นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หากทรัมป์ยังอยู่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมรู้สึกว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นหมุดหมายสำคัญของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองภายในของสหรัฐเอง (เหมือนประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ๊กสัน) ในขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าทรัมป์จะอยู่ในตำแหน่งนานหรือไม่ก็ตาม

ผมจึงตามอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ทั้งไทยและเทศ แต่พบว่าท่านต่างสงวนท่าที เพราะยุคสมัยของทรัมป์ยังน้อยเกินกว่าจะฟันธงอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดได้ ฟันอะไรลงไปก็อาจทำให้ท่านเสียสถานะของผู้เชี่ยวชาญได้ ไม่ถูกใจโก๋ครับ อย่ากระนั้นเลย โก๋จึงขอฟันเองอย่างวืดๆ วาดๆ ไม่ถูกอะไรเลยก็ได้ เพราะไม่มีสถานะอะไรจะให้เสีย

ขอเริ่มจากประเด็นว่า ทรัมป์จะอยู่หรือไป?

ผมตอบไม่ได้หรอกครับ ไปตามวาะนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่จะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขดังนี้

เวลานี้เสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาเป็นของพรรคช้าง และแม้ว่าเอาเข้าจริงทรัมป์เองก็เป็น “คนนอก” ของพรรคนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไร พรรคก็คงไม่อยากให้ประธานาธิบดีในนามของพรรคต้องถูกมติขับออกแน่ (เสียหายทั้งพรรคและเสียหายทั้งระบบการเมือง) จึงน่าจะคิดประคองทรัมป์ไว้ให้อยู่จนครบวาระ

แม้กระนั้นก็มีเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งคือ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนหนึ่งของวุฒิสมาชิกต้องลงสนามเลือกตั้งใหม่ตามวาระ หากทรัมป์ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในหมู่ชาวอเมริกันอย่างกว้างขวาง พรรคช้างก็อาจต้องสูญเสียที่นั่งไปให้แก่พรรคลาจำนวนมาก จนไม่อาจเป็นฝ่ายเสียงข้างมากได้ต่อไป ในกรณีเช่นนั้นวุฒิสมาชิกพรรคช้างย่อมแสดงท่าทีต่อต้านทรัมป์ในสภา เพื่อรักษาที่นั่งของตนไว้

นอกจากเสียงของประชาชนแล้ว วุฒิสมาชิกพรรคช้างจะเลือกใช้ท่าทีอย่างไรยังขึ้นอยู่กับว่า ทรัมป์เองจะยอมให้พรรคช้างเข้ามาต่อรองนโยบายและกำกับควบคุมได้มากน้อยเพียงไรด้วย หากทรัมป์ยอมในระดับหนึ่ง แรงกดดันแก่วุฒิสมาชิกพรรคช้างก็ลดลง

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

ส่วนเรื่องรัฐประหารนั้นลืมไปได้เลย ที่ดาราคนหนึ่งบอกให้ทหารเลิกฟังคำสั่งประธานาธิบดีนั้น เป็นความเห็นส่วนน้อยนิดของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่นอกกะลา (ขอพระเจ้าอวยพรประเทศอเมริกา) กองทัพที่ไม่ฟังคำสั่งผู้นำพลเรือนเพียงครั้งเดียว จะไม่มีวันกลับมาเป็นกองทัพของชาติได้อีกเลย เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนอกกฎหมายเพียงครั้งเดียว ศุลกากรที่เรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บภาษีตามกฎหมายเพียงครั้งเดียว ปศุสัตว์ที่ปิดบังโรคระบาดสัตว์เพียงครั้งเดียว ฯลฯ แม้จะอ้างว่าทำสิ่งเหล่านั้นเพื่อชาติ แต่พวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่เกาะกินชาติตลอดไป

ถ้าผมมีเงินมากๆ จะเชิญดาราคนนั้นมานอนโรงแรมชั้นหนึ่งในจาการ์ตา, กรุงเทพฯ และย่างกุ้ง สักแห่งละสัปดาห์ ออกสตางค์ให้เที่ยวเล่นได้ตามสบาย มีข้อแม้อยู่อย่างเดียวคือต้องอ่านหนังสือพิมพ์ที่ออกในสามเมืองนั้นทุกวัน

