วิเคราะห์ ความตึงเครียดล่าสุด ของทหารการเมืองในปากีสถาน

การเมืองปากีสถานหากนิยามลักษณะรูปแบบและระบอบการปกครอง ตามดัชนีประชาธิปไตยล่าสุด ถือว่าปากีสถานเป็นประเทศระบอบลูกผสม (Hybrid Regime)

ที่แม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองจะมีรัฐบาล รัฐสภาและศาลเหมือนหลายประเทศ

แต่ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองของปากีสถาน กองทัพถือเป็นกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทมากต่อทิศทางการเมืองปากีสถาน

นับตั้งแต่ช่วงแยกตัวเป็นเอกราช ปากีสถานต้องเจอการรัฐประหารหลายครั้ง

ยุคที่ทหารครอบงำการเมืองและเป็นที่รู้จักคือ ยุคของนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ที่ครองอำนาจปากีสถานตั้งแต่เป็นผู้นำรัฐประหารในปี 1999

และเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งต่อในปี 2001 จนสิ้นอำนาจลงปี 2008

ล่าสุด การเมืองปากีสถานโดยเฉพาะการเมืองของชนชั้นนำ กำลังเข้าสู่ภาวะตึงเครียดทั้งในกรณี การต่ออายุทำงานของผู้บัญชาการทหารบกอย่าง นายพลควอมาร์ บัชวาร์ และการตัดสินประหารชีวิตนายพลมูชาร์ราฟ

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้น จะทำให้ปากีสถานต้องเผชิญวิกฤตการเมืองรอบใหม่หรือไม่?

 

“บัชวาร์” จุดด่างพร้อยของกองทัพ?

เรื่องร้อนในกองทัพปากีสถานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือการต่ออายุทำงานให้กับนายพลบัชวาร์

โดยแหล่งข่าวระบุว่า ถือเป็นการซ้ำเติมรอยร้าวในกองทัพปากีสถานให้รุนแรงมากขึ้น

หลังจากที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนต่างไม่พอใจที่บัญชีรายชื่อกองทัพยังล่าช้าและนายพลบัชวาร์ล้มเหลวที่จะแก้ไขเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้บัญชาการหน่วยก็เกิดไฟสุมทรวง เมื่อนายอิมรอน ข่าน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันประกาศจะต่ออายุทำงานให้กับนายพลบัชวาร์ไปอีก 3 ปี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งที่มีนายทหารรอขึ้นต่อตามลำดับอาวุโส

แต่พอประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ท่าทีเผชิญหน้าของบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงของปากีสถานตัดสินไม่อนุมัติการต่ออายุอีก 3 ปี แต่ก็รับรองการต่ออายุอีก 6 เดือนให้นายพลบัชวาร์

นายพลบัชวาร์ในสายตาของบรรดานายพลถูกมองว่ามีภาพลักษณ์เป็นตัวสร้างความแตกแยก ทั้งเรื่องผู้ติดตามที่ไว้ใจและแนวคิดเชิงสันติ ทำให้ภารกิจสำคัญต้องติดขัด จนมีข่าวลือในการเคลื่อนไหวต่อต้านนายพลบัชวาร์ ด้วยข้อบกพร่องหลายเรื่อง

ทั้งความล้มเหลวในการตอบโต้อินเดียที่สั่งโจมตีใส่ค่ายทหารในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การสั่งย้าย พล.ท.อาซิม มุเนีย ออกจากหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระบุอีกว่า สถานการณ์ของนายพลบัชวาร์และนายกรัฐมนตรีข่านยิ่งเลวร้าย หลัง พล.ท.มุเนียให้การสนับสนุนอย่างลับๆ กับขบวนการประท้วงในกรุงอิสลามาบัด ที่เรียกร้องให้นายข่านลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเหตุต่ออายุทำงานให้นายพลบัชวาร์

