จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก “ภาวะผู้นำทางการทหาร” สู่ “ภาวะผู้นำทางการบริหาร” Eisenhower Decision Matrix โมเดลง่ายๆ ที่หลายคนไม่รู้จัก

แม้ Eisenhower Decision Matrix จะเป็น Model ที่มีมานานตั้งแต่ปี ค.ศ.1954

ทว่าเท่าที่ผมแอบทำ Poll ลึกลับ เพื่อสำรวจว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาในยุคนี้รู้จัก Eisenhower Decision Matrix กันบ้างหรือไม่?

ผลการวิจัยชี้ว่า 99% ไม่รู้จัก Eisenhower Decision Matrix ครับ!

ผมจึงมั่นใจว่า ถ้านำ Eisenhower Decision Matrix มาเขียนเป็นบทความ คงจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ไม่มากก็น้อยครับ

 

Eisenhower Decision Matrix นั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Matrix ของ Eisenhower

แล้ว Eisenhower คือใครกันล่ะครับ?

Eisenhower Decision Matrix นี้ มีที่มาจากชื่อเสียงเรียงนามของ “จอมพลดไวต์ เดวิด ไอก์ ไอเซนฮาวร์” (Dwight D. Eisenhower) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 34 แห่งสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.1953 ถึงปี ค.ศ.1961 (2 สมัย)

“ไอเซนฮาวร์” สร้างชื่อเสียงจากการมี “ภาวะผู้นำทางการทหาร” (Military Leadership) ที่เฉียบขาดในการรบ

เขาประสบความสำเร็จด้วยการเป็นผู้นำกองทัพสัมพันธมิตร เอาชนะฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 “ไอเซนฮาวร์” ได้รับการยกย่องว่าเป็นนายทหารฝ่ายบุ๋น หรือฝ่าย เสธ. ที่เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหารผู้เยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่ง

โดยเฉพาะขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกำลังรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป “ไอเซนฮาวร์” มีภารกิจรับผิดชอบในการวางแผนและควบคุมดูแลกำลังพลในการบุกและยึดครองแอฟริกาเหนือและเกาะซิซิลี ภายใต้รหัส “ปฏิบัติการคบเพลิง” เมื่อปี ค.ศ.1942-1943

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบความสำเร็จในการนำทัพจากแนวรบด้านตะวันตก โอบเข้าตีฝรั่งเศสและเยอรมนีในปี ค.ศ.1944-1945 จนได้รับการสดุดีเป็นนายพลระดับห้าดาวของกองทัพสหรัฐในที่สุด

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “ไอเซนฮาวร์” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่ง “องค์กร NATO” คนแรก

ที่สำคัญก็คือ การเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระหว่างปี ค.ศ.1951-1952 นี่เองที่มีส่วนสำคัญทำให้ “ไอเซนฮาวร์” เพิ่มขีดความสามารถของตนเอง พัฒนา “ภาวะผู้นำทางการทหาร” สู่ “ภาวะผู้นำทางการบริหาร” นำไปสู่การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกาในปีถัดไป

อันเป็นที่มาของการให้กำเนิด Eisenhower Decision Matrix นั่นเองครับ

Eisenhower Decision Matrix หรืออีกชื่อหนึ่งคือ The Eisenhower Method และหลายคนก็เรียกว่า The Eisenhower Model นี้ ที่หากเราพิจารณาจากภาพประกอบแล้ว แม้ส่วนใหญ่จะมองว่านี่เป็น Chart ง่ายๆ ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน

ทว่าหากย้อนกลับไปคิดถึงตอนที่ “ไอเซนฮาวร์” คิดค้นรูปนี้ขึ้นมาจากความว่างเปล่านั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

 

ดังที่กล่าวไป ว่า Eisenhower Decision Matrix นั้น “ไอเซนฮาวร์” ได้นำเสนอครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1954 ระหว่างการเดินทางไปบรรยายที่ Northwestern University ซึ่งขณะนั้นเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปีแรก

Eisenhower Decision Matrix คือกระบวนการ “จัดลำดับความสำคัญ” ของงาน โดย “ไอเซนฮาวร์” ได้กำหนดเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของงาน ว่าสิ่งใดควรทำก่อน และอะไรควรทำทีหลัง

ดูเผินๆ แล้ว Eisenhower Decision Matrix เป็นเรื่องง่ายมาก แต่อย่างที่บอก จากการสุ่มตัวอย่าง ผมพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย

ซึ่งผมคิดว่า ถ้าพวกเรานำ Eisenhower Decision Matrix ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานในบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ ก็คงจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากทีเดียวครับ

โดย Eisenhower Decision Matrix นี้ “ไอเซนฮาวร์” ได้นำเสนอเอาไว้ในรูปแบบ “ตาราง” ครับ

