สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เธอคือความภูมิใจ ICT TALENT (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“แม่ไม่เอาเป็นลูกแล้ว ไม่เป็นไร มาเป็นลูก ผอ. แต่เธอต้องปรับปรุงตัวใหม่นะ ผอ.มีทางเลือกให้สามทาง”

เสียง ผอ.หญิงหนักแน่น แต่เปี่ยมด้วยเมตตา ความรักและเข้าใจ ทั้งแม่และลูก

“ผอ.จะให้ผมทำอย่างไรครับ” เด็กชายเอ่ยถาม น้ำตานองหน้า

ขณะผู้เป็นแม่ยังทำใจไม่ได้กับความผิดหวังอย่างรุนแรง ที่ได้รับแจ้งพฤติกรรมและผลการเรียนของเด็กชาย ทนฟังต่อไม่ไหวขอตัวลากลับก่อน

บทสนทนาระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียน แม่ผู้ผิดหวังและลูกชายที่กำลังรู้สึกสำนึกผิดกับชีวิตที่ผ่านมา เหตุเกิดเมื่อปี 2559 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเฉพาะทางสำหรับเด็กพิการ

ทุกปีโรงเรียนจะคัดเด็กพิการทางร่างกายแต่สติปัญญายังสามารถเรียนรู้ได้ ไปเรียนร่วมกับนักเรียนปกติที่โรงเรียนสันทรายวิทยาคม ในเขตพื้นที่อำเภอเดียวกัน โดยมีรถส่งและรับกลับมาพักที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ทุกวัน

ปี 2558 เด็กชายคนหนึ่งผ่านการคัดกรอง

“โรงเรียนเราคัดกรองความสามารถแล้ว เห็นว่าเขาสามารถเรียนได้ปกติและเขาก็เต็มใจไปเรียนร่วมที่สันทราย แรกๆ ก็ไม่มีอะไร แต่ต่อมาๆ เริ่มไม่ไหว เพราะเอาแต่เล่น กับเล่นแต่กีฬา การเรียนชั้น ม.5 ติด 0 ถึง 11 ตัว ไม่รวมที่ติด 0 ตอน ม.4 อีกหลายตัว

ดิฉันเรียกครูที่รับผิดชอบน้องมาคุย ทำอย่างไรดี ไม่ไหวแล้ว ไม่รู้จะแก้ 0 อย่างไร ไม่อย่างนั้นก็ซ้ำชั้น เลยตกลงเชิญแม่แด็กมาหาทางออกด้วยกัน

พอแม่รู้เรื่องเท่านั้น รับไม่ได้ ไม่คิดว่าลูกจะเป็นถึงขนาดนี้ บอกไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว ผอ.จะจัดการอย่างไรก็ตามใจ ห้ามไม่ให้เข้าบ้าน แล้วก็กลับเลย เหลือดิฉันกับน้องคนนั้นสองคน

เลยบอกกับเขาว่า โรงเรียนจะรับกลับมาเรียนใหม่

ยื่นคำขาดให้เลือก เธอจะเอาอย่างไร หนึ่ง ไปเป็นอาชญากร โจร ขโมย ขี้เหล้าเมายา สอง ให้ออกไปเลย เขานั่งร้องไห้ สาม ต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่ทั้งหมด 360 องศา เริ่มเรียนใหม่อย่างตั้งใจ เป็นโอกาสสุดท้ายที่ ผอ.จะให้เธอ”

เขาตอบว่า “ผมขอโอกาสเป็นครั้งสุดท้าย เลือกเรียนที่ศรีสังวาลย์”

“ส่วนเรื่องแม่ เธออย่ากังวล แม่ยังไม่ยอมรับให้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร มาเป็นลูก ผอ. แต่เธอต้องกตัญญูต่อแม่ เพราะเขาคือผู้ให้ชีวิต”

 

เด็กชายได้กลับมาที่ศรีสังวาลย์ เริ่มเรียนระดับ ปวช.1 ปี 2560 จนถึงปัจจุบันกำลังจะจบ

“ณัฐมัย แก้วหล้า” อายุ 20 ปี เด็กชายคนนั้น กลับกลายเป็นคนละคน เมื่อค้นพบความถนัด ความชอบของตัวเอง ชอบเทคโนโลยี ชอบคอมพิวเตอร์

