จิ๋วเล่าเรื่องป๋า : หลักคิดของ “เปรม” สู่การส่งผู้แทนพบ “เติ้งเสี่ยวผิง”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (2)
ส่งผู้แทนพบ “เติ้งเสี่ยวผิง”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนสมถะ อยู่ง่าย กินง่าย สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านก็อยู่บ้านพักในค่ายทหาร พล.อ.ปฐม เสริมสิน เพื่อนรุ่นเดียวกับท่านซึ่งเคยเป็นเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 สมัยที่ พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 เล่าว่า พล.อ.เปรมไม่มีครอบครัวและคนทำกับข้าวจึงอาศัยกินอาหารปิ่นโต จ่ายเดือนละ 600-700 บาท

พล.อ.เปรมได้ย้ายจากแม่ทัพภาคที่ 2 ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกพร้อมกับได้เลื่อนยศพลเอกเมื่อเดือนตุลาคม 2520

ถัดมาปีเดียว คือเดือนตุลาคม 2521 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.เปรมเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควบอีกตำแหน่งหนึ่งในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ในส่วนผม เมื่อกลับจากชายแดนได้ถูกย้ายเข้าประจำกรมยุทธการทหารบก ซึ่งเวลานั้นมี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ (ยศพลตรีในขณะนั้น) เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก พล.อ.บุญชัย บำรุงพงษ์ (ยศพลโทในขณะนั้น) เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ผมเป็นเจ้าหน้าที่หลักในฝ่ายยุทธการ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี

ในขณะนั้น พคท.ได้ขยายเขตปลดปล่อยมากจังหวัดขึ้น พิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนหรือผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในแต่ละปีเลยจำนวน 1,000 คน กลุ่มประเทศอินโดจีนตกอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์ของแต่ละประเทศ มหาอำนาจอย่างอเมริกาที่เราฝากความหวังไว้ได้แพ้สงครามในเวียดนามและถอนตัวออกจากประเทศในภูมิภาคแถบนี้

เวียดนามได้ส่งทหารร่วม 20 กองพลเข้ามาประจำการในกัมพูชาและบางส่วนประชิดชายแดนไทย ในช่วงนั้นเกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามและเขมรหลายครั้ง

เวียดนามเสนอให้ พคท.ยืมทหารเพื่อเข้ายึด 17 จังหวัดภาคอีสานของไทยและประกาศเป็นรัฐใหม่ขึ้นมา

 

สถานการณ์ตอนนั้นเรียกว่าสถานการณ์สงคราม ประเทศไทยเผชิญภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามนั้นกำลังฮึกเหิม ถ้าเป็นม้าศึกก็เป็นม้าศึกที่พร้อมจะออกรบอีกครั้งหลังจากชนะอเมริกาในสงครามเวียดนาม

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผบ.เหล่าทัพ รวมทั้ง พล.อ.เปรมซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ความขัดแย้งในภูมิภาคและการรับมือกับเวียดนามเมื่อเกิดสงคราม

เพื่อเอาประเทศชาติให้รอด รัฐบาลและกองทัพได้ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ว่าจีนกับรัสเซียเริ่มขัดแย้งกัน เพราะเดิมรัสเซีย เวียดนามและจีนร่วมมือเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาโดยตลอด

ต่อมาจีนกับรัสเซียเกิดความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน รัสเซียหันไปสนิทสนมเวียดนามและให้ความช่วยเหลือทางทหารมากขึ้น

ความขัดแย้งจีนกับรัสเซียขยายขอบเขตมาเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามในที่สุด

จากการประเมินยุทธศาสตร์ของที่ประชุม สรุปได้ว่าผู้ที่จะสามารถหยุดเวียดนามได้ในขณะนั้น คือจีน

จึงตกลงใจคัดเลือกนายทหารไปเจรจากับจีนเพื่อหยั่งท่าทีของจีนว่าเห็นเป็นอย่างไรต่อสถานการณ์และอิทธิพลของเวียดนามในขณะนั้น

นายทหารที่ถูกคัดเลือกไปเจรจากับจีนมี 3 นาย ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนอีก 2 ท่าน ได้แก่ พล.ท.ผิน เกสร เจ้ากรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด และ พ.อ.พัฒน์ อัคนิบุตร หัวหน้าฝ่ายข่าว ศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)

 

สําหรับผมในตอนนั้นมียศพันเอกตำแหน่งหัวหน้ากองยุทธการ กรมยุทธการทหารบก โดยมี พล.อ.เปรมเป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังจากย้ายเข้ากรมยุทธการทหารบก ผมก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรมมากขึ้น พร้อมกับได้รับความไว้วางใจจากท่านให้เป็นคนบรรยายสรุปสถานการณ์การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ต่อที่ประชุมใหญ่ของรัฐบาล

