Chanamon Wangthip : หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว… มหรสพแห่งความโดดเดี่ยว ของประเทศโลกที่สาม

(*ข้อเขียนนี้เต็มไปด้วยการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือไว้เละเทะโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ)

นี่คือเรื่องราวของสงครามชีวิตน้ำเน่าอลหม่านบ้านแตก ความยาวเจ็ดชั่วอายุคนของครอบครัวหนึ่งที่มีชื่อซ้ำกันไปซ้ำกันมาทั้งตระกูล…

เราอาจต้องเริ่มต้นกันอย่างลวกๆ แบบนี้ เพราะเอาเข้าจริงการหาคำจำกัดความที่ดีพอสำหรับหนังสือเล่มนี้อาจยากกว่าการอ่านมันให้จบเสียอีก

น่าจะไม่ใช่แค่ครั้งเดียวที่ชื่อของหนังสือเล่มนี้จะผ่านตา, ผ่านหู, ผ่านปากของเราหลายๆ คน ทั้งในฐานะวรรณกรรมชิ้นเยี่ยม, ไอคอนของงานเขียนประเภท “สัจนิยมมหัศจรรย์”, งานรางวัลโนเบล, ผลงานเอกของกาโบฯ, ภาพสะท้อนอันขันขื่นของประเทศโลกที่สาม ที่พลเมืองของประเทศโลกที่สามในหมู่ประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ ควรอ่านให้ได้ตบเข่าฉาด พยักหน้าหงึกๆ แล้วจั๊กจี้หัวใจเล่น

52 ปีผ่านไป ในวาระที่เส้นทางที่จะก้าวเข้าสู่โลกวรรณกรรมละตินอเมริกันอย่างตัวต่อตัวที่สุด (เท่าที่จะทำได้) หดสั้นลงจนเอื้อมมือถึง ผ่าน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์บทจร เราจึงมีโอกาสได้รู้จักกัน…

 

มาก็อนโด ลานมหรสพแห่งความโดดเดี่ยว

อันดับแรก คุณจะได้เจอหมู่บ้านที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากดิน มุงด้วยต้นอ้อ ริมแม่น้ำสายหนึ่ง อุบัติขึ้นจากการรอนแรมหนีใบหน้าเศร้าหมองของวิญญาณตายห่าที่พลั้งฆ่าไปกับมือ

อันดับถัดมา คุณจะได้เจอพ่อค้าเร่ชาวยิปซีผู้มาพร้อมวิทยาการมากมายและคำทำนายโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

อันดับถัดมา คุณจะเจอพ่อสติเฟื่องที่จะถูกมัดอยู่กับต้นไม้ เจอแม่ผู้ดันทุรังกอบกู้ครอบครัว

เจอลูกชายผู้โดดเดี่ยวและคาดเดาไม่ได้ว่าวันดีใด-คืนร้ายไหนจะอยากได้เมียอายุเก้าขวบ จะอยากปลุกปั่นก่อการปฏิวัติ (ที่พ่ายแพ้ไปเสียทุกครั้ง) จะขลุกตัวอยู่ในห้องทดลอง สร้างเจ้าปลาน้อยทำจากทองเพื่อจะหลอมทำลายแล้วสร้างใหม่

เจอลูกสาวในไส้และนอกไส้ที่พัลวันกับไฟรักไฟริษยาเพราะรักผู้ชายคนเดียวกัน

เจอพี่ที่เอากับน้อง หลานที่อยากเอากับน้า ลูกที่อยากเอากับแม่ บางทีก็อยากเอากับสัตว์

เจอเส้นทางรถไฟ ไฟฟ้า โรงงาน และความเจริญมากมายชวนตื่นตา

เหลนชายแฝดมุทะลุที่เป็นสักขีพยานความอยุติธรรมของนายทุน เผด็จการ และการสังหารหมู่ประชาชนหลายพันคน ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นแค่ตำนานปรัมปราที่ไม่มีใครจดจำ

เหลนสาวที่จะลอยหายขึ้นไปบนฟ้า เมียน้อยที่เป็นดั่งเทพธิดาแห่งการตกลูกและเจริญพันธุ์ แต่ไม่เคยมีลูกเป็นของตัวเองแม้สักครั้ง

