ชาคริต แก้วทันคำ / “ปานหยาดน้ำผึ้ง” : การใช้ภาษาและเสียงของรูปี กอร์

รูปี กอร์ (Rupi Kaur) ศิลปิน กวีสาวชาวอินเดียสัญชาติแคนาดา มีผลงานบทกวีผสมความเรียงที่ได้รับการกล่าวถึงและยกย่องว่าเป็น “เสียงของหญิงสาวแห่งยุคสมัย” ได้แก่ milk and honey หรือปานหยาดน้ำผึ้ง และ the sun and her flower หรือในมือเธอมีดอกทานตะวัน

พลากร เจียมธีระนาถ เป็นผู้แปลผลงานทั้งสองเล่ม จัดพิมพ์โดย Her Publishing

กล่าวเฉพาะ milk and honey หรือปานหยาดน้ำผึ้ง ของรูปี กอร์ เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ รวดร้าว หลงรัก เลิกราและเยียวยา

โดยบทความนี้จะวิเคราะห์การใช้ภาษาและเสียงในผลงานเล่มดังกล่าว

 

แต่ก่อนจะพิจารณาความหมาย “เสียงของหญิงสาวแห่งยุคสมัย” ที่รูปี กอร์ ได้รับยกย่องและกล่าวถึงในฐานะนักเขียนอายุน้อย มีบทกวี 2 ชิ้นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ผู้ไร้เสียง” ดังนี้

เมื่อแม่อ้าปาก

จะพูดอะไรตอนมื้อค่ำ

พ่อมักปราม

ให้แม่ยั้งปากไว้

แล้วสั่งห้ามกินไปพูดไป

เช่นนั้นเองผู้หญิงในบ้านเรา

จึงได้เข้าใจว่าต้องปิดปากเงียบ

(รูปี กอร์, 2561 : 41)

บทกวีข้างต้น รูปี กอร์ สะท้อนว่า ผู้หญิงอินเดียเป็น “ผู้ไร้เสียง” อย่างสิ้นเชิง “เช่นนั้นเองผู้หญิงในบ้านเรา จึงได้เข้าใจว่าต้องปิดปากเงียบ”

คำว่า “บ้านเรา” หมายถึงครอบครัวหรือสังคมอินเดีย และการ “ต้องปิดปากเงียบ” เกิดจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

ดังนั้น แม่ในฐานะภาพแทนของผู้หญิงในบ้านหรือสังคมอินเดีย มีปากที่อ้าได้ แต่ถูกยั้งปากไว้ด้วยคำห้ามปรามของพ่อ ที่ยกมารยาทบนโต๊ะอาหารมื้อค่ำ “ห้ามกินไปพูดไป” มาเป็นข้ออ้าง

ทำไมพ่อต้องห้ามตอนกินมื้อค่ำ

เพราะมื้อค่ำเป็นเวลาที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า สมาชิกคนอื่นที่ร่วมโต๊ะจึงต้องรับฟัง ยึดถือหรือปฏิบัติตามชุดอุดมการณ์ที่มีพ่อเป็นผู้ควบคุม

สันติ เล็กสกุล (2561 : 148) กล่าวว่า “ผู้ไร้เสียงที่แปลมาจากคำว่า the subaltern นี้มีจุดเน้นอยู่ที่เสียง และความสามารถในการใช้เสียงของตัวเองเพื่อจะพูดแทนความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือทางวัฒนธรรม”

รูปี กอร์ สะท้อนความเป็น “ผู้ไร้เสียง” ของแม่ในบ้านเราหรือสังคมอินเดีย แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่หรือตัวแทนของยุคสมัย เธอนำเสนอแนวคิดไม่ต่างกันไว้อีกว่า “เสียงของฉัน ทำให้คุณหวั่นเกรง จนตัวฉันเอง เกรงกลัวที่จะออกเสียง” (รูปี กอร์, 2561 : 23)

