อภิญญา ตะวันออก : บทเรียนสังฆราชเขมร บนสังเวียนสยามนิกาย

อภิญญา ตะวันออก

ต่อการมาถึงของคณะพระมหาปาน (2368-2438) ภิกษุเขมรยังกรุงอุดงค์ราวปีนั้น (2399) ยังเพิ่งสร้างบ้านแปงเมือง และวัดวาอารามที่นี่ซึ่งมีวัดปรางค์นั้นขึ้นกับสังกัดมหานิกาย

พระหนุ่มและคณะติดตาม 5 รูปซึ่งเดินทางจากบางกอกนี้ ได้นำมาถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุดงค์อาราม กล่าวคือ การแต่งตั้งให้พระมหาปานขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกัมพูชา ในท่ามกลางวัดมหานิกายทั้งหมดของกรุงอุดงค์

เพราะนอกจากพระมหาปานจะเป็นสังฆราชธรรมยุติกนิกายใหม่จากสยามแล้ว ยังเป็นประมุขสูงสุดคณะสงฆ์ของกัมพูชาที่เพิ่งจักมีการสถาปนา

ทั้งหมดนี้ สร้างความฉงนสนเท่ห์ต่อเถระกรุงอุดงค์อย่างมาก ต่อลักษณะการครองจีวร สำเนียงบาลี และวิถีปฏิบัติในแบบสมเด็จปานที่คล้ายเป็นอีกลัทธิหนึ่ง เว้นแต่สงฆ์เขมรบางรูปเท่านั้น ที่เคยจำพรรษาในไทย และพบเห็นจริยวัตรนี้มาแล้ว

ชาวเขมรบางกลุ่มเองก็ต่างทราบดีว่า ถึงความใกล้ชิดกับกษัตริย์ทั้ง 2 ฝ่ายของไทย-เขมรในสมเด็จปาน แม้จะข้องใจว่า ภิกษุรูปนี้เคยเป็นมหานิกายมาก่อน และไปเปลี่ยนนิกายใหม่ที่บางกอก ทว่าคณะสงฆ์เขมรนั้น นอกจากจะมิได้ชื่นชมสมเด็จปานแล้ว ยังมีนัยทีที่จะต่อต้าน

แต่ก็ขยายตัวออกไป เนื่องจากสมเด็จปานเองก็จำกัดบทบาทของตนเฉพาะพิธีกรรมของราชสำนัก กระนั้น ร่องรอยความแตกต่างระหว่าง “พระชาววัง” กับ “พระชาวบ้าน” ก็ดูจะปรากฏขึ้นที่นี่และลือขานกันออกไป จนแม้เมื่อสิ้นสุดรัชกาลพระบาทองค์ด้วงไปแล้ว ร่องรอยของระบบ “วรรณะ” แบบสยามนิกายเช่นนั้น ไม่ว่าการครองจีวร การอุ้มบาตร ข้อวัตรปฏิบัติบางอย่าง เช่น การสวดอรรถกถา

รวมทั้งตำราว่าด้วย “ข้อวัตรปฏิบัติสยามนิกาย” ที่นำมาจากสยามประเทศ และรักษาไว้ที่วัดตาเสียง อารามแห่งแรกของธรรมยุตแห่งกรุงอุดงค์

57 ปีต่อมา สำนักพุทธศาสนาได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ข้อวัตรดังกล่าว แต่ถูกเผาทำลายจากฝ่ายต่อต้าน ไม่หลงเหลือหลักฐานมาถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับพระคัมภีร์ใบลานจำนวน 80 สำรับ ส่วนพระไตรปิฎกนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการนำมาจากสยามแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ดี เมื่อย้ายราชธานีมายังพนมเปญนั้น (2410) พระบาทนโรดมโปรดให้ทำพิธีวางพัทธสีมาแบบธรรมยุตที่ “วัดขภพตายง” วัดมหานิกายเก่าแก่แห่งหนึ่งใกล้พระราชวัง หลังการสมโภชน์แล้ว ได้เปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้ว่า “บัวตุมวตี” (บัวตุมวไต)

