30 ปี กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย : เรื่องเล่าจากคนร่วมสมัย ณ วันสิ้นสุดการแบ่งแยก สู่การรวมเป็นหนึ่ง

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กำแพงคอนกรีตสูงกว่า 8 ฟุต ที่แบ่งแยกกรุงเบอร์ลินออกเป็น 2 ได้พังทลายด้วยน้ำมือของชาวกรุงเบอร์ลินที่แสดงพลังทลายเครื่องแบ่งแยก ตัดขาดชีวิตผู้คนสองฝั่งซึ่งสะท้อนการแบ่งข้างในช่วงสงครามเย็น

แต่คืนวันนั้น การพังทลายกลับเกิดขึ้นโดยไม่มีการตอบโต้จากรัฐบาลคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์การทำลายกำแพงเบอร์ลิน จึงกลายเป็นผลต่อเนื่องจนนำไปสู่การรวมชาติเป็นหนึ่งของเยอรมนี และอีก 2 ปีต่อมา สหภาพโซเวียตเป็นอันต้องล่มสลาย และสงครามเย็นก็สิ้นสุดลง

แม้จะผ่านมาถึง 30 ปี โลกในด้านหนึ่ง หลายสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ในอีกด้าน ยังได้ก่อเกิดการแบ่งแยกครั้งใหม่ ผ่านกำแพงที่มองไม่เห็นแต่ถูกเรียกในหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “ความเหลื่อมล้ำ” “การเลือกปฏิบัติ” “การต่อต้านผู้อพยพ” “ความเกลียดชังหรือหวาดกลัวอิสลาม” เป็นต้น

การบรรจบครบ 3 ทศวรรษในช่วงเวลานี้ ยิ่งทำให้ตระหนักว่า วินาทีการทำลายสิ่งแบ่งแยกและรวมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น มีความหมายมากเพียงใด

 

กําแพงเบอร์ลินในปัจจุบัน ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของคนร่วมสมัย

และยังมีชิ้นส่วนกำแพงอีกจำนวนมากกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าที่หน้าตึกองค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ

หรือกลางสนามหญ้าในสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ที่ไม่ใช่กำแพงคอนกรีตเปลือยเปล่า แต่เป็นผ้าใบให้กับศิลปะแบบกราฟิตี้ที่เต็มไปด้วยสีสันในการสื่อความหมายถึงสันติภาพและความรัก

การพังทลายกำแพงเบอร์ลินในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายนในปีนั้น ผู้คนต่างมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ด้วยความรู้สึกที่มีทั้งน่าตื่นเต้นและยากจะเชื่อได้

มาเรน นีเมเยอร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ในเวลานั้นกำลังวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับภาพยนตร์และอยู่ในเบอร์ลินตะวันออก เล่าว่า ในคืนนั้น เรากำลังเตรียมงานเลี้ยงพร้อมกับฉายภาพยนตร์เรื่องแรกเกี่ยวกับชายสองคน จากนั้นมีชายคนหนึ่งตะโกนว่า “กำแพง กำแพงกำลังพังทลายแล้ว” ฉันคิดว่าชายคนนั้นคงดื่มหนักไปหน่อย

ในอีก 20 นาทีต่อมา ชายคนดังกล่าวก็กลับมาอีกแล้วพูดว่า “กำแพงกำลังพังแล้ว ออกไปดูเร็ว” ตอนนั้นเวลา 4 ทุ่ม และเราอยู่ฝั่งตะวันออก เราก็พูดว่า ระวังตัวด้วย เราขับรถไปถึงกำแพง ฉันมาพร้อมกับแฟนและเพื่อน เห็นช่องทีวีกำลังทำข่าวอยู่อีกฝั่งของกำแพง ฉันโบกมือแล้วตะโกนว่า “ยินดีต้อนรับสู่เยอรมนีตะวันออก”

แต่ก็ต้องภาวนาขอให้โชคดีด้วย เพราะเรายังคงกลัวว่าจะมีการยิงเพื่อสกัดขัดขวางหรือเปล่า

 

นายสุรพงษ์ ชัยนาม ซึ่งทำงานอยู่สถานทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินตะวันตกในขณะนั้น เล่าถึงคืนแห่งประวัติศาสตร์ว่า ผมจำได้ว่า เป็นตอนเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายน ผมไปทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารญี่ปุ่น จากนั้นก็กลับอพาร์ตเมนต์

ระหว่างนั่งดูทีวีชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น พบกับชาลเก้ ก็มีประกาศแทรกเข้ามา แล้วภาพตัดมาที่ผู้คนยืนบนกำแพงและกำลังใช้ค้อนทุบกำแพง ผมคิดว่าผมกำลังดูฟุตบอลแล้วกลับได้ดูหนังฮอลลีวู้ดแทน

จากนั้น วันต่อมา ผมถามคนละแวกใกล้เคียง พวกเขาพูดว่า ไม่ ไม่ ชาวเยอรมันตะวันตกคาดไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้น

ผมตอบกลับว่า ไม่ มันจะต้องมีข้อเท็จจริง เรื่องแบบนี้มันเกินจินตนาการ เรียกว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์เลย แล้วผมให้นักเรียนชาวไทยในความดูแลไปเช็กความคืบหน้า

สิ่งที่รับรู้คือ เห็นพวกเขาตะโกนเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งแปลว่า เราคือประชาชนหนึ่งเดียว จากนั้นก็กลายเป็นชาติหนึ่งเดียว

 

นายเกออร์ก ชมิตช์ เอกอัครรัฐทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในเวลานั้นตัวเองไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่เบอร์ลินเพราะกำลังศึกษาต่ออยู่ที่ฮ่องกง ทุกคนต่างปลื้มปีติกับเหตุการณ์นี้ เพื่อนร่วมชั้นก็มาแสดงความยินดี