บทกวีนี้ยืนยันว่าผู้หญิงทุกคนมีเสียงเป็นของตนเอง แต่ถูกทำให้ไร้เสียงทั้งจากพ่อและคุณ โดยถูกความเกรงกลัวกดทับเสียงนั้นไว้

แม่และฉันจึงเป็นผู้ไร้เสียงที่ไม่สามารถพูดเสียงของตนหรือพูดแทนคนอื่นได้

เพราะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไร้เสียงเปล่งเสียงที่แท้จริงของตนออกมา

ทั้งนี้ รูปี กอร์ ยังใช้ภาพประกอบใบหน้าผู้หญิงถูกมือหนาปิดปากไว้ สอดคล้องกับแนวคิดของคายตรี จักรวรตี สปีวาก ที่สันติ เล็กสกุล (2561 : 115-116) อธิบายว่า

“ผู้ไร้เสียง คือผู้ที่อยู่ในสภาวะการถูกทำให้ไร้เสียง ซึ่งเสียงดังกล่าวหมายถึงความเห็น ประสบการณ์ ความรู้สึก และความคับข้องใจของตนเองในฐานะปัจเจกหรือความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ทั้งทางกายภาพหรือสังคม ผู้ไร้เสียงไม่สามารถเปล่งเสียงที่แท้จริงของตนออกมาได้ เพราะเสียงนั้นไม่ได้ถูกรวมอยู่ในประวัติศาสตร์” ทำให้ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามว่า บทกวีผสมความเรียงเล่มนี้เป็น “เสียงที่แท้จริงของหญิงสาวแห่งยุคสมัยตามแนวคิดเฟมินิสต์” หรือเป็นแค่ “เสียงจากความรู้สึกนึกคิดและความเข้มแข็งของผู้หญิงคนหนึ่ง” เท่านั้น

 

ความรวดร้าวกับการถูกคุกคามทางเพศ

ในภาครวดร้าว รูปี กอร์ เน้นเรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว มันทำให้ฉันหรือเธอรู้สึกว่างเปล่า หวาดผวา กลัวถึงขนาดต้องบำบัด

โดยสื่อนัยผ่านถ้อยคำ “ตรงหว่างขาตุ๊กตายาง จุดที่เขาล้วงเคล้น” หรือ “เขาใช้นิ้วล้วงควักเธอ” หรือ “เธอถูกจับอ้าขา” หรือ “คุณสอดสองนิ้วพรวดเข้ามาในกายฉัน” เป็นต้น

แต่มีบทกวีอยู่หนึ่งชิ้นที่ท้าทายสายตาผู้อ่าน ระหว่างถ้อยคำกับภาพลายเส้นหว่างขาผู้หญิง ที่อาจสื่อได้ว่าเป็นเพียงภาพประกอบหรือเป็นโวหารของภาพตามแนวคิดของโรล็องด์ บาร์ตส์ ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า ระหว่างถ้อยคำกับภาพลายเส้นนั้น เราเห็นอะไรก่อนหลัง หรือเห็นพร้อมๆ กัน

ผู้วิจารณ์ขอตอบว่าเห็นภาพหว่างขาก่อน และเมื่ออ่านถ้อยคำที่ถูกจัดวางตรงหว่างขาแล้ว มันยิ่งตอกย้ำกับผู้อ่านทั้งหญิงหรือชายต่างเป็นผู้จ้องมอง

เพราะเมื่ออ่านถ้อยคำตรงหว่างขา ถ้อยคำนั้นได้ทำหน้าที่อธิบายหรือเพิ่มเติมสารใหม่ให้กับภาพนั้น

