อภิญญา ตะวันออก : นายพลกัมพูชากับบันทึกโลกไม่ลืม

อภิญญา ตะวันออก

“ชีวิตของผมเป็นหนึ่งเดียวกับกองทัพตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกและวันสุดท้ายของชีวิต สำหรับภายใต้สภาพบิดเบี้ยว ปรวนแปรและสิ่งที่เปลี่ยนไปตามสภาพขณะนี้ มันจึงเป็นภารกิจเดียวที่ผมต้องเปิดเผยชะตากรรมความเป็นไปของกองทัพ

“อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ทหารคือรั้วของชาติ ผมจึงปรารถนาจะรื้อฟื้นความทรงจำนานา อันเกี่ยวกับความวิบัติของกองทัพแห่งชาติกัมพูชาตลอดปี 2513 ถึง 2518”

ส่วนหนึ่งของบันทึกความทรงจำ “M?moires d”une guerre oubli?e” (สมรภูมิรำลึก) ที่พลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซ (Sosthene Fernandez) รองผู้บัญชาการกองทัพเขมรแห่งชาติ เขียนไว้ในปี พ.ศ.2541

แต่แม้ว่า-พลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซ จะลาโลกไปแล้วเมื่อ 13 ปีก่อน กระนั้น มรดกกองทัพสมัยใหม่ของเขมรฉบับนี้ยังคงเป็นหมุดหมายให้ค้นหา ต่อประวัติความเป็นมาของกองทัพกัมพูชาสมัยใหม่ ที่เริ่มมาจากยุคสังคมเรียด (Sangkum/สีหนุ) และสิ้นประวัติลงไปชั่วคราวในสมัยเขมรรีพับลิกชั่วขณะในปี 2518

ทว่าก็ใช้เวลาร่วม 3 ทศวรรษ ก่อนจะกลับมาเป็นกองทัพสมัยใหม่ ณ ปัจจุบันภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุน เซน

 

กองทัพสมัยใหม่กัมพูชาถือกำเนิดในปี พ.ศ.2498 จากการจัดตั้งโรงเรียนทหารบกแห่งแรก สำหรับอบรมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐสมัยนิคมฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังสร้างศูนย์บัญชาการกองทัพเขมรแห่งชาติหรือกองบัญชาการดินแดน (FANK) ขึ้นใหม่ที่เมืองลงแวกเพื่อรวบรวมหน่วยทหารตามเขตต่างๆ ทั้ง 18 จังหวัด

ถือเป็นโฉมใหม่กองทัพเขมรที่สถาปนาอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2498 ก่อนหน้านั้น เดือนมีนาคมปีเดียวกัน กัมพูชาเพิ่งก่อตั้งโรงเรียนนายทหารบกแห่งแรกของประเทศ ตามข้อตกลงความร่วมมือ “khm?ra” ระหว่างกัมพูชา-สหรัฐ

สรุปผู้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนากองทัพเขมรสมัยใหม่คือสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกทำลายลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญในอีก 20 ปีต่อมา

สำหรับพลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซนั้น เขาเริ่มต้นอาชีพนายทหารพร้อมๆ ไปกับการก่อตั้งสถาบันดังกล่าวในยุคสังคมใหม่ (สีหนุ) ประสบความสำเร็จในตำแหน่งนายทหารระดับสูงยุคเขมรรีพับลิก ก่อนจะสิ้นหวังอย่างร้าวราน สูญสิ้นชีวิตนายทหารอันเป็นที่รักไปพร้อมๆ ความล่มสลายของกองทัพเขมรสมัยใหม่ หลังสหรัฐถอนทหารในเวียดนามใต้ได้ไม่นาน อวสานกองทัพเขมรแห่งชาติที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูก็มาเยือน (2488-2518)

 

นัยที่สกุลเฟอร์นันเดซมีประวัติรุ่งรางในอดีต

แต่บางทีฉันก็สงสัยว่าเขาอาจจะมีนามสกุลว่าโสสเท็นตามแบบเขมรนิยมหรือไม่? อย่างไรก็ตาม มีประวัติเล่ากันมายาวนานถึงขุนน้ำขุนนางสเปนผ่านอาณานิคมฟิลิปปินส์อดีต ที่ใกล้ชิดราชสำนักเขมรยุคลงแวก

ไม่สู้แน่ใจว่าสกุลเฟอร์นันเดซ-เชื้อสายฟิลิปปินส์นี้ จัดอยู่ในกลุ่มอำมาตย์เก่าแก่แต่ยุคนั้นหรือไม่?

