ไซเบอร์ วอชเมน : จาก Warfare สู่ Lawfare เมื่อกฎหมายกลายเป็นศาสตรา พิฆาตศัตรูให้สิ้น

ย้อนกลับไปในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การบรรยายออกสื่อระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคอนาคตใหม่ นับเป็นการปะทะทางความคิดทางการเมืองระหว่างคนที่ตามหลักสากลไม่ควรแสดงความเห็นทางการเมือง (ยกเว้นกรณีไทยที่เดียว) กับ นักการเมือง ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนให้ทำหน้าที่ทางการเมือง

โดยฝั่งผบ.ทบ.ได้สร้างวาทะในการบรรยายไม่ว่าจะเป็น ผีคอมมิวนิสต์ สงครามลูกผสม การปลุกปั่นเยาวชนผ่านโซเชียลให้ออกมาแบบฮ่องกง หรือแม้แต่คำว่า ฮ่องเต้ซินโดรม ที่ไปพาดพิงกับนักธุรกิจ โดยระบุว่า ชีวิตเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง มีพฤติกรรมร่วมชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง ชักศึกเข้าบ้าน พร้อมกับย้ำว่าทหารรับใช้ทุกรัฐบาล ไม่เลือกปฏิบัติ แต่มีคนกล่าวหาทหารล้มล้างประชาธิปไตย (รัฐประหารตลอด 13 ครั้ง ล้วนใช้กำลังทหารทั้งนั้น)

แน่นอนว่า คำพูดลักษณะชี้นำและมีเจตนาแยกมิตร-ศัตรู รวมถึงพาดพิงนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นประเด็นอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้พบและร่วมถ่ายรูปกับโจชัว หว่อง แกนนำการประท้วงในฮ่องกงระหว่างร่วมเวทีกับเดอะอิโคโนมิสต์ที่ฮ่องกง

ทำให้ นายปิยบุตร ต้องออกมาตอบโต้ด้วยการจัดเวทีวิชาการสาธารณะ บรรยายไล่ตั้งแต่ ความเป็นชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน จนมาถึงวงจรอุบาทว์การเมืองไทย และตอบโต้แนวคิดของผบ.ทบ.ว่าไม่ใช่ สงครามลูกผสม แต่สิ่งที่ไทยเจออยู่คือ ระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) ที่ขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจากทหารแทรกแซงการเมือง กลไกอำนาจที่ขัดขวางการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงการใช้กลไกองค์กรและกฎหมายทำลายล้างศัตรู

จนมาจุดที่ นายปิยบุตรพูดว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ Warfare แต่เป็น Lawfare

 

คำๆนี้ อาจได้ยินกันน้อยมากสำหรับทั่วไป แต่ในแวดวงผู้ศึกษากฎหมาย จะพบเจอกับคำนี้ นั้นจึงเป็นที่มานำไปสู่การทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร?

Lawfare ถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นคำศัพท์มาตั้งแต่ปี 2001 จากผลงานทางวิชาการของ ผู้พันชาร์ลส ดันแลป ที่ศึกษาแนวโน้มของสงครามกับการใช้กฎหมายสงคราม ระหว่างสหรัฐฯกับประเทศที่สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซง ซึ่งนิยามโดยสรุปของ ‘นิติยุทธ’ หรือ Lawfare นั้นคือ การใช้ประโยชน์ต่อการกระทำที่ละเมิดกฎหมายสงครามในฐานะกลยุทธ์นอกรูปแบบในการต่อสู้กับอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่าของสหรัฐฯ หรืออีกนัยยะคือ การใช้ระบบกฎหมายเป็นอาวุธ ซึ่งดูมีมนุษยธรรมมากกว่าในความขัดแย้งด้วยอาวุธ เช่นกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่กลุ่มเอ็นจีโอยื่นข้อเรียกร้องให้ตั้งศาลพิเศษดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามกับกองทัพอิสราเอล วิธีดังกล่าว ทำให้นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึษาความมั่นคงสหรัฐฯในเวลานั้น มองว่าพวกเขาเอ็นจีโอใช้นิติยุทธ์ในการลดความน่าเชื่อถือกับอิสราเอล

ขณะที่ กลุ่มเอ็นจีโอนามว่า Lawfare Project ซึ่งเป็นกลุ่มโปรอิสราเอล นิยามความหมายเชิงลบว่า นิติยุทธคือการใช้กฎหมายหรือระบบตุลาการในทางที่ผิดเพื่อบรรลุเป้าหมายทางทหารหรือทางการเมือง

พร้อมกับตั้งข้อคิดว่า คำถามอาจไม่ได้อยู่ว่า ใครเป็นเป้าหมาย แต่อยู่ที่ อะไรคือเจตนาเบื้องหลังในการใช้กฎหมาย ว่าตกลงทำเพื่อธำรงความยุติธรรม ใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือเจตนาเพื่อบ่อนทำลายระบบกฎหมายที่กำกับดูแลอยู่กันแน่?