เพราะ “เราถูกสอนสั่งว่า ขาสองข้าง คือที่แวะชั่วครั้งชั่วคราว สำหรับบุรุษผู้ต้องการเข้าพัก… แล้วไม่ช้าไม่นานก็ผ่านไป” (รูปี กอร์, 2561 : 19) ซึ่งผู้วิจารณ์ตีความว่า หว่างขาของผู้หญิงในภาพให้กำเนิดบทกวีที่สะท้อนเสียงหรือบทสนทนาของผู้หญิงในโลกที่สามที่เป็นผู้ไร้เสียงและ “ถูกสั่งสอนว่า ขาสองข้าง” เป็นอุปลักษณ์ที่ใช้ตอบสนองหรือบำบัดความใคร่ของผู้ชาย การใช้ลายเส้นหว่างขาจึงตอกย้ำให้ผู้อ่านหันมองเรือนร่างของผู้หญิงว่าเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาที่ถูกเพศสถานะเป็นตัวกำหนด

ทั้งนี้ ถ้อยคำตรงหว่างขาอาจหมายถึงธรรมชาติของผู้หญิง ที่นอกจากจะตอบสนองความต้องการทางเพศแล้ว มันยังเป็นที่ให้กำเนิดชีวิต ในที่นี้คือรูปภาษาที่แฝงสัญญะ แต่น่าเสียดายเมื่อพิจารณาถ้อยคำตรงหว่างขาแล้ว มันกลับไม่ได้เสนอความหมายใหม่ในเรือนร่างหรือคุณค่าของผู้หญิงให้ตระหนักในความเท่าเทียมทางเพศ

แต่กลับสะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ถูกปลูกฝังในสังคมอินเดียให้เห็นเด่นชัดขึ้น

 

ความรักและความใคร่
ผ่านเรือนร่าง
ที่ถูกโครงสร้างชายเป็นใหญ่ครอบงำ

รูปี กอร์ นำเสนอความหลงจากความรักที่ผู้หญิงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชายผ่านเสียง เช่น “เสียงของคุณปลดเปลื้องฉัน” หรือ “คุณทำฉันอ่อนระทวยไปถึงลิ้น จนลืมสิ้นภาษาพูด” หรือ “ไม่มีสิ่งใดอุ่นใจเท่า เสียงคุณ…” ผ่านปาก เช่น “ผมรู้วิธีทำให้คุณใช้ปากได้ดีกว่านี้” หรือ “อยากให้ริมฝีปากคุณจุมพิต ตรงอื่นที่ไม่ใช่ริมฝีปากฉัน” ผ่านนิ้ว เช่น “ฉันปรารถนา ให้นิ้วของคุณ มาลูบไล้ผมเผ้า” และผ่านมือ เช่น “คุณจับมือฉัน มาวางคาตรงหว่างขาฉัน” เป็นต้น

จากถ้อยคำที่เกี่ยวกับเสียง ปาก นิ้วและมือที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า รูปี กอร์ นำเสนออารมณ์ความรู้สึกคล้อยตาม กลายเป็นความหลงใหลที่ยอมจำนนหรือตกอยู่ใต้อำนาจบงการอย่างไม่อาจปฏิเสธหรือโต้กลับความต้องการทางเพศของผู้ชายในอุดม (มายา) คติ

เน้นย้ำการนำเสนอเรือนร่างของผู้หญิงให้เป็นวัตถุแห่งความปรารถนาหรือวัตถุทางเพศ เมื่อถูกกระตุ้น ลูบไล้ โลมเลียให้หวั่นไหว

“เปรียบเหมือนตัวคุณอ่านออกเสียงได้คล่องปาก ส่วนฉันก็คือหนังสือเล่มโปรด จงแง้มเปิดในหน้าที่คุณติดอกติดใจ ในจุดหฤหรรษ์ตรงหว่างขาฉัน จากนั้นละเลียดอ่านอย่างไหลลื่นระรัวจนทั่วถึง อย่าให้มีคำหนึ่งคำใดเล็ดลอดลิ้นไปเป็นอันขาด รับรองเลยว่าตอนจบของฉันต้องถึงอกถึงใจ ถ้อยคำท้าย ๆ จะหลั่งไหลพรั่งพรูสู่ปากคุณ จากนั้นเมื่อทำเสร็จสิ้น จงเอนกายให้สบาย ถึงตาฉันคุกเข่าลงบรรเลงเพลงรักให้คุณบ้าง”

