ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช : New York Trilogy วรรณกรรมนอกขนบ กับ “ความจริง” ที่ถูกสร้าง

“เราชอบพูดกันเสมอถึงความพยายามที่จะเข้าไปข้างในตัวนักเขียนเพื่อทำความเข้าใจผลงานของเข้าได้ดีขึ้น แต่เมื่อคุณเข้าไปแล้วจริงๆ ข้างในนั้นกลับไม่มีอะไรให้ค้นพบมากมายนัก”

จริงๆ แล้วประโยคข้างต้นสมควรจะถูกใช้เป็นโควทปิดท้ายบทความวิจารณ์วรรณกรรมสักชิ้นเพื่อให้มันจบอย่างบริบูรณ์ หากบทความนั้นไม่ได้กำลังพูดถึง New York Trilogy และไม่ได้หมกหมุ่นอยู่กับ “ความจริง” และเพราะบทความนี้กำลังจะพูดถึง “ความจริง” และ New York Trilogy ประโยคข้างต้นจึงสมควรที่จะอยู่ส่วนแรกสุดของบทความ

New York Trilogy วรรณกรรมที่ถูกแปะป้ายชวนอ่านไว้ว่าเป็น “นิยายแนวสืบสวนที่ต่อต้านนิยายแนวนักสืบ” หรือ “นิยายแนวสืบสวนแบบโพสต์โมเดิร์น”

แต่เมื่อได้ลองอ่านทั้งเล่มแล้ว เรากลับพบว่าโฆษณาชวนเชื่อนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว

กล่าวคือ

ใช่ เป็นนิยายแนวโพสต์โมเดิร์น

แต่ไม่ใช่นิยายแนวสืบสวนแน่นอน

หนังสือเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นของ Paul Auster นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้ที่ประกาศตัวว่าเขารู้จักโพสต์โมเดิร์นน้อยกว่าที่หลายคนคิด แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่เขาเขียนในเรื่องสั้นทั้ง 3 ของ New York Trilogy (City of Glass, Ghosts, The Locked Room) กลับมีร่องรอยของโพสต์โมเดิร์นปรากฏอยู่

เรื่องสั้นทั้ง 3 ของ Paul Auster ว่าด้วยการสืบสวนหาความจริงบางอย่างภายใต้ธีมนักสืบ โดยมีฉากหลังเป็นเมือง New York และมีตัวละครพิลึกพิลั่นที่มีพฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้

กล่าวอย่างย่นย่อที่สุด New York Trilogy เป็นหนังสือที่วิพากษ์การเข้าถึง “ความจริง” และการสร้าง “ความเป็นเหตุเป็นผล” ผ่านตัวละครนักสืบที่พยายามไขคดีแปลกประหลาด (กลิ่นแบบโพสต์โมเดิร์น) เช่น สะกดรอยตามชายชรา ผู้ถูกลูกตัวเองกล่าวหาว่าเป็นคนพยายามฆ่าเขาในวัยเด็ก (City of Glass) หรือถูกจ้างวานให้เฝ้าดูชายคนหนึ่งตลอดทั้งวัน (Ghosts) และการพยายามตามหาเพื่อนรักในวัยเด็กที่หายสาบสูญไป (The Locked Room)

ทั้ง 3 เรื่องสั้นที่กล่าวมานี้ มีจุดร่วมเดียวกันที่น่าสนใจและควรขยายความต่อ

 

ความจริง มาจากไหน

New York Trilogy ไม่ได้บอกอะไรเราเกี่ยวกับ “ความจริง” ไม่แม้แต่จะบอกด้วยซ้ำว่าเรื่องทั้งหมดคือ “ความจริง” แต่สิ่งที่ Auster ผู้เขียนพยายามสื่อสารกับนักอ่านคือ การสร้าง “ความจริง”

Auster พยายามวิพากษ์กระบวนการสร้าง “ความจริง” อยู่ตลอดทั้งงาน ผ่านทั้งพฤติกรรมของตัวละคร ผ่านทั้งวิธีการเล่าเรื่องที่รางเลือนไม่แน่ชัดและไม่แน่ใจ ว่าเรื่องที่ผู้เขียนกำลังเล่าให้ผู้อ่านฟังนั้นเกิดขึ้นจริงแค่ไหน หรือเกิดขึ้นตรงกับที่ผู้เขียนกำลังเล่าไหม