โดยการประชุมดังกล่าวปีหนึ่งจัดขึ้น 2 ครั้งที่หอประชุมกิตติขจร โรงเรียนนายร้อย จปร. ถนนราชดำเนินกลาง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องบรรยายทั้งสถานการณ์ในประเทศ สถานการณ์โลก ความขัดแย้งในภูมิภาค เศรษฐกิจ สังคม กำลังทางทหาร

เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการได้เข้าใจสถานการณ์โลก สถานการณ์ภูมิภาค ในประเทศ การเมือง เศรษฐกิจและภัยคุกคามประเทศไทยในเวลานั้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงปัญหาในทิศทางเดียวกันและมีความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหา

ซึ่งเวลานั้นความเห็นต่อการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์มีความแตกต่างกันมาก

ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าต้องใช้มาตรการทางทหารปราบปรามอย่างเด็ดขาดเหมือนกับที่เคยใช้มาตั้งแต่การก่อตั้ง พคท.แต่ไม่เคยปราบได้สักที ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต สื่อมวลชนเรียกฝ่ายนี้ว่าพวก “สายเหยี่ยว”

ส่วนอีกพวกนี้เห็นว่าต้องเอาการเมืองนำทหาร ขจัดอิทธิพลอำนาจมืดและสร้างความเข้าใจต่อประชาชน พวกนี้เรียกว่า “สายพิราบ” คือไม่รุนแรงเหมือนพวกแรก

จากการทำงานใกล้ชิดกับท่าน พล.อ.เปรมอาจจะเห็นว่าผมมีความเหมาะสมที่จะรับภารกิจนี้ จึงคัดเลือกผมเป็นตัวแทนกองทัพบกไปเจรจากับจีนในนามของรัฐบาล การไปเยือนจีนในสมัยนั้นค่อนข้างจะลำบาก แม้ทั้งไทยและจีนได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 แต่ในตอนนั้นจีนยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้มข้นอยู่

ที่สำคัญที่สุด กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นยังบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง กองทัพจึงให้พวกเราทั้ง 3 คนทำหนังสือลาราชการไปทัศนาจรและพักผ่อนที่ต่างประเทศ

 

ผมได้ทำหนังสือถึง พล.อ.เปรมผู้บัญชาการทหารบก ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2522 ความว่า

ตามที่ประเทศไทยเปิดให้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและอนุญาตให้คนไทยเดินทางไปทัศนาจร ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้นั้น

กระผมมีความประสงค์จะเดินทางไปทัศนาจรและพักผ่อน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกำหนดจะออกเดินทางจากประเทศไทยในวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2522 โดยสายการบินพลเรือนและกำหนดกลับถึงประเทศไทยในวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2522

พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.เปรม) ได้แทงหนังสือลงวันที่ 21 มิถุนายน 2522 ถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขอให้พิจารณาอนุมัติตามที่ผมขอ

ต่อมา วันที่ 21 มิถุนายน 2522 พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีหนังสือถึง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี พร้อมกับใบลาของพวกเราทั้ง 3 คนว่า กองบัญชาการทหารสูงสุดตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่านายทหารทั้ง 3 นายมิได้มีพฤติการณ์เบื้องหลังเกี่ยวกับลัทธิทางการเมืองมาก่อน

การเดินทางไปทัศนาจรและพักผ่อนครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นการส่วนตัว แต่โดยที่เป็นเจ้าหน้าที่ของทางราชการทหาร จึงน่าจะทำให้ได้รับประสบการณ์ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ทั้งในทางส่วนตัวและราชการอยู่บ้าง

จึงขอให้โปรดพิจารณา หากชอบด้วยดำริกรุณาขออนุมัติให้นายทหารทั้ง 3 นายไปทัศนาจรและพักผ่อนต่างประเทศด้วย

วันที่ 22 มิถุนายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์เซ็นอนุมัติ กระบวนการพิจารณาตั้งแต่พวกเรามีหนังสือลาไปจนถึง พล.อ.เกรียงศักดิ์เซ็นอนุมัติ ใช้เวลาแค่ 2 วันเท่านั้น

 

หลังจากได้รับอนุมัติ พวกผมได้ออกเดินทางด้วยสายการบินปากีสถานแอร์ไลน์จากประเทศไทย แวะญี่ปุ่นก่อนต่อเครื่องบินไปยังจีน

