“ทัพเทพ-ภานุมาศ” : จาก “จูบกลางสภา” ถึงชีวิตและพื้นที่ LGBT ในสังคมจารีตของไทย

ในช่วงปีที่แล้วสังคมไทยได้มีประเด็นวิวาทะต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยเฉพาะกรณี “จูบกลางสภา” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เมื่อปรากฏภาพข่าวของสองชายคู่รักจูบกันหลังจากที่ “องค์กรความหลากหลายทางเพศ” ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อการคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลาย ให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับความคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับคู่รักชาย-หญิง

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยกลับให้ความสนใจในการแสดงออกของคู่รักชาย-ชาย ที่จูบกันและกลายเป็นประเด็นโต้เถียงเรื่องความเหมาะสมของสถานที่ หรือการแสดงออกที่เกินขอบเขตของความรักตามธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ และยังคงเป็นที่พูดถึงแม้กระแสข่าวจะซาลงไปแล้ว

แต่กระนั้นประเด็น “จูบกลางสภา” ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบจารีตของไทย มีปฏิกิริยาต่อการแสดงออกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไง

 

“ทัพเทพ เรืองประไพกิจเสรี” นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ “ภานุมาศ สิงห์พรม” นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ 2 ชายคู่รักที่เป็นข่าว ทั้งสองคบหากันมาได้หลายเดือน ผ่านทั้งสุขและทุกข์กันมา และยังคงเดินหน้าใช้ชีวิตนี้พร้อมกับต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมภายใต้วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ถูกมองว่ายังคับแคบอยู่

ฟอร์ด (ทัพเทพ) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เจอเจมส์ (ภานุมาศ) ในช่วงทำกิจกรรมของกลุ่ม non-binary ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ และมาแมตช์กันจากการใช้แอพพ์ Tinder ประโยคแรกที่เจมส์ทักมาคือ “คุ้นๆ นะ เหมือนเคยเจอกันที่ไหน?” คือรู้จักกันอยู่แล้วในเฟซบุ๊ก แต่ก็ไม่เคยเจอตัวจริงเลย

ด้านเจมส์ก็กล่าวว่า วันแรกที่รู้สึกว่าน่ารักดี ก็ตอนไปรับฟอร์ดที่เดินทางกลับจากการประชุมสามัญของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ แล้วจากนั้นก็ได้ไปเที่ยวด้วยกัน ซึ่งก็เริ่มต้นความสัมพันธ์มาตั้งแต่นั้น

“สำหรับเรา ถือเป็นคู่รักที่ปกติมาก มีทั้งตอนดีหรือทะเลาะกัน แต่สิ่งสำคัญคือ เวลาเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่ทิ้งกัน” เจมส์กล่าวถึงชีวิตคู่ที่ดำเนินมากว่า 5 เดือน

ขณะที่ฟอร์ดกล่าวว่า ก็หวังว่าจะเป็นคู่สุดท้าย เพราะไม่คิดว่าจะเข้ากันได้ขนาดนี้ ทั้งไลฟ์สไตล์ แนวคิดทางการเมือง ช่วงทำกิจกรรมก็ไปด้วยกันตลอด

เป็นความรู้สึกที่ดีและประทับใจ

 

ก่อนหน้านี้ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้เปิดรายงานในชื่อ “รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง” จากการสอบถามส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่ม LGBT

แต่ตรงกันข้าม การยอมรับการมีอยู่กลับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และชนบท

ผลชี้วัดระบุ คนไทยมักยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง

ร้อยละ 53 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ข้อมูลว่าถูกละเมิดทางคำพูด

ร้อยละ 16 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

และร้อยละ 42 บอกว่าต้องแสร้งว่ารักเพศตรงข้ามเพื่อให้คนที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือที่บ้านยอมรับ

ในทัศนะของฟอร์ดนั้น ความคิดเรื่อง LGBT แม้ในสังคมไทยเปลี่ยนไปและเปิดรับมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ เพราะยังไม่ยอมรับว่าคนเพศเดียวกัน เท่าเทียมกันเหมือนชาย-หญิงทั่วไปจริงๆ เป็นการเปิดรับแบบมีเงื่อนไข ไม่รู้เคยได้ยินหรือไม่ ประโยคเช่น “จะเป็นอะไรก็ได้ ขอเป็นคนดีก็พอ” ก็สงสัยว่าต้องมีเงื่อนไขด้วยหรือ สังคมถึงจะยอมรับ ยิ่งความเป็น “คนดี” ความหมายของเรา หรือสังคมก็นิยามต่างกัน

“”คนดี” ควรเป็นของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้วหรือเปล่า ไม่ว่าจะเพศไหน ทำไมต้องมีเงื่อนไขว่า เพศนี้ต้องดีเลิศ ต้องมีความสามารถ ต้องเก่ง ตลก สร้างความสนุกสนานให้ผู้คนได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่” ฟอร์ดระบุเชิงสงสัยต่อเงื่อนไขที่ผูกโยงกับเพศ