จากนั้นทรงนิมนต์ “สมเด็จพระคุณเธียธิบดี” (ปาน) ในตำแหน่งสมเด็จสังฆราช มาประทับที่วัดแห่งนี้และเสด็จสุคตก่อนสิ้นรัชกาลนโรดม

อย่างไรก็ตาม จำต้องไม่ลืมว่า ใช่แต่สังฆราชธรรมยุตเท่านั้นที่มาประทับกรุงพนมเปญ ฝ่ายมหานิกายเองก็มีสมเด็จเตียง (2367-2457) จากวัดปรางค์-อุดงค์ ที่ได้รับการนิมนต์มาประทับที่วัดอุณาโลมด้วย

เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทองค์ด้วงทรงสถาปนาพระมหาเตียงเป็นสมเด็จสังฆราชลำดับที่ 2 รองจากธรรมยุต ซึ่งสมเด็จเตียงนั้น แม้จะไม่ได้มาจากวัดหลวงของไทย แต่ก็มีชื่อเสียง จนแม้แต่เจ้านายเขมรบางองค์ยังไปถวายตัวขอเป็นศิษย์

จะด้วยความประสงค์ส่วนพระองค์ แรงกดดันจากฝรั่งเศส? หรือเพื่อลดความสำคัญของ “ราชสำนักสยาม”? ที่ทำให้พระบาทนโรดมมีรับสั่งให้สังคายนาตำแหน่งพัดยศเสียใหม่ และทำให้ตำแหน่งพระสังฆราชลำดับที่ 1 ตกเป็นสมเด็จเตียงตามข้อเรียกร้องของมหานิกายซึ่งข้ออ้างว่ามาก่อนธรรมยุต อีกสมเด็จเตียงนั้น ยังอาวุโสพรรษากว่าสมเด็จปานราว 1 ปี

สมเด็จปานดูจะถูกลดบทบาทอย่างเป็นลำดับ ดังจะเห็นจากเมื่อกัมพูชาอัญเชิญองค์พระสารีริกธาตุจากศรีลังกามาประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดบัวตุมวตีนั้น ทรงมิได้ปฏิบัติภารกิจ (2431)

และส่วนล่างของเจดีย์องค์นั้น ได้กลายเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระองค์ และสมเด็จสังฆราชธรรมยุตองค์อื่นๆ ในกาลต่อมา

อนึ่ง การลดธรรมเนียมศาสนาของราชสำนักตามแบบสยามนิกายนี้ ดูเกิดทันทีที่พระบาทองค์ด้วงและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระบิดาบุญธรรม ต่างสิ้นพระชนม์

นัยที แรงต้านสยามนิกายจะไม่กระเพื่อมมากนัก แต่สงครามระหว่าง 2 ต่างนิกาย ก็ยังมีให้เห็น โดยเฉพาะภาคตะวันตก หรือมณฑลบูรพาของไทย

 

อนึ่ง ต้องยอมรับว่า สมเด็จเตียงทรงมีบารมีทั้งต่อคณะนิกายอันเก่าแก่ และต่อสำนักพระราชวัง โดยเฉพาะรัฐบาลอินโดจีน

ประวัติสมเด็จสังฆราชมหานิกายองค์แรกของกัมพูชานี้ นับว่าน่าสนใจยิ่ง กล่าวกันว่า ตามบันทึกเขมรนั้น พระบาทนโรดมดูจะเป็นกษัตริย์ผู้ไม่ใส่ใจในศาสนาเท่าใดนั้น แต่สำหรับสมเด็จเตียงแล้ว ทรงแสดงความเคารพยำเกรงอย่างมาก

โดยขณะเป็นรัชทายาทองค์ราชาวดี-พระบาทนโรดมนั้นได้รับพระราชทานการผนวช โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และมีสมเด็จปานเป็นพระอาจารย์