(รูปี กอร์, 2561 : 84)

ร้อยแก้วข้างต้น เป็นวิธีคืนดีที่ผู้หญิงต้องใช้เรือนร่างตอบสนองอารมณ์ทางเพศ เพราะ “นี่คือวิธีที่เราพูดจากัน”

ผู้วิจารณ์มองว่า รูปี กอร์ กำลังสื่อโดยเปลี่ยนจากการพูดจาด้วยเหตุผลเป็นการบรรเลงเพลงรัก คือใช้ภาษาหรือการสนทนาทางกายที่ได้ผลในทางความรู้สึกมากกว่า อีกทั้งภาษาที่ใช้บรรยายก็สวยและก่อจินตภาพ

นอกจากนี้ ยังมองได้อีกว่า รูปี กอร์ ได้เสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ปฏิเสธความต้องการทางเพศของตน “ถึงตาฉันคุกเข่าลงบรรเลงเพลงรักให้คุณบ้าง”

หรือกล้าลุกขึ้นมาเปิดเผยเรื่องเพศในที่สาธารณะ ไม่ยอมเก็บกดไว้กับตน โดยแสดงออกผ่านผัสสะที่เชื่อมั่นว่าเรือนร่างของตนน่าลุ่มหลง

ขณะเดียวกันฉันก็ลุ่มหลงชายคนรัก เพราะต่างฝ่ายต่างดึงดูดกันและกันอย่างดูดดื่ม

สุดท้ายผู้หญิงได้ลิ้มรสน้ำผึ้งขม

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปี กอร์ สะท้อนแนวคิดในบทกวีผสมความเรียงภาคนี้ได้อย่างมีศิลปะและชั้นเชิง

เปิดเปลือยความต้องการอีกด้านของผู้หญิงให้สังคมได้รับรู้ในความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกัน

 

เลิกรากับการเสียคุณค่าในตัวตน

ในภาคเลิกรา รูปี กอร์ นำเสนอเนื้อหาที่ต้องทบทวนเรื่องราว เหตุผลเกี่ยวกับการแยกทาง เขาหรือคุณเป็นผู้จากไป

แต่เธอยังคิดถึง เรียกร้อง โหยหาการกลับมาของเขา แต่ไม่ถึงขั้นฟูมฟาย

บางบทยังสะท้อนเนื้อแท้ของผู้ชายที่เห็นแก่ตัว พอมีความสัมพันธ์กันแล้วก็ตีตัวจากไป ทำให้คุณค่าของผู้หญิงถูกลดทอนลง

เช่น “ฉันคือพิพิธภัณฑ์งานศิลป์นานา แต่คุณกลับปิดหูปิดตา” (รูปี กอร์, 2561 : 108) เป็นการใช้อุปลักษณ์ให้ฉันเปรียบเป็นงานศิลป์ที่ต้องเสพสุนทรียะผ่านการจ้องมอง แต่ “คุณกลับปิดหูปิดตา” ไม่สนใจจะมองความงามนั้นแล้ว

เช่นเดียวกับ “ฉันดั้นด้นมาแสนไกล เพื่อมอบอะไรให้คุณมากมาย แต่คุณไม่แม้แต่ชายตามอง” ซึ่งตอกย้ำว่าฉันกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่คุณไม่สนใจไยดีหรือมองเห็นความสำคัญอีกต่อไป

หรือ “ฉันคือบทเพลง แต่คุณปิดหูตัวเองไว้” (รูปี กอร์, 2561 : 123) ที่สื่อให้เห็นมายาคติว่าผู้หญิงไม่ได้น่าหลงใหลหรือเป็นที่รักใคร่เสมอไป