แต่ในอีกด้าน พอตัดภาพมาที่เหตุการณ์ในเดือนมิถุนายนปี 1989 เมื่อนักศึกษาและประชาชนชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งของจีน มหาวิทยาลัยฮ่องกงในเวลานั้นมีบทบาทมาก มีหลายคนไปร่วมการประท้วงตามท้องถนน แต่พวกเขาถูกฆ่าอย่างโหดร้าย

ผมยังจดจำเหตุการณ์วันนั้นได้ดี

 

แต่สำหรับ มาร์ติน่า เครเมนต์ เจ้าหน้าที่ของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในเยอรมนีตะวันออก อาจเรียกว่าไม่อยากจะเชื่อว่าจะเกิดขึ้น เธอเล่าให้ฟังว่าขณะนั้นอายุได้ 16 ปี แม้ไม่ได้อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน แต่ก็สามารถนึกภาพชาวเบอร์ลินในเวลานั้นได้ในตอนที่กำแพงถูกสร้างขึ้น ครอบครัว เพื่อน แม้แต่บ้าน ต้องถูกแยกออกจากกัน

พวกเขาไม่ได้พบกันอีกเพราะกำแพงถูกสร้างขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

“สำหรับฉันเอง อาจแตกต่างเล็กน้อยเพราะโตอยู่ในเมืองฝั่งเยอรมนีตะวันออก ไม่มีญาติในฝั่งตะวันตก อยู่ในระบบสังคมนิยม เป็นครูสอนหนังสือ และครูเหล่านี้ก็ใกล้ชิดกับรัฐบาลสังคมนิยม ฉันเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมกับสมาชิกพรรค สิ่งที่เราได้รับ คือการทำหน้าที่ดูแลนักเรียน” มาร์ติน่ากล่าว

มาร์ติน่าเล่าว่า ตอนนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียน ทางเราก็เตรียมการสอนสำหรับการเปิดเทอมในเดือนกันยายน แต่ก็รับรู้ได้ เพราะช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงสิงหาคม หลายคนเดินทางไปกรุงปราก (เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก) หรือพยายามเข้าสถานทูตเยอรมนี ฉันสนทนาเรื่องนี้หนักมากกับเพื่อนร่วมงาน แม้ฉันไม่ได้มีญาติ จึงไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ แต่ตัวเองก็มีเพื่อน โดยบางคนต้องการข้ามแดนไปเยอรมนีตะวันตก ถือเป็นเรื่องยากที่จะข้ามไปอย่างปลอดภัย

“ฉันจำได้ดีตอนเปิดเทอมวันแรก มีนักเรียนหลายคนไม่ได้เข้าชั้น ก็เข้าใจได้ว่าพวกเขาคงไม่กลับมาแล้ว หนึ่งในนั้นได้เดินทางไปเยอรมนีตะวันตกก่อนวันกำแพงทลาย โดยอาศัยช่วงปิดเทอม บางคนเลือกเดินทางเข้าฮังการี ซึ่งง่ายกว่า” มาร์ติน่ากล่าวอีก

มาร์ติน่ากล่าวด้วยน้ำเสียงอันดังว่า ฉันในตอนนั้นก็ไม่อยากจะเชื่อ แต่จำได้ว่า มีคนส่งข่าวบอกว่า กำแพงพังทลายแล้ว ไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้ ทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก ฉันพูดกับสามีว่า “ไม่อยากจะเชื่อเลย” คิดว่าคงเปิดแค่วันสองวันเดี๋ยวก็ปิดแล้ว

แต่เราก็ไม่อยากเชื่อจริงๆ

 

เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา 30 ปีหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โลกและเยอรมนียังรวมกันหรือยังคงมีการแบ่งแยกกันอยู่ มาร์ติน่ากล่าวว่า สำหรับหลายคนที่เป็นเหมือนฉันตอนอยู่ฝั่งตะวันออก ฉันอาจเป็นคนหนึ่งที่โชคดี แต่ยังมีหลายคนสูญเสียทุกอย่าง ไม่ว่าการงาน หรือครอบครัวที่ต้องถูกแบ่งแยกอีก แม้แต่เพื่อนหรือรวมถึงฉันเอง เพราะมีความเป็นไปได้ใหม่เข้ามา นั้นหมายถึงการหางานใหม่ แต่สามีฉันต้องตกงาน

ทั้งหมดนี้ อาจเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ที่ทุกคนชาวเยอรมันแม้จะรวมกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งในมุมมองส่วนตัว ใช่ ยังมีความแตกต่าง โดยเฉพาะลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ หรือความคิดของฝั่งตะวันตกก็มักจะพูดถึงฝั่งตะวันออกด้วยความไม่เข้าใจว่า

“ไม่นะ ยังไงฉันไม่ข้ามไปฝั่งตะวันออกแน่นอน”

 

ทั้งนี้ ปาสเคล เฟเบอร์ ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ กล่าวต่อคำถามที่ระบุเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินล่มสลายได้ส่งผลถึงปัจจุบันอย่างไรว่า หากกล่าวอย่างแย่สุดแต่เป็นคำที่ง่าย เหตุการณ์นี้ส่งผลได้สองแบบทั้งดีและแย่

เราทุกคนอยู่ในโลกอันสลับซับซ้อน มีเรื่องยากมากมายที่ต้องทำความเข้าใจ และในเวลาเดียวกัน เราอยู่บนโลกที่ไม่แน่นอนด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ เราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น คิดอย่างวิพากษ์ให้มากขึ้น คุยถกเถียงให้มากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น