“ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” มองอดีตและปัจจุบันผ่านรัฐธรรมนูญไทย : ประวัติศาสตร์สุดแสนพิสดารสู่อนาคตอันยากคาดเดา

(หมายเหตุ : สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายเรื่อง “รัฐธรรมนูญประชาชน บทเรียนจากอดีตและข้อท้าทายในปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเริ่มต้นด้วยการแสดงความยินดีกับแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (14 ธันวาคม 2562) กลางสกายวอล์กแยกปทุมวัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะกล่าว แม้เรื่องจะดูซ้ำๆ จนน่าเบื่อ แต่กลับรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่เหมือนเดิม

จากนั้นนายชาญวิทย์ได้กล่าวอ้างอิงจากหนังสือเล่มล่าสุดคือ “จาก 14 ถึง 6 ตุลา” หรือชื่อจริงของหนังสือคือ “ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่” ได้ให้สาระสำคัญเป็น 10 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ผู้มีอำนาจรัฐไทยมักใช้วาทกรรมไม่กี่คำ เช่น “ประชาชนยังไม่พร้อม” “ปฏิรูปก่อน” หรือ “ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับความเป็นไทย”

แต่จากการศึกษาในหลักประวัติศาสตร์ช่วงยาวจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสภา เป็นที่รับรู้ค่อนข้างดีในกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่มีการศึกษา

จนถึงปัจจุบัน ยังพบเห็นในชนชั้นล่างที่แม้จะไม่ได้รับการศึกษาสูงมากก็เข้าใจแนวคิดเหล่านี้ และมีความสำคัญกับพวกเขาอย่างมาก

ประเด็นที่ 2 รัฐไทยได้รับผลพวงจากโลกสมัยใหม่ ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติทางการเมือง ที่เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และกระแสสมัยใหม่เข้าสู่เอเชีย ชนชั้นสูงของไทยเริ่มรู้จักเรื่องราวของระบอบใหม่ เช่น คอนสติติวชั่น เพรสซิเดนต์ จากรัฐธรรมนูญอเมริกาฉบับแปลภาษาไทยของหมอบรัดเลย์ในปลายรัชกาลที่ 4

มาถึงรัชกาลที่ 5 ได้สำแดงผลผ่านคำกราบบังคมทูลความเห็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.103 นำโดย “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” พร้อมเจ้านายและขุนนาง ให้ไทยมีการปกครองแบบญี่ปุ่น รวมถึงนักคิดอย่างเทียนวรรณที่เสนอให้มีรัฐสภา อย่างไรก็ตาม กลับไม่สำเร็จ เพราะรัชกาลที่ 5 เสนอให้มีการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.2435 ก่อน

ในรัชกาลที่ 6 มีความพยายามเกิดขึ้นอย่างกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งเป็นนายทหารหนุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพความเสื่อมโทรมของการปกครองในประเทศและผลจากการปฏิวัติซิงไห่ของจีน นำโดย ดร.ซุนยัตเซน

แต่กลุ่มคณะผู้ก่อการ ร.ศ.130 ทำไม่สำเร็จ และถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ก็ได้รับการลดหย่อนเป็นจำคุกตลอดชีวิต

ประเด็นที่ 3 จนมาถึงสมัยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแนวคิดใหม่สามารถหยั่งรากได้ในปลายรัชกาลที่ 7 จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร

นายชาญวิทย์กล่าวโดยย่อว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กินเวลาถึง 4 รัชกาล จากหมอบรัดเลย์ถึงคณะราษฎรเป็นเวลา 67 ปี (2408-2475) ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพลังกดดัน พลังถ่วงรั้งก่อการดีหรือยังไม่ให้มีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย รัฐสภา และการเลือกตั้ง

จนกระทั่งตลอด 71 ปีของ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ยังเป็นปัญหาที่ผู้คนในระดับสูงยังแก้ไม่ตก และยกอ้างคำของ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ว่า “นับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มีการปฏิวัติ รัฐประหารถึง 15 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไป 28 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ”

กล่าวโดยย่อ การปฏิวัติ รัฐประหาร ประมาณ 1 ครั้ง ทุกๆ 6 ปี การเลือกตั้ง 1 ครั้ง ทุกๆ 4 ปี และมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ ทุกๆ 4 ปี ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่น่าพอใจนัก

 

นายชาญวิทย์กล่าวถึง ประเด็นที่ 4 ว่า ไทยผ่านยุคสมัยล่าอาณานิคม ยุคสงครามโลก ยุคสงครามเย็น ผู้นำของไทยสามารถนำประเทศผ่านพ้นไปได้ ทำให้ยกอ้างงานเขียนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าด้วยหลักคุณธรรมของชนชาติไทย ที่ระบุว่า