ภารกิจที่เรารับมาจากรัฐบาลไทยเพื่อไปพูดคุยกับจีน คือชี้แจงให้ฝ่ายจีนเห็นถึงภัยอันตรายของเวียดนามและให้จีนร่วมมือกดดันทางทหารต่อเวียดนาม อีกทั้งขอให้จีนลดความช่วยเหลือ พคท.ด้วย

ทั้งสองเรื่องถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งกับฝ่ายไทยและจีนเอง เพราะเป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าก่อนออกเดินทางฝ่ายเราไม่ค่อยมีความมั่นใจเลย เดาใจจีนไม่ถูกว่าคิดอย่างไร เห็นด้วยกับไทยหรือไม่

โดยเฉพาะข้อเสนอของฝ่ายไทยนั้นแทบจะมองไม่เห็นความสำเร็จเลย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในขณะนั้นไม่ได้แน่นแฟ้นเหมือนในปัจจุบัน ขณะที่ พคท.เองจีนก็ให้ความช่วยเหลือมาช้านาน

จีนจะยอมเลิกอุ้มหรืองดให้ความช่วยเหลือ พคท.ไปง่ายๆ ตามที่รัฐบาลไทยร้องขอกระนั้นหรือ

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่พวกเรากำลังไปหาคำตอบจากจีน

 

ไปถึงจีนวันแรกยังไม่ได้พบกับบุคคลเป้าหมายคือเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีน ซึ่งฝ่ายเราก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจีนจะให้พบหรือไม่ เมื่อไหร่ เนื่องจากเติ้งเสี่ยวผิงจะให้เข้าพบได้เฉพาะผู้นำประเทศเท่านั้น และหากเป็นเรื่องสำคัญก็มักจะให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการเองมากกว่าที่เติ้งเสี่ยวผิงจะลงมาเจรจาเอง

อย่างไรก็ดี จากที่วันแรกฝ่ายเราได้บรรยายสรุปสถานการณ์ให้คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายจีนฟัง วันรุ่งขึ้นคือ 24 มิถุนายน 2522 เวลาบ่ายโมงเราก็ได้รับการติดต่อให้เข้าพบเติ้งเสี่ยวผิงได้ ทำให้ดีใจมาก เพราะเป็นเรื่องยากมากที่เติ้งเสี่ยวผิงจะยอมเจรจากับผู้แทนต่างประเทศในระดับอย่างพวกเรา

การพูดคุยระหว่างเติ้งเสี่ยวผิงกับฝ่ายเราเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีบรรยากาศฉันมิตรทำให้เราใจชื้น เริ่มมีความหวังขึ้น ผิดกับก่อนออกเดินทาง

ผมจำได้ ท่านเติ้งเสี่ยวผิงสูบบุหรี่ Dunhill สีแดง ทำพิเศษ มีบุหรี่นิดเดียว นอกนั้นเป็นก๊อกหมด

พอเราพูดถึงภัยคุกคามจากเวียดนาม เติ้งเสี่ยวผิงพูดว่า เวียดนามจะจับหมัดสิบตัวและจับหลายมือได้อย่างไร แล้วท่านก็ทำเป็นคันๆ มือ

ท่านเติ้งได้รับปากกับพวกเราว่าเรื่องอิทธิพลของเวียดนามนั้นไทยไม่ต้องกังวล จีนจะดำเนินการเอง นอกจากนั้น ท่านเติ้งยังรับปากที่จะลดความช่วยเหลือแก่ พคท.ลง ซึ่งทำให้ฝ่ายเราประหลาดใจมากต่อความสำเร็จครั้งนี้

เพราะถ้าพูดถึงอำนาจต่อรองแล้วไทยไม่มีอะไรที่จะไปต่อรองให้จีนคล้อยตามข้อเสนอของเราได้เลย เราเป็นประเทศเล็กๆ ถูกโอบล้อมด้วยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และเราก็มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับอเมริกามากกว่าจีน เมื่อท่านเติ้งรับปากกับเราจึงทำให้ผมประหลาดใจ

ผมเห็นว่าที่จีนยอมให้ความช่วยเหลือประเทศไทยขจัดอิทธิพลเวียดนามและลดการสนับสนุน พคท.ลงนั้น เป็นเพราะตอนนั้นเติ้งเสี่ยวผิงมีนโยบาย 4 ทันสมัย คือ ต้องพัฒนาประเทศ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การที่จะพัฒนาประเทศตามนโยบาย 4 ทันสมัยได้นั้นมันจะต้องมีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีตลาด มีการค้าขาย

ท่านเติ้งคงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรหากยังคบกับผู้ก่อการร้าย เพราะจีนต้องมีการพัฒนา โลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง

นั่นคือเหตุผลของท่านเติ้งที่จำเป็นจะต้องคบกับรัฐบาลไทยเท่านั้นและก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ พคท.

