จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Skills Mismatch ถึง Imagineering กรณีศึกษา Disney University

การเกิดขึ้นของ Corporate University เป็นไปเพื่อแก้ปัญหา Skills Mismatch หรือ “การผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน”

และ Disney University คือหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของ Corporate University ครับ

สำหรับคำจำกัดความของ Corporate University นั้น Corporate University หมายถึง “มหาวิทยาลัยบรรษัท” หรือ “สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ” นั่นเองครับ

ความหมายอีกด้านของ Corporate University ก็คือ ความเป็น “มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง” หรือ Specialty University ที่มีเป้าหมายหลักในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นการสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนเพื่อตอบสนองพันธกิจขององค์กรโดยตรงอย่างเต็มรูปแบบ

แปลไทยเป็นไทยก็คือ Corporate University คือ “สถาบันอุดมศึกษา” ที่มี “องค์กรธุรกิจ” หรือที่เรียกว่า “องค์กรแม่” เป็นเจ้าของและให้การสนับสนุน เพื่อผลิต “บุคลากร” ป้อนให้กับ “องค์กรแม่” นั่นเอง

สําหรับแวดวงการศึกษาระดับโลกแล้ว มีการจัดตั้ง Corporate University จำนวนมาก และเกิดขึ้นมานานมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยก็ 30 ปีขึ้นไป

โดย Corporate University ที่เก่าแก่ และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ Motorola University เจ้าของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรลา และ General Motor University เจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ Chevrolet

แต่ Corporate University ซึ่งโดดเด่น และมีความร่วมสมัยก็ได้แก่ Hamburger University เจ้าของร้านอาหาร Fast Food ยี่ห้อ McDonald หรือ Apple University เจ้าของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ iPhone

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Disney University เจ้าของอาณาจักรบันเทิงยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่งของโลก

นั่นคือ The Walt Disney Company นั่นเองครับ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบัน Walt Disney นั้น ถือเป็น “จักรวรรดิสื่อ” บันลือโลกเลยทีเดียว เพราะนอกจาก Mickey Mouse และผองเพื่อนตัวการ์ตูนดั้งเดิมภายใต้ชื่อ Walt Disney Pictures แล้ว ค่าย Disney ยังมีธุรกิจสื่ออยู่ในมืออีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว News Corporation และ FX Networks นิตยสารและรายการสารคดีที่ชื่อ National Geographic หรือโทรทัศน์ช่องกีฬา ESPN รวมถึงค่ายหนังยักษ์ใหญ่ 20th Century Fox หรือจะเป็นบริษัทแอนิเมชั่นเบอร์หนึ่งชั่วโมงนี้อย่าง Pixar และศูนย์รวมเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ Marvel Studios

ไปจนถึง Lucas Film เจ้าของลิขสิทธิ์ Star Wars โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Brand สวนสนุก Disneyland และธุรกิจการท่องเที่ยวแบบ Hospitality และเรือสำราญ ยังไม่นำบริษัทเล็กบริษัทน้อยในเครือ Disney อีกมากมายในหลายมุมโลก

จากที่ไล่เรียงมา จะเห็นได้ถึงความใหญ่โตและความหลากหลายในเครือข่ายธุรกิจของค่าย Disney ที่แน่นอนว่า ทุกๆ บริษัท โดยเฉพาะความเป็นองค์กรระดับโลกแบบนี้ “ตึกรามบ้านช่อง-บริษัทห้างร้าน-อาคารสถานที่” มันเป็น “สิ่งไม่มีชีวิต”

ดังนั้น การที่ธุรกิจจะเดินหน้าไปได้ ล้วนแล้วแต่จะต้องขับเคลื่อนด้วย “คน”

เมื่อ “คน” หรือ “บุคลากร” เป็นปัจจัย หรือฟันเฟืองที่สำคัญมาก Disney จึงให้ความสำคัญกับ “การสร้าง” และ “การพัฒนา” กำลัง “คน” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรนั่นเองครับ

 

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ในยุคที่โลกของเรายังไม่มี Corporate University เกิดขึ้น ทุกองค์กรล้วนต้องใช้บุคลากรที่ผลิตจากรั้วมหาวิทยาลัย

เพราะโดยทั่วไปแล้ว รูปแบบการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาแบ่งได้สองประเภท ได้แก่ มหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม (Traditional University) และมหาวิทยาลัยบรรษัท (Corporate University) นั่นเองครับ

ซึ่ง 100 ทั้ง 100 เป็นสถาบันการศึกษาที่เหมือนกันหมด คือมีกระบวนการสร้าง “คน” ในรูปแบบเดียวกัน หรือคล้ายกัน

พูดอีกแบบก็คือ เป็นการผลิตบุคลากรแบบ “ทั่วไป” ที่ไม่จำเพาะเจาะจงสำหรับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อองค์กรธุรกิจรับนักศึกษาจบใหม่จากสถาบันการศึกษาเหล่านั้นเข้ามาทำงาน ก็จะต้องลงทุนลงแรงเพื่อจัดกระบวนการฝึกอบรมในการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ และตอบสนองพันธกิจขององค์กรโดยตรง