ฟอร์ดยังกล่าวอีกว่า หรืออีกความคิดที่ว่า “เรายอมรับ LGBT ในฐานะเพื่อนร่วมโลก ลูกน้องหรือหัวหน้าได้ แต่ไม่สามารถยอมรับได้ถ้าคนในครอบครัวตัวเองเป็น”

 

เมื่อถามถึงการยอมรับจากครอบครัวของทั้งคู่ ฟอร์ดกล่าวว่า ค่อนข้างชิวและดี รวมถึงการคบหาเจมส์

ด้านเจมส์ก็กล่าวว่า พ่อไม่ปิดกั้น แม้แต่เรื่องที่คบหากับพี่ฟอร์ด พอพาไปหาพ่อและพี่ ทุกคนยอมรับ

“บังเอิญเราโชคดีมากกว่า ที่ครอบครัวโอเคกับเรื่องนี้ เปิดรับเต็มที่ แต่บางคู่กลับเจออะไรแย่กว่าคู่เรามาก ไม่รู้ว่ามีคู่หรือเปล่า แต่เขาไม่สามารถเปิดตัวกับครอบครัวได้ มีพี่คนหนึ่งชื่อคิด (นามสมมุติ) พ่อเรียกชื่อเล่นปกติ แต่พออยู่ในคณะก็ใช้ชื่อว่า “คิตตี้” แต่เมื่อมาอยู่บ้านต้องสวมความเป็นชายเข้าไป ถ้าตัวเองเจอแบบนี้ก็อึดอัด”

ฟอร์ดกล่าว

 

ประเด็น “จูบกลางสภา” ที่กลายเป็นวิวาทะในเรื่องความเหมาะสม-การเปิดกว้างในการแสดงออก ฟอร์ดเล่าที่มาจนนำไปสู่แอ๊กชั่นดังกล่าวว่า มีวันหนึ่ง ที่องค์กรผู้หลากหลายทางเพศจะไปยื่นหนังสือเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้และได้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนคู่รักชาย-หญิง เราจึงไปร่วมแสดงพลังในวันยื่นหนังสือด้วย

เจมส์กล่าวว่า หากฟังเนื้อหาที่ตัวแทนองค์กรพูดนั้น ตรงกับความต้องการของ LGBT หลายคน ทั้งโดนจำกัดสิทธิในด้านกฎหมายหรือการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้อง

ฟอร์ดก็กล่าวเสริมว่า สารที่แถลงนั้นมีพลังมาก เราสองคนจึงตัดสินใจว่าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บางอย่างดีไหม? ซึ่งเราเห็นด้วยและรู้กันแค่ 2 คน และตกลงกันใน ณ ตอนนั้น

“ไม่ได้คุยกับใครมาก่อน และเริ่มขึ้นโดยแจ้งรวมๆ ไม่ได้เจาะจงกับ ส.ส.ท่านใด ว่า “ทุกคนครับ หลังจากถ่ายภาพร่วมกันเสร็จ ผมขอแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” ก่อนหน้านั้นไม่ถึง 2 นาที หลังถ่ายภาพหมู่เสร็จ เขาก็เรียกเราไปยืนอยู่ตรงกลาง ขณะที่เรากำลังโอบกอด ครูธัญ (ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่) บอกว่า “หยุดก่อน” คือไม่รู้ว่าจะแสดงออกอะไรกัน และคิดว่า ครูธัญหวังดีกับสื่อมวลชน อยากให้ได้ภาพที่สวยงาม เลยไปกำกับ”

“แต่หลายคนกลับบอกว่า ครูธัญเตี๊ยมมา อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ทั้งที่จริงคือ ครูธัญไม่รู้ แต่เขาทำเพราะหวังดีทั้งที่ไม่รู้จะออกมาเป็นอะไร” ฟอร์ดเล่าเบื้องหลังก่อนเกิดภาพจูบกลางสภาขึ้น

ส่วนข้อครหาที่ว่าทำไมจูบกันนานนั้น เจมส์กล่าวว่า ณ ตอนนั้นเรากำลังหลับตา แต่เสียงรัวชัตเตอร์จากช่างภาพดังไม่หยุด เราเลยค้างไว้เพื่อให้ช่างภาพทุกสำนักได้ภาพครบถ้วน และจูบกันจนกว่าเสียงชัตเตอร์หมดไป

เจมส์กล่าวถึงประเด็นจูบกลางสภาอีกว่า สำหรับการจูบนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ที่การแก้ไขให้ LGBT ได้สิทธิเท่าเทียม

ฟอร์ดกล่าวเสริมด้วยว่า เราไม่อยากได้ซีน ไม่ต้องการบิดเบือนสารเลย เป็นแค่กิมมิกเล็กๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ว่า

