ฉายภาพพื้นที่เสรีภาพ ของประชาชนทั่วโลก ปี 2019 “แม้มีสัญญาณบวก แต่พลังประชาชนเหลือน้อยลงทุกที”

สถานการณ์ทางการเมืองทั่วโลกในปีนี้ ภาพรวมที่ปรากฏตามสื่อ ถ้าไม่ใช่คลื่นมหาชนรวมตัวประท้วงรัฐบาล ก็เป็นภาพการปราบปรามและการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุม หลายเหตุการณ์ต่างมีต้นเหตุอันนำไปสู่การเรียกร้องและตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายภาพหรือทางกฎหมายเข้าควบคุมที่คล้ายคลึงกัน นั้นคือ

“การบริหารโดยไม่คำนึงเสียงของประชาชน”

ข่าวการประท้วงในเวเนซุเอลาจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การขึ้นราคาจนประชาชนไม่พอใจในชิลี หรือการร่างกฎหมายที่กระทบต่อประชาชนจนเกิดการลุกฮือในฮ่องกง

เมื่อประชาชนที่รู้สึกไม่พอใจต่อการบริหารหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ การชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น คือสิ่งที่สะท้อนต่อปัญหา และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีพื้นที่ในการแสดงออก

แต่พื้นที่ที่ว่านี้ กลับถูกทำให้เหลือน้อยลง จากนโยบายประเทศต่างๆ และกระแสการเมืองโลก ที่หันเข้าสู่ความเป็นชาตินิยมประชานิยม อุดมการณ์รัฐบาลอำนาจเด็ดขาด ความมั่นคงของชาติมาก่อนสิทธิเสรีภาพ

เมื่อใดประชาชนคิดต่างหรือก่อการลุกฮือ ย่อมจบลงด้วยการถูกปราบปราม ถูกจับ ถูกขัง ถูกปรับทัศนคติและถูกติดตาม สอดส่องชีวิตประจำวันจนไม่ให้กล้าแข็งได้อีก

พลังประชาชนกำลังเข้าขั้นวิกฤต

 

“ปี2019 เป็นปีแห่งการต่อสู้ตามท้องถนน” นี่คือนิยามที่พันธมิตรโลกเพื่อมีการส่วนร่วมของพลเมืองหรือซีวิคอัส (CIVICUS) องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการวิจัยและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ได้เปิดรายงานชื่อ “พลังประชาชนกำลังถูกโจมตี” (People Power Under Attack) ซึ่งซีวิคอัสติดตามสถานการณ์การเมืองภาคประชาชนทั่วโลกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน

โดยจากการเฝ้าติดตามเหตุการณ์ในประเทศต่างๆ พบว่า พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในหลายประเทศเหลือน้อยลงทุกที

นายโฮเซ เบเนดิกซ์ นักวิจัยด้านพื้นที่พลเมืองของซีวิคอัส ได้กล่าวภาพรวมปีนี้ว่า สถานการณ์พื้นที่เสรีภาพทั่วโลกในปี 2018 นับว่าถดถอยลงแล้ว ปีนี้แทบไม่แตกต่างกัน

โดยปีนี้พบว่า มีประเทศที่เปิดกว้างในพื้นที่เสรีภาพของประชาชนลดเหลือ 3% (34 ประเทศ) จากปีที่แล้วมีอยู่ 4%

ในขณะที่ 97% ของประชาชนทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการจำกัด กีดกันการใช้สิทธิเสรีภาพแตกต่างกัน

โดย 40% ของประชากรทั่วโลกวันนี้ อยู่ในสังคมที่ถูกกดขี่ มากขึ้นกว่าปีก่อน และ 14% ของประชาชนทั้งหมดอยู่ในประเทศที่พื้นที่เสรีภาพเริ่มคับแคบ

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นห่วงในปีนี้ คือ มี 9 ประเทศมีความเปลี่ยนแปลง โดยมีเพียง 2 ประเทศที่ดีขึ้น ขณะที่อีก 7 ประเทศเลวร้ายลง

สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการใช้ความรุนแรงปราบปรามการความเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างสันติยังคงดำเนินอยู่และกลายเป็นวิกฤตของภาคประชาสังคมที่กระจายไปทั่วโลก

 

ส่วนสถานการณ์การประท้วงนั้น นายเบเนดิกซ์กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ใน 96 ประเทศทั่วโลก ซีวิคอัสพบว่า จากจำนวน 536 กรณี สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการชุมนุมและรวมตัวอย่างสันติ เผชิญกับการโจมตีทั่วโลก โดยหลายประเทศใช้ทั้งการคุมตัวผู้ประท้วง การสร้างความปั่นป่วนให้การประท้วงและการใช้กำลังขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