กล่าวอย่างง่ายๆ คือ หากเราสวมตัวเองลงไปในเรื่อง หนังสือเล่มนี้กำลังเล่าเรื่องจากข้อมูลที่ไม่ปะติดปะต่อกัน แต่ผู้เขียนพยายามร้อยโยงมันเข้าด้วยกัน และบอกเสมอว่ามันเป็นมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือ

ในตัวละครของ Auster มีวิธีการเข้าถึงความจริงที่คล้ายคลึงกันคือ การพยายามทำความเข้าใจเป้าหมาย ด้วยการสังเกตจดจำ กิจวัตรประจำวัน รายละเอียด และเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวของเป้าหมาย โดยเชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้ผูกผันกับพฤติกรรมและความคิดของเป้าหมาย และสามารถนำไปสู่การอธิบายว่า “เป้าหมาย” หรือ “ความจริง” นั้นคืออะไร

เช่น ในเรื่อง City of Glass ตัวละครเอกพยายามเดินสะกดรอยเป้าหมาย และจดบันทึกว่าเป้าหมายเดินไปที่ไหนบ้าง ทำอะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งพยายามลองใช้ชีวิตแบบเดียวกันกับเป้าหมาย

แต่เมื่อตัวละครเอกนำข้อมูลที่เขาเก็บได้มาเรียบเรียง เขากลับพบว่ามันไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ การกระทำต่างๆ มันไม่เชื่อมโยงกัน มันไม่นำไปสู่คำอธิบายใดๆ กระบวนการสร้างความจริงจึงเริ่มปรากฏ

ในจุดนี้ Auster พยายามชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เราหวาดกลัวต่อความไม่แน่ชัด ความรางเลือนที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยให้ตัวละครของเขาสร้าง “ความจริง” ขึ้นมา ใน City of Glass ตัวละครเอกวาดเส้นทางเดินเท้าไปที่ต่างๆ ของเป้าหมาย แล้วพยายามตีความว่ารูปที่ปรากฏขึ้นจากการวาดนั้นน่าจะหมายถึงอะไร และเชื่อมโยงมันกับข้อมูลกระจัดกระจายที่ตัวละครเอกพอจะรู้อยู่แล้ว เพื่ออธิบายว่าเป้าหมายคิดอย่างไรอยู่

หรือในเรื่อง Ghosts ตัวละครเอกที่เฝ้าดูพฤติกรรมของเป้าหมายจากตึกตรงกันข้ามทุกวัน ก็พยายามเชื่อมโยงกิจกรรมของเป้าหมายว่าเขากำลังทำอะไร โดยการสร้างโครงเรื่องคำอธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและนำข้อมูลรายละเอียดที่เก็บได้จากการเฝ้ามองเป้าหมายในทุกวันๆ มาจัดเรียงในโครงเรื่องที่สร้างขึ้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ตัวละครทำลงไปนั้น ไม่ได้เข้าใกล้กับ “ความจริง” เลยแม้แต่น้อย เพราะทุกอย่างที่ตัวละครเอกพยายามอธิบายเป้าหมายนั้น เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากข้อมูลที่กระจัดกระจาย แต่เอามาเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน

อย่างในตอนท้ายของเรื่อง The Locked Room ตัวละครเอกได้รับจดหมายจากเพื่อนที่หายตัวไปให้ไปพบที่บ้านหลังหนึ่ง เมื่อตัวละครเอกไปถึงกับพบว่าบ้านหลังนั้นมีประตูที่ถูกปิดอยู่หลายบาน และเพื่อนของเขาซ่อนตัวอยู่ในประตูบานหนึ่ง และห้ามไม่ให้ตัวละครเอกเข้ามาในห้อง

ในฉากนี้ Auster กำลังพยายามบอกเราว่า ถึงแม้เราจะเข้าใกล้ความจริงมากเท่าไหร่ เราก็ไม่สามารถรับรู้แก่นแท้ของมันได้อยู่ดี เพราะมันถูกฉาบเคลือบไปด้วยความไม่รู้ ไม่แน่ใจ