“ท่านได้ทรงกล่าวไว้ว่า เหตุที่ชนชาติไทยจะได้เป็นใหญ่ในสยามประเทศ เป็นเพราะมีกำลังมากกว่าชนชาติอื่น ซึ่งปกครองอยู่ก่อนนั้นเป็นธรรมดา แต่ที่ชนชาติไทยสามารถดำรงสยามประเทศได้มาช้านาน ถ้าจะนับเวลาก็เกือบ 700 ปีเข้าบัดนี้ จำต้องอาศัยคุณธรรมอย่างอื่นอันเป็นอุปนิสัยของชนชาติไทยด้วย ข้าพเจ้าพิจารณาตามหลักฐานในพงศาวดาร ชนชาติไทยมีคุณธรรม 3 อย่างเป็นสำคัญจึงสามารถปกครองสยามประเทศมาได้ คือ “ความจงรักอิสระของชาติอย่างหนึ่ง” “ความปราศจากวิหิงสาอย่างหนึ่ง” “ความฉลาดในการประสานประโยชน์อย่างหนึ่ง” (Love of National Independence-Toleration-Power of Assimilation)”

หากพิจารณาบริบทของพระนิพนธ์ ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกได้ ก็เพราะหลักคุณธรรม โดยเฉพาะเรื่องการผสานประโยชน์ ที่สะท้อนผ่านนโยบายต่างประเทศและการทูตของไทยที่ถูกขนามนามว่า นโยบายลู่ตามลม

ถ้าเราพิจารณาจากบริบทของพระนิพนธ์คำบรรยายครั้งนั้น ที่ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของฝรั่ง ดังนั้น คุณธรรมทั้ง 3 โดยเฉพาะความฉลาดในการผสานประโยชน์ ดูจะเหมาะสมอย่างยิ่ง

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชนชั้นปกครองไทยถึงกับมีความฝันจะเป็นหนึ่งใน NICs ตามติดไปกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้

 

อย่างไรก็ตาม นายชาญวิทย์กล่าวในประเด็นที่ 5 ว่า ไทยก็กลับเผชิญวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจในปลายทศวรรษ 1990 จากวิกฤตต้มยำกุ้ง การสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2538 กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประชวร

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวนั้นได้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นไปในทางสากล ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งยังมีองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลกลาง และที่สำคัญ ออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ดั่งที่ปรากฏในประเทศประชาธิปไตยชั้นนำอย่างสหรัฐและอังกฤษ

การปกครองตลอด 2 ทศวรรษล่าสุด ที่ในระยะแรกดำเนินไปด้วยดี แต่ในที่สุดก็เกิดวิกฤตการณ์ยาวถึง 21 ปี ผ่านรัฐบาลหลายชุด เช่น รัฐบาลทักษิณ สุรยุทธ์ สมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งการรัฐประหาร 2549 และ 2557

กลายเป็นเรื่องของวิกฤตการณ์ที่ทำให้เกิดขั้วตรงข้ามระหว่างเก่ากับใหม่

 

นายชาญวิทย์กล่าว ในประเด็นที่ 6 ว่า การเมืองไทยในปัจจุบันไม่เพียงแค่มีลักษณะของคู่ตรงข้าม การเมืองใหม่ครั้งนี้ยังขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ยังออกไปสู่เมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

และที่สำคัญ ยังกระจายลงสู่เบื้องล่างในเขตชนบทนอกเมืองอีกด้วย

เป็นการช่วงชิงระหว่างตัวแทนเครือข่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม ความคิดเดิม ชนชั้นเดิม vs. ตัวแทนเครือข่ายของอำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินทุนใหม่ ความคิดใหม่ ชนชั้นใหม่

อาจดูเผินๆ ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเสื้อเหลือง vs. เสื้อแดง แต่ถ้ามองลึกลงไปนั้นเป็นมากกว่าเรื่องสีเสื้อ ยังต้องพิจารณากลุ่มหรือพลังต่างๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ในสังคมที่กว้างขวางใหญ่โตของประเทศ ซึ่งนายชาญวิทย์แยกออกเป็น 5Ms นั้นคือ

M-1 ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย (Monarchy and its network)

M-2 ฝ่ายกองทัพ (Military) โดยเฉพาะทหารบก

M-3 ฝ่ายทุนและนายทุน (Money and Capital Businesses)

M-4 ฝ่ายชนชั้นกลางและสื่อมวลชน (Middle Class and Media)

M-5 ฝ่ายมวลชนและพระสงฆ์ (Mass and Monks)

โดย 4 M แรก ได้มามีบทบาทในความขัดแย้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในวิกฤตการณ์ยาวกว่า 2 ทศวรรษ

เหลือ M สุดท้าย ซึ่งอาจไม่ชัดเจนพอ ถ้ามองจากข้างบนของสังคม ในกรณีของฝ่ายมวลชนที่มีถิ่นฐานอยู่นอกกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ที่ผู้นำทางการเมืองไม่ว่ากลุ่มไหนในระดับสูงกว่าได้นำผู้คนหรือมวลชนกึ่งชนบท/กึ่งเมืองเข้ามาสนับสนุนและต่อสู้ให้กับฝ่ายตัวตน