ดังนั้น ถ้าทรัมป์ยังอยู่ ก็อย่าวาดภาพทรัมป์เหมือนคนวิกลจริต ทั้งสังคมอเมริกันและตัวทรัมป์เองย่อมต้องปรับตัวเข้าหากัน นโยบายที่ดูเหมือนวิกลจริตของเขา ก็จะถูกปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ผมจะขอพูดแต่นโยบายต่างประเทศในเอเชียตะวันออก หรือภาคพื้นแปซิฟิก เพราะผมสนใจอยู่แค่นั้น

AFP PHOTO / DON EMMERT AND Natalia KOLESNIKOVA

ทรัมป์และทีมของเขาไม่มองคู่อริเก่า คือรัสเซียเป็นคู่แข่งอีกต่อไป อันที่จริงการเปลี่ยนมุมมองอันนี้น่าจะถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ผมอยากเดาด้วยซ้ำว่าการเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ได้เกิดกับประธานาธิบดีคนก่อนๆ แล้ว เพียงแต่ไม่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเพราะติดขัดด้วยการเมืองภายใน

รัสเซียไม่ใช่สหภาพโซเวียต แต่เป็นส่วนอ่อนแอเละเทะที่เหลือรอดมาจากสหภาพโซเวียตต่างหาก จึงไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันกับสหรัฐได้ในทุกทาง การเมืองของรัสเซียก็กลายเป็นการปกครองของมาเฟียทุนนิยมไปแล้ว ไม่อาจบันดาลใจประเทศไหนให้ศรัทธาได้อย่างแน่นอน เศรษฐกิจรัสเซียไม่ได้เงยหัวขึ้นมาจากยุคล่มสลายของสหภาพโซเวียตนานแล้ว ว่าที่จริงก็แทบไม่ต่างจากประเทศด้อยพัฒนาอีกมาก คือขุดทรัพยากรขายไปวันๆ รัสเซียมีคนเก่งๆ อยู่แยะ แต่ต่างก็ดิ้นรนหาทางที่จะออกไปอยู่นอกประเทศ เพราะไม่มีโอกาสใช้ความสามารถในบ้านตนเอง พลานุภาพทางทหารที่เหลือตกทอดมาจากสมัยโซเวียตยังทำให้รัสเซียเป็นมหาอำนาจทางทหารอยู่ก็จริง แต่พลานุภาพนั้นทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีฐานทางสังคมสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งรัสเซียไม่มีในขณะนี้

(มีแต่กองทัพโง่ๆ ที่ไม่เคยทำสงครามกับใครเลย นอกจากประชาชนของตนเองเท่านั้น ที่คิดว่าจรวดถูกยิงจากฐานได้เพราะพลทหาร)

และด้วยเหตุดังนั้น รัสเซียจึงไม่อาจคุกคามสหรัฐ หรือประเทศในเขตอิทธิพล-ผลประโยชน์ของสหรัฐได้ นาโต้นั้นหมดหน้าที่ไปแล้ว สมาชิกยุโรปดูแลปกป้องตนเองได้แน่ แต่หากเป็นสงครามใหญ่ สนธิสัญญากับสหรัฐก็ทำให้ร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐทำงานแน่ และว่าที่จริงในปัจจุบัน ดูไม่มีทิศทางที่ชัดเจนแน่นอนอย่างแต่ก่อนเสียแล้วว่า จรวดของสหรัฐในยุโรปควรจะหันหัวไปทางไหน

เมื่อสหรัฐหันไปทางตะวันออก นโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวอย่างที่ว่ากันว่าเป็นนโยบายของทรัมป์ก็ดูมีเหตุผลดี แต่ไม่ใช่การแยกตัวแน่ เมื่อหันมาทางตะวันตก และทรัมป์ก็ทำให้เห็นแล้วว่าอเมริกาจะปกป้องอิทธิพล-ผลประโยชน์ของตนในแปซิฟิกไว้ระดับหนึ่งแน่

ประเทศเดียวที่มีศักยภาพจะเป็นคู่แข่งขันของสหรัฐได้ในเวลานี้คือจีน คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จีนจะมีสมรรถนะด้านการทหารเท่าเทียมสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว (ในขณะที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ) แต่จะเป็นเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเท่าสหรัฐก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน (หากจีนสามารถก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง)

 