อีกเป็นที่ทราบกันว่า พระมหาเตียงสมัยอยู่เมืองไทยนั้น เป็นอุปัชฌายาจารย์ผู้บรรพชาพระองค์เจ้าสีวัตถาพระอนุชาต่างมารดาในกษัตริย์นโรดม

แต่เมื่อข้อพิพาท 2 โอรสพระบาทองค์ด้วงลุกลามกลายเป็นกึ่งกบฏนั้น พระบาทนโรดมทรงร้องขอสมเด็จเตียงให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยนั้น ปมซับซ้อนนี้ อาจเป็นที่ลำบากพระทัยสังฆราชเตียงที่ต้องออกหน้ากับศิษย์โปรด (1883)

ผลก็คือ ฝ่ายหนึ่งต้องกลายเป็นกบฏวังหลวง พลัดที่นาคาที่อยู่ บารมีสมเด็จเตียงไม่สามารจะบรรเทาความเป็นศัตรูการเมืองระหว่างราชสำนักได้ กระนั้น ให้ข้อสังเกตว่า ฝรั่งเศสดูจะพึงพอการทำหน้าที่ของพระองค์ จนเมื่อเสด็จสุคต/สิ้นพระชนม์ อัครเทศาภิบาลฝรั่งเศสได้เขียนพรรณนาคุณความดีของพระองค์อย่างสุดซึ้งว่า

“ตลอดสมัยของพระองค์ ทรงอุทิศบารมีที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบการปกครองของเรา”1

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะยังมีพระชนม์ รัฐบาลอินโดจีนยังถวายเหรียญตราชั้นอัศวิน (Chevalier de la L?gion d”Honneur) ในฐานะผู้ทรงคุณค่าทางดาราศาสตร์วิทยาและอื่นๆ

อดีตลูกทาสชาวนาติดที่ติดตามพระเขมรมาบางกอกแต่ยังเด็ก2 บวชเรียนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงโปรดปรานในความลุ่มลึกทางปริยัติ ภาษาศาสตร์สันสกฤต เขมร-ไทย อีกแขนงคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่หายากยิ่งในหมู่สงฆ์

จนน่าสังเกตว่า ยังเป็นบรรพชิตร่วมยุคกับเจ้าฟ้ามงกุฏ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อครั้งยังทรงผนวช และฤๅพระเตียงเขมรรูปนี้

เคยมีอิทธิพลต่อพระองค์ด้านพระอัจฉริยภาพทางดาราศาสตร์หรือไม่ (?)

 

ซึ่งก็น่าประหลาดใจว่า ต่อความแตกฉานทางอักษรศาสตร์นี้

กลับไม่มีส่วนสร้างสรรค์ให้พระองค์สามารถตรัสเป็นภาษาฝรั่งเศสได้เลย

แม้แต่คำเดียว!

ความพิศวงนี้เกิดขึ้น จนทำให้ทางการฝรั่งเศสถึงกับพยายามหาหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า ทรงต้องการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอินโดจีนหรือไม่?

ต่อกรณีที่ทราบกันดีว่า นอกจากจะใกล้ชิดกับสยาม ยังมีจริตรักชาติบ้านเมือง และกึ่งต่อต้านฝรั่งเศส

ทว่าในที่สุด ผู้คุกคามก็สยบยอมอย่างศิโรราบ ต่อท่าทีอุเบกขา การถือสมถะ และการปฏิบัติสายกลางของบรรชิตรูปนี้

โดยไม่อาจก้าวล่วงว่า ในการไม่ยอมเปล่งวาจาภาษาบารังตลอดชีวิตพระองค์นั้น มาจาก “สัจจะปณิธาน” ที่ทรงตั้งไว้

————————————————————————————————————————
(1)Flaugerues,E.1914c. “La mort du chef supreme des bronzes.” Revue Indochinois “21
(2)เอียน แฮริส “ประวัติและพุทธศาสนปฏิบัติในกัมพูชา” เล่มที่ 2, นครวัด, 2011