สิ่งสุดท้ายที่ทำได้คือจำใจเชื่อว่า สิ่งที่เราพบนั้นเป็นความจริงที่สุดไปแล้ว

และนี่เองคือสิ่งที่ Auster พยายามจะบอกกับเราว่า “ความจริงแท้ๆ” เป็นดินแดนสนธยาและอยู่ห่างไกลจากความรับรู้ของมนุษย์ แต่ “ความจริง” ที่มนุษย์รับรู้คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากความเข้าใจอันน้อยนิด

แต่ด้วยความหวาดกลัวต่อความไม่รู้ เราจึงสร้าง “ความจริง” ขึ้นมา และสร้างความเป็นเหตุเป็นผลของ “ความจริง” นั้น เพื่อให้เราเชื่อมันได้อย่างสนิทใจ

 

ความเป็นเหตุเป็นผล สร้างความจริง?

หากใครที่ได้อ่าน New York Trilogy จบทั้ง 3 เรื่อง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ คือการพยายามหาเหตุผลมาอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นภายในหนังสือ และจะทำคล้ายๆ กับตัวละครทั้ง 3 ของ Auster คือหยิบจับเบาะแส รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คำพูดบางประโยคของตัวละครในเรื่อง มาร้อยเรียงเพื่ออธิบายว่าหนังสือเล่มนี้มันกำลังพูดถึงอะไรกันแน่

และบางคนถึงขั้นพยายามเชื่อมโยงเรื่องสั้นทั้ง 3 เข้าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเชื่อว่าคำพูดบางประโยคของตัวละคร เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่อง สอดคล้องหรือคล้ายกันจนน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน

ซึ่ง Auster พยายามจะวิพากษ์มันว่า เหตุการณ์หนึ่งๆ ที่ดำเนินไป มันไม่ได้ดำเนินอย่างเป็นเส้นตรงเหมือนจากจุด A ไปจุด B แต่เป็นการประเดประดังเข้ามาของความเป็นไปได้ในหลายๆ แบบของ A B C D ไปจุด E F G H ต่างหาก

และเราจะเห็นลักษณะแบบนี้อยู่ตลอดในงาน เช่น City of Glass ที่อยู่ๆ ตัวละครเอกก็เกิดภาวะตัวตนแหลกสลาย

หรือในเรื่อง The Locked Room ที่ตัวละครเอกถูกขับเคลื่อนด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างจนนำไปสู่จุดที่เขาไม่สามารถทานทนต่อแรงกดดันได้อีกแล้ว

แต่มันไม่ใช่ว่า เพราะตัวละครเอกไม่สามารถสืบคดีต่อได้หรือหมดหนทางในการค้นหาความจริง แต่ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายรอบพวกเขาต่างหากที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าไปสู่ภาวะแบบนั้น

 

การจองจำของโลกสมัยใหม่
ใน New York Trilogy

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นวรรณกรรมแนวโพสต์โมเดิร์นแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ใจความหลักของหนังสือจะไม่ใช่การวิพากษ์ความเป็นสมัยใหม่

New York ไม่ใช่เพียงฉากหลังของวรรณกรรมเล่มนี้ แต่เป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ที่ตัวละครในเรื่องกำลังอาศัยอยู่ แม้ในเรื่องจะไม่ได้บรรยายความเป็นสมัยใหม่ของ New York มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกเล่าผ่าน New York คือจุดมุ่งหมายของการเป็น New Yorker

ตัวละครทุกตัวมีความใฝ่ฝันถึงชีวิตแบบ American Standard มีครอบครัวที่ประกอบพร้อมไปด้วย พ่อ แม่ ลูก มีบ้านที่อบอุ่น และการงานที่มั่นคง

สิ่งนี่คือวิถีชีวิตแบบ New Yorker หรือความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครในเรื่องไม่สามารถไปถึงได้และกลายเป็นปมในจิตใจที่ทำให้ตัวละครรู้สึกแปลกแยกออกไปจากเมือง New York หรือความเป็นสมัยใหม่

และตัวละครเอกภายในเรื่องพยายามฝ่าฟันถีบส่งตัวเองไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้เพื่อล้างปมที่มีอยู่ในใจ