การไม่ชายตามองหรือปิดหูปิดตาของคุณ มันเป็นการทำร้ายหรือตัดสัมพันธ์ ไม่ให้เกียรติหรือกดขี่ทางความรู้สึกด้วยการใช้ภาษาสื่อสารผ่านสภาวะไร้ภาษาที่นำไปสู่ภาวะการไร้ตัวตนของผู้หญิงนั่นเอง

คุณไม่ผิดที่จากไป

คุณผิดที่กลับมา

โดยคิดว่า

ฉันเป็นของตาย

อยากได้เมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น

แล้วพอไม่อยากได้ก็ทิ้งขว้างกัน

(รูปี กอร์, 2561 : 128)

บทกวีข้างต้น รูปี กอร์ ต้องการเล่นคำว่าไม่ผิดกับผิดให้ผู้อ่านพิจารณาความหมายของคำตรงข้ามที่อาจดูลักลั่น เพราะ “คุณไม่ผิดที่จากไป” ดูเป็นการยอมรับและไม่กล่าวโทษ แต่ “คุณผิดที่กลับมา โดยคิดว่า ฉันเป็นของตาย”

คำว่าของตาย พจนานุกรม ฉบับมติชน (2547 : 124) หมายถึง “ของที่สามารถถือเอาได้โดยสะดวก” แสดงว่าฉันเป็นผู้ถูกกระทำทั้งตอนที่คุณจากไปและกลับมา แล้วฉันยังเป็นผู้กระทำเสียเอง เพราะ “ฉันเป็นของตาย” ที่ไม่ยอมส่งเสียงหรือยังอยู่ที่เดิม กลายเป็นสิ่งของที่ผู้ชายอยากได้ก็ได้ ไม่อยากได้ก็ทิ้งขว้าง เมื่อฉันรู้หรือยอมรับความคิดของเขาก็เท่ากับว่า ฉันไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นแค่สิ่งของหรือวัตถุทางเพศให้เขากดขี่ซ้ำ

สอดคล้องกับอีกบทกวี “คุณคิดได้อย่างไรกันว่า จะจากไปพร้อมทั้งกลับมา” (รูปี กอร์, 2561 : 147) ที่ยืนยันสถานภาพ “ของตาย” ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายเลือกได้ แต่ผู้หญิงกลับเลือกที่จะเป็นสิ่งอื่นหรือคนอื่นไม่ได้ หรือกระทั่งเป็นฝ่ายทิ้งขว้างเขาบ้าง แต่กลับ “หวนนึกถึงมันเสมอ” หรือ “คิดถึงคุณแทบขาดใจ” หรือ “อยู่เถอะ” หรือ “อย่าทิ้งฉันไป” หรือ “เขาต้องมาสิ”

แสดงได้ว่าเธอรักเขาและต้องการเป็นของเขาคนเดียว แต่เขากลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

 

เยียวยาหัวใจ คือการก้าวไปพร้อมกับมัน

ภาคเยียวยาคล้ายเป็นบทสรุปเรื่องราวสาหัสในชีวิตที่ผู้หญิงถูกทำให้รวดร้าว หลงรักและเป็นฝ่ายถูกเลิกรา สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำตามความเชื่อชายเป็นใหญ่ จนเกิดบาดแผลที่ผู้หญิงต้องรักษา ปลอบใจและเป็นตัวของตัวเอง ต้องเข้มแข็งและเปลี่ยนมุมมองชีวิตใหม่ โดยจัดการกับตนเอง ทำความเข้าใจตนเองและรักตนเองให้มากกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน รูปี กอร์ ก็เขียนบทกวีที่แฝงนัยถ้อยคำจนผู้วิจารณ์รู้สึกขัดแย้งกัน ดังนี้

