ปฐมโอวาท สังฆราช ให้คนไทยสามัคคี ยึด “ศีล สมาธิ ปัญญา”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไทยต่างปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้น

เมื่อได้ยินเสียงย่ำระฆังจากหอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ดังก้องกังวานขึ้นอีกครั้งในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2532

เสียงย่ำระฆังดังขึ้น เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีสถาปนา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ตามแบบโบราณราชประเพณียิ่งใหญ่

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธํารง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

 

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ความในราชกิจจานุเบกษา ประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระผู้เจริญในสมณคุณยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ

สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและราชอาณาจักรอย่างไพศาล

เจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ รับภารธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย

เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ดำรงมั่นในไตรสิกขามิได้เสื่อมถอย

มีจริยาการสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นคุรุฐานียบัณฑิต ผู้มีกิตติประวัติอันผ่องแผ้ว สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ เป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย

มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนประชาราษฎรทั่วไป

สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

 

ในหนังสือพระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งคณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ จัดพิมพ์ถวาย

ระบุความหมายพระนามสมเด็จพระสังฆราช ว่า

“สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือพระไตรปิฎก ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า อมฺพโร ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์ คือพระธรรมวินัย ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และทรงเป็นครู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้า และมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ 10 ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท ทรงงดงามในพระวิปัสสนาธุระ ทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์ ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าผู้เจริญในทางธรรม ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์”

สำหรับพระนามย่อ และตราสัญลักษณ์สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ใช้ตราสัญลักษณ์ ออป

อ ตัวแรก คือ อัมพร พระนามของพระองค์ ใช้ตัวอักษรสีแดง หมายถึงวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันประสูติ

อ ตัวที่สอง คือ อมฺพโร พระฉายาของพระองค์ ใช้ตัวอักษรสีเหลือง หมายถึงสีพระอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และสีของผ้ากาสาวพัสตร์

ป คือ ประสัตถพงศ์ พระนามสกุลของพระองค์ ใช้ตัวอักษรสีฟ้าเทา เป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี เป็นชาติภูมิ

 

ภายหลังพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ แจ้งกำหนดการเปิดพระอุโบสถเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์

เพื่อให้คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป เข้าเฝ้าแสดงมุทิตาและถวายสักการะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

13 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางการเปล่งเสียง “สาธุ” ของเหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่มาเฝ้าถวายสักการะ

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จออกด้านหน้าพระอุโบสถ ประทับพระอาสน์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชื่นชมพระบารมี ก่อนประทานพระโอวาทเป็นครั้งแรก หรือปฐมโอวาท ความว่า

“ขออำนวยพรแก่สาธุชนทุกคนที่ได้มีศรัทธาและมาประชุมพร้อมกัน ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยกุศล

ท่านทั้งหลายได้มาในวันนี้ เพื่อมาอำนวยพรหรือมาแสดงมุทิตาแก่อาตมา ที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ขออนุโมทนาสาธุการ ขอบใจอุบาสก อุบาสิกาทุกท่าน

ท่านทั้งหลายมีธรรม ความดีความงามประจำใจอยู่ ขอให้รักษาความดีความงามที่มีให้คงอยู่ตลอดไป

ท่านทั้งหลายเป็นอุบาสก อุบาสิกา เพราะฉะนั้น ขอให้รักษาจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยให้คงที่ไว้

หลักธรรมสำคัญ 3 ข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนและขอให้ยึดถือเป็นประจำ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือทำกาย วาจา ใจให้เป็นปกติ นึกถึงสภาวะธรรมที่ว่าเป็นปกติ มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้นตามลำดับ

ฉะนั้น ขอให้นึกถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้สอนเราไว้ 3 ข้อง่ายๆ ทุกคนก็จะมีความสุขใจ

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวัดราชบพิธ ได้อาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทโว) จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ที่ได้คิดคำสุภาษิตภาษาบาลีบทหนึ่งว่า

“สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิ สาธิกา” แปลว่า “ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ”

ให้รักษาคำนี้ไว้แล้วนำไปปฏิบัติ เพราะความพร้อมเพรียงนำความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้

ขณะนี้ประเทศเรากำลังต้องการการพัฒนา ขอให้ท่านนึกถึงสุภาษิตนี้ รวมถึงศีลทั้ง 3 ข้อ

หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจและยึดถือศีล สมาธิ ปัญญา มีความสามัคคี เท่านี้ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง”

มุทิตาสักการะอันสูงสุดต่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จึงอยู่ที่การนำพระโอวาทไปปฏิบัติให้เป็นจริง

 

เมื่อเสร็จสิ้นจากการเปิดให้พุทธศาสนิกชนเฝ้าแสดงมุทิตาสักการะเป็นเวลา 3 วัน

จากนั้นสมเด็จพระสังฆราช จะเริ่มเสด็จไปสักการะพระอัฐิอดีตสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 19 พระองค์ในวัดอารามหลวงต่างๆ รวมถึงจะเดินทางไปถวายสักการะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์ที่ปฏิบัติสืบกันมา