บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : กำแพงเบอร์ลิน… จาก 2 ฝั่งมหาอำนาจ สู่นครท่องเที่ยวเยอรมนี

เพิ่งผ่าน 30 ปีการล่มสลายกำแพงเบอร์ลิน กลางเมืองหลวงที่มีขนาดใหญ่สุดของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และมีประชากรมากสุดในสหภาพยุโรปคือ 82 ล้านคน

กำแพงเบอร์ลิน…ที่ดูฉูดฉาดด้วยสีสันจากน้ำมือมนุษย์ช่วยกันระบายมันออกมา หลังถูกพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่นงาน จนจอมเผด็จการนาซี “ไฮ ฮิตเลอร์!” หรืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เตรียมฉลองชัยชนะ กลับปราชัยแก่พันธมิตรอเมริกา ที่มีอังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียตร่วมรบ เมื่อปี ค.ศ.1945

นาซีเยอรมนีจึงไม่ต่างญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงคราม ที่อเมริกาจำเป็นต้องส่งทหารเข้าไปตั้งฐานควบคุม มิให้ฝ่ายอักษะอหังการอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ตเหมือนโอกินาว่า

เมื่อสงครามมีคำตอบสุดท้าย อเมริกาก็เริ่มจัดแจงแบ่งพื้นที่ให้พันธมิตร 3 ประเทศ มีอำนาจเหนือแผ่นดินเยอรมนีฝั่งตะวันตก ภายใต้รูปแบบเสรีประชาธิปไตยสัญลักษณ์ทุนนิยม

ส่วนฝั่งตะวันออกให้ตกอยู่ในกำมือสหภาพโซเวียต เจ้าของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่สุดแสนรุ่งเรืองในยุคนั้น

ผลที่ตามมา…คือแผ่นดินเยอรมนีแปลงเดียวกันกลับถูกผ่าซีกเป็น 2 ส่วน ให้ฝั่งตะวันตกมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต

ขณะฝั่งตะวันออกถูกฝังตัวไว้หลังม่านเหล็กตามระบอบคอมมูน คืออยู่กันอย่างอดอยาก เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ มนุษย์ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างเศร้าหมอง หายใจรดอากาศไปวันๆ จึงมีแต่คนคิดหนีข้ามฝั่งไปตายเอาดาบหน้ายังฝั่งตะวันตก ดินแดนแห่งหน้าต่างโลกเสรี

เป็นชนวนสู่ภาวะสงครามเย็นกับแผ่นดินนี้อย่างช่วยไม่ได้!

 

สหภาพโซเวียตที่กำลังมีอิทธิพลเหนือยุโรปตะวันออก รู้กระทั่งปมปัญหาที่ชาวเบอร์ลินตะวันออกพากันทิ้งถิ่นไปหาโลกใหม่ฝั่งตรงข้าม จึงตัดสินใจสร้างแนวรั้วลวดหนามชั่วคราวขึ้นป้องกันการหลบหนี เมื่อปี ค.ศ.1961

แล้วใครจะไปเชื่อเล่าว่า…แค่ข้ามคืนเดียวจะเกิดมีกำแพงแบ่งแยกเสรีภาพมนุษย์กางกั้นเบอร์ลินตะวันตกกับตะวันออก ทำเอาพี่น้องครอบครัวเดียวกันแค่ลุกขึ้นมาล้างหน้าสีฟัน ถึงได้รู้ความจริงว่าต้องพลัดพรากจากกันในที่สุด เพราะถูกกำแพงเจ้ากรรมคั่นกลางนับแต่คืนนั้น!