“ตาราง” นี้ ถ้าอ่านแบบกราฟ ก็จะประกอบด้วยเส้นฐานกราฟ “แนวตั้ง” และเส้นฐานกราฟ “แนวนอน”

“แนวตั้ง” นั้น เป็นภาพแสดงแทน “ความสำคัญ” หรือ Important ส่วน “แนวนอน” คือภาพแสดงแทน “ความเร่งด่วน” หรือ Urgent ซึ่งในที่นี้ “ไอเซนฮาวร์” หมายถึง “งานที่มีความสำคัญ” กับ “งานที่มีความเร่งด่วน”

จากนั้น “ไอเซนฮาวร์” ได้แบ่ง “มิติของภาพ” ออกเป็น 4 ช่อง หรือ 4 กล่อง ให้ท่านผู้อ่านลองยกตัวอย่าง “งาน” ต่างๆ ของท่านในใจ แล้วเอาไปหยอดลง “กล่อง 4 ใบ” ซึ่งประกอบด้วย

1) กล่องสีเขียว หรือ Do หมายถึง งานใดๆ ที่มีทั้ง “ความสำคัญ” และ “ความเร่งด่วน” งานงานนั้นต้อง Do it now! หรือ “ทำทันที!” “ทำซะเดี๋ยวนี้!”

2) กล่องสีฟ้า หรือ Decide หมายถึง งานชิ้นนั้น “มีความสำคัญ” แต่ “ไม่เร่งด่วน” หากงานของใครมาตกในกล่องนี้ก็ให้ Schedule a time to do it คือให้วางแผนจัดทำงานนั้นๆ ต่อจาก “กล่องสีเขียว” ทันทีที่มีเวลา!

3) กล่องสีแดง หรือ Delegate หมายถึง งานที่ท่านควรมอบหมายให้ผู้ช่วยหรือลูกน้องดำเนินการแทน หรือถามตัวเองว่า Who can do it for you? เพราะงานชิ้นนี้ “ไม่สำคัญ” แต่เป็น “งานด่วน” แปลไทยเป็นไทยก็คือ “สั่งการไปเลยครับเจ้านาย” เนื่องจากงานนี้ “ไม่สำคัญ” จึงไม่ต้อง “ใช้มือระดับท่าน” ดังนั้น ให้ลิ่วล้อทำแทนไปเลยครับ

4) กล่องสีม่วง หรือ Delete หมายถึง งานกระจอกงอกง่อย ที่ไม่มีทั้ง “ความเร่งด่วน” และ “ความสำคัญ” อันใดเลย ให้ท่าน Eliminate (กำจัด) ออกจากโต๊ะทำงาน หรือ Delete (ลบ) ออกจากสมองอันปราดเปรื่องของท่านเสีย ณ บัดนาว!

 

ผมคิดว่า ที่ “ไอเซนฮาวร์” ค้นคิดประดิษฐ์ Eisenhower Decision Matrix ขึ้นมาได้ก็ด้วยภูมิหลังของเขาล้วนๆ ทั้งจากประสบการณ์การรับใช้ชาติจากการเป็นทหาร ผนวกกับการที่ “ไอเซนฮาวร์” เคยอยู่ในแวดวงวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

เพราะการรบพุ่งในศึกสงครามก็ดี การบริหารรัฐกิจก็ดี หรือการจัดการสถาบันการศึกษาก็ดี แม้กระทั่งการประกอบกิจการงานต่างๆ ทั้งการขายสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการมุ่งหวังประสบความสำเร็จในภายภาคหน้าก็ดี ทุกๆ คนจะต้องรู้จัก “ลำดับความสำคัญ” ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง

อย่าปฏิบัติตนเหมือนผู้บริหารบางคน ที่ “แยกไม่ออก” ว่างานไหนสำคัญ งานไหนไม่สำคัญ งานไหนเร่งด่วน งานไหนไม่เร่งด่วน

พูดอีกแบบก็คือ ผู้บริหารคนนี้ “จับงานลงกล่องไม่ถูก” ไม่ว่าจะเป็นกล่องสีแดง สีม่วง สีฟ้า หรือสีเขียว

ลำพังตัวเขายังบริหารจัดการตนเองไม่ได้ดี ยิ่งมีลิ่วล้อ “กล่องสีแดง” ที่ไม่ได้เรื่องรายล้อมอยู่รอบตัว ไอ้ครั้นจะโยนงานออกจาก “กล่องสีแดง” ให้บริวารรับไปจัดการ ก็เกรงว่าจะยิ่งไม่ได้ความ

ส่วนกล่องอีก 3 ใบที่เหลือนั้น ไอ้ครั้นจะเหมาทำเองก็ดูเก้ๆ กังๆ ไปหมด

ผู้บริหารแบบนี้ เรียกว่าเป็นคนที่ไม่มี “ภาวะผู้นำ” นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น “ภาวะผู้นำทางการทหาร” หรือ “ภาวะผู้นำทางการบริหาร” ก็ยิ่งไม่มีนะครับผม