วอชเชอร์ : ประเทศไทยยังห่างไกลกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ดี?

แล้วก็มาถึงวันสุดท้ายของปี 2562 ตลอดทั้งปีมานี้ ประเทศได้ก้าวย่างเปลี่ยนสู่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยและกลไกรัฐสภาแทนระบอบเผด็จการทหารที่อยู่มานาน 5 ปี แต่ก็ดูเหมือนไม่พ้นจริงๆ

หลังจากต้องเลื่อนเลือกตั้งซ้ำซากจนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องมาทวง แม้ต้องแลกกับโดนคดีเพื่อปิดกั้นการแสดงออก แต่ก็ทำให้การเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม

หลายพรรคการเมืองร่วมหาเสียง แต่บรรยากาศการแตกขั้วทางการเมืองก็ยังคงเห็นชัด แม้จะมีแผ่นดินไหวทางการเมืองในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ให้ตกตะลึงและเขย่าการรับรู้แต่เดิมในสังคมไทยก็ตาม

ในที่สุด สังคมไทยต้องเลือกระหว่าง “ความเปลี่ยนแปลง” กับ “ความสงบ” แต่ดูเหมือนเสียงทั้งสองจะสูสีกันในวันที่ 24 มีนาคม ถึงกระนั้น ด้วยกลไกอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2560 บวกกับมรดกและวัฒนธรรมระบอบเผด็จการทหารของฝ่ายจารีตนิยมที่กระชับอำนาจไม่ให้เสียของเหมือนรัฐประหาร 2549

ทำให้เดือนพฤษภาคม ก็ได้รัฐบาลผสม 19 พรรค (รวมถึงพรรคขนาดกลางและพรรคจิ๋ว) พ่วงกับ ส.ว. 250 คน ซึ่งหลายคนเป็นคนหน้าเดิม จากบรรดาแม่น้ำ 5 สายที่เกิดขึ้นจากระบอบเผด็จการทหาร คสช.

 

แม้รัฐบาลอวตาร คสช.จะกลับมามีอำนาจได้ แต่สิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกับพวกเขาอย่างคาดไม่ถึงนั้นคือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับ 3 ถึง 80 คน และเพราะเป็นพรรคที่มีจุดยืนตรงข้ามกับอุดมการณ์ของฝ่ายจารีตนิยมอย่างแจ่มชัด พรรคน้องใหม่จึงตกเป็นเป้าไปโดยปริยาย

ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ แม้จะได้ส.ส.นั่งในสภามาก แต่ตลอดทั้งปี พรรคนี้นอกจากต้องเจอศึกนอก จากฝ่ายตรงข้ามที่ประกาศตัวชัดว่าเป็นศัตรู โดยเฉพาะกลุ่มฟาสซิสต์ที่มีในแวดวงข้าราชการ นักการเมือง สื่อมวลชน ผู้ทรงอิทธิพลและมวลชน ซึ่งแสดงให้เห็นจากความเคลื่อนไหวปลุกระดมโดยนักการเมืองปีกขวา และคดีความต่างๆที่ถาโถมใส่ไม่ยั้ง

พรรคยังต้องเจอศึกใน ที่มีปัญหาตั้งแต่การเลือกผู้แทน การบริหารจัดการที่สิ่งที่เคยประกาศไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นดูย้อนแย้งกัน ไม่นับรวมถึงสมาชิกและแกนนำที่สร้างประเด็นถกเถียงปรากฎบนหน้าสื่อ ทำให้ตกเป็นเป้าวิจารณ์แม้แต่จากฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน หรือการเกิดขึ้นของ 4 งูเห่าสีส้มที่ถูกพรรคขับออกไป

นั้นก็ทำให้หลายคนมองพรรคอนาคตใหม่แทนที่จะเฝ้ามองด้วยความหวัง กลับต้องจับตามองด้วยความกังวลแทน

 

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เผชิญความตึงเครียดภายใน แม้จะเปลี่ยนกรรมการบริหารใหม่เข้ามา เพื่อหวังกอบกู้โอกาสครองใจประชาชนหลังต้องเสียไปจากการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่พรรคเพื่อไทยก็กำลังเผชิญบททดสอบตัวเอง เมื่ออดีตนักการเมืองที่เคยร่วมงานตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย เลือกย้ายมาอยู่พรรคฝั่งตรงข้ามอย่างพลังประชารัฐ ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งทุน กลไกอำนาจรัฐคอยสนับสนุน