แม้ยังไม่เท่าเทียมสหรัฐ แต่เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันก็ใหญ่มาก มีเงินลงทุนในรูปต่างๆ ทั่วโลก (รวมทั้งจำนวนมากลงทุนไปกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ) เป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือในรูปต่างๆ แก่ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายแห่งในเอเชีย, แอฟริกา หรือแม้แต่ละตินอเมริกา นับเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาผลประโยชน์ด้านการค้า, การลงทุน และการเข้าถึงทรัพยากรของจีนทั่วโลก (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่ของจีนนั้นไม่อุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรใต้ดินเลย เมื่อเทียบกับดินแดนกว้างใหญ่อื่นๆ เช่นอเมริกาทั้งสอง, ยุโรป, รัสเซีย, หรืออินเดีย ทรัพยากรจากประเทศอื่นจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของจีนเอง) ดังนั้น แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าจีนคือมหาอำนาจแล้ว

อันที่จริง หากไม่มองในฐานะคู่แข่ง เศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจสหรัฐเกื้อหนุนกันและกันอยู่มากทีเดียว จีนทำให้คนจนอเมริกันสามารถมีมาตรฐานการครองชีพไม่ตกต่ำจนเกินไปได้ เพราะมีสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากจีนให้ใช้ สหรัฐจึงเป็นตลาดระบายสินค้าสำคัญของจีน ลำโพงโบ๊สหรือไอแพดของอเมริกันจะขายไม่ได้เลย หากไม่ส่งไปผลิต-ประกอบในจีน (และโซนี่ก็อาจไม่เจ๊ง) ในขณะเดียวกัน จีนก็เข้าไปลงทุนในสหรัฐไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งทำให้การลงทุนในสหรัฐไม่ลดลงมากเกินไป และจีนได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตบางอย่างกลับไปด้วย

แต่จะมองว่าจีนเป็นคู่แข่งก็ได้เหมือนกัน ไม่ถูก 100% แต่ก็ไม่ผิด 100% จีนจะพัฒนาต่อไปได้ก็ต้องมีเขตอิทธิพล-ผลประโยชน์ของตนเอง อย่างเดียวกับที่ยุโรปตะวันตกเคยมีอาณานิคม และสหรัฐมีเขตอิทธิพล-ผลประโยชน์ของตนเองมาแล้ว ดังนั้น การสถาปนาเขตอิทธิพลของตนขึ้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ – เพื่อประกันความปลอดภัยด้านยุทธศาสตร์, ประกันตลาดระบายสินค้า, ประกันแหล่งลงทุน, ประกันว่าทรัพยากรที่จำเป็นจะไม่ขาดแคลน ฯลฯ – ทำให้จีนต้องแข่งขันกับสหรัฐในเรื่องนี้เป็นอย่างน้อย

ทรัมป์ใช้ประโยชน์จากสถานะของจีนในการหาเสียง คนตกงานในสหรัฐ (หรือถึงไม่ตกงานก็มีรายได้ลดลง หรือขาดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถูกกระบอกเสียงของเสรีนิยมใหม่นำให้โทษสิ่งอื่นๆ นับตั้งแต่นโยบายสิ่งแวดล้อม, ความเบี่ยงเบนจากศีลธรรมคริสเตียน, ผู้อพยพ, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฯลฯ และจีน เป็นต้นเหตุ ทรัมป์ซึ่งชอบดูทีวีมากกว่าอ่านหนังสือจึงรับเอา “แพะ” เหล่านี้มาเป็นประโยชน์ในการเป็นผู้สมัครคนเดียวที่สามารถทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้อีก

AFP PHOTO / STR / China OUT

แม้เป็นแค่นโยบายหาเสียง แต่ก็มีฐานความเป็นจริงสนับสนุนอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ในเอเชียจึงต้องเป็นนโยบายสกัดจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายกีดกันทางการค้าที่จะกระทำแก่จีนโดยเฉพาะนั้น ผมอยากจะเดาว่าทำไม่ได้ หรือไม่สำเร็จ จีนตอบโต้อย่างฉลาดมากในคำปราศรัยของ สี จิ้น ผิง ที่ดาวอส คือย้ำถึงคุณค่าของการค้าเสรี (อย่างที่ตะวันตกพูดย้ำมากว่าศตวรรษแล้ว) และอันตรายของการกีดกันทางการค้า คำปราศรัยของเขาได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของสหรัฐในยุโรป

