกเป็นดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส

โดยประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักมักพรรณนาถึงความโศกเศร้าของคนไทยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการเน้นย้ำความทุกข์โทมนัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ออกมานำเสนอบ่อยครั้ง

 

“ตำราฝรั่งเศส” กับการเมืองไทย

หลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 ผ่านพ้นไป บทบาทของ “ฝรั่งเศส” ในฐานะตัวแสดงได้ลดลงไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก แต่ “ฝรั่งเศส” ในฐานะบ่อนทำลายสังคมไทยอันดีงามได้ปรากฏในรูปแบบใหม่ในฐานะแนวความคิดที่แฝงเร้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยใน พ.ศ.2475

เนื่องจาก “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นผู้ก่อการอภิวัฒน์สยามนั้นได้จัดตั้งขึ้น ณ กรุงปารีสใน พ.ศ.2469 โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ เพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย จนสำเร็จใน พ.ศ.2475

แต่ความวุ่นวายทางการเมืองไทยหลังจากเหตุการณ์นั้น ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักมักอธิบายว่าเป็นผลพวงโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบชิงสุกก่อนห่าม เป็นเรื่องของ “นักเรียนนอก” ไม่กี่คนที่ไปร่ำเรียน “ตำราฝรั่งเศส” แล้วนำมาเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมต่อสังคมและความพร้อมของคนไทยในเวลานั้น

และยังส่งผลร้ายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศชาติได้รับเสียหายจากการโกงกินและแย่งชิงอำนาจของ “นักการเมืองชั่ว” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของคนไทย ที่คนบางกลุ่มมองว่าถูกซื้อเสียงและถูกหลอกจากความด้อยการศึกษาและไร้คุณภาพ

 

ฝรั่งเศสใน “มหานิยาย” ของอนุรักษนิยมไทย

จากบทบาทวายร้ายของ “ฝรั่งเศส” ที่ถูกประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักขับเน้นมาเช่นนี้ ความเกลียดชังฝรั่งเศสที่ปรากฏในกิจกรรมเดินเชียร์ลุงจึงกล่าวได้ว่า เป็นผลมาจากเรื่องเล่าหลักหรือ “มหานิยาย” (Metanarrative) ในความคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมไทย

“มหานิยาย” ในที่นี้หมายถึง การรับรู้ ประสบการณ์ หรือการให้ความหมายทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกนำมาใช้อธิบายและสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำภายใต้อุดมคติบางประการ

ซึ่งมหานิยายจำนวนมากถูกสร้างขึ้นภายใต้ภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ในสังคมต่างๆ ที่ต้องการสร้างคำอธิบายต่อความเป็นไปของสังคม

โดยเชื่อว่ามีมหานิยายที่เป็นเหตุเป็นผลและถูกต้องชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียว

ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงกลายเป็นวายร้ายของสังคมไทย ตามมหานิยายอนุรักษนิยมที่มองว่าสังคมไทยซึ่งมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ดำเนินไปด้วยศีลธรรมอันดีงามภายใต้สถาบันหลักของชาติ แต่มักถูกคุกคามจากคนต่างด้าว ท้าวต่างแดน

ในแง่นี้ฝรั่งเศสจึงกลายเป็นอริราชศัตรูของไทยไม่ต่างไปจากพม่าที่เข้ามาเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาในอดีต

แม้จะมีความพยายามอธิบายว่า เหตุการณ์การปะทะกันครั้งสำคัญระหว่างสยามและฝรั่งเศสใน ร.ศ.112 นั้น เป็นเพียงความพ่ายแพ้ของราชสำนักสยามในการแข่งขันล่าอาณานิคมกับฝรั่งเศส เหนือดินแดนของชนชาติที่ไม่ใช่ทั้งไทยและฝรั่งเศส

แต่ความเป็นวายร้ายของฝรั่งเศสถูกกล่าวถึงและผลิตซ้ำหลายต่อหลายครั้งผ่านสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน

กรุณานึกถึงภาพ “หมาป่าฝรั่งเศสและลูกแกะสยาม” โดยนิตยสาร Punch ของอังกฤษ ที่ถูกนำเสนอครั้งแล้วครั้งเล่าในการบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ ร.ศ.112 หรือคลิปวิดีโอ “การเสียดินแดน 14 ครั้ง” ที่กลาดเกลื่อนเต็มยูทูบ

ภาพเหล่านี้นำเสนอถึงความเจ็บปวดของอนุรักษนิยมไทยต่อการคุกคามฝรั่งเศส ที่ทำให้ไทยต้องยอมสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ สร้างความทุกข์ระทมอย่างใหญ่หลวงให้กับอนุชนคนรุ่นหลัง ที่มองว่าต้องสูญเสียแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ควรเป็นส่วนหนึ่งของไทย

ยิ่งไปกว่านั้น การแทรกซึมของหลักการฝรั่งเศสในกลุ่มบุคคลที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยยิ่งเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ เนื่องจากแนวคิดเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติจากประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเองที่เคยมีการปฏิวัติโค่นล้มสังคมเก่ามาแล้ว โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 การเมืองฝรั่งเศสยังมีการลองถูกลองผิดอีกหลายต่อหลายครั้ง มีทั้งช่วงฟื้นฟูราชวงศ์และช่วงสาธารณรัฐ กว่าจะมาลงตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ดังนั้น ความล้มเหลวของคณะราษฎรจึงสอดรับกับมหานิยายของอนุรักษนิยมไทยที่มองว่า ท้ายที่สุดแนวความคิดของนักเรียนนอกที่ “เรียนตำราฝรั่งเศส” ซึ่งไม่เหมาะสมและเป็นอันตราย ก็ต้องพ่ายแพ้ด้วยพลังแห่งความดีงามของคนไทยผู้รักชาติ

ด้วยเรื่องเล่าเช่นนี้ การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ที่มีเลขาธิการพรรคสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส จึงกลายเป็นที่หวาดระแวงของกลุ่มอนุรักษนิยมไทยตามมหานิยายที่ฝังอยู่ในความคิดของคนกลุ่มนี้

จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการชี้ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวกำลังจะล้มล้างความสงบร่มเย็นของสังคมไทย

จึงถือเป็นความชอบธรรมและหน้าที่ที่จะต้องออกมาต่อต้านพรรคการเมืองดังกล่าว โดยไม่สนใจที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือมองสภาพแห่งความเป็นจริงของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการบริหารงานที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกตนเอง

แต่อนุรักษนิยมไทยยังคงมุ่งรักษาสังคมให้เดินไปตามมหานิยายแห่งความสงบร่มเย็นต่อไป

ด้วยการทำลายและแปะป้ายวายร้ายชังชาติให้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองเพียงเท่านั้นเอง