 

มีข่าวในทางลึกว่าไม้เด็ดที่ฝ่ายไทยต่อรองกับจีนก็คือ ให้จีนเลือกเอาว่าจะเป็นมิตรกับคนไทย 40 ล้านคนหรือจะเป็นมิตรกับ พคท.ซึ่งมีกำลังเพียง 20,000 คน เจอข้อเสนอแบบนี้เข้า เติ้งเสี่ยวผิงก็พูดไม่ออกเหมือนกัน

เพราะตอนนั้นเพิ่งประกาศนโยบาย 4 ทันสมัย การที่จะทำให้นโยบายนี้สำเร็จต้องสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ขยายตลาดการค้าให้มากขึ้น ผู้นำสูงสุดของจีนจึงเลือกที่จะคบกับรัฐบาลมากกว่าผู้ก่อการร้าย

นอกจาก 2 ข้อแล้วฝ่ายไทยยังได้ของแถมอีก โดยจีนยอมขายน้ำมันให้ไทยในราคามิตรภาพ

ต่อมาจีนก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายเรา เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยของ พคท. ซึ่งทำการกระจายเสียงจากจีนได้ถูกปิดลงในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน

ส่วนกับเวียดนามนั้น จีนเริ่มทำสงครามสั่งสอนและให้บทเรียนแก่เวียดนามทันที โดยเคลื่อนกำลังทหารหลายกองพล รถถัง ปืนใหญ่ เข้าไปยังชายแดนที่ติดกับเวียดนาม เป็นผลให้เวียดนามต้องถอนกำลังออกจากกัมพูชาและเคลื่อนกำลังจากภาคเหนือไปยันชายแดนของตนไว้ เปิดฉากสู้รบกับจีน ทำให้เวียดนามไม่สามารถที่จะนำกำลังกลับเข้ากัมพูชาได้อีก เป็นผลให้ไทยปลอดจากการถูกคุกคามของเวียดนาม

ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการทำสงครามกับเวียดนามและถือเป็นการเริ่มต้นการปิดฉาก พคท.ด้วย เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พคท.ก็ประสบกับความพ่ายแพ้มาตลอด จากรุกเป็นรับและถอยร่น จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2525 กองทัพแห่งชาติประกาศชัยชนะเหนือ พคท.อย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ผมถือว่าการไปเจรจากับจีนชี้ให้เห็นถึงการขยายอิทธิพลของเวียดนามและขอให้จีนงดการสนับสนุน พคท.นั้นถือเป็นการดำเนินกลยุทธ์เฉกเช่นเดียวกับ “ตีเมืองเว่ยช่วยเมืองเจ้า” เป็นการชนะข้าศึกโดยไม่ต้องรบ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่

ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นผลงานของพวกเรา 3 คน เพราะเราแค่เป็นมดงานตัวเล็กๆ ที่คาบเอาข้อเจรจาและความห่วงใยของรัฐบาลไทยไปแจ้งต่อฝ่ายจีนเท่านั้น

การกำหนดนโยบาย การประเมินยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนภัยคุกคามประเทศไทยก็ดีในขณะนั้นล้วนมาจากรัฐบาลทั้งสิ้น ไม่ใช่ของผมหรือของพวกเรา 3 คน

โดยเฉพาะการตกลงใจส่งผู้แทนไปเจรจากับจีนนั้นถือว่าเป็นการตกลงใจที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลและกองทัพ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงมาก

สุ่มเสี่ยงแรกอาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ฝ่ายไทยต้องการ เพราะความสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่จีนไม่ใช่ไทย ไทยเราเพียงแค่ยื่นข้อเสนอโดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น

สุ่มเสี่ยงที่สอง อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกา เพราะขณะนั้นยังอยู่ในยุคสงครามเย็น แบ่งขั้วกันชัดเจนระหว่างโลกเสรีที่อเมริกาเป็นผู้นำกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้นำ

ไทยกับอเมริกามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิรบที่ไหนในโลกนี้ ไทยจะต้องส่งทหารไปร่วมรบกับอเมริกาและพันธมิตรเสมอ เช่น สงครามเกาหลี เวียดนาม เป็นต้น

และความสัมพันธ์นี้ก็เป็นไปด้วยดีมาตลอด ไม่ว่าในระดับรัฐบาล กองทัพ อเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทยมาอย่างช้านาน กองทัพไทยส่งทหารไปฝึก ศึกษาต่อที่อเมริกา ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ประเทศไทยจะลดความสัมพันธ์กับอเมริกาลง