ปัญหานี้ เรียกกันในแวดวงการศึกษาว่า Skills Mismatch ครับ

 

Skills Mismatch นั้น นอกจากจะแปลว่า “ทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ” แล้ว ยังหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรอันมหาศาลของธุรกิจ ในการปรับจูนสมรรถนะของ “คน” ให้ตรงกับ “งาน” ขององค์กร

ซึ่งประเด็นนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ “ปัญหาการว่างงาน” ในสังคม เนื่องจากบัณฑิตที่จบใหม่จำนวนมาก ล้วนมี “ทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ” ขององค์กรนั่นเองครับ

รายงานจาก UNESCO และ OECD ระบุว่า ปัจจุบัน “ตลาดแรงงานโลก” กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา “ความไม่สอดคล้องความต้องการทักษะ” หรือ Qualification Mismatch

ซึ่งเกิดจากองค์ความรู้และทักษะของบัณฑิตจบใหม่ จำนวนมากมาจากสาขาที่เรียนไม่ตรงกับวิชาชีพที่ตลาดต้องการ ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันของวุฒิศึกษากับอาชีพในตลาดแรงงาน หรือเกิดสภาวะ Labor Market Mismatch นั่นเองครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตลาดแรงงานโลก” กำลังเผชิญหน้ากับ Field of Study Mismatch ไม่ว่าจะเป็น ฟินแลนด์ เยอรมนี หรือสวีเดน ที่แม้ประเทศเหล่านี้จะมีชื่อเสียงในเรื่องระบบการศึกษาก็ตาม

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ รวมเรียกว่า Skills Mismatch

 

ซึ่งหากเราจะพิจารณาจากกรณีศึกษาของ Disney University แล้ว ก็จะพบว่า การที่ค่าย Disney ได้จัดตั้ง Disney University ขึ้นเป็น Corporate University ก็เพื่อแก้ปัญหา Skills Mismatch ดังกล่าวนั่นเองครับ

โดยเฉพาะการสร้างสาขาวิชา และ “เรียกบัณฑิตจบใหม่” ของ Disney University เอง ว่า Imagineering หรือ “จินตวิศวกรรม” นั้น มันเป็นอะไรที่น่าสนใจ และเป็นที่จับตามองของแวดวงการศึกษาระดับโลกเป็นอย่างมาก

Imagineering เป็นคำที่ Disney University ตั้งขึ้นมาเอง เป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า Imagine ที่แปลว่า “จินตนาการ” กับคำว่า Engineering หรือ “วิศวกรรม”

ซึ่งหากย้อนกลับไปดูขอบข่ายงานของ Disney ที่มีสถานะเป็น “จักรวรรดิสื่อ” ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความต้องการ “ทักษะ” ของ “บุคลากร” เพื่อให้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในเชิง “วิศวกรรม” หรือ Engineering แบบเดิมนั้น

ก็คงจะไม่เพียงพอ และน่าจะไม่ตรงกับความต้องการของ Disney ที่เป็นเจ้าของอาณาจักร “บันเทิง” ยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่งของโลก ซึ่งมีธุรกิจ “สื่อ” อยู่ในมืออีกมากมาย

โดยทั้งคำว่า “บันเทิง” และคำว่า “สื่อ” นั้น ก็กินความมากไปกว่ารูปแบบการใช้ “ความรู้” และ “ทักษะ” ทางด้าน Engineering หรือ “วิศวกรรม” ทั่วไป Disney University จึงใส่คำว่า “จินตนาการ” หรือ Imagine เข้าไปให้ด้วย

จึงกลายเป็น Imagineering นั่นเองครับ

 

ความหมายก็คือ “จินตวิศวกร” ที่เป็นผลผลิตของ Disney University มีคุณสมบัติที่ผสมผสานกันระหว่าง “ศิลปิน” และ “นายช่าง” เพราะ Imagineering ที่นอกจากจะต้อง “สร้างสวนสนุก” ให้ “มั่นคง-แข็งแรง-สวยงาม” แล้ว

ยังต้อง “สร้างสวนสนุก” อย่าง “สร้างสรรค์-สนุกสนาน” และตอบสนอง “จินตนาการ” ของเด็กๆ อีกด้วย

นอกจาก “สวนสนุก” แล้ว งานอื่นๆ ในเครือ Disney ที่ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา ไปจนถึงสื่อสิ่งพิมพ์ งานข่าว หรือรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะซูเปอร์ฮีโร่ Marvels และ Star Wars

ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการ “ความรู้” และ “ทักษะ” แบบ Imagineering แทบทั้งสิ้น

จึงนำไปสู่การที่ Disney University ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Imagineering

เพื่อผลิต “จินตวิศวกร” ขจัดปัญหา Skills Mismatch ตั้งแต่ต้นทาง

ดังนั้น Imagineering ของ Disney จึงถูกสร้างออกมาให้ตรงกับความต้องการของ Corporate University ที่ชื่อ “มหาวิทยาลัยดิสนีย์” นั่นเองครับ