แม้แต่ท่าทีไม่ระวังของกองทัพปากีสถานหลังอินเดียประกาศยกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยสถานะคุ้มครองในรัฐจัมมู-แคชเมียร์ ทำให้รัฐที่เป็นประเด็นพิพาทแบ่งเป็น 2 รัฐคือ เขตแดนในความคุ้มครองของอินเดียอยู่ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญอินเดีย ทำให้นายพลบัชวาร์ได้แต่แสดงสีหน้าขุ่นหมอง

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้มากที่สุดในห้วงภาวะยุ่งเหยิง คือ ทั้งกองทัพและรัฐบาลปากีสถานต้องการหาแพะรับบาปที่ง่ายที่สุด โดยเหยื่อรายแรกที่น่าจะเป็นคือ นายซาดาร์ อูสมาน บัสดาร์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีรัฐปัญจาบ ตามด้วยนายชาห์ มาห์มูด คัวเรชี รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ถือสองข้างในเกมการเมืองนี้ อาจพบว่าตัวเองไม่น่าเชื่อถือสำหรับรัฐบาลและกองทัพปากีสถาน

สำหรับตอนนี้ นายพลบัชวาร์เลือกจะอยู่ต่อ และไม่เกษียณอายุอย่างที่หลายคนเชื่อ ทำให้ท่าทีเผชิญหน้าก็ยังไม่ลดลง และส่งผลทำให้การเมืองในกองทัพปากีสถานอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงและไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลยุ่งยากต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค

 

คำตัดสินประหารชีวิต “มูชาร์ราฟ”
เมื่ออำนาจกองทัพถูกท้าทาย

มาดิฮาร์ อัฟซาล นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศจากศูนย์ศึกษานโยบายตะวันออกกลางของสถาบันบรูกกิ้งในสหรัฐ วิเคราะห์ผลพวงทางการเมืองในปากีสถานต่อคำตัดสินประหารชีวิตนายพลมูชาร์ราฟว่า แม้คำตัดสินจะไม่สามารถทำอะไรกับนายพลมูชาร์ราฟได้ (เนื่องจากตัดสินระหว่างรักษาตัวอยู่ต่างแดนและยังไม่กลับมาปากีสถาน)

แต่ในแง่สัญลักษณ์กับอดีตผู้นำกองทัพก็ส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของกองทัพปากีสถานในฐานะอำนาจเชิงสถาบันอย่างมาก

ถึงขั้นที่กองทัพปากีสถานออกมาแถลงการณ์แสดงจุดยืนหนุนนายพลมูชาร์ราฟและประท้วงคำตัดสินของศาลที่เห็นว่า ล่วงล้ำความเป็นมนุษย์ ศาสนา วัฒนธรรมและคุณค่าอื่นๆ

ส่วนท่าทีของรัฐบาลนั้น มาดิฮาร์มองว่า อิมรอน ข่าน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพมาตั้งแต่ปี 2007 และเป็นเพราะกองทัพที่มีส่วนช่วยทำให้ข่านได้นั่งนายกรัฐมนตรี แถมในคณะรัฐมนตรีก็มีหลายคนเป็นผู้ภักดีกับนายพลมูชาร์ราฟ ได้มีส่วนทำให้คำตัดสินคดีก่อกบฏของนายพลมูชาร์ราฟเป็นไปอย่างล่าช้า และมองว่าเป็นคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรม เพราะตัดสินในขณะที่นายพลมูชาร์ราฟอยู่ในต่างแดน

และแน่นอนว่า รัฐบาลปากีสถานยังไม่บังคับให้นายพลมูชาร์ราฟกลับจากนครดูไบ แม้ศาลจะกดดันให้รัฐบาลทำตามก็ตาม

ไม่ว่าอย่างไร การตัดสินประหารชีวิตนายพลมูชาร์ราฟ ได้ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองจากเดิมที่มีแค่รัฐบาลกับทหาร ก็กลายมาเป็นรัฐบาล-ทหาร-ศาล

การเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพกับศาล จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องจับตาดูว่าทิศทางการเมืองของปากีสถานจะออกมาแบบไหน?