วอชเชอร์ : คำถามสาวไทยในเวทีมิสยูนิเวิร์ส

แม้การประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้จะจบลง โดยมงกุฎถูกสวมให้กับ โซซิบีนี ทุนซี สาวผิวสีจากแอฟริกาใต้ หลังตอบคำถามกินใจที่ว่า “สิ่งสำคัญที่ควรสอนเด็กสาวในทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากเด็กสาวและผู้หญิงมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการสิ่งนี้ แต่เพราะเราถูกตีตราให้เป็นผู้หญิงในแบบที่สังคมต้องการ 

ฉันคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงพลังที่สุดบนโลก และนั่นเราควรได้รับทุกๆ โอกาส และเราควรสอนให้เด็กสาวเหล่านี้มีบทบาท ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีตัวตนในสังคม”

ส่วนฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 ที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ก็ผ่านเข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้าย และผู้ชมชาวไทยเกาะติดลุ้นไปให้ถึงมงกุฎ

ในรอบ 5 คนสุดท้าย สตีฟ ฮาร์วี่ย์ พิธีกรผู้คว่ำหวอดเวทีประกวดมาหลายปี ได้โยนคำถามให้ฟ้าใสว่า รัฐบาลสอดแนมประชาชน เพื่อต้องการให้ประเทศและประชาชนปลอดภัย แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว คุณคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง “ความมั่นคงปลอดภัย” กับ “ความเป็นส่วนตัว”

และฟ้าใสก็ตอบว่า สำหรับเธอ ความเป็นส่วนตัวนั้นสำคัญ แต่ความมั่นคงก็สำคัญเช่นกัน จึงต้องทำให้ทั้งสองอย่างอยู่อย่างสมดุล

แต่ในที่สุด ฟ้าใส ก็ไปไม่ถึงรอบ 3 คนสุดท้าย

 

คำตอบของฟ้าใสนั้น นำไปสู่ความเห็นของประชาชนที่ติดตามการประกวดไปต่างๆนานาๆ อย่างเช่น การตอบแบบกลางๆเหมือนประณีประนอม แม้ฝั่งหนึ่งจะมองว่าดีที่สุดแล้ว แต่อีกฝั่งมองว่าไม่ชัดเจน ทั้งที่เรื่องแบบนี้คำตอบมีอยู่แล้ว แต่ถ้าตอบแบบนั้น อาจกลับไทยยากหรืออยู่เมืองไทยลำบากแทน

หรืออีกหลายคนพาลโทษกองประกวดฯว่า ใกล้รอบชิงทีไร ทำไมประเทศไทยได้แต่คำถามเชิงการเมืองตลอด ทำไมคำถามดูจงใจพาดพิงประเทศไทยเป็นพิเศษ

อย่างตอนมิสยูนิเวิร์สปี 2017 มารีญา พูลเลิศลาภ ตัวแทนสาวไทยก็ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายก็เจอคำถามแนวการเมือง โดยคำถามที่ว่า อะไรคือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ เพราะอะไร? และคำตอบที่ได้นั้น หากตีความสั้นๆก็คือ ตอบไม่ตรงคำถาม

นี่จึงเป็นการตอกย้ำว่า การเมืองอยู่กับเราทุกบริบท รวมถึงวงการกีฬา แฟชั่น หรือแม้แต่เวทีประกวดนางงาม 

 

วกกลับมายังคำถามที่ฟ้าใสได้ หากพินิจคำถาม และมองบริบทที่ทั้งไทยและต่างประเทศเผชิญร่วมกัน เราอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ตและดิจิตอลแพลตฟอร์ม ความมั่นคง หรือขยายความออกไปคือ ความมั่นคงของชาติ ที่แต่เดิมอยู่ในปริมณฑลบนโลกความเป็นจริงอย่่างเขตพรมแดนประเทศ อำนาจความชอบธรรมของรัฐบาลหรืออำนาจทางการทหาร

แต่พอมาถึงยุคของข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลและองค์ความรู้หลั่งไหลทั่วโลก มีพลังมหาศาล ทำให้คนที่เข้าถึงได้ซึมซับและเรียนรู้ และมีหลายเรื่องรัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ แต่ประชาชนรู้ย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามมากมาย แม้แต่คำถามที่ว่า “ความมั่นคงของประเทศหรือรัฐบาล” หรือ “ชีวิตกับเสรีภาพของประชาชน” อย่างไหนสำคัญกว่ากัน

เมื่อประชาชนเริ่มสงสัยและตั้งคำถาม ย่อมนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รัฐบาลที่ความนิยมขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนย่อมรับฟังอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไหนอยู่ได้ด้วยฐานอำนาจแต่ไม่ใช่เสียงประชาชน ย่อมรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ชอบใจ การควบคุมจนถึงเข้าคุกคามความเป็นส่วนตัวโดยรัฐ จึงเกิดขึ้น

การออกกฎหมายควบคุมความเป็นส่วนตัวทั้งในโลกความเป็นจริงหรือโลกออนไลน์เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่ากฎหมายต้านข่าวปลอมในสิงคโปร์ กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ที่บังคับใช้ในหลายประเทศรวมถึงไทย องค์กร/หน่วยงานรัฐ กลายเป็นหน่วยสอดแนมติดตามชีวิตประชาชนที่เข้าข่ายต่อต้านรัฐบาลทั้งในชีวิตปกติจนถึงชีวิตบนโลกเสมือน

ความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน กลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลใช้ควบคุม จำกัดหรือแม้กระทั่งปราบปรามประชาชนผู้ใดที่พยายามแสดงออก พูดหรือคิดไม่เหมือนที่รัฐบาลต้องการให้เป็น ปฏิบัติกับประชาชนเหมือนไม่ใช่เจ้าของประเทศ นอกจากทำงานเสียภาษีให้รัฐ ทั้งๆที่ ประชาชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประชาชาติ ประเทศย่อมเป็นประเทศไม่ได้ หากไร้ประชาชนเป็นเจ้าของ

คำถามที่ถามฟ้าใสได้รับ มองอีกด้านอาจไม่ได้ถามฟ้าใสตรงๆ แต่คำถามส่งไปถึง รัฐบาลไทยและประชาชนไทยผ่านฟ้าใสว่า

ที่สุดแล้ว “ความเป็นส่วนตัว(ของประชาชน)” กับ “ความมั่นคงปลอดภัย(ของรัฐบาล)” อย่างไหนสำคัญกว่ากัน