แต่กำแพงดังกล่าว…ถึงจะเป็นปราการแน่นหนาราวคุกคุมขังมนุษย์ก็ไม่อาจต้านการหนีภัยของคนฝั่งตะวันออกได้ไม่เว้นในแต่ละวัน

จนเผด็จการคอมมิวนิสต์ต้องนำแท่งคอนกรีตมั่นคงแข็งแรงมาเสริมแทน และสำเร็จเป็นผนังกว้าง 1.2 ม. สูง 3.6 ม. ยาว 155 ก.ม. เป็นที่สองรองจากกำแพงเมืองจีน โดยมีหอสังเกตการณ์มากถึง 302 แห่งตลอดแนวกำแพง

เท่านั้นไม่พอ…กำแพงยังสร้างขนาน 2 ชั้น ทิ้งพื้นที่ตอนกลางไว้เป็นเขตควบคุม ห้ามผู้ใดรุกล้ำ ใครละเมิดรับโทษสถานเดียว…คือถูกฆ่าทิ้งไร้อุทธรณ์ฎีกา!

แต่คนเหล่านี้ก็กล้าที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ทุกวิถีทาง เช่น กล้าแอบซ่อนร่างเกาะใต้ท้องรถ เสี่ยงผ่านจุดตรวจค้น “เช็กพอยต์ ชาร์ลี” บางรายอาศัยเครื่องร่อนเป็นพาหนะร่อนผ่านกำแพง

บางชีวิตลงทุนถึงขั้นขุดเจาะช่องอุโมงค์ลอดใต้กำแพงนรก หวังข้ามแดนให้พ้นขุมอเวจี

ทว่า…น้อยคนนักจะกระทำได้สำเร็จ เพราะผลตอบรับคือถูกฆ่าทิ้งแทบทุกรายไป!

โดยจารึกประวัติหฤโหดนี้บอกว่า…มีผู้ต้องสังเวยชีวิตกับกำแพงนี้ไม่ต่ำกว่า 200 ราย

 

ช่วงที่เช็กพอยต์ ชาร์ลี มีมาตรการตรวจเข้มข้นกับคนหลังม่านเหล็ก กระนั้น…ก็พร้อมเปิดรับคนต่างแดนผ่านไปเยือนฝั่งตะวันออกได้โดยไม่รังเกียจ

ช่วงเวลานั้น…บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่ไปร่วมงานส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวโลก ITB ซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนมีนาคมทุกปี ที่แมสเส เบอร์ลินตะวันตก

ผู้ประกอบการเหล่านั้นมักถือโอกาสข้ามไปเยือนเมืองหลังม่านเหล็ก โดยขอให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ออกหนังสือรับรองให้

ภาพที่ทุกคนได้เห็นขณะนั้น มันคือมุมเมืองอันแสนหงอยเหงา ต่างกันสิ้นเชิงกับฝั่งตะวันตกที่คึกคักแบบไร้ข้อจำกัด

ขณะแววตาคนที่นั่นดูซึมเศร้า คล้ายจะระบายความขมขื่นในใจ แต่หากมองที่อาคารบ้านเมืองซึ่งหลุดรอดภัยสงคราม น่ายอมรับหรอกว่า…มันคือชิ้นงานสถาปัตยกรรมสูงค่าเลยทีเดียว

ครั้งนั้น…คนไทยได้คุยกับวิศวกรรายหนึ่งตรงลานเบียร์ขณะพักกลางวัน เขาสารภาพอย่างไม่ปิดบังกับชีวิตที่สิ้นหวัง อนาคตรางเลือนกับเศรษฐกิจที่ถดถอยหาความสุขไม่ได้เลย

ระหว่างคุยกันฉันเพื่อนร่วมโลก คนไทยขอเป็นเจ้ามือเลี้ยงเบียร์เหยือกใหญ่ราคาไม่เกิน 15 บาท เขาดูจะดีใจ และพอสั่งเพิ่มอีก 1 เหยือก วิศวกรนายนั้นถึงกับตาลุกโพลง อุทานทันควัน

“เกิดมาชาตินี้เพิ่งเจอคนไทยใจดีก็วันนี้แหละ!”