ต่อมาปี 2561 บริษัททรูคอร์เปอเรชั่นทำโครงการโรงเรียนประชารัฐ รับสมัครนักเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ICT Talent เพื่อไปประจำตามโรงเรียนที่เป็นพันธมิตร มีค่าตอบแทนประจำเดือนให้ด้วย

ในจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือก 200 คน มีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท เทคโนโลยีทางการศึกษา ปรากฏว่าเด็กชายณัฐมัยสมัครเข้าแข่งขันและผ่านการทดสอบเป็นหนึ่งเดียวในนั้น ที่เป็นเด็กและพิการด้วย

เขากลายเป็นที่ชื่นชม นำชื่อเสียงมาให้โรงเรียน เป็นแบบอย่างกับเพื่อนนักเรียน ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ดูแล แนะนำ แก้ไขปัญหาการใช้เทคโนโลยีของโรงเรียน และเป็นพรีเซ็นเตอร์ ช่วยครู ผู้อำนวยการ นำเสนอโปรแกรมต่างๆ เป็นไกด์เวลาคณะศึกษาดูงานมาเยี่ยมชมกิจกรรมของโรงเรียน

ได้รับเงินตามโครงการของทรูเดือนละ 15,000 บาท ส่งให้แม่เดือนละ 14,000 บาท ตอนนี้ยังไม่เข้าบ้าน

“แต่เขาก็อยู่ได้ ร่าเริงแจ่มใส ครูทุกคนเข้าใจ ให้โอกาส ยอมรับในความสามารถ เห็นคุณค่าของเขา”

เมื่อไม่นานมานี้ร่วมกับรุ่นพี่ ปวช.ปี 2 เข้าแข่งขันบังคับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) กสทช.จัดระดับประเทศ ได้รับรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 50,000 บาท แพ้คนชนะเลิศเพียงนิดเดียว

วันที่ 28 ตุลาคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนศรีสังวาลย์อีกครั้งหนึ่ง ทรงเห็นความสามารถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นนักเรียนทุน พระราชทานทุนการศึกษาให้เรียนต่อจนจบการศึกษาสูงสุด หลังจากจบที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เดือนมีนาคม 2563

 

เรื่องราว เส้นทางชีวิตของนักเรียนพิการ ต้นร้ายปลายดีทำนองนี้ คงไม่มีแต่เฉพาะที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายคนและหลายแห่ง ก้าวไกลไปถึงเวทีระดับชาติและระดับโลก ล้วนเป็นบทเรียน แบบอย่าง ขวัญกำลังใจ สำหรับพวกเขาและทุกคนที่มีส่วนทำให้การจัดการศึกษาพิเศษ สร้างอนาคตที่มั่นคงให้เด็กพิการเติบโต มีการศึกษา มีทักษะต่างๆ มีชีวิตอยู่ในสังคมได้เฉกเช่นคนปกติทั่วไป

“สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัส จริงๆ แล้วการศึกษาที่ดีที่สุดของเด็กพิการคือ การเรียนวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เขาอยู่ได้ในสังคม หนูเอาไดอารี่ที่เด็กๆ เขียนมาอ่าน หนูร้องไห้เลย” ผอ.พวงทองเล่าก่อนเปิดเวทีให้ครูสะท้อนความในใจของแต่ละคน

หัวหน้าฝ่ายวิชาการเล่าว่า “ครูนอนหอทุกคน การรับครูจะให้เป็นครูพี่เลี้ยงก่อน อยู่ร่วมกับเด็กพิเศษ ต้องมีใจก่อน คนที่อยู่ได้ก็อยู่ยาว ที่อยู่ไม่ได้ 3-4 วันก็ไปแล้ว”

ครูแจ้ บ้านเดิมอยู่นครปฐม สอบบรรจุได้ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ อยู่มาตลอด จนตัดสินใจซื้อบ้านใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ ถึงวันนี้ 16 ปีแล้วไม่ขอย้ายไปไหน

“ความรัก ความผูกพันกับเด็ก ทำให้เราไปไหนไม่ได้” เธอย้ำหนักแน่น ถึงความตั้งใจจะอยู่กับนักเรียนจนถึงวันเกษียณ