เมียหลวงที่หลอกตัวเองไปวันๆ ด้วยการจินตนาการถึงการอยู่บนเสลี่ยงสูงส่งของศีลธรรมจอมปลอม

ฝนโปรยปรายที่เหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดกับคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ของผู้มีอำนาจ

คู่รักเพ้อคลั่งที่ลงเอยด้วยกระดูกสันหลังแหลกสะบั้นและลูกกำพร้าอาภัพที่จะมาได้กับน้าตัวเองอีกต่อหนึ่งเพื่อให้ครอบครัวล่มสลายให้จบๆ ไปตามคำทำนายโดยไม่ได้ตั้งใจ วาระสุดท้ายของหมู่บ้านที่จะกลายเป็นผุยผงไปตลอดกาล

และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เวลาที่อดีต ปัจจุบัน อนาคต เหลื่อมทับกันจนเกือบแยกไม่ออก…

 

เอาเข้าจริง สิ่งที่ตรึงเราไว้กับหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประเด็นสังคมการเมืองเข้มข้นอะไรที่เค้าอ้าปากหวอวู้วว้าวกันหรอก มันคือความน้ำเน่าแบบที่ละครหลังข่าวช่องไหนก็สู้ไม่ได้นี่แหละ

เพราะมันน้ำเน่าเหลือเกิน ทั้งชีวิตรัก ทั้งปมตัวตน ทั้งสังคมและการเมืองที่ไร้ทางขัดขืนอย่างบัดซบ ขณะเดียวกันก็ตลกหน้าตายอย่างร้ายกาจ

ตัวละครพิลึกพิลั่นแทบทุกตัวในนั้นมีชีวิตชีวาและน่าติดตามเอาเหลือเกินจนค้นพบว่าผังตระกูลอะไรก็ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ลองได้ถูกเหตุการณ์ดราม่าตลกร้ายกระชากหัวใจเข้าได้สักตอนหนึ่งก็ไม่มีวันลืมใครในนั้นได้อีกแล้ว

ถ้าคุณชอบนิยายน้ำเน่า ไม่มีทางที่คุณจะไม่รักเล่มนี้ (และต่อให้คุณเกลียดนิยายน้ำเน่า แต่รักการท้าทายประวัติศาสตร์และมั่นใจว่ายืนหนึ่งในการจำทนเป็นพลเมืองของสังคมเซอร์เรียล คุณก็จะรักหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยากอยู่ดี)

ในลานมหรสพของความโดดเดี่ยวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านมาก็อนโด คุณจะได้สัมผัสความหมกมุ่นในความโดดเดี่ยวของตัวละครมากหน้าหลายตา กระทำการซ้ำซากเพื่อวิ่งหนีความโดดเดี่ยวหลากรูปแบบที่คุณอาจเคยลองทำสักอย่างสองอย่าง

ทั้งความโดดเดี่ยวจากความรู้สึก “ไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน”

ทั้งความโดดเดี่ยวจากความสามารถที่จะรักและถูกรัก

ทั้งความโดดเดี่ยวจากอุดมคติต่อครอบครัวและสังคมที่คาดหวัง

ทั้งความโดดเดี่ยวจากความจริงที่กลายเป็นของปลอมไปเสียดื้อๆ

แต่คุณว่าอะไรมันน่าทึ่งกว่ากัน ระหว่างความโดดเดี่ยวมากมาย ตัวละคร-เรื่องราวมหัศจรรย์พันลึกสุดน้ำเน่าพวกนี้

กับสังคมที่ทำคลอดผู้คนและภาวะโดดเดี่ยวไร้ที่สิ้นสุดนี้ขึ้นมา?

 

โลกที่สาม
: ดินแดนแห่งสัจนิยมมหัศจรรย์?