 

เบอร์ลินตะวันออกวันนั้นตกอยู่ในยุคสังคมปิด ไม่มีห้างให้เดินชิม ช้อป จะมีก็แค่ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นๆ เปิดขายตามวิถีคอมมูน คือต้องรับคูปองรอคิวก่อนเข้าไปเลือกสินค้า เสร็จแล้วรับคูปองอีกครั้งไปรอจ่ายเงิน สุดท้ายจึงจะได้สินค้าตามต้องการ

เหมือนคอมมิวนิสต์จีนเคยใช้สมัยสังคมเกษตรกรรมมาก่อน!

โบราณสถานชิ้นสำคัญอันเป็นซิกเนเจอร์ของฝั่งนี้ คงไม่เกิน “ประตูบรันเดนบูร์ก” ที่บ่งบอกอู่อารยธรรมเก่าเยอรมนี เสมือนบอกเล่าความรุ่งเรืองที่เคยมีมาแต่อดีต

ประตูแห่งนี้เชื่อว่าสร้างมานาน และบูรณะกันใหม่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ฮิตเลอร์ก็หมายมั่นปั้นมือจะใช้สถานที่นี้ฉลองชัยชนะทันทีหลังสงคราม

แต่…พระเจ้าไม่เข้าข้าง ปล่อยให้นาซีแพ้สงครามโลก ไปพร้อมกับความย่อยยับจากแรงระเบิดที่กระหน่ำใส่ประตูดังกล่าว ก่อนจะชุบขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2543

ขณะเดียวกัน…การสร้างกำแพงเบอร์ลินรวดเร็วปานสายฟ้าฟาดแค่ข้ามคืน ส่งผลให้ประตูบรันเดนบูร์กต้องตกเป็นสมบัติของเบอร์ลินตะวันออกไปทันทีทันใด!

ทัวร์ที่ไปเยือนเบอร์ลินตะวันตกยามนั้น ถ้าจะดูประตูที่ว่านี้ก็ต้องปีนขึ้นไปบนอัฒจันทร์ข้างกำแพง เพื่อชะเง้อมองไปยังฝั่งตะวันออกจึงจะเห็น…อย่างน่าหดหู่ใจเป็นที่สุด!

นั่นยังไม่บีบเค้นความรู้สึกวัยรุ่นชาวเบอร์ลินตะวันออกให้รันทดได้เท่าคืนหนึ่ง…เมื่อนักร้องซูเปอร์สตาร์ระดับโลก เจ้าของเพลง “Heal the world” หรือเก็บโลกไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ ไมเคิล แจ๊กสัน ไปเปิดการแสดงสด ณ ริมกำแพงเบอร์ลินตะวันตก

พระเจ้าเท่านั้นจะเข้าใจ…เสียงเพลงที่มันกระหึ่มถึงฝั่งตะวันออก มันสุดแสนทรมานอารมณ์คนฝั่งโน้นแบบไม่ปรานีกันซะเลย!

 

กระทั่ง 9 พฤศจิกายน 1989 ชะตาชีวิตชาวเบอร์ลินสองฝั่งถึงได้ตกผลึก เป็นเนื้อนาบุญเดียวกันอีกครั้ง เมื่อกำแพงแบ่งคนชาติเดียวกัน ถูกพังทลายลงโดยฝูงชนผู้ไม่ต้องการมัน

การไปมาหาสู่ได้หวนกลับคืนมา ขณะเช็กพอยต์ชาร์ลีกลายเป็นเพียงอนุสรณ์การปิดกั้นมนุษย์ และประตูบรันเดนบูร์กดูเด่นชัดขึ้น โดยไร้กำแพงเบอร์ลินคั่นกลาง ภาพอดีตทั้งหมดนี้ถูกนำมาใช้เป็นสินค้า ขายให้กับทัวริสต์จากทั่วโลก ได้มาเห็นผลจากบาดแผลสงครามครั้งนั้น

30 ปีบนบันทึกประวัติศาสตร์บทนี้ คนทั้งโลกรู้ดี…มันคือหนามบ่งหนองคนหลังม่านเหล็กที่ยากจะถูกลบทิ้งออกจากคลังสมองแห่งความทรงจำกันได้…

แม้จะสวดมนต์ขอสันติสุขจากพระเจ้าแล้วก็ตาม!