โดยโสสเท็นไม่ได้เปิดเผยชีวประวัติไว้ในงานเขียนของตนแบบเดียวกับบันทึกทั่วไป

อย่างไรก็ดี เป็นที่พบว่า สกุลดังกล่าวเป็นที่คุ้นเคยของผู้ดีอีลิตพนมเปญนัวส์ ดังจะเห็นว่า มีเฟอร์นันเดซอยู่ในกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และวงการภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นอาชีพแถวหน้าของสังคม

อีกยังเห็นว่า โสสเท็น เฟอร์นันเดซนั้นมีทักษะภาษาฝรั่งเศสระดับเดียวกับชนชั้นสูงของเขมร

โสสเท็น เฟอร์นันเดซ จึงนอกจากจะเป็นนายทหารที่จงรักภักดีต่อระบอบนโรดมทั้งสถาบันกษัตริย์และการเมืองแล้ว ด้านหนึ่ง เขาย่อมมีความจงรักภักดีต่อกองทัพอย่างสุดซึ้ง เนื่องจากเมื่อแรกมีโรงเรียนกองทัพบกนั้น โสสเท็นเพิ่งจะเป็นหนุ่มน้อย ได้เห็นจุดเริ่มต้นของกองทัพและวาระแห่งล่มสลายขณะอายุเพียงสี่สิบเศษ และยังร่วมบัญชาการกองทัพในตำแหน่งสูงสุดอีกด้วย

มันจึงเป็นความเศร้าที่เผาตรอมความรู้สึกอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า แม้พลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซ จะให้เครดิตแห่งการกระทำรัฐประหาร 1970 ครั้งนั้นว่า ภารกิจแห่ง “สงครามเพื่อความยุติธรรม” ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองกัมพูชาให้พ้นจากภัย จากระบอบสีหนุที่ไร้ความเป็นกลาง หนุนหลังจีนแผ่นดินใหญ่ เวียดกงและระบอบคอมมิวนิสต์

ด้วยเหตุนี้ การล้มล้างระบอบสีหนุคิสต์ทั้งกษัตริย์และการปกครอง จึงเกิดขึ้นจากเงินอุดหนุนของสหรัฐจำนวน 350 ล้านเหรียญ สำหรับการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อการกำราบภัยคุกคามจีนคอมมิวนิสต์ในปฏิบัติการ “เจนละ 1” และ “เจนละ 2”

ชีวิตนายทหารของโสสเท็นในยุครีพับลิกกลับก้าวหน้าไปมาก ระบอบประชาธิปไตยในสถาบันทหารถูกนำมาใช้พัฒนากองทัพอย่างก้าวหน้า ทว่า ก็น่าเศร้านัก ที่การคอร์รัปชั่นได้ระบาดและซึมทำลายลงไปในทุกองคาพยพ

พร้อมๆ กับสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นและลุกลามบานปลาย นับแต่นั้น

 

สารภาพว่า นอกจากพลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซแล้ว บันทึก “หนึ่งผู้เหลือรอด” ของ พล.อ.ยึก บุนชัย เป็นอีกเล่มที่อาจกล่าวว่า เต็มไปด้วยมนตราแห่งการเล่าเรื่อง ที่มีปมความจากรัฐประหารในปี 2540

น่าประหลาดที่งานเขียนชิ้นนี้ของยึก บุนชัย ตีพิมพ์เผยแพร่ปีเดียวกับโสสเท็น เฟอร์นันเดซ (2541) ทว่าแตกต่างตรงที่ พล.อ.ยึก บุนชัย เขียนเป็นบันทึกกึ่งอัตชีวประวัติ ซึ่งบังเอิญว่ามีลักษณะความเหนือจริงอันพิสดาร

โดยเฉพาะกรณีรอดตายจากการไล่ล่าของทีมสังหารจากฝ่ายฮุน เซน ที่ถูกรวมไว้ในหมวดของคำว่า ปาฏิหาริย์-เหลือเชื่อ-และมนตราอาคม