ทรัมป์จะถูกทั้งพันธมิตร, พรรคช้าง และระบบราชการของสหรัฐโน้มน้าว (อย่างละมุนหรือแข็งกร้าวก็ตาม) ให้ไม่ทำลายองค์กรการเงินการคลังและการค้าโลก ซึ่งสหรัฐและพันธมิตรสู้อุตส่าห์สร้างขึ้นครอบงำโลกเสียเอง ผมอยากเดาด้วยว่า “หากทรัมป์ยังอยู่” ได้ ก็ต้องยอม

นโยบายสกัดจีนที่มีอยู่ในมือสหรัฐจึงเหลือเพียงการสกัดด้วยแนวทางทหาร มากกว่าการค้าหรือการทูต นับว่าสมเหตุผลมากกว่าอย่างอื่นด้วย เพราะอำนาจสูงสุดของสหรัฐเวลานี้คืออำนาจทางทหาร และอำนาจทางทหารของสหรัฐในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศ ซึ่งไม่มีใครเทียบได้

ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐจะสกัดจีนในแนวทหารโดยไม่ให้เกิดสงครามได้อย่างไร (อย่างที่รัฐมนตรีกลาโหมจีนกล่าวไว้ สงครามทำให้ทุกฝ่าย “แพ้” หมดอย่างแน่นอน – แม้ว่าจีนไม่มีทางเอาชนะสหรัฐได้ในเวลานี้ก็ตาม)

 

ทรัมป์หรือประธานาธิบดีคนใดคงได้เรียนรู้จากเวียดนามถึงอิรักแล้วว่า สหรัฐไม่ควรผูกมัดกำลังภาคพื้นดินของตนลงในดินแดนต่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น เพราะได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะเกิดสงครามกับจีนก็น้อยลงจนแทบไม่เหลือ เพราะจีน (ยัง) เป็นมหาอำนาจภาคพื้นทวีป ที่พร้อมจะปกป้องดินแดนของตนอย่างถึงที่สุด

ดังนั้น แนวทางทหารของสหรัฐจึงต้องเป็นการล้อมจีนไว้ด้วยกำลังทางเรือและอากาศ รักษาแปซิฟิกไว้เป็นพื้นที่ปลอดภัยอันกว้างใหญ่ของสหรัฐ การสร้างแนวดังกล่าวทำให้สหรัฐสมัยทรัมป์ต้องเข้ามาแทรกแซงในเอเชียตะวันออกอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนหน้า

แนวสกัดจีนดังกล่าวประกอบด้วยญี่ปุ่น (และเกาหลีใต้), ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, อาจจะสิงคโปร์ด้วย และออสเตรเลีย (เมื่อรวมกับอีกบางประเทศในตะวันออกกลาง ก็เท่ากับสกัดจีนในมหาสมุทรอินเดียไว้ระดับหนึ่งด้วย)

ไช่ อิง เหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน. / AFP PHOTO / SAM YEH

นี่คือเหตุผลที่ทรัมป์รับสารแสดงความยินดีโดยตรงจากประธานาธิบดีไต้หวัน แทนที่จะต้องผ่านตัวกลางอย่างที่ประธานาธิบดีอเมริกันเคยทำมา ทั้งยังส่งเสียงว่าควรมีการทบทวนเรื่องจีนเดียว แต่ผมออกจะเชื่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการส่งสัญญาณมากกว่าจะเริ่มสงครามเย็นรอบใหม่ และสัญญาณนั้นก็คือสหรัฐจะไม่ยอมให้จีนรวมไต้หวันด้วยกำลังเป็นอันขาด และหากไม่ใช้กำลัง กว่าจะรวมไต้หวันได้ก็อีกนานมากทีเดียว

ส่วนสิงคโปร์ ได้แสดงอาการยอมให้กองเรือที่ 7 ของสหรัฐใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว ท่าทีนี้อาจเปลี่ยนไปในภายหน้า หากอิทธิพลจีนในประเทศเพื่อนบ้านมีน้ำหนักมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะถึงอย่างไร ออสเตรเลียย่อมเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐแน่นอน

