กรองกระแส / เส้นทางอำนาจ จาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรม ติณสูลานนท์

กรองกระแส

 

เส้นทางอำนาจ

จาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เปรม ติณสูลานนท์

 

การเปรียบเทียบระหว่างการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนมิถุนายน 2562 กับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนมีนาคม 2523 สำคัญ

อาจเพราะ 1 เคยเป็นทหารระดับ ผบ.ทบ.เหมือนกัน

อาจเพราะ 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เป็นการถอยกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

อาจเพราะ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินตามรอย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยมิได้ตั้งพรรคการเมือง โดยมิได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะความยินยอมพร้อมใจของพรรคการเมืองส่วนใหญ่

อาจเพราะ 1 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ความเอ็นดูต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นพิเศษ และปวารณาตนเป็นเหมือน “กองเชียร์” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

กระนั้น ในความเหมือนจำนวนมากก็ปรากฏความต่างปรากฏขึ้นและดำรงอยู่

 

จุดต่าง แห่งรากฐาน

อำนาจ รัฐประหาร

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้จะเคยมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร แต่เป็นเพียงองคาพยพหนึ่ง มิได้เป็นผู้ก่อการอย่างมีลักษณะกัมมันตะ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมือทำรัฐประหารแล้วเป็นนายกรัฐมนตรี

ตรงกันข้าม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวได้อย่างเต็มคำว่าไม่ได้มาดหมายตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การตระเตรียมในเรื่องของรัฐธรรมนูญก็ไม่มี บทบาทในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเป็นฐานแห่งอำนาจก็ไม่มี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอ้างว่าเข้าดำรงตำแหน่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพราะความจำเป็นและไม่ต้องการให้เป็นการรัฐประหารเสียของเหมือนเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเป้าหมายแจ่มชัดว่าต้องการรักษาอำนาจของตนไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็น “รัฐธรรมนูญที่ DESIGN เพื่อพวกเรา”

ความต่างอย่างมีนัยสำคัญกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเห็นได้ ไม่ว่าเมื่อหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าเมื่อหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

ทุกอย่างเป็นไปตามที่ DESIGN ทุกอย่างเป็นไปตามแผนแห่งการสืบทอดอำนาจ

 

อำนาจนำ เดียวกัน

รายละเอียด ต่างกัน

 

ไม่ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีรากฐานการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองมาจากจุดเดียวกัน

นั่นก็คือ เป็นเครื่องมือในการรับใช้ “อำนาจนำ” ของสังคม

ไม่ว่าอำนาจในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าอำนาจในทางการเมือง การทหาร และไม่ว่าอำนาจในทางวัฒนธรรมความคิด

กำลังสำคัญในการค้ำจุน “อำนาจ” คืออำนาจของข้าราชการประจำโดยมีกองทัพเป็นเสาหลัก

กำลังสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งและร้อยเชื่อมสร้างพลังให้เป็นหนึ่งเดียว คืออำนาจในทางวัฒนธรรม

ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อำนาจนำยังเข้มแข็งมีเกียรติภูมิ ได้รับความเชื่อถือในทางสังคม

แต่พอมาถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อำนาจนำเริ่มถดถอย บรรดาพลังที่ประกอบส่วนขึ้นภายใต้โครงสร้างแห่ง “อำนาจนำ” ก็อ่อนด้อยลงเป็นอย่างมากจากอดีต

รัฐบาลจึงเป็น “รัฐบาลเซียงกง” รัฐมนตรีจึงอยู่ในโฉมแห่ง “เทามนัส”

จำเป็นต้องใช้คนประเภท “ชายน้อยประชารัฐ” ประสานเข้ากับ “ศรีธนญชัยรอดช่อง” ประสานเข้ากับ “รัฐอิสระ” ประสานเข้ากับ “สารหนู”

ในที่สุดตัวของนายกรัฐมนตรีก็อยู่ในอาการ “อิเหนาเมาหมัด”

 

จากยุค เปรม ติณสูลานนท์

มาสู่ยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

หากเปรียบเทียบในรายละเอียดสถานะและเกียรติภูมิของรัฐบาลยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถือได้ว่าเป็นยุคบ้านเมืองยังได้คนดีจำนวนมากเข้ามาประกอบส่วน

แต่มาถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มถดถอย โรยรา

องค์ประกอบของ ครม.นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เริ่มมาเด่นชัดขึ้นเมื่อปรากฏขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ความเสื่อมจึงเห็นได้อย่างเด่นชัด ไม่ว่าใน ครม. ไม่ว่าในรัฐสภา

เป็นความเสื่อมในท่ามกลางความหวาดระแวงแคลงคลาง กังขา และความไม่พอใจจึงเริ่มสะสมและค่อยๆ สำแดงออกมา

            เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงอาจแตกต่างไปจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์