เราคือ LGBT เราต้องการความเท่าเทียม

 

ส่วนประเด็นความไม่เหมาะสมกับพื้นที่รัฐสภานั้น ฟอร์ดมองว่า สำหรับตัวเอง ต้องมองภาพใหญ่ก่อน ในวัฒนธรรมแบบจารีต มองการจูบกับสถานที่ในรัฐสภายังไง ไม่ว่าจะชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือหญิง-ชาย ถูกตำหนิหมด เพียงแต่ดีกรีการติติงอาจไม่เท่ากัน เมื่อโดนไม่เท่ากัน หมายความว่า มีเส้นแบ่งของความไม่เท่ากัน คนบางกลุ่มแสดงออกอย่างหนึ่งได้ แต่คนอีกกลุ่มทำไม่ได้

ในส่วนของรัฐสภานั้น ฟอร์ดกล่าวว่า หลายคนบอกว่าเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ศักดิ์สิทธิ์ ต้องบอกว่ารัฐสภาไม่ใช่ศาลพระภูมิ แต่ยืนยันว่าตัวเองให้เกียรติรัฐสภา ซึ่งเกียรตินั้นคือ รัฐสภาเป็นที่ทำงานของตัวแทนประชาชน สัญลักษณ์ทางอำนาจแทนพวกเรา

ศูนย์รวมอำนาจประชาชนอยู่ที่นั่น ดังนั้น รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ถูกกาลเทศะที่สุด เพราะเป็นที่ที่ให้ประชาชนทุกคนได้แสดงออกเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมืองได้

แม้ LGBT ที่ตอนนี้มีตัวเลขเปิดเผย 4 ล้านคน และไม่เผยตัวตนที่ไม่รู้เท่าไหร่ จะมากหรือน้อย เขาคือประชาชน และมีสิทธิ์แสดงออก

สถานที่อันทรงเกียรติต้องเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนตราบเท่าที่ไม่ขัดกฎหมาย

จะเอาจารีตมาเหนือกว่ารัฐธรรมนูญได้ยังไง

 

ในช่วงการเลือกตั้ง มีหลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อพรรคการเมืองเหล่านั้นได้นั่งในสภา กลับมีไม่กี่พรรคที่ผลักดันหรือปกป้องคนกลุ่มนี้อย่างจริงใจ เจมส์มองว่า ส.ส.หลายท่าน ผมกำลังมองหาคนที่เป็นตัวแทนของ LGBT ที่แท้จริง แต่ก็ไม่แน่ใจแล้วว่ามีจริงหรือเปล่า พอเกิดเหตุการณ์ที่เป็นการยืนยันสิทธิของเรา กลายเป็นว่า ทำไมเสียงเหล่านั้นหายไปแล้ว ผมรู้สึกว่าหลายพรรคมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่คุณค่าระหว่างทางกลับเลือนหายไป

ฟอร์ดกล่าวเสริมด้วยว่า สำหรับ ส.ส.ทั้งที่เป็น LGBT หรือไม่เป็น ที่เคยหาเสียงว่าจะต่อสู้เพื่อพวกเรา จะแก้ไขกฎหมาย จะผลักดันหลายอย่างเพื่อให้สังคมยอมรับและทำให้เท่าเทียม

แต่ไม่ว่าพรรคไหนกลับสู้ไม่สุด ผมขอใช้คำว่า “สู้ไปกราบสภาไป” ต้องมาห่วงว่าไม่เหมาะสมจริงๆ ไม่ได้เจาะจงว่าใคร แต่มีอยู่จริงๆ บอกว่าสภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ แต่การกระทำของเราไม่เหมาะสม ต้องมาขอโทษขอโพยกัน ผมไม่เห็นด้วยที่ต้องขอโทษ

ทั้งนี้ เจมส์กล่าวว่า เราจะผลักดันวาระที่ก้าวหน้าไม่ได้เลย ถ้าต้องมาเดินหน้าหนึ่งก้าวแล้วมาถอยหลังสองก้าว เพราะเท่ากับคุณไม่ได้เดินหน้าเลย

เช่นเดียวกับฟอร์ดที่กล่าวว่า สู้แล้วถอย ไม่มีวันเท่าเทียม ไม่ได้สิทธิที่เราพึงมี เราต้องไปให้สุด ถ้าจารีตบอกว่าผิดก็ผิดตั้งแต่แรกที่เราเป็น LGBT การที่มาบอกว่าการกระทำของเราไม่เหมาะสมนั่นเพราะจารีตยังกดทับหัวอยู่ และไปไม่พ้นต่างหาก

สิทธิเสรีภาพ ไม่มีทางได้มาจากความเมตตาปรานีหรือความใจดี แต่ได้เพราะเราสู้