ในเรื่อง City of Glass ตัวละครเอกเคยมีครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก แต่เกิดสิ่งพลิกพันคือ ลูกและภรรยาของเขาตาย

ในเรื่อง Ghosts ตัวละครเอกมีคู่หมั้นที่กำลังจะแต่งงานในเร็ววันนี้ เขากำลังเข้าใกล้กับวิถีชีวิตแบบ American Standard อยู่แล้ว จนกระทั่งรับงานสืบคดี ทำให้เขาต้องห่างจากคู่หมั้นและพบว่าคู่หมั้นของตัวเองไปมีคนอื่น

และในเรื่อง The Locked Room ตัวละครเอกมีชีวิตแบบปากกัดตีนถีบมาก่อน แต่โชคดีที่ได้รับมรดกจากเพื่อน และทำให้เขาได้มีชีวิตแบบมาตรฐานอีกครั้ง โดยการแต่งงานกับภรรยาเก่าของเพื่อนและรับลูกของเพื่อนเป็นลูกบุญธรรม

แต่เมื่อพวกเขาได้สัมผัสกับชีวิตแบบ American Standard แล้ว กลับพบว่ามันถูกวางกรอบเอาไว้ว่า พวกเขาควรจะมีอะไร ควรจะทำอย่างไร และต้องเป็นแบบไหน

ในเรื่อง City of Glass ตัวละครเอกพบว่ายิ่งเขามีชีวิตอยู่นอกลู่นอกแบบของ American Standard มากเท่าไหร่ เขายิ่งแปลกแยกจาก New York และความเป็นสมัยใหม่ มากขึ้นเท่านั้น

หรือในเรื่อง The Locked Room การมีชีวิตสุขสบายแบบ American Standard ของตัวละครเอก ถูกกำกับบังคบโดยเพื่อนที่สูญหาย ทุกอย่างถูกวางแผนไว้เป็นระบบ เพื่อนที่หายตัวไปตั้งใจจะยกภรรยาและลูก รวมทั้งมรดกให้กับตัวละครเอก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ตัวละครเอกคับแค้นใจ เพราะชีวิตที่สุขสบายของเขาเหมือนถูกวางกรอบเอาไว้ให้เป็นอย่างนั้น โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์เลือก

ดังนั้น สิ่งที่ Auster กำลังจะบอกคือ วิถีแบบ New York หรือวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่บีบคั้นให้คนต้องใช้ชีวิตในแบบที่ถูกตีกรอบเอาไว้ การเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างออกไปนำไปสู่จุดจบที่แสนเศร้าเสมอ เหมือนดังที่ตัวละครในเรื่องของเขาต้องประสบพบเจอ และการพยายามค้นหาทางออกจากการจองจำของโลกสมัยใหม่ใน New York ก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรนอกจาก ความตายอันน่าเศร้า

 

ดังนั้น สิ่งที่ Auster นำเสนอใน New York Trilogy คือ โลกสมัยใหม่ ไม่ได้มีทางเลือกให้กับเรามากนัก มันหมายความว่าชีวิตของเราดำเนินไปตามโครงเรื่องหรือกรอบบางอย่างที่ถูกกำหนดเอาไว้ การมีชีวิตอยู่ต้องดำเนินไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเราทั้งหลายต่างประโลมโลกของตัวเองด้วย “ความจริง” ที่เราสร้างขึ้น เพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นเอง

เหมือนกับที่ตอนจบในเรื่อง Ghosts ที่ผู้เล่าพยายามหลอกให้ตัวเองและคนอ่านเชื่อว่า

“(ตัวละครเอก) เขาจะไปที่ไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ … เพราะฉะนั้น อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ตัวผมเองชอบคิดว่าเขาเดินทางจากไปไกลแสนไกลขึ้นรถไฟรุ่งเช้าวันนั้นแล้วมุ่งสู่ตะวันตกเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ ยังเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าอเมริกาอาจไม่ใช่จุดจบของมัน ในความฝันอันเร้นลับของพบ ผมอยากจะคิดว่าบลูจองตั๋วเรือสักลำแล้วล่องเรือไปประเทศจีน เอาเป็นว่าประเทศจีนแล้วกัน และพวกเราจะปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้น”