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2562 และการเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น ถือเป็นประจักษ์อย่างดีต่อสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญ

และก็ไม่รู้ว่า พรรคเพื่อไทยต่อให้ชนะถล่มทลาย จะออกมาเป็นรัฐบาลในแบบไหน ในเมื่อกลไกอำนาจรัฐต่างๆไม่ให้ความร่วมมือและพร้อมกำจัดรัฐบาลที่ไม่ถูกใจได้ทุกเวลา

 

ส่วนกลไกนอกระบบการเมืองแบบรัฐสภา อย่างโครงสร้างระบบข้าราชการและกองทัพ แม้ตอนนี้จะสามารถไปกันได้กับอวตาร คสช.หรือรัฐบาลผสมนำโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่การบริหารนโยบายด้วยวิธีที่ทำกันมาตลอด 5 ปี และจะทำแบบนี้ต่อไป สังคมไทยได้แสดงอาการความผิดปกติ

แทนที่จะดูแลความสงบเหมือนตามปกติ แต่การปรากฎของทหารในเครื่องแบบที่ปะปนกับประชาชนเหมือนยุค คสช.ก็ยังเหมือนเดิม กลไกความมั่นคงก็ยังคงทำงานเหมือนยุครัฐบาลทหาร ในการเฝ้าติดตามนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชนหรือใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตั้งคำถามกับการบริหารประเทศที่ทำไมไม่เห็นสัญญาณของความหวังใหม่

รวมถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของบรรดาผู้นำเหล่าทัพแต่ทำให้สังคมออกมาวิจารณ์ไปจนถึงเสียดสีต่อบรรดาศัพท์แสงที่ผุดขึ้นมาทั้ง ฮ่องเต้ซินโดรม สงครามลูกผสม หรือวิกฤตตัวแทน ได้สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของกองทัพและความหวาดหวั่นของชนชั้นนำต่อปรากฎการณ์ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว

ทั้งๆที่ย้ำกับสังคมว่าจะเป็นกลางทางการเมือง แต่อากัปกิริยากลับแสดงให้เห็นว่าได้เลือกข้างอย่างชัดเจนและพร้อมตอบโต้ใครก็ตามที่วิจารณ์ตามหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฎเสมอ

 

แม้รัฐบาลปัจจุบันนี้จะมีนักบริหารหรือมือเศรษฐกิจที่ยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ทำให้ประเทศไทยที่ผู้นำประเทศย้ำกับสังคมไทยและต่างประเทศว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ดูเหมือนประเทศนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังไกลขึ้นเรื่อยๆ

ประชาชนกระทำอัตวินิบาตกรรมจากพิษเศรษฐกิจไปไม่น้อย โรงงานปิดตัว ทิ้งพนักงานหลายพันชีวิตต้องเคว้งกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลนี้บริหารประเทศล้มเหลว จนถึงขั้นเบื่อนายกฯจากเสียงหนึ่งในสถานีขนส่งหมอชิตและลุกลามขยายตัวในโลกออนไลน์ ก็อาจมีสิทธิ์ถูกแจ๊คพอตโดนยัดเยียดว่าเป็นพวกชังชาติได้ กลายเป็นว่าเสียงทวงติงเพ่ื่อตักเตือนให้รีบแก้ไข ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ผิด เป็นอาชญากรรมรุนแรง

ตรงกันข้าม สิ่งที่ใครก็ตามทำไม่ถูกต้องตั้งแต่รุกป่า คว้าปริญญาปลอม เคยมีคดีความยาเสพติด หรือมีทรัพย์สินไม่โปร่งใส ทุจริตโครงการต่างๆ ซึ่งผิดกฎหมายและควรได้รับโทษ แต่พวกเขาเหล่านั้นหากอยู่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐก็รอดลอยนวลพ้นผิดได้ตลอด

ความเที่ยงธรรมและหลักกระบวนการยุติธรรม (Due Process) ที่หลายคนปรามาสว่าเป็น 2 สิ่งที่ไม่มีอยู่ในประเทศไทย ก็ยิ่งตอกย้ำให้เลือนหายลงเรื่อยๆ

ดูเหมือนประเทศไทย ปี 2562 ความหวังที่หลายคนคาดหวัง กลับต้องกลายเป็นหวังลมๆแล้งๆ และเกรงว่าปีหน้า รัฐบาลปัจจุบันนี้กำลังทำให้สังคมไทยได้ความสิ้นหวังมาแทน