แต่กระนั้น ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปราม การแสดงออกของประชาชนไม่สามารถยับยั้งได้ จากการชุมนุมบนถนนทั้งในซูดานไปจนถึงฮ่องกง ประชาชนยังคงเคลื่อนไหวและใช้วิธีการใหม่ๆ ในการรวมตัวเพื่อท้าทายคำสั่งห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพในการประท้วง

หากเน้นเฉพาะภูมิภาคเอเชีย จีนยังคงดำเนินนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง

การเซ็นเซอร์ยังคงมีอยู่ทั้งในบังกลาเทศ ปากีสถาน

ประเทศไทยและสิงคโปร์ ปิดกั้นการใช้เสรีภาพและสื่อตกเป็นเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวถูกสังหารไม่ว่าในฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน มี 17 ประเทศในทวีปเอเชียที่ยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น

และเรายังพบเห็นการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทจัดการกับเนื้อหาที่ถูกมองว่าดูหมิ่นศาสนาหรือสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้นด้วย

หรือในเวียดนาม นักเคลื่อนไหวหลายร้อยคนถูกจับกุมและคุมขัง หรือในปากีสถาน มีการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อจัดการกับนักเคลื่อนไหว หรือในเกาะปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซียก็มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเอกราชจำนวนมาก

นายโฮเซกล่าวว่า สิ่งที่เรากังวลต่อสถานการณ์ในภูมิภาคนี้คือ การคุกคามต่อนักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชน โดยนักเคลื่อนไหวทั้งจีนและเวียดนามเผชิญกับการคุกคามจากรัฐบาล หรือการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตคุกคามทั้งกัมพูชา ไทย และปากีสถาน เมื่อดูภาพแผนที่จัดกลุ่ม ความเปลี่ยนแปลงในทวีปเอเชียในปีนี้คือ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุด จากประเทศในแถบสีเหลืองหรือพื้นที่เสรีภาพมีอุปสรรคกลายเป็นประเทศที่พื้นที่เสรีภาพถูกกดขี่ โดยพบมีนักวิชาการ สื่อและประชาชนถูกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่นจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และการใช้อำนาจจำกัดกรณีข้อพิพาทแคชเมียร์

ส่วนบรูไนเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกลดจาก “เป็นอุปสรรค” กลายเป็น “พื้นที่เสรีภาพถูกกดขี่” จากการใช้กฎหมายศาสนาอย่างต่อเนื่องทั้งกรณีดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดหรือการกดทับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ในขณะที่จีนและเกาหลีเหนือเป็นประเทศพื้นที่ปิดโดยสิ้นเชิง

ส่วนประเทศที่สังคมเปิดกว้างที่สุดในแถบเอเชียตะวันออก มีเพียงประเทศเดียว คือ ไต้หวัน

 

ขณะที่สถานการณ์ในภูมิภาคที่น่ากังวลสำหรับซีวิคอัสคือ ฮ่องกง โดยนายเบเนดิกซ์กล่าวว่า จากการติดตามตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 จนถึงล่าสุด มีรายงานการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีอย่างน้อย 750 คนของผู้ประท้วงที่ถูกจับยังเป็นผู้เยาว์ และยังมีรายงานการคุกคามและทำร้ายสื่อมวลชน ทั้งถูกสเปรย์พริก กระสุนยางยิงเข้าใส่

จนกระทั่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายบริหารฮ่องกงออกประกาศเคอร์ฟิว เพื่อห้ามสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะ และให้อำนาจในการจับกุมคุมตัวและจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ศาลสูงฮ่องกงก็ตีความว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลปักกิ่งอย่างมาก

แม้จะมีการปราบปรามอย่างหนัก แต่ภาคประชาสังคมยังคงเคลื่อนไหวอยู่

แม้สถานการณ์อาจดูเลวร้าย แต่ยังมีสัญญาณบวกให้เห็น อย่างมัลดีฟส์ ที่รัฐบาลใหม่ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาท มาเลเซียถอนกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม

หรือไต้หวันที่ผ่านกฎหมายแต่งงานของ LGBTQI ได้สำเร็จ

 

สําหรับประเทศไทยนั้น นายเบเนดิกซ์กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะผ่านการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลใหม่ แต่เรายังคงเห็นการใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต่อจากรัฐบาลชุดก่อน (รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.)

สิ่งที่น่ากังวลกับไทยคือการทำร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้แต่จะมีความพยายามในการติดตามผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงการข่มขู่คุกคามต่อนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่สามารถออกสู่สาธารณะได้

ดังนั้น แทนที่เราจะหวังเห็นการปรับปรุงที่ดีขึ้น แต่ตลอดปีนี้เรากลับเห็นสิ่งที่น่ากังวลแทน นั้นทำให้ประเทศไทยอยู่คงเป็นประเทศที่พื้นที่เสรีภาพประชาชนถูกกดทับต่อไป