ฟิลิปปินส์เป็นเงื่อนสำคัญในแนวปิดล้อม นับตั้งแต่เมื่ออเมริกันทำลายสาธารณรัฐปฏิวัติที่เป็นเอกราชของฟิลิปปินส์ลงในปลายศตวรรษที่ 19 อเมริกันใช้อาณานิคมฟิลิปปินส์ในทางยุทธศาสตร์มาแต่ต้น ในช่วงแรกคือใช้เป็นฐานในการรุก (ทางการค้าและทางทหาร) เข้าสู่จีน ในช่วงต่อมาคือใช้เป็นแนวสกัดอิทธิพลญี่ปุ่นที่จะไหลบ่าลงทางใต้ และนับตั้งแต่หลังสงครามคือเป็นส่วนหนึ่งของแนวสกัดคอมมิวนิสต์

เพราะฉะนั้น ฐานทัพสหรัฐในฟิลิปปินส์จึงมีความสำคัญสุดยอดสำหรับอเมริกัน ดูแตร์เตจะฆ่าตัดตอนสักกี่ศพ จะด่าประธานาธิบดีด้วยคำหยาบคายอย่างไรก็ได้ แม้แต่จะยกเลิกสัญญาร่วมป้องกันกับสหรัฐก็ยังได้ แต่อย่าไล่ฐานทัพอเมริกันออกไป ซึ่งฟิลิปปินส์ก็ไม่น่าจะไล่ เพราะฐานทัพอเมริกันทำเงินให้ฟิลิปปินส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากดูแตร์เตคิดผิดได้ขนาดนั้น ซีไอเอก็จะเอาเขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ในประเทศที่อำนาจแท้จริงอยู่ในมือเจ้าที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ตระกูล ซึ่งล้วนมีความทะเยอทะยานทางการเมืองสูงทั้งสิ้น การเอาประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ออกไม่ใช่เรื่องยากแก่ซีไอเอแน่

ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรัมป์หรือประธานาธิบดีก่อนหน้า ไม่เคยแสดงความวิตกกังวลว่าจะตกอยู่ใต้อิทธิพลจีนเพิ่มขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศเหล่านี้จะปลอดจากอิทธิพลจีน ในเมื่อจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจเช่นนี้แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าอิทธิพลจีนจะขจัดหรือขัดขวางอิทธิพลและผลประโยชน์อเมริกันโดยสิ้นเชิงหรือไม่ ข้อนี้ก็ไม่น่าวิตกเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ ทรัมป์จะเรียนรู้หรือไม่ก็ตาม แต่ กต. อเมริกันเรียนรู้จากกรณีพม่าแล้วว่า อย่าแซงก์ชั่นประเทศใดอย่างเด็ดขาดเช่นนั้นอีก เพราะจะทำให้จีนได้ประโยชน์ไปฝ่ายเดียว

ถึงอย่างไร ประเทศในอุษาคเนย์ก็อยากจะมีมหาอำนาจไว้ถ่วงดุลกันเองมากกว่าต้องตกเป็นเบี้ยล่างอย่างเด็ดขาดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

เผด็จการทหารของบางประเทศอาจโง่เกินจะเข้าใจข้อนี้ แต่ไม่เป็นไร เพราะเผด็จการที่ไม่ฉลาดเหล่านี้ถูกแวดล้อมด้วยนายทุน, ข้าราชการ, นักวิชาการ, หรือแม้แต่ทหารด้วยกันเอง ที่มีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับสหรัฐไม่น้อย ไม่เฉพาะแต่ผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างเดียว หากรวมถึงผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ด้วย

คสช. ในประเทศไทยอาจบริภาษสหรัฐในคำให้สัมภาษณ์ หรือยุสลิ่มไปประท้วงหน้าสถานทูต แต่ขอให้สังเกตว่า คสช. ไม่คัดค้านหรือขัดขวางสหรัฐในเวทีโลก และพร้อมจะทำตามหรือสร้างภาพพจน์ของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สหรัฐวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเด็นการค้ามนุษย์, สิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญา, หรือแม้แต่สิทธิมนุษยชน

ส่วนการกดดันเรื่องประชาธิปไตย เป็นบังเหียนที่รัฐบาลอเมริกันไม่ว่าชุดใดคงไม่ปล่อย ส่วนจะใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลทรัมป์อาจไม่ใช้ หรือไม่ใช้บ่อยนัก แต่อย่าคิดเป็นอันขาดว่าทรัมป์จะปล่อยบังเหียน เพราะมันจะเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะกระตุกบังเหียน หากเผด็จการทหารไทยทำท่าจะออกนอกลู่นอกทางไปฝักใฝ่จีนเกินจำเป็น