เช่นเดียวกัน เราก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องไปเอาอกเอาใจหรือให้น้ำหนักกับจีนมากเกินไปจนกระทบความสัมพันธ์ที่ประเทศไทยมีต่ออเมริกา เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงจริงไหม

แต่เมื่ออเมริกาแพ้สงครามเวียดนาม แล้วเวียดนามขยายอิทธิพลเข้ามาในประเทศรอบบ้านไทย ทหารเวียดนามหลายกองพลประชิดชายแดนไทยและมีการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้อาจขยายพร้อมที่จะเกิดสงครามระหว่างสองประเทศได้ตลอดเวลา

เราจึงต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ว่าใครพอที่จะช่วยเราได้ อเมริกานั้นเลิกพูดได้เลยเพราะเพิ่งจะแพ้สงครามเวียดนามหยกๆ และชาวอเมริกันก็ต่อต้านรัฐบาลของเขาไม่ให้ส่งทหารไปรบด้วย ดังนั้น เราจะหวังพึ่งมหามิตรอย่างอเมริกาไม่ได้แน่นอน

ด้วยสายตาที่แหลมคมของรัฐบาลและกองทัพที่มองทะลุถึงใจกลางความขัดแย้งขององค์กรโคมินเทิน รัฐบาลจึงเห็นช่องทางว่ามีแต่จีนเท่านั้นจึงจะหยุดยั้งอิทธิพลของเวียดนามได้

แล้วไทยจะทำอย่างไรไม่ให้อเมริกาเข้าใจผิดต่อการไปขอความช่วยเหลือจากจีน นี้คือโจทย์ใหญ่ของไทย

 

แต่ด้วยความชาญฉลาดของรัฐบาลและกองทัพ ซึ่งขณะนั้น พล.อ.เปรมเป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ

คือ ความสัมพันธ์กับอเมริกาก็ไม่เสีย ส่วนจีนก็ลดให้ความช่วยเหลือ พคท.และทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม ยุติการเผชิญหน้ากับไทย

ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด ไม่ได้ให้น้ำหนักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

เพราะฉะนั้น ความสำเร็จครั้งนี้ต้องชื่นชมรัฐบาลในการดำเนินกุศโลบายดังกล่าว มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ แม้ขณะนั้นบรรดานักศึกษาทำการประท้วงขับไล่ให้อเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกายังดีอยู่ ไทยยังต้องหวังพึ่งความช่วยเหลือจากอเมริกา

ดังนั้น การส่งผู้แทนไทยไปเจรจากับจีนจึงไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจกันได้ง่ายๆ ต้องพิถีพิถันรอบคอบ คำนึงถึงความสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่วงดุลความสัมพันธ์ของประเทศไทยที่มีกับอเมริกาและจีน

นอกจากรัฐบาลแล้ว กองทัพก็มีบทบาทสำคัญ ซึ่งขณะนั้น พล.อ.เปรมเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.เปรมมีประสบการณ์การแก้ปัญหาความยากจนและภัยจากการคุกคามของ พคท.ในพื้นที่ภาคอีสานมาอย่างโชกโชน อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่ากองทัพภาคที่ 2 ที่มี พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพเป็นต้นแบบในการนำนโยบายการเมืองนำทหารมาใช้

เมื่อท่านย้ายเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปีถัดมา ทำให้ พล.อ.เปรมถูกจับตาถึงบทบาทของท่าน แม้จะเป็นทหารหัวเมืองที่ถูกย้ายจากกองทัพภาคที่ 2 ก็ตาม

แต่เมื่อได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก อำนาจการควบคุมบังคับบัญชากองทัพได้อยู่ในมือของท่าน ยิ่ง พล.อ.เปรมได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งก็ยิ่งทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจ พล.อ.เปรมมากขึ้นพร้อมทั้งถูกคาดการณ์ว่าอนาคตของท่านคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้

ดังนั้น พล.อ.เปรมจะพูดหรือเสนออะไรเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศชาติ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง เพราะเป็นผู้ถืออำนาจกองทัพในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นทหารดาวรุ่งที่คาดการณ์กันว่าท่านจะเติบโตในเส้นทางการเมืองค่อนข้างจะแน่นอน และอาจจะมาเร็วด้วยเพราะขณะนั้นการบริหารของรัฐบาลเริ่มมีปัญหาแล้ว

ความคิดส่งผู้แทนไปจีน ผมเข้าใจว่า พล.อ.เปรมมีส่วนสำคัญแน่นอน