ไม่ว่าจะนิยาม Lawfare ไว้ยังไง ความหมายที่ชัดที่สุดคือ ไม่ว่าระบบกฎหมายทั้งระหว่างประเทศหรือภายในประเทศ สามารถเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายใดที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ สร้างความได้เปรียบหรือบั่นทอนฝ่ายตรงข้าม 

 

เมื่อย้อนมาดูกรณีของไทยกับการบรรยายของนายปิยบุตรนั้น Lawfare ในนิยามของนายปิยบุตรที่พยายามชี้นั้นคือ พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญกับคดีความต่างๆมากมาย ที่ล้วนมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ใช้กฎหมายที่พวกเขาเขียนขึ้น เป็นเครื่องมือทำลายทั้งตัวบุคคลหรือพรรค ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ย้อนกลับไปในทศวรรษวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา ก็มีพรรคการเมืองหลายพรรคถูกยุบพรรค เพราะทำผิดกฎหมาย และด้วยอิทธิฤทธิ์ของ ตุลาการภิวัฒน์

หรือใกล้ตัวเข้ามาอีกอย่างในช่วง 5 ปี ของรัฐบาล คสช. ได้ออกประกาศคำสั่งต่างๆที่ถูกรับรองสถานะให้เป็นกฎหมาย ใช้ปิดกั้นหรือยับยั้งการแสดงความคิดเห็นของนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน จนถึงคนธรรมดา แม้แต่กฎหมายอาญาบางมาตราอย่าง ม.112 หรือ ม.116 ก็ถูกใช้ในลักษณะเดียวกันด้วย

ยิ่งในช่วงการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา ระบบกฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักษาชาติ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการใช้กลไกและตัวกฎหมายในฐานะอาวุธทำลายฝั่งตรงข้าม และส่งผลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการตัดคู่แข่งออกจากสนามเลือกตั้ง การทำให้คะแนนเสียงกระจายไปเลือกพรรคอื่น หรือแม้แต่ทำให้กลยุทธ์แตกแบงค์ของพรรคเพื่อไทยต้องสะดุด

หรือแม้แต่กรณีล่าสุดอย่าง กอ.รมน.เข้าแจ้งความเอาผิดข้อหาปลุกปั่นกับ 7 พรรคฝ่ายค้านที่กำลังเดินสายรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกมองว่าทำให้ประเทศเดินทางตันและไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นกลไกรับรองการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ ก็นับเป็นการใช้กฎหมายเป็นอาวุธที่มีจุดมุ่งหมายเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง

หลายกรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของการเมืองไทย ที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรัฐประหาร ที่แต่เดิมสะท้อนถึงความรุนแรง โหดร้าย มีภาพทหารถืออาวุธ รถถังจอดกลางเมือง ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า กฎหมายเพื่อรับรองความชอบธรรม โดยอาศัยกลไกรัฐเข้ามาเกื้อหนุน ทำให้นับตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2549 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางอำนาจการเมือง และอีกครั้งในปี 2557 ที่ยกระดับมากขึ้น รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ซึ่งเคยถูกใช้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็กลับมามีบทบาทในการดำเนินคดีกับประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการทหาร

แต่การทำเช่นนั้น ไทยต้องแลกมาด้วยความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายที่พังทลาย ความยุติธรรมกำลังกลายเป็นของสงวนกับบางคน แต่ไม่เสมอหน้ากับทุกคน

คำถามที่ตามมาคือ ต้องมีคนตกเป็นเหยื่อของอาวุธในนามกฎหมายอีกเท่าไหร่ จนกว่าตาชั่งจะกลับมาเป็นเครื่องวัดความเที่ยงธรรมในการตัดสินความถูกต้องให้กับทุกคน