“สัจนิยมมหัศจรรย์” (Magical Realism) ไม่เหมือนสัจนิยมที่มุ่งนำเสนอโลกและกฎเกณฑ์ของความจริง ไม่เหมือนแฟนตาซีที่มุ่งนำเสนอโลกและกฎเกณฑ์ใหม่

พูดให้สั้นที่สุด มันคือ “การผสานความจริงและความมหัศจรรย์ไว้ในโลกและตรรกะใบเดียวกัน”

ชวนให้คนอ่านในโลกจริงรู้สึกประดักประเดิด สงสัย ไม่ไว้วางใจ และรู้สึกบ้าบอคอแตกกับมันตลอดเวลา (ขณะที่ตัวละครในเรื่องอาจเลิกคิ้วเล็กน้อยแล้วใช้ชีวิตประจำวันต่อไป)

ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ (จริงๆ ไม่ใหม่ แต่เพิ่งรู้ตอนเสิร์ช) คือสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์และภาพจำของวรรณกรรมละตินอเมริกาในสายตาเราๆ ไม่ได้ถูกทำคลอดที่แถบละตินอเมริกา กลับมีต้นกำเนิดจากวงการวิจารณ์ศิลปะจากยุโรปแท้ๆ แต่ไม่เป็นที่นิยมเอาซะเลยเมื่อเทียบกับแนวสัจสังคมนิยมและแนวเซอร์เรียล ก่อนจะข้ามฟากมาและถูกหยิบมาใช้ในงานเขียนละตินอเมริกาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 เพื่อสะท้อนสังคมละตินอเมริกาจนเฟื่องฟู

และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังจากหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1982*

กลายเป็นว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ไม่ใช่แค่ของที่เหมือนถูกสงวนไว้เป็นโอท็อปแถบละตินอเมริกาและประเทศโลกที่สามเท่านั้น

แต่ยังแทบจะไปกันไม่ได้ต่อไม่ติดกับโลกฝั่งยุโรปไปเสียฉิบ…

แต่ความเป็นไปนี้ก็ดูสมเหตุสมผลขึ้น เมื่อเราพยายามนึกถึงความสมเหตุสมผลแบบ “ยุโรปๆ” และโลกยุค Enlightenment ที่นั่น โลกที่แทบไม่มีที่ทางให้เรื่องเหนือจริง ความเชื่อ ตำนาน รวมถึงความจริงที่พ้นไปจากความรับรู้ที่วัดผลได้ตามวิถีของความเป็นศาสตร์ ซึ่งก็กลับมาคล้องกันกับคำกล่าวที่ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ดำรงอยู่เพื่อคัดง้างและท้าทายอาณานิคมการปกครองและอาณานิคมความรู้ของโลกตะวันตก ผ่านการให้อิสระกับเรื่องมหัศจรรย์และความเป็นไปได้ไร้ขีดสุดที่แทรกตัวก่อกวนความจริง

และดำเนินขนานกันไป เพื่อ “ยั่วล้อ” โลกความเป็นจริงเข้าอีกทีว่าก็ไม่ได้มหัศจรรย์น้อยไปกว่ากันสักเท่าไหร่หรอก…

ก็มันจะมหัศจรรย์แค่ไหนกันเชียว การที่วิญญาณตายห่านั่นไม่อาจหลับใหล เฝ้าคอยปรากฏกายพร้อมใบหน้าหมองเศร้า ในเมื่อในโลกแห่งความเป็นจริง อำนาจก็พร้อมจะเร่งเสียงเพลงดังๆ กลบเสียงและรูปรอยของความหดหู่จากคนที่ถูกกดขี่มากมาย ฉาบทับบ้านเมืองไว้ด้วยวอลล์เปเปอร์ “ทุกอย่างยังปกติดี” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มันจะมหัศจรรย์แค่ไหนกันเชียว ที่การต่อสู้และความตายของคนเรือนพันจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่ถูกลืม ในเมื่อโลกความเป็นจริงมีความตายมากมายกว่านั้นไม่รู้กี่เท่าที่ถูกหลงลืม พร้อมๆ กับความตายครั้งใหม่ของใครต่อใครที่เราเกือบจะชินกันไปเสียแล้ว…

มหัศจรรย์น้อยลงแล้ว เห็นไหม…

สุดท้ายบทปิดท้ายที่คนเขียนเขียนว่า “เมืองแห่งกระจกเงา (หรือภาพลวงตา) นี้จะถูกกระแสลมพัดพาไปและถูกขับออกจากความทรงจำของมนุษยชาติทันทีที่เอาเรเลียโน บาบิโลเนีย ถอดความแผ่นหนังเสร็จสิ้น