อย่างไรก็ตาม อย่างน่าประหลาดอีกครา เพราะนับแต่ 2541 หรืออีก 20 ปีต่อมา ชีวิตของ พล.อ.ยึก บุนชัย ก็ประสบแต่ความเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยนอกจากสมเด็จเดโชฮุน เซน แล้ว ปาฏิหาริย์หรือมนตราอาคมใดๆ ก็ไม่อาจจะช่วยเขาได้

ไม่ว่าจะเป็น การตกเป็นผู้เล่นเกมการเมืองด้วยตัวเองที่เลวร้ายและบัดซบ ทั้งหมดนั้น ล้วนแต่ทำให้เกียรติยศของเขาตกต่ำ ดำดิ่งและไม่กลับมาสู่ช่วงชีวิตที่ดี-อีกเลย

ต่อกรณีโสสเท็น-บุนชัยนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการก่อการรัฐประหารอีกวิถีการเมืองกัมพูชา ที่ส่งผลเลวร้ายต่อองค์กร-บุคลากรในกองทัพอย่างกว้างขวาง ทำให้กองทัพต้องล้มลุกคลุกคลานและมีสภาพเหมือนคนป่วยที่ยากจะฟื้นคืนร่วม 3 ทศวรรษ

ย้อนดูจากปฏิบัติการ “เจนละ 1-เจนละ 2” สมัยเขมรรีพับลิกที่พลจัตวาโสสเท็น เฟอร์นันเดซ ร่วมบัญชาการ ที่ไม่เพียงแต่ปูพรมระเบิดถล่มคอมมิวนิสต์ทุกตารางพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน กลับส่งให้นายทหารจำนวนหนึ่งร่ำรวยมหาศาลจากธุรกิจกองทัพ

เขมรรีพับลิกไม่ได้พ่ายแพ้ระบอบสีหนุคิสต์จากปัญหาสงครามภายในประเทศ หรือภัยคอมมิวนิสต์ หากแต่มาจากการคอร์รัปชั่น

และเป็นปัญหาที่แท้จริงของการล่มสลายในกองทัพ

 

ตลอดทศวรรษแรกของกองทัพเขมรแห่งชาติ/เขมรภูมินทร์ (1979-1989) ที่ปวกเปียกและอ่อนแอ คนเขมรหลังสมัยเขมรและจากการปกครองแบบสังคมนิยมระบอบฮานอย ผู้มีส่วนกำหนดยุทธศาสตร์สงครามชายแดนตะวันตกและยุทธการรบแบบสำนักคอมมิวนิสต์

ในหนังสือยุทธศาสตร์การเมืองของ พล.อ.ฮุน เซน (เขียนโดยโกสต์ไรเตอร์) แม้จะไม่ปรากฏใดๆ ในส่วนนี้ แต่พฤติกรรมของฮุน เซน ในการใช้กองทัพเพื่อการเมืองก็ฟ้องถึงบทบาทความเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับกองทัพเขมรสมัยใหม่อย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงทางอำนาจ

ตัวอย่างการก่อตั้ง “กองพลน้อยที่ 70” กองกำลังเฉพาะกิจในการอารักขาสูงสุดต่อตนเอง ซึ่งถือเป็นผู้นำสูงสุด มีตำแหน่งเทียบเท่าจอมพล ซึ่งในอดีตกัมพูชามีเพียงประธานาธิบดีจอมพลลอน นอล เท่านั้น แต่สำหรับฮุน เซน ความทะเยอทะยานที่จะวางฐานอำนาจโดยอาศัยกองทัพนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลและดำเนินมาร่วมทศวรรษ

ดังนี้ จึงไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับผู้นำทั่วไป ที่สามารถคุมกองทัพร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงภายในอย่างเป็นเอกภาพด้วยการสืบทายาทในการคุมกำลังพลทั้งหมดไว้ด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็น พล.ท.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต-รองผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.ฮุน มานิต บุตรชายคนที่ 2-สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และบุตรเขยดี วิเจีย-สำนักงานตำรวจ

ดังนั้น จงอย่าเอ่ยปากถาม ใครคือผู้สถาปนากองทัพสมัยใหม่ของกัมพูชา? นอกจาก พล.อ.สมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้กล้าวางยุทธศาสตร์ “เดโชโมเดล” กับข้อแลกเปลี่ยนของทางการจีน

ก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าได้เหมือนยุทธการ “เจนละ” ที่นำพากองทัพกัมพูชาล่มสลาย