ปัญหาคือฉันก็ไม่รู้ว่า

การเขียนช่วยเยียวยา

หรือยิ่งทำร้ายฉันจนยับเยิน

(รูปี กอร์, 2561 : 156)

บทกวีข้างต้นเขียนได้กระชับ คล้ายไฮกุที่แฝงคำคม ข้อคิดเชิงปรัชญา แต่ปัญหาจากความไม่รู้ของฉันว่าการเขียน คือการเยียวยาหรือยิ่งทำให้ชีวิตยับเยินเสียหาย หากฉันไม่รู้จริงก็เท่ากับว่าบทกวีที่รูปี กอร์ นำเสนอในเล่มนี้ทั้งหมดไม่ได้รักษาแผลกายหรือแผลใจ หากมองอีกมุม การเขียนที่รูปี กอร์ ได้เปิดเผยตัวตนและอารมณ์ออกมาในบทกวีผสมความเรียงก่อนหน้าที่ตอกย้ำความอ่อนแอและตกอยู่ใต้อำนาจหรืออุดมการณ์ชายเป็นใหญ่จนพลั้งเผลอว่า การใช้ภาษาจะเป็นการทำร้ายตัวเธอ

ผู้วิจารณ์เห็นว่า มันไม่ได้ทำร้ายหรอก เพียงแค่ “มโนทัศน์” ของเธอยังถูกครอบงำจนมองไม่ออกหรือสับสนว่าภาษาเป็นอุปสรรคหรือมีอำนาจในการกำกับวิธีคิดของผู้คน กลายเป็น “ฉัน” ยังไม่อาจพิสูจน์ตนเองด้วยถ้อยคำได้ เพราะภาษาเป็นมากกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือสนทนา

และภาษาไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเดียว แต่ยังสร้างโลกที่ตัวเองพูดขึ้นมาด้วย

การที่รูปี กอร์ ไม่รู้ว่าการเขียนจะช่วยเยียวยาหรือยิ่งทำร้ายชีวิต ทำให้บทกวีผสมความเรียงเหล่านี้ดูด้อยค่าลงไป เพราะตัวเองยังไม่รู้ว่าเขียนมันออกมาเพื่ออะไร แล้วผู้อ่านจะได้รับอะไร

มันอาจเป็นแค่ถ้อยคำลวงที่หลอกล่อให้ผู้อ่านหลงใหล ปลาบปลื้มในถ้อยคำสวยหรูบนรสหวานของน้ำผึ้งที่ไม่รู้ว่าเป็นของแท้หรือถูกปรุงแต่งขึ้นมา ทั้งๆ ที่รูปี กอร์ ให้ภาคนี้ชื่อ “เยียวยา” ก็ตาม

ดังนั้น ปัญหาจึงอาจเกิดต่อมาเพราะความไม่รู้ว่า นักอ่านจะอ่านบทกวีผสมความเรียงเล่มนี้เพื่อเยียวยาหรือทำร้ายชีวิตตนเอง

 

ปานหยาดน้ำผึ้ง ของรูปี กอร์ นำเสนอแนวคิดของผู้หญิงแบบเฟมินิสต์อย่างซื่อตรงและสร้างสรรค์ก็จริง แต่ภาพรวมเน้นนำเสนอมิติความสัมพันธ์จากอารมณ์ ความรู้สึกของผู้หญิงที่บางครั้งหนักแน่นมั่นคง บางครั้งหวั่นไหวหวาดเกรง บางครั้งลุ่มหลงโหยหา ที่เป็นภาพแทนตัวตนฉันหรือเธอของผู้หญิงทั่วไป แต่มันกลับไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้หญิงอย่างที่รูปี กอร์ ได้รับยกย่องว่าเป็น “เสียงของหญิงสาวแห่งยุคสมัย”