นี่เป็นสิ่งที่นายชาญวิทย์เรียกว่าเป็น “การเมืองใหม่” ของไทย ที่เคยจำกัดวงผู้เล่นอยู่แต่ในเมืองหลวงหรือคนในหัวเมืองใหญ่มานาน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยโดยสิ้นเชิง

และบทบาทสำคัญของมวลชนใหม่นี้ ยังเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองในเมืองหลวงถึงขั้นค้างแรม หุงต้มกินอยู่บนท้องถนน ไม่ว่าย่านสถานที่ราชการในถนนราชดำเนิน ในและนอกท้องสนามหลวง หรือกระจัดกระจายออกไป จนถึงย่านศูนย์การค้าอย่างสี่แยกราชประสงค์

อย่างไรก็ตาม นายชาญวิทย์มองว่า มวลชนยังไม่ใช่องค์ประกอบชี้ขาดในการเมืองของการชุมนุมประท้วง เพราะบทบาทที่เด่นชัดในปี 2540 จนถึง 2560 จะอยู่กับการไปออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า ซึ่งประจักษ์ได้จากเสียงมวลชนผู้สนับสนุนปีกกลุ่มใหม่ ดั่งที่ปรากฏในการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2562

เป็นเสียงของมวลชนในชนบท ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คนชนชั้นสูงหรือชั้นกลางรับรู้และเชื่อมาตลอดว่า ซื้อได้ หรือโง่

 

นอกจากนี้ ใน 4 ประเด็นสุดท้าย นายชาญวิทย์สรุปสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับไทยว่า การคุกคามที่เกิดขึ้นกลับเกิดจากภายในประเทศเอง แม้พิจารณาหลักคุณธรรมของกรมพระยาดำรงฯ โดยเฉพาะหลักผสานประโยชน์ร่วมกัน หรือคำที่ใกล้เคียงกันที่สุดคือ ปรองดอง รอมชอมหรือเกี้ยเซียะ ก็ดูขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับวิกฤต 2 ทศวรรษของไทยที่เกิดขึ้นนั้น จึงเกิดคำถามใหญ่คาใจผู้คนคือ อนาคตของไทยจะเป็นเช่นใด

ไทยจะออกจากภาวะที่เรียกว่าเป็น Qua Vadis ได้หรือไม่

แต่เมื่อพิจารณาตามหลักประวัติศาสตร์พิสดารแล้ว ไทยไม่มีทางอื่นนอกจากเดินทางวิถีประชาธิปไตยต่อ

ขณะที่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มก้อนเก่า-ใหม่นี้ ผลที่สุดแล้วจะจบลงอย่างไร ก็สามารถแบ่งเป็น 3 ทาง

1. เสมอกัน ทั้ง 2 ฝ่ายจะสู้กันต่อไปจนหมดแรงทั้งคู่ ถ้าหากไม่หาข้อสรุปที่ประสานประโยชน์กันได้และขัดแย้งยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้สังคม ประเทศ รวมถึงตัวเองพังพินาศ แต่ก็เป็นทางที่ดูแง่ดีเกินไป

2. ฝ่ายเก่าชนะ กลุ่มอำนาจเก่าชนะด้วยวิธีเดิมและสร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้ฝ่ายตัวเองสืบทอดอำนาจต่อไปได้

3. ทางสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายสู้กันยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง และหากพิจารณาจากกรณีแฟลชม็อบแยกปทุมวันด้วยแล้ว ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐประหาร ดำเนินแนวของตนไปจนกระทั่งแพ้หรือชนะเด็ดขาด ซึ่งอาจมีความรุนแรงเลือดตกยางออกอีก เพราะการปฏิรูปก็ดี การปรองดองก็ดี ยังไม่เกิดขึ้น

การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งคิดว่าจะเป็นทางออก กลับเป็นประหนึ่งทางตัน แถมรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคก็มีความกังวลต่ออายุของรัฐบาล หากเกิดความปั่นป่วนไม่สงบ ความรุนแรงครั้งใหม่ ความขัดแย้งจะไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง แต่ยังไม่จำกัดพื้นที่อีกด้วย

ทั้งนี้ นายชาญวิทย์กล่าวว่า อนาคตการเมืองไทยจึงกลายเป็นเรื่องไม่แน่นอน เพราะรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหารากฐานของประชาชนและประชาชาติอย่างแท้จริง จนเกิดคำถามที่ว่าประชาธิปไตยแบบไทยจะคงอยู่ได้อีกต่อไปหรือไม่ในยุคนี้

และไทยจะเลี่ยงกลียุค ดั่งคำทำนายที่ปรากฏในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่