อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ช่วงเปลี่ยนผ่านหรือ?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อปลายสัปดาห์แรกตุลาคมที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับความร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้นับเป็นตุลาคมที่ร้อนแรงกว่าที่คิด

ในประการ เดือนตุลาคมที่ผ่านๆ มาเป็นเดือนที่มีวันต้องจดจำ ระลึก และพระราชพิธีหลายพระราชพิธี

ในเวลาเดียวกัน เดือนตุลาคมของสังคมไทยก็มีเหตุการณ์ย้อนแย้งที่ภาคราชการไม่ประสงค์จะให้ประชาชนจดจำและระลึก เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วันที่ 11 ตุลาคม 2540 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความหมายทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ มีการออกแบบเพื่อสร้างการถ่วงดุลทางการเมืองของภาคประชาสังคม นักการเมืองและระบบราชการ ได้แก่ การก่อตั้งองค์กรอิสระด้านสื่อสารมวลชน องค์กรอิสระด้านการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคดีทางการเมืองโดยตรง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปลายสัปดาห์แรกตุลาคมที่ผ่านมา อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ที่อยากบันทึกกับที่บางฝ่ายไม่อยากบันทึก แต่นับว่าร้อนแรงมากคือ อาจเรียกว่า การบรรยายพิเศษของท่านผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในหัวข้อ แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง ณ ห้องประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)

ซึ่งมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สำหรับผม มีประเด็นติดใจที่นักสังเกตการณ์การเมืองบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า การบรรยายพิเศษของท่านผู้บัญชาการทหารบกแสดงถึง “เปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ในช่วงนี้ ซึ่งผมขออนุญาตขยายความ

 

อะไรคือการเปลี่ยนผ่าน

ประเด็นหนึ่งที่ท่านผู้บัญชาการทหารบกอธิบายไว้คือ กลุ่มบุคคล 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มบุคคลที่เคยเป็นลูกน้องบิดาของท่านก่อตั้งพรรคการเมือง อีกทั้งมีบทบาทในการรวบรวมนักการเมืองจากภาคใต้ของไทย กลุ่มบุคคลกลุ่มที่สองคือ คนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ไม่เคยรู้จักความยากลำบาก

ส่วนกลุ่มคนกลุ่มที่สาม ท่านกล่าวถึงกลุ่มนักธุรกิจที่มีผลประโยชน์ของกลุ่มซึ่งบางครั้งได้ประโยชน์มากกว่าประโยชน์ของประเทศ

ท่านผู้บัญชาการทหารบกให้ความเห็นว่า คนสามกลุ่มนี้ไม่ใช่ไม่เคยมีบทบาท อีกทั้งยังอาจกลับมามีบทบาททางการเมืองในอนาคตก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ตรงนี้เอง มีผู้สังเกตทางการเมืองแสดงความเห็นว่า ท่านผู้บัญชาการทหารบกเป็นคนใจกว้าง ติดตาม สนใจ และเป็นเพราะนี่คือช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำของเหล่าทัพไม่ใช่เพียงแค่กองทัพบกเท่านั้น แต่เหล่าทัพอื่นๆ ก็ต้องแสดงบทบาท

ประเด็นนี้ผมกลับคิดในทางตรงกันข้าม อีกทั้งนี่ไม่ใช่ช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว

ประการหนึ่ง การเมืองไทยผ่านพ้นการรัฐประหาร 2557 และผ่านการปกครองด้วย คสช.ไปแล้ว

ประการสอง การเมืองไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว การบริหารประเทศแม้อดีตผู้นำใน คสช.จะแปลงร่างใส่สูท แต่ก็ก้าวเข้าสู่ระบบการเมืองในรัฐสภาและผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แม้อาจถกเถียงที่มาของอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งแสดงผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ตาม

ดังนั้น ทุกฝ่ายควรสนับสนุนการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งข้าราชการในระดับต่างๆ ด้วย ในทางตรงกันข้ามเกิดความสับสนจากคำบรรยายพิเศษของท่านอย่างน้อยก็สองประเด็น

ประเด็นแรก ท่านได้ให้ความเห็นว่า ความมั่นคงกับสถาบันคืออันเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ อันนี้ท่านอาจจะนำไปเชื่อมโยงกับความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการไปหาเสียงในพื้นที่ภาคใต้และข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเป็นจริง ฝ่ายที่ท่านสงสัยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไปแตะต้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 และ 2

ประเด็นที่สอง ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ที่ฝักฝ่ายลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ายดัดจริตว่ายังมีเคลื่อนไหวอยู่ ผมเข้าใจว่า คนที่สนใจแนวคิดทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ยังคงมีอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้มีระบบการล้างสมองเยาวชนให้หลงเชื่อตามอย่างที่ท่านเชื่อ

ซึ่งอาจหมายถึงเรื่องของโซเชียลมีเดีย (social media) และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา รวมทั้งข่าวปลอม (fake news) ข่าวลวงก็ได้

ทั้งสองประเด็นที่มีการเชื่อมโยงกันนี้สร้างทั้งความสับสนและความแตกแยกจากผู้นำทางนโยบาย ประเด็นหนึ่งราวกับว่า มีเพียงกองทัพเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ด้านความมั่นคงและสถาบัน คนมีดาบ มีปืนและจิตใจเท่านั้นที่จะปกป้องชาติและอธิปไตยได้ ไม่ควรมีการผูกขาดความรักชาติและสถาบันดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกต่อไปแล้ว

ที่สำคัญ ตอนนี้เราจะรบกับใครหรือประเทศไหนหรือครับ

ความสับสนมากเป็นทวีเมื่อท่านโยงเหตุการณ์ฮ่องกงกับนักการเมืองไทย ผมว่าโยงได้ถ้าทั้งสองฝ่ายต้องการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของการแสดงออก มีใครหรือครับที่เสนอให้ฮ่องกงแยกตัวออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

กองทัพที่ผ่านมากลับไปเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์อย่างมาก ผมหมายถึงเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีนครับ

ผู้นำเหล่าทัพมีหลักสูตรแลกเปลี่ยนทางการศึกษา ดูงาน ซ้อมรบ ซื้ออาวุธทั้งเรือดำน้ำ รถถังและอาวุธปืน

ตรงนี้หากใครไปบอกว่า กองทัพเกี่ยวข้องกับประเทศผู้นำคอมมิวนิสต์มิไปกันใหญ่หรือครับ ผมว่า นโยบายและความสัมพันธ์ของกองทัพต่อชาติมหาอำนาจจะสับสนทันทีหากท่านหยิบยกลัทธิคอมมิวนิสต์ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ผลประโยชน์ของชาติ

ที่สำคัญ ความมั่นคงของชาติคืออะไรกันแน่ครับ

 

สรุป

ผมขอชื่นชมในความกล้าหาญของท่านที่แสดง การบรรยายพิเศษ อีกทั้งตระเตรียมข้อมูลมาอย่างละเอียด แต่ผมว่านี่ อาจเป็นการสร้างความเข้าใจผิดทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศครั้งใหญ่

ผมคิดว่า นี่เป็นความพยายาม “สร้างตัวตน” ทางการเมือง ช่วงหมดสมัยการดำรงตำแหน่งในกองทัพและแสวงหาที่ยืนให้กับตนเองและกลุ่มก้อน คล้ายๆ คำขวัญสวยหรูประเภทสมาร์ตๆ การออกกำลังกาย การแสดงความรักความผูกพันจนเกินเหตุ โดยที่ในที่สุดไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ผมยอมรับว่างงครับ