เธอเป็นเพียงหญิงสาวรุ่นใหม่ที่ถูกสปอตไลต์สาดส่องเพราะกล้าหรือบ้าบิ่นที่ลุกขึ้นมาเปิดเผยตัวตนและพูดถึงเรื่อง “หว่างขา” และ “เป็นของตาย” บนหน้ากระดาษและอินสตาแกรมได้อย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงใจผู้อ่านจนเกิดเป็นกระแสหนังสือติดอันดับขายดีและสร้างแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ เพราะมีเนื้อหาเชื่อมกับคนส่วนใหญ่และให้กำลังใจผู้หญิงด้วยกัน

ผู้อ่านจะเห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกหวั่นไหว ไม่อยู่ในร่องในรอยในหลายบทกวี บางครั้งเหมือนขัดแย้งกัน

และส่วนใหญ่ผู้หญิงมักตกหลุมพรางความรัก ความโหยหา จึงเกิดคำถามในใจผู้วิจารณ์ว่า ตกลงรูปี กอร์ ต้องการเรียกร้องให้ผู้หญิงหันมาเข้าใจผู้หญิง

หรือเธอเฝ้าเรียกร้องให้ผู้ชายหันกลับมาหาผู้หญิงกันแน่

หากเป็นอย่างหลัง มันจะลดทอนคุณค่าของผู้หญิงว่าตกอยู่ใต้ความเชื่อชายเป็นใหญ่ โดยรูปี กอร์ ไม่สามารถก้าวข้ามนิยามของผู้หญิงยุคใหม่ที่ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตนเอง เป็นปากเสียง เรียกร้อง เคลื่อนไหว ต่อสู้ หรือโต้กลับความเชื่อที่ผู้ชายอยู่เหนือกว่า แข็งแรงกว่า เป็นผู้นำและผู้ปกป้องดูแล

 

บทกวีผสมความเรียงเล่มนี้เป็นบันทึกทางอารมณ์ ประสบการณ์ความรู้สึกของฉันหรือเธอที่ถูกเปิดเผยหรือปลดปล่อยออกมาได้เพียงเปลือกนอก ต้องใช้เวลาลอกอีกหลายชั้นกว่าจะถึงแก่นกลาง มันยังไม่ลุ่มลึก เพราะใจความของงานเล่มนี้พูดถึงมุมมองความรัก การเลิกรา ความบอบช้ำ ที่ตัวเองต้องการการเยียวยา เรียกความเข้มแข็งมั่นใจ ความเป็นตัวของตัวเองหรือสติกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้วิจารณ์จะอ่านบทกวีผสมความเรียง ผลงานเล่มแรกของรูปี กอร์ ผ่านสายตาของผู้ชายที่อาจถูกมองว่ามีอคติทางเพศ

แต่หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ผู้วิจารณ์ยังไม่เชื่อว่าแนวคิดแบบเฟมินิสต์ในงานเล่มนี้จะก้าวออกจากกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งต้องสร้างระบบภาษา คำจำกัดความของผู้หญิงยุคใหม่หรือแนวคิดใหม่ที่ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบความคิดของผู้ชาย

แต่ในผลงานเล่มนี้ รูปี กอร์ ยังสะท้อนภาพของผู้หญิงว่าเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง วัตถุแห่งความปรารถนาและวัตถุทางเพศอยู่เช่นเดิม

บรรณานุกรม

– รูปี กอร์. (2561). ปานหยาดน้ำผึ้ง (พลากร เจียมธีระนาถ, ผู้แปล). นนทบุรี : Her Publishing.

– โรล็องด์ บาร์ตส์. (2538). โวหารของภาพ (ประชา สุวีรานนท์, ผู้แปล). วารสารธรรมศาสตร์. 21(2) : 110-129.

– มติชน. (2547). พจนานุกรม ฉบับมติชน.กรุงเทพฯ : มติชน.

– สันติ เล็กสกุล. (2561). ผู้ไร้เสียง : คำยืนยันของ คายตรี จักรวรตี สปีวาก. กรุงเทพฯ : Illuminations Editions.