และทั้งหมดทั้งมวลที่ถูกจารึกไว้ในนั้นไม่อาจเกิดซ้ำ ได้โดยตลอดและตลอดไป เพราะพงศ์พันธุ์ที่ถูกจองจำให้อยู่ในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวนั้นไม่มีโอกาสเป็นหนที่สองบนผืนปฐพีนี้” จึงไม่จริงหรอก…

เพราะพงศ์พันธุ์ที่ถูกจองจำให้อยู่ในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวยังคงมีชีวิตอยู่ สืบสู่ลูกสู่หลานอยู่ตรงนี้ – ทุกเมื่อเชื่อวัน…

 

หากมันจะล่มสลายซ้ำซากก็ช่างมันปะไร

ในความสนุกมาก รักมาก เราไม่ปฏิเสธว่ามีจุดที่ขมวดคิ้วอยู่มากๆ เหมือนกัน

ทั้งต่อคนเขียนและต่อคำอธิบายจากบางแหล่ง (ที่มีต่อหนังสืออีกทีหนึ่ง)

ซึ่งดูเหมือนจะเสนอให้เหล่าเจ้าของชีวิตน้ำเน่าชาวบวนเดียได้โลดแล่นแล้วล่มจมไปในฐานะตัวแทนของคนด้อยพัฒนาที่ถูกครอบงำ ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ควบคุมตัวเอง โง่งม จมกับอดีต ต้องพ่ายแพ้แก่โชคชะตาและถูกจองจำไว้ประวัติศาสตร์ของความโดดเดี่ยว

เป็นหนูที่วิ่งในวงล้อของเรื่องราวและการกระทำที่พลาดพลั้งไม่รู้จำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เป็นเหมือนแค่เครื่องมือในการคลี่ขยายความเจ็บปวด ทุกข์ระทม ความไม่เป็นธรรม

เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องของเรื่องเล่าที่พยายามจะเล่าว่าเราคือเครื่องมืออันน่าเวทนาในสังคมบิดเบี้ยวอีกทีหนึ่ง อืม โหดเหี้ยมย้อนแย้งดีไหมล่ะ…

แต่เพราะคนเขียนตายแล้ว (ทั้งในทางวรรณกรรมและทางวิทยาศาสตร์) อำนาจในการตีความและตีขลุมมากมายจึงยังเป็นของเราด้วยเช่นกัน แม้มันจะจบลงด้วยการล่มสลายตายจาก แต่เป็นไปได้ไหมว่าความผิดพลาดซ้ำซากของครอบครัวบวนเดีย (ที่รวมถึงการตั้งชื่อลูกหลานซ้ำซากกันไปอีกหกรุ่นด้วย) เป็นความดื้อดึงท้าชะตาชีวิต (ที่คนเขียนกำหนดไว้ให้) โดยตั้งใจและฟันฝ่าไปจนนาทีสุดท้าย ไม่ใช่การเดินเซแล้วจับพลัดจับผลูไปตกอยู่ในวังวนความเศร้าไม่รู้ตัว แต่เป็นความท้าทายและความหวังว่าจะได้ลุกขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงโชคชะตา

ก็ถ้านี่ไม่ใช่โลกที่ถูกกำหนดตอนจบไว้ด้วยปลายปากกาของคนเขียนเสียแล้ว จะไม่มีสักครั้งเชียวหรือไงที่อนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา แต่ต่อให้ใช่ ต่อให้ตัวละครในเรื่องจะหยั่งรู้อนาคตล่วงหน้าว่าสุดท้ายจะล่มจมโดยไม่ต้องแกะแผ่นหนัง การดันทุรังทำในสิ่งที่เชื่อและการต่อสู้ที่ดูไร้ค่าของคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ก็ไม่เห็นจะผิดแปลกอะไร

ในเมื่อโลกมันโดดเดี่ยวและบัดซบขนาดนี้

จะขอสู้สักตั้ง,

หากมันจะล่มสลายซ้ำซากก็ช่างมันปะไร…